เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เขียนไปเรื่อยidealtype_
#2 เรื่องวุ่นๆ ของชีทสรุปในคณะนิติศาสตร์
  • เวลาอาจารย์/นักศึกษากฎหมายดราม่าว่าด้วยเรื่อง “ชีทสรุป” และ “การขายชีทสรุป” แล้วก็ออกมาในทำนองว่า การทำแบบนี้แลดูจะแสดงถึงการไม่เคารพอาจารย์ก็ดี หรือการยกข้อกฎหมายมาเตรียมทำลายล้างคนกลุ่มนี้ เช่น ยกเรื่องการอ้างสิทธิในลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย เป็นต้น


    เราเห็นการยกประเด็นด้วยวิธีมองทางกฎหมายอย่างดาษดื่นก็ตาม แต่คำถามคือ ทำไมสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เราไม่เห็นใครอภิปรายแบบนี้เลย


    การทำชีทสรุปของนักศึกษาส่วนหนึ่งอาจมาจากการแค่อยากทำไว้เองแล้วขยายไปหาเพื่อนๆ กับอีกส่วนหนึ่งและเป็นส่วนหลักคือ การทำชีทที่เพื้อ “เอาตัวรอดจากการสอบ” เราต้องเข้าใจการสอบของทางกฎหมายว่ามันเน้นการคิดและวิเคราะห์ภายใต้กรอบอันตายตัวและแข็งตัวมากๆ ทั้งยังต้องหาทางทำให้ได้คะแนนมากๆ ทั้งการต้องตอบให้ตรงตาม “ธงคำตอบ” ทำให้ทั้งแนวทางการอธิบายไปสู่คำตอบ ตัวคำตอบ และความคิดเห็นที่มักถูกเข้าใจว่ามันเปิดกว้างแต่ไม่ใช่ มันมีรูปแบบตายตัวไว้หมดแล้ว การทำสรุปที่ไม่ได้สรุปแค่ความรู้ แต่สรุปคำพูดของอาจารย์ เน้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่เดาว่าจะออกสอบ เก็งมาตราในกฎหมาย สรุปความเห็น (ที่อาจารย์ชอบ) หรือสรุปกรอบวิธีการไล่สายกฎหมายเพื่อเขียนตอบจึงแทบจะเป็นรูปแบบที่ปรากฏทั่วไปในชีทสรุปกฎหมายแทบทุกเจ้า


    เมื่อพูดถึงกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว เราต้องยอมรับว่า ความรู้กลายเป็นสิ่งที่มีเจ้าของและกลายเป็นทรัพยากร และยิ่งความรู้เป็นวาทกรรมที่มีอำนาจต่อความรับรู้หรือเข้าใจแล้ว ความรู้กฎหมายมันดำรงสถานะ 2 อย่าง คือ ความรู้ที่มีค่าและสิ่งที่มีอำนาจในตัวเอง ในแง่หนึ่ง การไม่ค่อยสบายใจต่อการขายชีทสรุปกฎหมายนั่น อาจเกิดจากนัย 2 อย่างรวมกัน คือ การหวงกันความรู้ไว้กับบุคคล (ในที่นี้ คือ มหาวิทยาลัย) เท่านั้น พร้อมกับให้ความชอบธรรมที่จะเข้าถึงความรู้ และเช่นเดียวกัน มันอาจเป็นการสร้างสถานะของบุคคลในพื้นที่ของการศึกษากฎหมายก็จะมีความไม่เท่าเทียมกัน นักศึกษาเรียนดีมีความรู้แน่นย่อมได้เปรียบและมีตำแหน่งแห่งที่ที่ดีกว่านักศึกษาคนอื่น ในแง่หนึ่ง การทำชีทิาจเป็นการหาทางระบายความตึงตัวและกดดันของความรู้ได้ ซึ่งเราควรสนใจตรงนี้


    ทั้งนี้เอง ข้อน่าคิดต่อมา คือ บรรดาอาจารย์กฎหมายเองก็ “น่าจะ” รู้แบบนี้แล้ว พวกเขามีปฏิกิริยาอย่างไร ก็คงเป็นตามโพสต์นี้ที่ออกไปในแนวสังเกตเก็บข้อมูล หรือออกมาวิจารณ์นักศึกษาอย่างตรงไปตรงมา เช่น การบอกว่าเป็นเรื่อง “ตลก” ที่นักศึกษาทำกันแบบนี้ ในแง่หนึ่งมันสัมพันธ์กันกับที่เรากล่าวไว้ว่าความรู้สร้างอำนาจในตัวเองผ่านการกำหนดสถานะผู้สามารถอธิบายวาทกรรมของกฎหมายได้ไว้เพียงคนเดียวเท่านั้นแล้วยกตนข่มท่านด้วยสถานะที่สะท้อนผ่านการแสดงออก




    จากข้างต้น ทำให้เห็นว่าปัญหาอย่างหนึ่งที่ไม่เคยมีใครยกและตั้งคำถามคือ การเกิดขึ้นของชีทสรุปและธุรกิจชีทสรุปมันคือการแสดงความไม่ใส่ใจและไม่แก้ปัญหาในทั้งเนื้อหาการสอนกฎหมาย รูปแบบวิธีคิดทางกฎหมาย ไปจนถึงลักษณะการเรียนการวัดผลแบบคาดหวังความถูกต้องสัมบูรณ์มากกว่า เมื่อทุกคน “ต้องรอด” การหาทางรอดโดยทำอย่างไรก็ได้ให้สอดรับกับระบบนี้จึงถูกทำซ้ำ กลายเป็นวัตรปฏิบัติปกติในสายตานักศึกษาปกติที่ไม่ปกติในสายตานักศึกษาทีมชาติปั๊มคะแนนหรืออาจารย์ ทั้งที่ เรื่องแบบนี้กำลังสะท้อนให้เห็นปัญหาในพื้นที่ของการศึกษากฎหมายที่เกิดขึ้นซ้ำซากอยู่อย่างนั้นหรือไม่ 


    เช่นเดียวกัน อาจารย์หลายคนมักถูกนักศึกษาพูดถึงในทางลบต่อรูปแบบวิธีการสอน เช่น สอนไม่รู้เรื่อง ไม่มีสื่อการสอน สอนออกนอกทะเล หรือไม่เข้าสอน เป็นต้น เราพูดตรงๆ เลยว่า บางทีอาจารย์กฎหมายในบางกรณีก็ไม่มีความรับผิดรับชอบต่อบรรดานักศึกษาในการที่จะปรับปรุงตัวเองให้การเรียนการสอนกฎหมายไม่ว่าจะรูปแบบการสอน สื่อการสอน หรือแม้แต่เปิดกว้างในความคิด แต่กลับห่วง “หน้าตา” และ “ภูมิ” ของตัวเองแล้วก็มาระบายกับนักศึกษาเช่น ออกข้อสอบยากขึ้น ออกหลบจากแนว ตรวจให้คะแนนยากขึ้น เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เราไม่เข้าใจว่า “ทำไปเพื่ออะไร” ระหว่างเพื่อระบายความเสียหน้าและโกรธแค้น เพื่อแสดงความเป็นใหญ่ในความรู้ หรือเพื่อบอกว่าที่ทำอยู่เป็นเรื่องผิด


    การฟ้องคดีไม่ใช่ทางออกที่ดีเท่าไหร่นัก เพราะปัญหาทุกอย่างจะไม่ถูกแก้อย่างจริงๆ ได้ แต่การยอมรับและหาทางออกในเรื่องนี้สำหรับบรรดาคณะนิติศาสตร์ สำนักอบรมศึกษากฎหมายต่างๆ ควรกลับมาทบทวนจุดยืนของตัวเองต่อการผลิตนักกฎหมายและการเผนแพร่ความรู้กฎหมายต่อสังคม อย่างน้อยที่สุดคือการตั้งคำถามว่า นักกฎหมายจะยังถูกทำให้มองโลกเป็นเส้นตรงและเป็นคนที่มีหัวสี่เหลี่ยมมุมแหลมแข็งๆ ต่อไปอีกนานไหม ถ้าตอบไม่ได้ชีทก็จะยังถูกขายต่อไป


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in