โคตร เท่ห์ เลย
หลังจากที่ผู้เขียนเคยถูกใจเพลง God's Menu เป็นอย่างมาก ในที่สุดเพลงใหม่ของ Stray Kids ก็เป็นอีกครั้งที่สามารถนำเสนอความแปลกใหม่ น่าสนใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังไม่ทิ้งความเป็นเด็กหลงที่ดุดัน หนักแน่น เต็มไปด้วยองค์ประกอบทางเสียงหลากหลายที่ในเพลงนี้พาผู้ฟังไปสนุกกับเสียงใหม่เพิ่มเติมเข้าไปอีก ผู้เขียนจึงอยากนำเสียงเหล่านั้น รวมไปถึงการจัดวางรูปแบบอันน่าสนใจนี้มาบอกกล่าวเล่าต่อ
VIDEO
(อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)
Lyrics By BANG CHAN, CHANGBIN, HAN (Stray Kids)Written By BANG CHAN, CHANGBIN, HAN (Stray Kids) & HotSauceArranged By HotSauce & BANG CHANComposed By BANG CHAN, CHANGBIN, HAN (Stray Kids) & HotSauce
F Minor - 86 BPM
ขึ้นต้นเพลงมาแอบตกใจเล็กน้อยว่าจังหวะของเพลงนี้เรียกได้ว่าเร็วมากเลยอยู่ที่ 172 BPM (172 จังหวะต่อ 1 นาที) สังเกตได้จากเสียง rhythm บีตต่าง ๆ ที่มีความถี่ละเอียด ปลุกเร้าให้คนฟังรู้สึกตื่นเต้นตื่นตัวตั้งแต่เสีั้ยววินาทีแรก แล้วที่ชัดเจนที่สุดเลยคือการใช้เสียง synthesizer สังเคราะห์ออกมาเป็นเสียงคล้ายกับกลุ่มเครื่องลมทองเหลืองหรือ Brass ตัวแทนแห่งความยิ่งใหญ่ ชัยชนะ
ลักษณะการเดินโน้ตของทำนองก็จะคล้ายคลึงกับเพลงประกอบภาพยนตร์ที่มีเหล่าวีรบุรุษซุปเปอร์ฮีโร่ออกมาเตรียมพร้อมออกรบ มีการใช้ตัว ♭VII (จาก E กลายเป็น E♭) ซึ่งโน้ตตัวนี้มันมีความพิเศษ ถูกใช้เยอะมากในดนตรี film music อย่างเช่นของ John Williams ไม่ว่าจะเป็น Jurassic Park, Star Wars, E.T., Harry Potter เป็นต้น แต่พอแนวร้องเข้ามาโน้ตแรกกลับกลายเป็นตัว G ซ้อนด้านบนโน้ต E♭ มันทำให้เกิดคอร์ดที่เราไม่คาดคิดว่าจะได้เจอ เป็นสีสันที่เกินการคาดการณ์ไว้ โอ้โห เป็นอินโทรที่ทำให้เพลงน่าตื่นเต้นติดตามอย่างมาก
เสียงเอฟเฟคฉวัดเฉวียนไปมาช่วยทำให้เรารู้สึกถึงความตื่นตัว ดนตรีที่มีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะตอนท้ายที่เสียงนี้ถูกเร่งให้ดังขึ้นก็ที่จะถูกตัดฉับ! ดนตรีดรอปหายไปหมดจนเกิดเป็ความเงียบที่ทำให้คนฟังรู้สึกตกใจ สงสัย เกิดอาการงุนงงว่าตกลงกำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ยิ่งตามมาด้วยแร็พที่จังหวะที่ถี่เร็วย้ำบนโน้ตตัว F โน้ตหลักของเพลง เสียงเอฟเฟคแทรกในนาที 0:11 คล้ายเสียงขูดหรือร้องขู่คำรามของสัตว์ร้ายบางอย่างแล้วก็ตู้ม เข้าสู่ท่อน Verse แรกของเพลงแบบที่ไม่ได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราได้ยินมาก่อนหน้าเลย คุณ ถูก หลอก
กลายเป็นว่า Verse มีจังหวะที่เปลี่ยนไปเลยจากการที่บีตหนักเว้นห่างทำให้เพลงช้าลงกว่าช่วงอินโทรไปเท่าตัว และดนตรีมีความบางกว่าท่อน intro ที่แน่นไปด้วยเสียงลากจากเครื่องบราส ท่อนนี้สิ่งที่โดดออกมาอย่างแรกก็คงหนีไม่พ้นเสียงเบสที่หนัก แข็งแรง และเสียงต่ำมากจนฟังแล้วแทบจะคล้ายกับเสียงกลอง bass drum ที่ไม่มีโน้ตแต่แท้จริงแล้วมันมีแต่แค่เพียงเสียงต่ำมากจนแทบฟังไม่ออก แนวเบสเล่นวนเวียนอยู่บนโน้ตตัว F D ♭ C ในขณะที่แนว synthesizer เล่นโน้ตไล่วนเวียนอยู่บนสเกล F Minor (♭VII) โดยที่มีการเน้นตัวโน้ตคล้ายคลึงกันกับแนวเบสเลย มีเสียง snare ที่ค่อนข้างแสบหูสอดแทรกอยู่ตลอด
จะว่าไปเสียงเบส synthesizer ต่าง ๆ มันฟังแล้วทำให้นึกถึงเพลง God's menu ที่ก็มีการใช้เสียงต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกัน แนวทางการเดินของเบสมีรูปแบบไม่ต่างกันมาก แถมยังเป็นคีย์ F Minor เหมือนกันอีกด้วย
ตัวอย่าง เพลง Stray Kids - God's Menu
ทำนองท่อนนี้เป็นการแร็พที่มีการใช้โน้ต triplets (3 โน้ตใน 1 จังหวะ) เยอะมาก เรียกได้ว่ามีทุกประโยค มันช่วงสร้าง tension ไปพร้อมกันกับการที่แนวร้องยังคงร้องอยู่บนโน้ตตัว F เพียงโน้ตเดียวไม่ไปไหนเลย (มีแทรกด้วย E♭ แต่ก็มักจะร้องเบา ๆ จนมันไม่ได้เด่นออกมาให้ติดหู) ฟังแล้วก็แอบอึดอัด ทำให้คนฟังรู้สึกอยากออกไปจากตรงนี้ โหยหาท่วงทำนองที่หลากหลายมากขึ้น พอเข้าสู่นาทีที่ 0:18 ในที่สุดก็เหมือนว่าจะได้หายใจหายคอกันจากความเปลี่ยนแปลงของทำนอง แต่ก็เป็นทำนองที่ยังมีจังหวะคล้ายเดิม เพิ่มเติมคือโน้ต B♭ กับ C ที่ก็ยังทำให้คนฟังรู้สึกย่ำอยู่กับที่ไม่ไปไหน ใจจดใจจ่อกับการหลุดจากกรงแห่งดนตรีนี้เสียที
0:22 มีการเล่นกับจังหวะที่แม้จะลงจังหวะเรียกได้ว่าปกติบนจังหวะหนักแต่กลับสร้างความไขว้เขวให้กับดนตรีที่จากปกติก็มีอะไรให้ยึดเหนี่ยวน้อยอยู่แล้วถึงกับหลงทางอีกรอบ ไม่พอ พอเข้าสู่ท่อนถัดไปมันกลับยิ่งพาเรางงหนักกว่าเดิมไปอีก อ้าวเห้ย
เบสหายไป เหลือไว้แต่เสียงกลองแต๊กที่แทบจะไม่ได้ช่วยในเรื่องของจังหวะเท่าไหร่ พอจะหันไปเกาะเสียงทำนอง synthesizer ก็ดันถูกปรับให้เสียงต่ำลงไป 1 octave (1 ช่วงเสียง) มีความเบลอและสะท้อนก้องไปมา พีคที่สุดหนีไม่พ้นแนวแร็พที่จับจังหวะให้ลงกับดนตรีแทบได้เลย ราวกับว่ามันเป็นการพูดธรรมดาแต่ถ้าฟังลึกลงไปให้ละเอียดแล้วจะพบว่าแนวร้องนั้นมีการใช้ระบบการแบ่งจังหวะที่แตกต่างกับดนตรี (12/8 กับ 4/4) ยังไม่นับว่าข้างในนั้นมีการสลับจังหวะไปมาจนเล่นเอางงไปหมดจริง ๆ ยอมใจคนแต่งเลยที่พาเราหลุดออกจากดนตรีเมื่อช่วงต้นเพลงไปได้ขนาดนี้
มีการใช้ลูกเล่นแบบเดียวกันกับเมื่อตอนอินโทรพาเราเข้าสู่ครึ่งหลังของ Verse นี้ที่เบสกลับมาอีกครั้ง มีทำนองเป็นตัวโน้ตที่ชัดเจนมากขึ้น ก่อนที่ช่วงท้ายจะเป็นการร้องปัง ๆ พร้อมลงคอร์ด VI-V-i สลับด้วยเสียงแตรรถที่ล้อกันกับคำร้อง ส่งต่อไปยัง Pre-Chorus ด้วยเสียงไล่สเกล C Minor arpeggio บน synthesizer เสียงสูง ๆ เป็นการส่งที่ช่างงดงามและสมบูรณ์พลีสหูผู้ฟังมาก
Pre-Chorus น่าสนใจมาก มีการใช้เสียงที่พยายามจะเลียนแบบเครื่องดนตรีพื้นบ้านทั้งเสียงดีดที่เป็นเหมือนกับ countermelody หรือทำนองรองจากทำนองหลักในแนวร้อง แล้วก็มีเสียงกลองคล้ายกับกลอง Buk ที่สะท้อนอย่างยิ่งใหญ่ซ่อนอยู่เบา ๆ ฟังแล้วเสียงเหมือนมาจากที่ที่อยู่ไกล แม้แต่เสียงกลองแต๊กก็ถูกปรับเนื้อเสียงไปให้มีความสมจริงราวกับตีกลองพื้นบ้านอยู่ข้าง ๆ เรามากขึ้น ในนาทีที่ 0:42 ก็มีเสียงคล้ายกับซอทีสีและมีการพรมนิ้วในช่วงเสียงต่ำด้วย มันช่างเต็มไปด้วยเสียงที่แปลกใหม่ไปจากช่วงก่อนหน้าแต่กลับให้ความรู้สึกที่คุ้นเคยสัมผัสได้
ตัวอย่างเสียง เครื่องดีด Bipa 비파 ตัวอย่างเสียง กลอง Buk 북 VIDEO
ตัวอย่างเสียง ซอ Haegeum 해금
แนวร้องกลับมาเป็นทำนองในจังหวะธรรมดาไล่โน้ตตามสเกลจนกระทั่งนาทีที่ 0:39 เสียง background vocals เริ่มร้องเข้ามาด้วยตัว E♭ อีกแล้ว เป็นโน้ตที่สามารถขยี้หัวใจคนฟังได้แบบสุด ๆ พอเข้าสู่ครึ่งหลังของ Pre-Chorus ในนาทีที่ 0:45 ดนตรีเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งโดยที่คนฟังอาจจะรู้สึกว่าจังหวะมันเร็วขึ้นกว่าเดิมเท่าตัวเลย (แบบเดียวกับ intro) สวนทางกันกับแนวร้องที่ค่อนข้างจะราบเรียบ สงบ เสียงต่าง ๆ ที่มีความสมัยใหม่ electronics ก็ค่อย ๆ เริ่มกลับเข้ามาอีกครั้งซ้อนทับไว้ด้วยเสียงกลองแบบโบราณกับเสียงลากของเครื่องสายที่ทำให้เพลงนี้ยังคงความยิ่งใหญ่อลังการ ก่อนที่จะจบท้ายด้วยแนวร้องที่สไลด์เสียงต่ำลง (แบบไม่จับ pitch ที่แน่ชัด) ดนตรีเงียบหายไปหมดมีเพียงเสียงตะโกน นั่นยิ่งทำให้คนฟังลุ้นตามว่าท่อนฮุคที่จะมาถึงจะเป็นอย่างไรกันนะ
ในที่สุดเสียงเครื่อง brass อันยิ่งใหญ่จากเมื่อตอน intro ก็กลับมาอีกครั้งในท่อน chorus แถมคราวนี้ถูกปรับให้เสียงมีความดังและแตกเรากับเครื่องลมทองเหลืองเหล่านี้กำลังแผดเสียงโชว์ความเก๋าออกมา โดยเครื่องดนตรีนี้เล่นทำนองเดียวกันกับเสียง synthesizer เมื่อตอนท่อน verse เลย บีตต่าง ๆ กลับมาเป็นเสียงที่ค่อนข้างธรรมชาติและอยู่ในจังหวะที่สบาย ๆ กลายเป็นท่อนคอรัสฟังดูเรียบร้อยกว่าช่วงที่ผ่านมาที่แสนจะวุ่นวายไปเลย
นาทีที่ 1:01 มีเสียงเคาะลักษณะคล้าย cowbell หรือเคาะเหล็กแทรกเข้ามาพร้อมกับดนตรีที่ดรอปเงียบหายไป โอ้โห งงนะ จะเงียบกันดื้อ ๆ ตั้งแต่ต้นท่อนฮุคอย่างงี้เลย เล่นเอาไม่ได้ตั้งตัว พอนาทีที่ 1:06 แนวร้องกับเสียงโน้ตตัว C เน้นยับ triplets ไปด้วยกันเป็นอีกครั้งที่มีการใช้โน้ต 3 พยางค์นี้ในช่วงเปลี่ยนผ่านท่อน มันเท่ห์มากเลย
Post-Chorus นาทีที่ 1:08 เป็นอะไรที่อลังการงานสร้างจนผู้เขียนถึงกับต้องร้องว้าว เพราะมันคือการนำทั้งเสียงเครื่องบราส เสียงร้อง เสียงตะโกน และเสียงเครื่องดนตรีที่มีความเป็น traditional มารวมกันได้อย่างลงตัวมาก ๆ มีการเพิ่มเสียงของฉาบ ก๊อง เสียงเคาะเหล็กในช่วงก่อนหน้าที่โผล่มาเล็กน้อยในครั้งนี้กลับโดดเด่นจนผู้เขียนถึงกับต้องไปตามหาว่ามันคือเสียงคล้ายกับเครื่องดนตรีอะไรและคาดเดาว่าน่าจะเป็นเครื่อง Ulla ที่ได้รับมาจากวัฒนธรรมแบบจีนอีกที.. ช่างเป็นท่อนที่ผสมผสานความเป็น western และ eastern ได้อย่างลงตัวจริง ๆ
ตัวอย่างเสียง Ulla 운라 นาทีที่ 0:45 ทำนองในนาทีที่ 1:13 และแล้วก็มีการใช้ตัวโน้ต E ธรรมดาแทนที่จะเป็น E ♭ ซึ่งกลายเป็นว่าทำให้เพลงมีความหลอน น่ากลัวมากขึ้น (ตรงคำว่า 등장한 )
กลับเข้าสู่ท่อน Verse อีกครั้งนึงโดยที่ดนตรีดรอปลงไปเยอะมากตามคาดที่เพลงสมัยนี้มักจะทำให้ verse หลัง chorus มีความแตกต่างอย่างชัดเจนในเรื่องของความดังและความหนาของเครื่องดนตรี เพลงนี้ก็ไม่เว้น เสียง synthesizer กลับไปเป็นแบบช่วง verse 1 ที่เบา ล่องลอย จะว่าน่ากลัวก็ได้ แล้วเบสก็แทบจะไม่มีบทบาท ถูกเล่นโน้ตเพียงไม่กี่ตัวสั้น ๆ แถมยังเบามากจนแทบไม่ได้ยิน แต่ก็เพียงแค่แป๊บเดียวเท่านั้นบีตต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ กลับเข้ามาอีกครั้งในขณะที่แนวร้องยังคงความชิล ร้องแบบสบาย ๆ เหมือนเป็นช่วงให้ผู้ฟังได้ผ่อนคลายชั่วครู่
พอนาทีที่ 1:31 กลายเป็นว่าดนตรีกับแนวร้องสลับกันเลย ดนตรีกลับกลายเป็นผ่อนลงส่วนแนวแร็พมีความถี่ละเอียด triplets รัวอย่างกับปืนกล มีการกระแทกที่รุนแรงเพื่อช่วยคีพให้เพลงยังคงความน่าตื่นเต้น ไม่เนือยจนเกินไปจากเสียงทำนองที่เล่นซ้ำวนไปวนมา หลังจากนั้นกลับกลายเป็นการร้องนำเข้าสู่ท่อน Pre-Chorus อีกครั้งนึง
ท่อนพรีคอรัสรอบนี้แม้ว่าทุกอย่างทุกองค์ประกอบจะยังคงเหมือนเดิม แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปแต่หลายคนอาจจะไม่สังเกตคือความดังที่เพิ่มขึ้นกว่ารอบก่อนหน้าเพื่อช่วยเพิ่มความสนุก น่าตื่นเต้น ไม่พอตอนท้ายที่คนฟังกำลังรอการกลับมาของเสียงเครื่องบราสกลับมีการเพิ่มมาอีก 2 จังหวะ ความเงียบที่ยาวนานขึ้นเพียงเสี้ยวกลับสร้างอิมแพคได้อย่างมหาศาล คิดอยู่ในหัวว่านี่เรากำลังถูกแกล้งอยู่ใช่มั้ย ก่อนที่จะได้รับคำตอบเป็นเสียงหัวเราะอย่างเย้ยหยันเพื่อเป็นการยืนยันว่าผู้ฟังโดนแกงอีกแล้ว! นี่มันเป็นอะไรที่สุดยอดมาก ฟังแล้วทำให้นึกถึงเพลง Zimzalabim ที่ก็มีเสียงหัวเราะนำมาก่อนที่คนฟังจะถูกเหวี่ยงไปอีกมิติของดนตรีในท่อนฮุคเลย
ตัวอย่าง เพลง Red Velvet - Zimzalabim นาทีที่ 0:54 เสียงหัวเราะ เหอะ
VIDEO
เป็นอีกครั้งที่เชื่อว่าหลายคนรอคอยการกลับมาของ Post-Chorus แต่ไม่หรอก คุณจะไม่ได้ตามที่หวัง เพราะในนาทีที่ 2:16 ดนตรีกลับตัดฉับ มีการใส่ sound effect เสียงแปลก ๆ ที่ไม่คุ้นหูแทรกเข้ามาแล้วก็กระโดดเข้า Bridge เฉย
แล้วเป็น Bridge ที่มินิมอลมาก มีแค่เสียงเบสที่ฟังดูอู้อี้ เสียงเบาและต่ำมาก แม้จะมีการเคลื่อนของโน้ตที่ผู้ฟังรู้สึกว่าเท่ห์มากแต่ก็ฟังแทบไม่ออกเลยหากไม่ได้ใส่หูฟังดี ๆ มีเสียงตีฉาบคลอเป็นจังหวะไปเพื่อไม่ให้เพลงอืด ช่วยคีพจังหวะให้ direction ของเพลงยังคงไปข้างหน้า แนวทำนองร้องวนอยู่แค่โน้ต F กับ A♭ ในช่วงเสียงที่ต่ำ เนิบนาบ แถวยาวถึง 2 ห้องเพลงเลยด้วย จนทำให้เราเกิดความสงสัย ไม่แน่ใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าสรุปเพลงนี้จะเอายังไงกันแน่ จน 2:22 ทำนองมีการเพิ่มโน้ต มีเสียง synth ผ่ามเข้ามาเป็นโน้ตตัว A♭ แล้วส่งเข้าสู่ท่อนต่อไปด้วยเสียงกลองแบบพื้นบ้าน ช่างเป็นท่อนที่แปลกมาก ฟังแล้วรู้สึกอกสั่นขวัญแขวนอยู่กลาย ๆ ว่าอะไรบางอย่างที่อันตรายกำลังคืบคลานเข้ามา
Bridge ยังคงไปต่อโดยมีเสียงเครื่องบราสกลับมาอีกครั้งควบคู่ไปกับเสียงคล้ายฉาบ/ก๊อง ตีสาดมันทุกจังหวะโช้งเช้งราวกับการประกาศศักดาหรือแม้แต่จะเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลอันยิ่งใหญ่ ส่วนแนวเบสก็ดังโดดออกมาได้ยินอย่างชัดเจน มีลูกเล่น มี groove ที่น่าสนใจ แนวร้องกระโดดขึ้นกลับมาช่วงเสียงที่สูงกว่าท่อนก่อนหน้าถึง 1 octave มีความกระฉับกระเฉงมากขึ้นทำให้ท่อนนี้มันเต็มไปด้วยอารมณ์ที่พลุ่งพล่านอย่างถึงขีดสุด ก่อนที่ทุกอย่างจะค่อย ๆ ถอยกลับลงมาตามโน้ตที่ไล่ลงต่ำพร้อมกับคำว่า 퉤 퉤 퉤 เตรียมพร้อมกลับเข้าสู่ท่อนฮุครอบสุดท้ายที่เชื่อว่าจะต้องยิ่งใหญ่อลังการกว่าเดิมแน่นอน
ที่ ไหน ได้ เราโดนหลอกเป็นรอบที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ กลายเป็นท่อนฮุคที่ล่องลอย มีแค่เสียงเครื่องดนตรี traditional สอดแทรกไปมาทั้งกลองและฉาบ แต่กลับไร้ซึ่งฐานล่างให้เกาะยึดเหนี่ยว ราวกับว่าเรากำลังเกาะอยู่บริเวณหน้าผากำลังจะตกลงไป เป็นเวลาหลายวินาทีมากที่เรารู้สึกแบบนี้กว่าที่เสียงเบสและกลองหนัก ๆ จะกลับมาแต่นั่นก็ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความปลอดภัยกลับมายืนบนเท้าสองข้างได้อย่างมั่นคงปกติ Chorus สุดท้ายทั้งทีก็ขอเปลี่ยนอีกสักหน่อย นาทีที่ 2:48 มีการเปลี่ยนสลับเครื่องดนตรีแตกต่างไปจากรอบก่อนเลย แต่แล้วก็กลับสู่ความยิ่งใหญ่ อลังการ ขนมาครบทุกเครื่องดนตรี แทบจะทุกสรรพเสียงที่ได้นำเสนอมาตลอดทั้งเพลงถูกนำมาร่วมกันเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงท้ายของเพลงนี้และจบลงอย่างฉับพลัน ไร้ซึ่ง Outro ให้เสียเวลา
- จบเพลง -
โครงสร้างของเพลง Thunderous INTRO 0:00-0:12
VERSE 1 0:12-0:34
PRE-CHORUS 0:34-0:56
CHORUS 0:56-1:08
POST-CHORUS 1:08-1:19
VERSE 2 1:19-1:41
PRE-CHORUS 1:41-2:05
CHORUS 2:05-2:16
BRIDGE 2:16-2:38
CHORUS 2:38-2:50
POST-CHORUS 2:50-3:01
บทสรุป
การฟังเพลงนี้สำหรับผู้เขียนนั้นเรียกได้ว่าเป็นการเดินทางสั้น ๆ ผ่านไปยังเมืองแห่งหนึ่งที่ทำให้ได้เจอผู้คนมากหน้าหลายตา มีงานเทศกาลตามจุดต่าง ๆ ของเมือง การแสดงหลากสีสันตระกาลตาให้ได้ร่วมสนุก และการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่ที่เต็มไปด้วยสารพัดเครื่องดนตรีมาร่วมกันบรรเลงเพื่อสรรเสริญให้กับชัยชนะที่เพิ่งผ่านพ้นไป แต่ก็มีในบางช่วงที่ให้ความรู้สึกไม่ปลอดภัย มีความมืดหม่น น่ากลัว แต่โดยรวมคือสนุก มันส์ ครบรสในช่วงเวลาแค่เพียงสั้น ๆ
มีหลายจุดในเพลงที่ผู้เขียนอยากจะขอยกย่องผู้แต่งที่สามารถใช้เทคนิคการปรับเปลี่ยนง่าย ๆ แต่สามารถสร้างอิมแพคให้แก่คนฟังได้อย่างมหาศาล ไหนจะการผสมผสานกันของดนตรีแบบตะวันตก ดนตรีสมัยใหม่ และเสียงเครื่องดนตรีพื้นบ้านได้อย่างลงตัวฟังแล้วไม่รู้สึกขัดหูเลย มีเสียงตะโกน คำร้องแปลก ๆ การใช้เสียงของมนุษย์แทนเครื่องดนตรี แทนที่จะใช้เสียงสังเคราะห์แบบ electronics (แบบที่นิยมกัน) เยอะขนาดนี้มันทำให้เกิดความหลากหลายในเพลงได้โดยที่ผู้ฟังยังรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่สัมผัสจับต้องได้ น่าสนใจมากจริง ๆ ก็ต้องขอชื่นชมในความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของผู้แต่งเลย
เยี่ยมยอดไปเลย
อ่านจบแล้วอย่าลืมกดดู MV เพลง Thunderous อีกรอบด้วยนะ!
อ่านบทความวิเคราะห์ดนตรีเพลงอื่น ๆ Click อ่านบทความความรู้เรื่องดนตรีในวงการ K-pop Click
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in