โพสต์ที่เล่าว่าคนไทยส่วนใหญ่ 90% ไม่สนใจเรื่องการเคลื่อนไหวต่อสู้หรือเรียกร้องอะไรก็ตามเพราะพวกเขาก็มีความสุข-ความทุกข์ในชีวิตของเขาไป ถ้าพูดตามตรงคือคนพูดกำลังตัดสินทุกอย่างในสังคมจากคนรอบตัว คือ ชนชั้นกลางในเมืองหลวง ที่ (เชื่อว่า) ตัวเองไม่มีปัญหาอะไรต้องกังวล ไม่มีอะไรต้องออกไปเรียกร้องอีก แค่นี้เพียงพอและดีอยู่แล้ว ต่อให้จะมีความระยำของสิ่งรอบตัวก็พร้อมจะมองข้ามมุมมองแบบนี้ร้ายแรงและอันตรายมากๆ
มุมมองนี้กำลังสะท้อนว่า ยังมีคนในสังคมไทยยังมองกรุงเทพฯ
คือภาพทั้งหมดของสังคมไทยอยู่ เมื่อกรุงเทพไม่สนใจ ที่อื่นก็น่าจะเหมือนกัน รวมถึงมุมมองที่มองปัญหาของสังคมด้วยกรอบที่ตายตัวมากๆ ว่า จะต้องเป็นการต่อสู้ที่ “ทุกคน” แบบคนทุกคนต้องลุกฮือขึ้นมาจริงๆ ถ้าปัญหาไหนไม่เข้าข่าย ฉันก็จะรับรู้และปล่อยผ่านไป เพราะไม่ใช่เรื่องของฉัน
ทั้งนี้ แม้การต่อสู้ของประชาชนมีมากกว่าแค่เรื่องทางการเมืองต่างๆ จนถึงการยกเลิก ป.อ. มาตรา 112 มีทั้งฟากแรงงาน ฟากสิทธิมนุษยชน ฟากความเท่าเทียมทางเพศ ฟากการศึกษา ฟากปัญหาการเกษตรและที่ดินทำกิน ฟากวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ต้องยอมรับว่า ความเข้าใจของคนเมืองคือการต่อสู้เรียกร้องเฉพาะทางการเมืองและสถาบันกษัตริย์เป็นหลัก ยิ่งพวกเขาไม่คุ้นชินกับปัญหานอกตัวเมืองแล้วก็ไม่แปลกที่พวกเขาจะไม่สนใจการต่อสู้เรื่องอื่นๆ
ทว่าความเลวร้ายจะมีมากขึ้นหากมองลงไปกว่านั้น คนเหล่านี้อาจจะพร้อม “ตีกิน” ได้ทุกเมื่อ ถึงขนาดที่ยกว่าใครเป็น “ผู้ชนะ” หรือ “ผู้แพ้” เขามองการชนะไม่ใช่ชนะในความหมายที่ว่าสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่หมายถึงชนะที่ว่าใครกลายเป็นผู้มีอำนาจใหม่ที่เขาพร้อมจะสวามิภักดิ์ได้ ฉะนั้นไม่แปลกที่เขาจะชี้ว่าการก่อม็อบ หรือการอดอาหาร หรือวิธีอะไรก็ตาม “เขาประเมินแล้ว” ว่ามันไม่ก่อให้เกิดอำนาจแกฝ่ายที่เรียกร้อง ทั้งยังเสี่ยงภัยที่จะถูกรัฐกระทำทั้งๆ ที่รู้ว่ารัฐมีอำนาจแค่ไหน การดำเนินชีวิตแบบคนไทยชนชั้นกลางในเมืองหลวงจึงเป็นทางออก
สังคมในเมืองต้องการชีวิตที่ทำให้ทุกอย่างรอบตัวพวกเขาดำเนินต่อไปได้ ทั้งภาคการทำงาน และภาคนันทนาการและความหย่อนใจ พวกเขาทำงานงกๆ เพื่อหาเงินไปเที่ยวในวันหยุด ไปคาเฟ่ ไปฟังดนตรี ไปหาอาหารในเมืองกิน นัยหนึ่งวิธีการที่พวกเขาเชื่อว่าไม่ได้สร้างอำนาจอะไรได้เลย ทั้งมันยังอาจจะปะทะกับความสุขของพวกเขาที่พวกเขาควรได้รับจากความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน (ที่เป็นการถูกขูดรีดโดยไม่รู้ตัว) พวกเขาเองก็ไปไม่พ้นจากการถูกกดทับตรงนี้แต่เขาเลือกที่จะไม่พูดอะไรเพียงเพราะอยากที่จะรักษาพื้นที่ของความสบายเอาไว้มากกว่าที่จะไปต่อสู้ในประเด็นและวิธีการที่เขามองว่าไม่มีทางได้มาซึ่งอำนาจ หรือพูดง่ายๆ คือ ใครมาเป็นเจ้า ใครจะเป็นรัฐบาลก็ได้ จะประชาธิปไตยหรือเผด็จการก็ได้ แต่ขอแค่ไม่แตะชีวิตที่สุดแสนสนุกและมีตัวฉันเป็นหลักเท่านั้น
เรามองว่า การทำความเข้าใจพวกเขาน่าจะช่วยให้เราสื่อสารกับพวกเขาได้ ทำไมเขาไม่ต่อสู้แต่ทำไมถึงยอมที่จะไม่สนใจ สภาวะ-โครงสร้าง-มโนทัศน์แบบไหนที่ทำให้พวกเขาคิดแบบนั้น การที่พวกเขาเลือกตัดสินและจับทุกอย่างลงกล่องคู่ตรงข้ามต่างๆ นั้นเกิดมาเพราะอะไร แล้วเหตุปัจจัยใดที่ทำให้เขาเลือกจับเอาปรากฏการณ์นี้ใส่กล่องๆ นั้น อาจจะจริงอยู่บ้างที่คนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางเฉย แต่เมื่อคนกลุ่มนี้มีจำนวนมาก การเข้าใจเขาแล้วหาวิธีให้พวกเขายอมรับสภาพของตัวเอง ยอมรับความเป็นจริงที่พูดไม่เห็นหรือเลี่ยงไม่พูด ไปจนถึงค่อยๆ สลายคู่ตรงข้ามที่ผิดเพี้ยนลงก็เป็นอีกเรื่องที่จำเป็น
ในขณะเดียวกัน โพสต์นั้นก็บอกว่า คนที่ต่อสู้ควรยอมรับความพ่ายแพ้หรือประมาณว่ายอมรับว่าวิธีนี้ไม่ได้ผล เราไม่จำเป็นต้องถามกลับพวกเขาก็ได้ว่าวิธีอะไรที่เขสคิดว่าชนะ เพราะเราก็รู้คำตอบกันดีอยู่แล้ว แต่การชี้ให้เขาเห็นว่า เขากำลังถูกครอบงำหรือทำให้กลัวจากความรู้ความเชื่อบางอย่างที่รัฐปลูกฝังให้เขาอย่างแน่นหนามานาน แล้วสภาวะแบบนี้กำลังถูกสั่นคลอนต่างหาก คือสิ่งที่น่าจะถูกเอาไปทบทวนและใช้ในการต่อสู้ให้มากขึ้น รวมถึงการยืนยันถึงวิธีการต่อสู้ที่หลากหลาย ไม่มีถูกผิดในตัวเอง และแต่ละคนสามารถทำได้ตามความถนัด ตามศักยภาพ และตามโอกาสของแต่ละคน บนเป้าหมายอันเดียวกัน
ทั้งนี้ เราเพิ่มตรงนี้แทรกไปสักนิดว่า ความเข้าใจต่อสิ่งที่เขาเป็นกับการยอมรับได้ต่อการแสดงออกของพวกเขาก้ไม่ใช่สิ่งซึ่งเป็นเนื้อเดียวกันขนาดนั้น มันฟังดูคล้ายก็จริง การที่เราเข้าใจนั้นไม่ได้แปลว่าเราต้องยอมรับได้เสมอไป การยอมรับไม่ได้โดยปกตินั้นก็นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามกัน แต่ความเปราะบางของคนเหล่านี้ที่พวกเขาแท้จริงนั้นตัวเปล่าเปลือยไม่มีคุณค่าอะไรให้ยึดเกาะแม้แต่ความเป็นมนุษย์พวกเขาก็ไม่ถูกสอนอาจขับดันให้พวกเขาแสดงออกแบบนั้น พวกเขาอาจยังไม่พร้อมทีี่จะยอมรับการวิจารณ์ได้ แต่เราต้องทำให้สิ่งนี้เป็นปกติต่อไป การเรียกร้องให้เราวิจารณ์เจ้าได้ นัยหนึ่งคือสัญญะที่กำลังบอกว่า ต่อไปนี้ สังคมไทยใครก็ถูกวิจารณ์กันได้ เราต้องกล้าพูดความจริงและตั้งคำถามเพื่อให้จุดยืนของทุกคนตั้งมั่นและสอบทานตัวเองเสมอ
ทั้งหมดนี้ กล่าวโดยสรุปว่า คนที่เราต้องชี้หน้าด่าไม่ใช่ชนชั้นกลางเมืองไทยเฉยเพียวๆ หากแต่คือรัฐที่หล่อหลอมพวกเขาไว้ในกะลาคอนกรีตให้เชื่องด้วยคุณค่า อุดมการณ์ และมโนทัศน์ที่สะสมพลังมาตลอด เรื่องแบบนี้ใช้เวลาจริงๆ ต้นทุนเวลาเราหมดไปเพราะชนชั้นนำพรากซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in