เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
มูฟวี่ 101StarLord4K
สัดส่วนภาพยนตร์ 101 : ทำไมหนังบางเรื่องถึงมีขอบดำ บางเรื่องถึงไม่มี
  • Disclaimer: บทความนี้อ้างอิงข้อมูลส่วนใหญ่มาจากวิกิพีเดียและ IMBD แปลและเรียบเรียงด้วยความเข้าใจส่วนตัวที่อาจจะมีข้อผิดหรือคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง จึงไม่แนะนำให้เอาไปใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการ แต่สามารถอ่านเพื่อเสริมความรู้ได้

    ทำไมหนังแต่ละเรื่องสัดส่วนไม่เท่ากัน แล้วเค้าใช้อะไรเป็นตัวตัดสิน วันนี้เราจะมาอธิบายเรื่องสัดส่วนในวงการภาพยนตร์แบบสังเขป เพราะประวัติศาสตร์มันยาวนานมากๆ จึงขอตัดทอนเอามาเฉพาะรายละเอียดที่สำคัญจริงๆ ถ้าขาดตกตรงไหนไปคือ พยายามเต็มที่แล้วจริงๆ ขออภัยด้วย

    ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์คร่าวๆ เริ่มต้นขึ้นในศตวรรษที่ 19 ราวๆ ปี 1887 เอ็ดเวิร์ด มายบริดจ์ ช่างภาพชาวอเมริกัน ได้ศึกษาการถ่ายและฉายภาพเคลื่อนไหว เพราะในขณะนั้นยังไม่มีฟิล์มถ่ายภาพที่มีความไวแสงมากพอที่จะถ่ายภาพเคลื่อนไหว จึงได้ลองใช้เทคนิคการถ่ายภาพจากกล้องหลายตัว แล้วนำมาประกอบกัน ด้วยข้อจำกัดของกล้องจึงได้ภาพสูงสุดที่ 24 ภาพ/วินาที และประดิษฐ์เครื่องฉายภาพชุดต่อเนื่องเป็นวงกลม แรกเริ่มเดิมทีไว้ศึกษาการเคลื่อนที่ของสัตว์ นี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพเคลื่อนไหวของโลก

    ปี 1888 ลูวี เลอ พริ้นซ์ ศิลปินและนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส ได้ถ่ายทำฟุตเตจภาพเคลื่อนไหวที่เชื่อว่าเป็นฟุตเตจแรกของโลก โดยการใช้ฟิล์มกระดาษของโกดัก ฟุตเตจนี้ใช้ชื่อว่า Roundhay Garden Scene เป็นฉากของชายหญิงในสวนหลังบ้าน ความยาวประมาณ 2.11 วินาที ถ่ายทำด้วยความเร็ว 12 เฟรม/วินาที ใช้สัดส่วนภาพประมาณ 1:1

    หมายเหตุ: การเรียกสัดส่วนภาพของหนังตามหลักทั่วไปและในบทความนี้จะใช้เป็น (ความยาวของภาพ:ความกว้างของภาพ) โดยที่ความกว้างของภาพจะถูกทอนให้เป็นจำนวนเต็ม 1 เสมอ

    ตัวอย่างฟิล์ม 35 มม. จากเรื่อง The Gold Rush

    Silent film (1.33:1) ต่อมาในปี 1892 วิลเลี่ยม เค แอล ดิคสัน ลูกน้องของโทมัส เอดิสัน ได้ประดิษฐ์ฟิล์มเซลลูลอย ที่ทำจากพลาสติกชนิดหนึ่ง ขนาดความกว้าง 35 มม. และมีรูที่ด้านข้าง 4 รู (ภาษาชาวบ้านเรียก รูหนามเตย) เพื่อใช้ในการถ่ายภาพเคลื่อนไหวและถ่ายทำฟุตเตจนึงออกมา ชื่อ Blacksmith Scene เป็นหนังเงียบความยาว 34 วินาที ใช้สัดส่วนภาพ 1.33:1 เพราะตรงกับความกว้างของฟิล์มและขนาดของรูรับแสงของกล้องพอดี การฉายภาพในขณะนั้นจะใช้เครื่องฉายที่เรียกว่า ไคเนโตสโคป

    Blacksmith Scene

    ต่อมาในปี 1895 สองพี่น้องลูมิแยร์จากฝรั่งเศส ได้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรกของโลก จริงๆ ก่อนหน้านั้นมีคนพยายามถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยฟิล์มขนาดที่แตกต่างกันออกไป แต่อันนี้จัดเป็นภาพยนตร์จริงๆ คือ La Sortie des Usines Lumiere หรือ คนงานเดินออกมาจากโรงงานของลูมิแยร์ เป็นหนังเงียบ ความยาว 46 วินาที ก็ใช้สัดส่วนภาพ 1.33:1 เช่นกัน

    La Sortie des Usines Lumiere

    ความนิยมของการทำภาพเคลื่อนไหวและสร้างภาพยนตร์ได้เพิ่มขึ้น ในปี 1902 จอร์จ เมอเลส ศิลปินชาวฝรั่งเศส ได้สร้างภาพยนตร์ชื่อ Le Voyage dans la Lune หรือ A Trip to the Moon เป็นภาพยนตร์สั้นเรื่องแรกที่มีการเล่าเรื่องราว (narrative) และยังเป็นภาพยนตร์สีเรื่องแรกของโลก โดยใช้เทคนิคการลงสีบนแผ่นฟิล์มทีละเฟรม หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จในการฉายอีกด้วย เป็นจุดเริ่มต้นของวงการภาพยนตร์เลยก็ว่าได้

    ปี 1906 หนังจากออสเตรเลียชื่อ The Story of the Kelly Gang เข้าฉาย ต่อมาได้รับการบันทึกโดยองค์กรยูเนสโก้ว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของโลก ที่ความยาว 60 นาที ถือว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีความยาวมากที่สุด ณ ขณะนั้น การกำหนดว่าจะเป็นหนังสั้นหรือหนังยาว ขึ้นอยู่กับนิยาม โดยสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ (Academy of Motion Picture Arts and Sciences: AMPA) ได้กำหนดว่า ภาพยนตร์ที่มีความยาวมากกว่า 2,700 วินาที หรือ 45 นาที จัดเป็นภาพยนตร์ขนาดยาว ในขณะที่สมาคมผู้กำกับ (Screen Actors Guild: SAG) ได้กำหนดว่าต้องมีความยาวมากกว่า 75 นาที

    ต่อมาในปี 1919 มีความพยายามในการฝังแถบแม่เหล็กบันทึกเสียงลงไปในแผ่นฟิล์ม เพื่อทำให้หนังสามารถเล่นพร้อมเสียงได้ด้วย ซึ่งตรงนี้จะมีผลต่อสัดส่วนหนัง ซึ่งจะอธิบายในหัวข้อถัดไป

    ปี 1923 บริษัทอีตส์โกดัก ได้คิดค้นฟิล์มขนาด 16มม. ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าฟิล์ม 35มม. ประมาณเท่าตัว ฟิล์มชนิดนี้ให้สัดส่วนภาพที่ใกล้เคียงกับฟิล์ม 35มม. และยังใช้มาเรื่อยๆ บ้างจนถึงปัจจุบัน ล่าสุดที่ใช้ฟิล์ม 16มม. ในการถ่ายทำคือ mother! (2017)

    ปี 1927 หนังเรื่อง The Jazz Singer เข้าฉาย เป็นหนังเรื่องแรกที่มีการฉายภาพและเสียงดนตรี/เสียงพูดพร้อมกัน โดยการฉายภาพด้วยเครื่องฉายฟิล์ม และเล่นเสียงด้วยเครื่องเล่นแผ่นเสียง ไปพร้อมๆ กัน หนังใช้สัดส่วนภาพ 1.33:1 และในปีเดียวกันมีการก่อตั้งสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ (Academy of Motion Picture Arts and Sciences: AMPA) ก็คือสถาบันที่แจกรางวัลออสการ์ในแต่ละปีนั่นแหละ

    Academy Format กับฟิล์ม 35 มม. 

    Academy Format (1.37:1) ในปี 1932 หลังจากที่หนังมีเสียงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทาง AMPA เลยตัดสินใจกำหนดว่า หนังที่จะสร้างจะฉายหลังจากนี้ ต้องใช้สัดส่วน 1.37:1 เท่านั้น เพื่อมาตรฐานในการถ่ายทำและการฉายตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งสัดส่วน 1.37:1 มาจากพื้นที่ฟิล์ม 35มม. เดิมที่ถูกแบ่งส่วนหนึ่งออกไปเป็นแถบแม่เหล็กบันทึกเสียง ทำให้พื้นที่บันทึกภาพต้องหดเล็กลงไปเล็กน้อย จาก 1.33 เดิม จึงเปลี่ยนไปเป็น 1.37 และสัดส่วนยังมีความ "ใกล้เคียง" กับจอทีวี ทำให้สามารถฉายในทีวีได้ด้วย มีการใช้สัดส่วนนี้มาเป็นเวลากว่า 20 ปีจนกระทั่งการมาถึงของหนังจอกว้าง หรือ widescreen

    Widescreen จุดเริ่มต้นของหนังจอกว้าง คงต้องขอย้อนกลับไปยังปี 1897 อีน็อกช์ เจ. เร็กเตอร์ โปรโมเตอร์มวยชาวอเมริกา ได้ทดลองถ่ายทำหนังยาวของแมทช์ชกมวยครั้งหนึ่งชื่อ The Corbett-Fitzsimmons Fight โดยใช้ฟิล์มขนาด 63.5 มม. ของโกดัก ความยาวประมาณ 100 นาที ให้สัดส่วนภาพที่ประมาณ 1.65:1 ถือว่าเป็นภาพยนตร์สารคดีขนาดยาว และเป็นหนังจอกว้างเรื่องแรกของโลก

    Natural Vision (2:1) ปี 1925 จอร์จ เค. สปอร์ และ จอห์น เบิร์กเกรน ได้คิดค้นกระบวนการถ่ายหนังแบบ widescreen โดยใช้ฟิล์ม 65 มม. ได้สัดส่วนภาพที่ 2:1 เทคนิคนี้ได้ถูกนำไปใช้กับภาพยนตร์เพียงเรื่องเดียวคือ Danger Lights ในปี 1930 ก่อนหน้านี้มีหนังเรื่อง The American ที่คาดว่าจะได้เข้าฉายในปี 1927 แต่ถูกยกเลิกการสร้างด้วยเหตุผลของผู้กำกับที่ว่า มันยังไม่ดีพอ เทคนิคนี้ไม่ได้รับความนิยมเพราะต้องใช้ต้นทุนค่อนข้างมากในการสร้างและฉาย

    Polyvision (4.00:1) ปี 1927 หนังเรื่อง Napoléon ถ่ายทำโดยใช้กล้องถ่ายหนังด้วยฟิล์ม 35 มม. 3 ตัวมาเรียงต่อกัน แต่ละตัวใช้สัดส่วนภาพ 1.33:1 เพราะถ่ายทำแบบหนังเงียบ เวลาฉายต้องฉายแบบต่อกัน จะได้สัดส่วนภาพที่ 4:1 แต่การฉายทำได้ค่อนข้างยาก เพราะต้องใช้เครื่องฉายหนัง 3 ตัวต่อกัน ฉายหนังให้พร้อมกัน โรงหนังเองก็ต้องมีจอภาพที่กว้างและโค้งได้สัดส่วนของกล้องฉายเช่นกัน

    Napoléon (1927)

    ด้วยความที่ต้นทุนการสร้างและการฉายหนังแบบ widescreen ค่อนข้างสูง หลังจากปี 1930 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ ทำให้วงการภาพยนตร์ต้องลดทุนสร้างและประหยัดต้นทุน  ทำให้ความพยายามสร้างหนังจอกว้างต้องถูกพับเก็บไว้ก่อน จนกระทั่งปีทองก็มาถึง

    Cinerama (2.59:1) ในปี 1952 เฟรด วอลเลอร์ นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ได้คิดค้นฟอร์แมต Cinerama (Cinema + Panorama) โดยการใช้กล้องถ่ายหนัง 35 มม. ต่อกัน 3 ตัว ทำให้เกิดภาพมุมกว้างที่สัดส่วน 2.59:1 โดยส่วนด้านบน-ล่างของเฟรมจะถูกครอปออกไปเล็กน้อย และสร้างโรงภาพยนตร์ที่ใช้เครื่องฉาย 3 ตัวฉายหนังลงบนจอโค้ง 146 องศา ข้อดีคือทำให้ได้ภาพมุมกว้าง ข้อเสียคือการใช้กล้อง 3 ตัวอาจทำให้เกิดภาพเหลื่อมไม่ตรงกัน และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายทั้งในด้านโปรดักชั่นและการสร้างโรงภาพยนตร์ นอกจากนี้ภาพที่ได้ไม่สามารถนำไปฉายทางทีวีหรือโรงหนังแบบปกติได้ เพราะทางด้านซ้ายและขวาของเฟรมจะบิดเบี้ยวเนื่องจากถูกปรับแต่งมาให้ฉายเฉพาะบนจอโค้งเท่านั้น ทำให้ฟอร์แมตนี้ไม่ได้รับความนิยมและเลิกใช้ไปในที่สุด

    ตัวอย่างฟิล์ม 35 มม. จาก Robocop 2

    Hard Matte (1.66:1) ในปี 1953 ทางพาราเมาต์สตูดิโอมีความเห็นว่า ถ้าหนังกว้างขึ้นจะให้มุมมองที่แปลกใหม่ต่อผู้ชม จึงได้คิดค้นวิธีการสร้างหนังโดยการใช้เลนส์ที่มีความกว้างเพิ่มขึ้น และมีการนำแผ่นโลหะมาปิดที่รูรับแสงของกล้อง ทำให้เกิดขอบดำด้านบนล่างขึ้น แต่ทำให้หนังมีมุมมองที่กว้างขึ้นด้วย ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า hard matte โดยใช้วิธีนี้ในหนังเรื่อง Shane ซึ่งมีสัดส่วน 1.66:1 และเป็นหนังแบบ flat widescreen เรื่องแรกของโลก ต่อมาสัดส่วนนี้นิยมใช้ในหนังฝั่งยุโรป และใช้ในหนังของวอลท์ดิสนีย์หลายเรื่อง เช่น Mary Poppins (1964) ล่าสุดที่ใช้สัดส่วนนี้คือ The Witch (2015), The Beguiled (2017)

    Shane (1953)

    Soft Matte (1.85:1)ในปีเดียวกัน ทางยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ ก็ใช้เทคนิคที่คล้ายๆ กันกับของพาราเมาต์ แต่เลือกใช้สัดส่วน 1.85:1 ในเรื่อง Thunder Bay ซึ่งสัดส่วนนี้ถูกใช้เฉพาะตอนฉายเท่านั้น แต่การถ่ายทำยังใช้สัดส่วน 1.37:1 เท่าขนาดของฟิล์ม 35 มม. การครอปภาพออกตอนฉายให้เป็น widescreen นั้น เรียกว่า soft matte ใช้เพราะว่าต้องการปิดบังส่วนที่เกินมาในเฟรม เช่น ไมค์บูม หรืออุปกรณ์ประกอบฉาก ต่อมาเป็นหนึ่งในสัดส่วนภาพที่ผู้สร้างนิยมใช้กันทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน เพราะภาพไม่กว้างและไม่แคบจนเกินไป

    Thunder Bay (1953)

    อีกสัดส่วนที่ตามมาในภายหลังคือ 1.78:1 มีความใกล้เคียงกับ 1.85:1 ทั้งสองสัดส่วนสามารถฉายในทีวีได้โดยไม่มีขอบดำมาก ทีวีจอแก้วแบบเก่าให้สัดส่วนภาพที่ 4:3 หรือ 1.33:1 หากฉายหนังที่ใช้สัดส่วนภาพที่ 1.33:1 ภาพจะเต็มจอพอดีโดยไม่มีขอบดำ หากฉายภาพที่ 1.78:1 หรือ 1.85:1 จะเกิดขอบดำด้านบน-ล่างของจอทีวี เรียกขอบดำนี้ว่า Letterbox ในเครื่องเล่นบางรุ่นจะมีโหมดยืดภาพให้สุดจอโดยไม่มีขอบดำ เรียกว่า Stretch แต่ภาพจะยาวขึ้น ใบหน้าของนักแสดงจะผิดเพี้ยน

    ทั้งสองสัดส่วนนี้มีความ "ใกล้เคียง" กับจอทีวีในปัจจุบันมากที่สุด จอทีวีในปัจจุบันใช้สัดส่วนภาพที่ 16:9 หรือ 1.78:1 หากฉายหนังที่ใช้สัดส่วนภาพ 1.78:1 ภาพจะเต็มจอพอดีโดยไม่มีขอบดำ แต่จะมีขอบดำด้านบน-ล่าง เล็กน้อยสำหรับสัดส่วน 1.85:1 และจะมีขอบดำด้านซ้าย-ขวา เล็กน้อยสำหรับสัดส่วน 1.66:1

    แต่เดิมการถ่ายทำหนังแบบ Soft และ Hard Matte จะใช้พื้นที่ฟิล์ม 35 มม. แบบเต็มพื้นที่เฟรมโดยใช้ 4 รูหนามเตย ทำให้ค่อนข้างสิ้นเปลืองฟิล์มในส่วนที่ไม่ได้ใช้งาน ต่อมาจึงมีการประดิษฐ์กล้องถ่ายหนังที่สามารถถ่ายทำหนังโดยใช้สัดส่วน 1.85:1 ได้โดยไม่ต้องใช้ Soft และ Hard Matte โดยใช้พื้นที่เฟรมเพียงแค่ 3 รูหนามเตย ทำให้ประหยัดฟิล์มกว่า และกล้องทำงานเงียบลง เรียกว่า Super 35 ซึ่งหนังฟอร์มเล็ก หรือหนังที่เน้นคนคุยกัน หรือหนังที่เลือกฉายทางทีวี มักนิยมใช้เทคนิคนี้

    CinemaScope (2.55:1) ในปี 1953 บริษัททเวนตี้เซนจูรี่ฟ็อกซ์ ได้คิดค้นเลนส์ทรงวงรีที่เรียกว่า anamorphic lens เลนส์นี้มีคุณสมบัติในการบีบอัดภาพให้กว้างขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งเมื่อบันทึกภาพลงในฟิล์ม 35มม. จะใช้พื้นที่ของเฟรมจนเต็ม แต่ความสูงจะถูกบีบขึ้นไป ทำให้เมื่อฉายด้วยเครื่องฉายธรรมดา จะเห็นหน้านักแสดงยาวขึ้น จึงต้องใช้เลนส์ชนิดพิเศษนี้ในการฉายด้วย ทำให้ภาพถูกขยายออกไปด้านข้าง จนได้สัดส่วน 2.55:1 ทำไมถึงเป็นสัดส่วนนี้ จำได้หรือไม่ว่าฟิล์ม 35 มม. ปกตินั้นสามารถให้สัดส่วนภาพได้กว้างสุดที่ 1.33:1 ถ้าไม่มีแถบแม่เหล็กบันทึกเสียง ทำให้เมื่อใช้เลนส์นี้ จะได้ขนาดภาพสูงสุดถึง 2.66:1 เลยทีเดียว แต่ในเมื่อฟิล์มต้องแบ่งพื้นที่ให้แทร็คเสียงด้วย สัดส่วนภาพจึงต้องลดขนาดเฟรมลงมาเหลือ 2.55:1 หนังเรื่องแรกของโลกที่ใช้สัดส่วนนี้คือ The Robe (1953) ล่าสุดที่ใช้สัดส่วนนี้คือ La La Land (2016) ฟอร์แมตนี้เลิกใช้ไปในปี 1967 เพราะมีฟอร์แมตใหม่เข้ามาแทนที่

    เลนส์ Anamorphic ยี่ห้อ ARRI

    65/70mm (2.20:1) ปี 1955 บริษัท ทอดด์เอโอ ได้มีการนำฟิล์มถ่ายหนังแบบเนกาทีฟขนาด 65 มม. มาใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ และฟิล์มแบบโพสิทีฟขนาด 70 มม. เพื่อใช้ในการฉาย ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าฟิล์ม 35 มม. ถึง 2 เท่า โดยให้สัดส่วนภาพที่ 2.20:1 โดยไม่ต้องใช้เลนส์อนามอร์ฟิกเพื่อขยายความกว้าง เรียกฟอร์แมตนี้ว่า Todd-AO หนังเรื่องแรกที่ใช้สัดส่วนนี้คือ Oklahoma! ต่อมาปี 1957 บริษัท MGM และพานาวิชั่น ได้พัฒนาฟอร์แมตฟิล์ม 65/70 มม. มาใช้ในการถ่ายหนัง ใช้ชื่อว่า Super Panavision 70 โดยที่สเปคต่างๆ ไม่ต่างจาก Todd-AO เท่าไหร่ หนังดังๆ ที่ถ่ายทำด้วยฟอร์แมตนี้คือ Ben-Hur (1959), The Sound of Music (1965) และล่าสุดคือ Dunkirk (2017) ของคริสโตเฟอร์ โนแลน (ฉากที่ไม่ได้ถ่ายทำด้วยกล้อง IMAX)

    The Robe (1953)
    Modern anamorphic (2.35:1-2.39:1-2.40:1) ปี 1957 สมาคมวิศวกรภาพยนต์และโทรทัศน์ (The Society of Motion Picture & Television Engineering: SMPTE) เป็นผู้กำหนดมาตรฐานของขนาดเลนส์และรูรับแสงที่ใช้ในการถ่ายทำหนังและฉายในฟอร์แมต anarmorphic widescren ใหม่ ได้สัดส่วนภาพที่ประมาณ 2.35:1 (1678:715) ต่อมาได้มีการปรับปรุงฟิล์ม 35 มม. และเลนส์กล้องถ่ายหนังเพื่อแก้ปัญหาเส้นสีขาวที่เกิดขึ้นจากการฉาย ทางสมาคมจึงได้ปรับลดขนาดรูรับแสงลง ทำให้ได้มาตรฐานสัดส่วนภาพใหม่ที่ 2.39:1 ใช้มาจนถึงปัจจุบัน และพอการมาถึงของยุคดิจิตอล สัดส่วนนี้มักจะถูกปัดเป็น 2.40:1 เพื่อให้เลขสวย และใช้ในแผ่น Blu-Ray

    ตัวอย่างฟิล์ม 35 มม. จาก Star Wars: Episode I - The Phantom Menace

    Ultra Panavision 70 (2.76:1) ปี 1962 บริษัท พานาวิชั่น ได้นำเลนส์ anamorphic รูปแบบใหม่ที่บีบภาพ 1.25 เท่า มาใช้กับฟิล์มขนาด 70 มม. ในฟอร์แมต Super Panavision 70 เดิม ทำให้ได้สัดส่วนภาพที่ยาวมากๆ ถึง 2.76:1 เลยทีเดียว หนังเรื่องแรกที่ใช้สัดส่วนนี้คือ Mutiny on the Bounty (1962) ก่อนจะเสื่อมความนิยมไปในปี 1966 หลังจากนั้นเกือบ 50 ปี หนังเรื่อง The Hateful Eight (2015) ของเควนติน ทารันติโน่ ก็ได้กลับมาใช้ฟอร์แมตนี้อีกครั้ง

    ตัวอย่างฟิล์ม 70 มม. จาก Congress of Love (1966)

    สัดส่วนภาพไม่ว่าจะเป็น 2.20:1, 2.39:1, 2.55:1 และ 2.76:1 มีด้านยาวมากกว่าด้านยาวของจอทีวีแบบจอกว้าง ทำให้เวลาฉายบนทีวีจะเกิดขอบดำด้านบน-ล่าง (letterbox) มากน้อยขึ้นอยู่กับความกว้าง หากฉายบนทีวีจอเก่าหรือ 4:3 จะมีขอบดำค่อนข้างมาก หากเปิดใช้โหมด Stretch จะทำให้ภาพบิดเบี้ยวไม่ได้สัดส่วน

    ตัวอย่างกระบวนการ Todd-AO ที่ใช้ในการจัดการฟิล์ม 70 มม. ในอีกรูปแบบหนึ่ง

    Beh-Hur (1959)

    The Hateful Eight (2015)
    IMAX 15/70 (1.44:1) บริษัทไอแม็กซ์ก่อตั้งในปี 1967 ประดิษฐ์กล้องถ่ายหนังและเครื่องฉายหนัง สร้างฟอร์แมตการฉายภาพยนตร์ใหม่เป็นของตัวเองทั้งหมด โดยใช้สื่อเป็นฟิล์มขนาด 70 มม. แต่ใช้แนวนอน ซึ่งแตกต่างจากฟอร์แมตอื่นๆ ที่ใช้ฟิล์มในแนวตั้งทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพและการฉาย ทำให้ได้ขนาดเฟรมที่ใหญ่ขึ้น ได้ภาพที่สัดส่วน 1.44:1 ซึ่ง 1 เฟรมของ IMAX นั้น ใช้ความยาวฟิล์มถึง 15 รูหนามเตยเลยทีเดียว ในขณะที่ฟอร์แมต 70มม. แบบแนวตั้งนั้น 1 เฟรมใช้พื้นที่เพียง 5 รูหนามเตย

    ตัวอย่างฟิล์ม IMAX 70 มม. จาก The Dark Night Rises

    หนังเรื่องแรกของ IMAX ฉายในปี 1970 ชื่อ Tiger Child หนังที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม IMAX 70mm ทั้งเรื่องนั้นเป็นสารคดีที่ฉายตามโรง IMAX เท่านั้น ยังไม่มีหนังยาวทั่วไปที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม IMAX ทั้งเรื่อง แม้กระทั่งหนังเรื่อง Dunkirk ของโนแลนยังใช้กล้อง IMAX ถ่ายเพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมด ด้วยข้อจำกัดบางประการ ทำให้หนังเรื่องนี้มี 2 สัดส่วนคือ 1.44:1 ในฉากที่ถ่ายด้วยกล้อง IMAX และ 2.20:1 ในฉากที่ไม่ได้ถ่ายด้วยกล้อง IMAX

    IMAX Digital (1.90:1) ในปี 2008 หลังจากที่วงการฮอลลีวูดเริ่มเข้าสู่ยุคดิจิตอล ทาง IMAX ก็ได้คิดค้นกล้องถ่ายหนังและเครื่องฉายแบบดิจิตอล ให้สัดส่วนที่ 1.90:1 หนังเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยกล้อง IMAX Digital บางส่วนคือ Born to Be Wild ต่อมาที่ดังๆ ก็คือ Transformers: Age of Extinction ซึ่งจะสังเกตได้ว่าหนังเปลี่ยนสัดส่วนไปมาที่ 1.90:1 และ 2.39:1 ด้วยเหตุผลเดียวกันกับ Dunkirk ส่วนหนังเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยกล้อง IMAX Digital “ทั้งเรื่อง” คือ Avengers: Infinity War (2018)

    ตัวอย่างฟิล์ม 35 มม. ที่ถ่ายทำในรูปแบบ Univisium

    Univision หรือ Univisium (2.00:1) เป็นฟอร์แมตที่เกิดขึ้นใหม่และกำลังได้รับความนิยม ถูกนำมาใช้ในปี 1998 โดย วิททอริโอ้ สตอราโร่ ช่างภาพชาวอิตาลี โดยใช้สัดส่วนภาพนี้ในหนังเรื่องแรกคือ Tango (1998) ฟอร์แมตนี้มีกระบวนการที่ใกล้เคียงกับ Super 35 คือใช้ฟิล์มขนาด 35 มม. ในการถ่ายทำ และมาครอปภาพให้เหลือ 2:1 ในกระบวนการโปรดักชั่น วิททอริโอ้เสนอว่า เนื่องจากเป็นสัดส่วนที่ไม่แคบและไม่กว้างจนเกินไป เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างสัดส่วนของฟิล์ม 70 มม. ที่ 2.20:1 และสัดส่วนของระบบ HD ที่ 1.78:1 ให้ความรู้สึกสบายตา และสามารถรับชมได้จากทุกจอภาพโดยไม่รู้สึกว่ามีขอบดำ (letterbox) มากเกินไป

    ฟอร์แมตนี้ไม่ได้เป็นที่นิยมใช้เลยจนกระทั่งยุค 2010 เป็นต้นมา สัดส่วนนี้จู่ๆ ก็กลับมาเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยมีการนำมาใช้ในซีรีส์ House of Cards ของ Netflix

    และต่อมาคือ Jurassic World (2015)

    สัดส่วนนี้มักถูกใช้ในซีรีส์ของ Netflix เช่น Stranger Things

    แม้ว่าในอดีตการเลือกใช้สัดส่วนภาพจะขึ้นอยู่กับชนิดของฟิล์ม, รูปแบบการถ่ายทำ, อุปกรณ์ และกระบวนการในการจัดการกับฟิล์ม แต่ในปัจจุบันเมื่อเป็นระบบดิจิตอลแล้ว การเลือกใช้สัดส่วนต่างๆ จึงขึ้นอยู่เพียงความต้องการของผู้กำกับภาพเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องขึ้นกับฟิล์มแล้ว ซึ่งเราก็จะได้เห็นหนังที่มีสัดส่วนแปลกๆ ออกมาบ้างเช่น I Am Not Madame Bovary ที่ถ่ายหนังด้วยสัดส่วน 1:1 และเฟรมภาพเป็นวงกลม เป็นต้น

    เรียบเรียงจาก
    https://www.widescreen.org/aspect_ratios.shtml
    https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_motion_picture_film_formats
    https://en.wikipedia.org/wiki/Cinemascope
    https://en.wikipedia.org/wiki/Anamorphic_format
    https://en.wikipedia.org/wiki/Univisium
    https://en.wikipedia.org/wiki/IMAX

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in