เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เขียนไปเรื่อยidealtype_
#4 “หรือ” ใครที่กำลังตกหลุมอคติ กำลังควานหาแต่ความถูกต้อง (ภายใต้อำนาจ)
  • ในช่วงนี้ด้วยผลของการสุ่มคอนเท้นต์ใน facebook โดยพลังของ algorithm อันทรงพลัง เริ่มทำให้เจอกับคอนเท้นต์ทางวิชาการในเพจที่ชื่อคล้าย “หรือ” อยู่ก่อน ล.ลิงในพจนานุกรม ที่พยายามจะผลิตโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมเพื่อจะเสนอชุดข้อเสนอโต้แย้งกับข้อเสนอต่างๆ ของนักวิชาการฝ่ายซ้ายที่มีแกนหลักคือการบ่งชี้ปัญหาของรัฐที่กระทำต่อประชาชน ทั้งในทางประวัติศาสตร์ กฎหมาย วัฒนธรรม และการเมือง พวกเขาพยายามเสนอว่าสิ่งที่นักวิชาการฝ่ายนั้นเสนอเป็นเรื่องผิดและเต็มไปด้วยอคติ พร้อมกับพยายามบ่งชี้ว่าจำเป็นต้องรักษาระเบียบของสังคมที่กฎหมายกำหนดไว้

    ในยุคสมัยนี้ยังมีคนเสนอคอนเท้นต์แบบจับถูกจับผิดอย่างนี้อีกเหรอ? คำถามข้อแรกที่ผุดขึ้นในใจในขณะที่ลองอ่านๆ ข้อเสนอของพวกเขา พลางทำให้คิดไปว่า ทำไมพวกเขาถึงนำเสนอข้อวิพากษ์ในลักษณะนี้ อะไรที่ขับดันให้พวกเขาต้องผลิตงานออกมาในลักษณะเหมือนจะแย้งและทำลายน้ำหนักของข้อเสนอทางวิชาการที่ไม่ได้เป็นไปตามแบบของรัฐ
  • เราวิจารณ์กันได้ใช่ไหม ?

    จุดหนึ่งที่ทำให้สังเกตได้ก็ไม่พ้นคำว่า “ผิด” หรือ “อคติ” ที่ปรากฏอย่างเด่นมากบนหัวข้อของงานหลายๆ ชิ้นที่ปรากฏบนเพจนั้น ทำให้อดคิดไม่ได้ว่านี่คือการพยายามลดทอนคุณค่าของข้อมูล/ข้อเสนอในทางวิชาการที่พวกเขาไม่เห็นด้วยโดยการทำให้ส่งนั้นดูเป็นเรื่องเลวร้ายไปเลย ภายใต้คำว่าผิดที่ทำให้มองว่าข้อเสนอที่พวกเขาโต้แย้งนั้นดูเป็นสิ่งที่บกพร่องในการหาข้อมูล อันทำให้ข้อมูลของเขานี่แหละคือความถูกต้อง มีหลักฐานที่ตีความตามกรอบการพรรณานาแบบประวัติศาสตร์ไทยตามขนบ ในขณะที่อคติก็น่าจะมาจากการฝักใฝ่ความคิดใดมากเกินไป ทำให้งานจึงเน้นไปที่การโจมตีแต่รัฐ โจมตีคุณค่าบางอย่างที่พวกเขาคงมองว่ามันอาจจะไม่แฟร์สำหรับเขา

    ในเบื้องต้น สำหรับเราแล้วไม่แปลกใจในการสร้างงานออกมาวิพากษ์กันบ้าง มันควรเป็นเรื่องปกติมากๆ ในวงการวิชาการ และเรื่องอะไรก็ตาม การถกเถียงแลกเปลี่ยนควรจะเป็นเรื่องที่ทำกันได้ในทุกระแหงถนน งานบนเพจนี้ก็คงจะมีเป้าหมายแบบนั้น (เดาว่าแบบนั้นนะ) เราจะเห็นพวกเขาพยายามเสนอข้อเสนอในเรื่องเดียวกันเหมือนต้องการจะถกเถียงว่าสิ่งนั้นไม่ได้เป็นแบบที่เสนอกัน แต่มันอาจจะเป็นแบบนี้ เป็นอย่างนี้ก็ได้ ความรู้ไม่ควรถูกผูกขาดหรือทำให้ถูกผิดไม่ว่าจะอยู่กับใคร หรืออยู่ในมือของผู้สมาทานคุณค่าแบบใด แต่ต้องตรวจสอบได้ ตั้งคำถามได้

    ด้วยเหตุนี้ ต่อให้ข้อเสนอหนึีงๆ จะตอบรับต่อความคิดชุดใด ไม่ว่าข้อเสนอนั้นกำลังทำงานกับข้อเรียกร้องส่วนรวมในสังคมเท่าไหร่ หรือพยายามบ่งชี้ปัญหาเพื่อหาทางออกของปัญหาที่คาราคาซังอย่างใด ก็ควรทำให้วิจารณ์กันได้ เพื่อทั้งต่อยอดความคิดและค้นหาปัญหาในข้อเสนอที่จะปูทางไปสู่การคิด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีวิธีการนำเสนออย่างไรก็ตามไม่ใช่สาระสำคัญที่จะลดทอนน้ำหนักของสาร เช่นเดียวกันกับจุดยืนหรือการสมาทานแนวคิดหรืออุดมการณ์ใดๆ ของผู้เสนอ 
  • การเริ่มด้วย “ผิด” อาจปิดโอกาสถกเถียง

    อย่างไรก็ตาม เมื่อตั้งคำถามได้ เราก็สามารถตั้งคำถามย้อนกลับไปยังคำถามที่ตั้งมาได้เช่นกัน แต่การที่เริ่มต้นการวิพากษ์ด้วยการแปะป้ายว่า “ผิด” หรือปักป้ายว่างานนี้ “มีอคติ” ย่อมทำให้การตั้งคำถามไม่ได้เกิดอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ได้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันได้ เนื่องจากมีการปักป้ายขีดเส้นกันแล้วว่าข้อมูลในมือใครผิดหรือถูก หรือข้อมูลใครมีอคติหรือไม่ การตั้งคำถามแบบนี้ไม่สร้างสรรค์เท่าไหร่นักในการเล่นแร่แปรธาตุกับสิ่งที่ไม่มีความชัดเจนแต่ลื่นไหลในตัวเอง

    ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาว่าอะไรถูกต้องหรือผิดในความคิด การเริ่มต้นด้วยคำถามเหล่านี้นำมาสู่การถกเถียงเพื่อจะแสดงอำนาจของการกำหนดความถูกต้องแท้จริงของความรู้ชุดใดชุดหนึ่งผ่านการกำหนดแล้วว่าข้อสรุปนี้ถูกต้อง โดยหลายครั้ง (และมักเป็นส่วนใหญ่ของวงวิชาการอนุรักษ์นิยมไทย) ที่เชื่อว่ามีความรู้ที่ถูกต้องอยู่แล้วในตัว นัยหนึ่งต้องอย่าลืมว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ผูกความรู้ไว้อย่างแนบชิดกับอำนาจของโครงสร้างส่วนบนที่ทำหน้าที่เป็นชนชั้นนำ

     การท้าทายความรู้ที่ไม่เป็นไปตามการพรรณนาของชนชั้นนำจึงยอมรับไม่ได้ แน่นอนว่าพวกเขาจะไม่เห็นข้อพิจารณาตรงนี้แต่พวกเขายึดเอาแนวคิดนี้เป็นที่ตั้งต่างหากเพื่อทำลายน้ำหนักของงานวิชาการนอกขนบทั้งหลายที่พยายามบ่งชี้สภาวะของการกดทับ/กดขี่ที่พวกเขา(อาจ) เลือกมองไม่เห็นหรือไม่เห็นเลย เพราะการอยู่กับความรู้ที่มีอำนาจจึงทำให้เกิดทั้งความปลอดภัย และหน้าที่ในการปกปักรักษาความรู้ที่ถูกต้องนั้นๆ ให้ดำรงไป 

    ในขณะเดียวกัน เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าความรู้ที่ถูกนั้นถูกต้องจริงๆ ถ้าพวกเขาเชื่อว่าถูกต้องจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องถกเถียงอะไรกัน แต่ในเมื่อพวกเขาพาตัวเองเข้าสู่สนามของการถกเถียงแล้ว แต่กลับมาด้วยจุดยืนที่ควานหาความถูกต้องแบบนี้นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว ยังลดทอนคุณค่าในความรู้ของพวกเขาเอง แต่อย่างไรก็ดี ความน่ากลัวกว่ากลับไปอยู่ที่อำนาจของความรู้ที่กระทำกับการกระทำ สำนึก และกระบวนการคิดของคนที่อยู่ภายใต้ความรู้เหล่านั้นเช่นกัน

    เรารับรู้กันดีว่าความรู้คืออำนาจ แต่การตั้งคำถามกับอำนาจที่กำหนดว่าอะไรถูกผิดและวิพากษ์การใช้อำนาจพวกนั้นจำเป็นต้องทำ โดยเฉพาะเมื่อวิธีการชี้ถูกชี้ผิดปรากฏตัวออกมาให้เห็น และการระแวดระวังอำนาจเหนือที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้การแสดงออกโดยไม่รู้ตัวเพื่อปกป้องอำนาจ
  • การปักป้ายอคติอาจเป็นการไม่ยอมรับ “อคติของความไร้อคติ”

    สังคมไทยในหลายกรณีให้ความสำคัญกับความเป็นอคติ หรือความเป็นกลาง เพราะพวกเขาเชื่อว่าการปราศจากอคติในความคิดหนึ่งๆ นั้น ทำให้ความคิดบริสุทธิ์และรับฟังได้ นัยหนึ่งความเป็นกลางหรือไม่แสดงจุดยืนใดๆ จึงเป็นเรื่องที่ถูกเรียกร้องให้ปักเจกต้องทำ และต้องมีความเข้มข้นขึ้นในปัจเจกที่สวมหัวโขนบางอย่าง เช่น นักวิชาการ สื่อสารมวลชน ผู้พิพากษา-ตุลาการ เป็นต้น

    การยอมรับถึงการมีอยู่ของอคตินั้นนัยหนึ่งทำได้ยากในสังคมที่ผู้คนถูกพร่ำสอนให้เพียรหาหนทาไปสู่ความบริสุทธิ์ เสมือนการบำเพ็ญจนตนจนบรรลุอรหันต์ในพุทธศาสนา แต่ในเมื่อไม่ใช่ทุกคนที่อยากทำแบบนั้น และเมื่อทุกคนมีเสียงที่มีมากกว่าเหตุผลล้วนๆ การทำความเข้าใจการมีอยู่ของอคติก็เป็นสิ่งที่ควรทำ งานที่มีอคติไม่ควรเป็นข้ออ้างที่จะลดทอนคุณค่าของข้อเสนอใดๆ อย่างที่กำลังทำกันในเพจที่ว่านั้น ไม่มีงานใดที่บริสุทธิ์ปราศจากอคติ เช่นเดียวกับการกระทำหรือแสดงออกของปัจเจกย่อมมีส่วนเหล่านี้ผสมอยู่แล้ว

    ทว่า “อคติของความไร้อคติ” คือจุดหนึ่งที่น่าขบคิดว่า การพยายามทำให้คนๆ หนึ่งไร้อคติก็อาจจะเป็นอคติรูปแบบหนึ่งที่ไม่เชื่อว่า โดยเนื้อแท้แล้วนั้นมนุษย์มีอคติ แต่ต้องแยกให้ออกจากเหตุผล กล่าวคือ เมื่อมนุษย์ประกอบไปด้วยส่วนของเหตุผลและอารมณ์ ในการใช้เหตุผลก็จะต้องเป็นช่วงหลักที่ให้เหตุผลได้แสดงตัวโดยไม่มีอารมณ์เข้ามาร่วมแสดง แต่การทำให้ปราศจากอคตินี้กำลังลดทอนคุณลักษณะของมนุษย์อย่างน่าเสียดาย ทำไมอารมณ์จึงไม่สามารถถูกฟังได้? รวมไปถึงการทำให้ปราศจากอคตินี้เองเป็นการละเลยจุดยืนของปัจเจกแต่ละคนไปจนไปอิงกับเหตุผลเท่านั้น ทำให้เสียงของคนไม่ถูกรับฟังอย่างแท้จริง 

    การมัวแต่จมอยู่กับการจับวัดว่างานใดมีอคติอยู่หรือไม่ คือสัญญะที่กำลังแสดงว่าพวกเขากำลังตกอยู่ในอคติที่พวกเขาสร้างในนามว่า “ความไม่อคติ” แม้แต่งานที่เชื่อว่าไม่มีอคติแล้วก็มีอคติเสมอ
  • บทสรุป: การถกเถียงแบบนี้อาจบอกอะไรเราได้?

    ข้อสังเกตสองข้อที่พวกเขากำลังเสนอกำลังย้อนกลับมาหาพวกเขาอีกครั้ง คือ การบอกว่าข้อเสนอของพวกเขาถูกนั้นถูกจริงๆ หรือไม่ ถูกเพราะอะไร รวมไปถึงข้อเสนอที่พยายามชี้อคติในงานอื่นๆ นั้นคือการสะท้อนอคติของตัวเองหรือไม่ งานพวกเขาจึงสมควรแก่การถูกตั้งคำถามเหมือนกัน เช่นนี้จึงจะเสมอกันในพื้นที่ของการถกเถียง

    สภาวะของประการข้างต้นนี้ไม่ได้ทำงานแค่ในพื้นที่วิชาการ แต่ในชีวิตประจำวันของปัจเจกในสังคมไทยก็ยังคงตลบอบอวลไปด้วยการค้นหาและตรวจสอบทั้งความถูกผิดและอคติของผู้คนเสมอมาในการพูดหรือนำเสนอสิ่งใดๆ ทว่าฝ่ายที่ถูกและฝ่ายที่ไร้อคติดูจะมีอำนาจเหนือกว่าโดยเฉพาะเมื่อคุณลักษณะสองอย่างนี้อยู่ในการกำหนดและจำกัดความโดยรัฐผ่านทั้งกฎหมาย กระบวนการพิสูจน์ความจริง และการควบคุมทางกายภาพต่อการนำเสนอข้อเสนออะไรสักอย่างในสังคม สภาวะแบบนี้เองก็อาจสนับสนุนให้การถกเถียงหรือวิพากษ์เกิดขึ้นไม่ได้อย่างเต็มที่นัก แล้วเมืื่อพวกเขาพยายามตอกย้ำด้วยการทำสองสิ่งข้างต้นนี้ด้วยตัวเองแล้ว ยิ่งปิดโอกาสในการถกเถียงไปอีก

    สิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่อาจเป็นการสนับสนุนสภาวะความเหนือกว่าของรัฐในการสร้างอิทธิพลและอำนาจนำในความรู้จนปลูกฝังให้พวกเขาไม่สามารถหลุดพ้นหรือตั้งคำถามตัวเองได้ เพราะสิ่งที่เป็นตัวของพวกเขามันถูกเจือปนและผสมโดยอุดมการของรัฐไปแล้วจนไม่อาจจระหนักรู้เลยว่าพวกเขาคือใครกันแน่ ระหว่างตัวพวกเขาเองหรือเขาในฐานะตุ๊กตาหุ่นทหารที่มีรัฐเป็นคนบงการผ่านการกระทำโดยพวกเขาไม่รู้ตัว

    “ฤๅ” การย้อนตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ เหนือตัวของเขา และเหนือบรรยากาศของพื้นที่ในการถกเถียงก็อาจจะสำคัญต่อการทำความเข้าใจสภาวะของสังคมไทยได้ไม่มากก็น้อย

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in