ต้องบอกก่อนเลยว่าการเขียนบทความนี้ขึ้นมา เกิดมาจากความต้องการสะท้อนสิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นจากการดูละครเรื่องนี้ มันอาจเกิดมาจากทัศนคติของข้าพเจ้าส่วนใหญ่ ทั้งนี้ สิ่งที่ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อจากนี้มันก็ยังคงอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ที่จะชวนคุณผู้อ่านทุกท่านมาร่วมกันตกผลึกของความคิดจากละครเพราะการดูละครมันไม่ใช่เพียงแค่การมองเห็นแค่ความบันเทิง เราจะมาร่วมกันสะท้อนสิ่งที่ได้รับจากละครเรื่องนี้กันว่าอะไรบ้างที่ซ่อนอยู่ในละครเรื่องนี้
การลาจอของเพลิงบุญเป็นที่น่าประทับใจและต้องขอปรบมือให้กับ ทั้งนักแสดงอย่าง เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ ที่ถ่ายถอดบทบาทของใจเริงออกมาได้อย่างน่าชื่นชม ชาวเน็ตและโลกออนไลน์ต่างยอมรับในบทบาทการแสดงของเธอที่เป็นตัวละครที่มีความน่าหมันไส้และน่าเห็นใจในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ทั้งทีมงานและนักแสดงทุกคนก็ถือว่าประสบความสำเร็จกลายเป็นละครดราม่าแห่งปีที่ถูกกล่าวถึงในขณะนี้ ทีนี้เรามาพูดถึงเรื่องของเรากันดีกว่า
ต้องบอกก่อนเลยว่า นวนิยายในยุคปัจจุบันมีการเขียนคาแรกเตอร์ขงตัวละครที่แตกต่างกับอดีตเป็นอย่างมาก เพราะมีการสร้างปมให้ตัวละครให้มีการแสดงออกของพฤติกรรมว่ามีปมหรือมีสาเหตุมาจากอะไร มีเหตุผลอะไรที่ตัวละครนี้ถึงแสดงพฤติกรรมแบบนั้นแบบนี้ออกมา ซึ่งแตกต่างจากนวนิยายในอดีต อย่างเช่น ทองเนื้อเก้า ที่ตัวเอกคือ ลำยอง ลำยองถือว่าเป็นหญิงชั่ว ที่มีพื้นฐานมาจากการเลี้ยงดู ครอบครัวที่มีปัญหาเกิดในสลัม ใช้ชีวิตตามอำเภอใจ หลายสามี ติดสุรา เมากลายเป็นผู้หญิงที่ถูกตราหน้าว่าเป็น ผู้หญิงไม่ดีและดีไม่ได้ถึงแม้ว่าจะมีลูกดีอย่างพระวันเฉลิมก็ตาม ก็ไม่สามารถทำให้แม่เป็นคนดีได้ซึ่งเราอาจจะเรียน ตัวละครประเภทนี้ ว่า Flat Character หรือตัวละครที่สามารถบอกได้เลยว่าดำหรือขาว นั่นหมายถึง แสดงเพียงคาแรกเตอร์เดียวออกมา
ในขณะที่ ใจเริงไม่ใช่ เพราะบทสรุปของใจเริง กลับกลายเป็นว่า ตอนจบผู้คนกับสงสารกับสภาพของใจเริงที่ต้องพบกับชะตากรรมที่มีความยากลำบากและต้องทนทุกข์ทรมานกับผู้ชายซาร์ดิสอย่าง ปีเตอร์ แต่ด้วยในตอนท้ายของละครที่ ทำให้ตัวละครมีมโนสำนึกของการทำความดี (อาจใช้คำว่าสิ่งที่สังคมมองว่าดีอาจจะถูกกว่า) นั่นคือ การเสียสละหรือการซื้อของ ทำพินัยกรรมไว้ให้ลูกของตนเองและให้เพื่อนของตนเองอย่างพิมาลาเป็นผู้ดูแลมรดกของใจเริง ทำให้สิ่งที่เธอเคยทำมาถูกให้อภัยเพราะสิ่งนี้
จากคำพูดจากละครตรงนี้ เราจะพบว่าใจเริงแสดงออกถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตนเองที่รู้สึกถึงความกดขี่ของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง การที่ผู้หญิงต้องสร้างอะไรหลายๆอย่างทั้งรูปลักษณ์การวางตัว เพื่อให้ถูกยอมรับจากสังคมย่อมเป็นภาระอันหนักอึ้งสำหรับบางคน ดังนั้น ผู้หญิงที่ไม่ได้ทำตามกรอบประเพณีหรือตามที่สังคมกำหนดย่อมจะทำให้ถูกมองว่าเป็นหญิงชั่วอย่างเช่นใจเริงหากแต่แท้จริงแล้วผู้หญิงอย่างใจเริงกลับเข้าใจความเป็นผู้หญิงที่แท้จริง
จากหนังสือสมบัติผู้ดีของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี อธิบายเพิ่มเติมโดย ม.ล.ป้อง มาลากุล อธิบายคำว่า ผู้ดี หมายถึง บุคคลผู้มีความประพฤติดีทั้งทางกาย ทางวาจาและทางความคิด คือ ทำดี พูดดี คิดดี จากนิยามนี้ ทำให้เรารับรู้ได้เลยว่า ตรงกับลักษณะของตัวละครอย่างพิมาลาอย่างชัดเจนคุณสมบัติที่เพียบพร้อมนี้ มีปัจจัยทั้งทางด้านครอบครัว ที่เลี้ยงดูมาอย่างอบอุ่นการให้ความรัก การให้รู้จักการเอาชนะอุปสรรคด้วยความอดทน การหาหนทางในการแก้ปัญหาตามครรลองคลองธรรม เป็นต้น
นอกจากนี้สังคมของพิมาลาทั้งเพื่อนร่วมงานของเธอที่ต่างก็ดูแลเอาใจใส่ให้กำลังใจ ติดตามเธอตลอดทำให้เธอสามารถก้าวข้ามผ่านสิ่งต่างๆ และดำเนินชีวิตตามกรอบที่สังคมต้องการ ท้ายสุดของเรื่อง เธอจึงได้ทุกอย่างที่เธอต้องการกลับคืน ทั้งสามีและความอบอุ่นของครอบครัว ทำให้เธอใช้คำพูดในตอนท้ายของเรื่องว่า “ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ”
บทความนี้เป็นทัศนคติของข้าพเจ้าที่สะท้อนได้จากละคร มิได้มีจุดประสงค์อื่นแต่อย่างใดเพียงแต่อยากให้ผู้อ่านเกิดกระบวนการคิด และมองลงไปในละคร เพราะในทรรศนะของข้าพเจ้า มันมีมากกว่าความบันเทิง จึงฝากผู้อ่านทุกท่านฉุกคิดในประเด็นที่ข้าพเจ้าเสนอหากมีผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยไว้ ณ ตรงนี้
กศว. เขียน
ติดตามเรื่องราวอื่นๆผ่าน Critical Society by Jack ok
Facebook Album : นานาทรรศนะ (Critical Society by Jack ok)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in