เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
JJ’s Cambodian Culture Diaryjjjaypc
[บันทึกหน้า 3] การนับถือผีตายาย: เนียะตา ศาลปู่ตา ศาลตายาย
  • รากฐานวัฒนธรรมกัมพูชาเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้วของมอญ-เขมร (ออสโตเอเชียติก) และของอนุทวีปอินเดีย อย่างที่เราทราบกันดีว่ากัมพูชาเจริญมาก่อนที่จะมีชาติพันธุ์ไทมาอยู่จนกลายเป็นมาคั่นมอญกับเขมรไป เคยสงสัยไหมว่าทำไมกัมพูชาได้รับอารยธรรมอินเดียเข้มข้นกว่าเหมือนกับว่าข้ามไทยไปเลย นี่แหละคำตอบ กัมพูชาได้รับวัฒนธรรมอินเดียไปเต็ม ๆ เวียดนามก็รับวัฒนธรรมจีนไปเต็ม ๆ สมกับชื่ออินโดจีน เมื่อดูตามตำแหน่งจะเห็นว่าทั้งสองประเทศนี้เคยเป็นอาณาจักรฟูนันและจามปามาก่อน


    ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอะไรหลายอย่างรวมกัน เช่น การนับถือศาสนาผี (animism) ผีอยู่ที่สูง บนเขา เป็นสังคมเกษตร ทำนาเลี้ยงควาย ให้ความสำคัญกับผู้หญิงเป็นผู้นำศาสนา สืบเชื้อสายทางแม่ เป็นต้น


    ความเชื่อของคนโบราณเป็นรากฐานของวัฒนธรรม ความเชื่อของคนกัมพูชาที่สายธารและพัฒนาการค่อนข้างคล้ายกับไทย เริ่มที่ศาสนาผี ศาสนาฮินดู ทั้งไศวนิกายและไวษณพนิกาย ศาสนาพุทธมหายาน จบที่ศาสนาพุทธเถรวาท (มีศาสนาอิสลามจากชาวจาม และศาสนาคริสต์ของชาวตะวันตกที่มาเผยแพร่ แต่ไม่ถือเป็นศาสนาที่ชนชั้นปกครองนับถือ จึงขอใส่ไว้ในวงเล็บ)


    ศาสนาหรือความเชื่อที่เราสนใจที่สุดแน่นอนว่าต้องเป็นศาสนาผี เพราะเป็นความเชื่อดั้งเดิมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นรากฐานสำคัญที่ยังปรากฏร่องรอยแม้ถูกลดทดทอนบทบาทไปบ้างจากชนชั้นปกครอง


    การนับถือผีบรรบุรุษเป็นพื้นฐานสำคัญของภูมิภาคนี้ และมักปรากฏว่าเป็นผีปู่-ย่า-ตา-ยาย เรื่องเล่าของบรรพบุรุษเหล่านี้บอกเล่าต่อกันเป็นนิทานพื้นบ้าน คนรุ่นหลังก็จะนับว่าตัวเป็นลูกหลานของปู่ย่าตายาย ยกตัวอย่าง ปู่เยอย่าเยอเป็นความเชื่อของลาว (โดยเฉพาะหลวงพระบาง เมืองหลวงเก่า) ปู่สังกะสาย่าสังกะสีเป็นความเชื่อของล้านนา เรื่องเล่าเหล่านี้เป็นตำนานการสร้างโลกจากคู่ชายหญิงอีกด้วย (male-female creator type)


    การเลี้ยงผีเนียะตาเป็นรากฐานความเชื่อของเขมร คนไทยอาจจะคุ้นในชื่อ ศาลปู่ตา หรือ ศาลตายาย คนสำคัญที่ตายไปแล้วตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงเชื้อพระวงศ์สามารถนับถือให้เป็นเนียะตาได้ เนียะตาเป็นผีที่ปกป้องคุ้มครองพื้นที่ใด ๆ และมีเรื่องเล่าว่าเคยเป็นใครมาก่อน


    ชาญชัย คงเพียรธรรม (2556) ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประกอบพิธีกรรมเซ่นไหว้เนียตาไว้ดังนี้

    พิธีกรรมเช่นไหว้เนียะตาที่เรียกว่า “ขึ้นเนียะตา” เป็นพิธีกรรมหลักที่ต้องกระทำกันทุกปี วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขของคนในชุมชน คนเขมรเชื่อว่าอิทธิฤทธิ์ของเนียะตาจะช่วยดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ปกป้องมิให้ภยันตรายใด ๆ มากระทำย่ำยีคนในหมู่บ้านได้

    นอกจากนั้นอาจมีพิธีกรรมย่อยที่มีวัตถุประสงค์แตกต่างไปตามความต้องการของแต่ละบุคคล เช่น การประกอบพิธีกรรมอัญเชิญนียะตาให้มาช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ หรือการอัญเชิญเนียะตามาช่วยชับไล่ผีเร่ร่อนที่เข้ามาสิงสู่ ทำร้ายชาวบ้าน เป็นต้น (“ความเชื่อเรื่อง ‘เนียะตา’ ในสังคมเขมร” ดูอ้างอิง)


    สังเกตว่าลักษณะสังคมที่เป็นสังคมเกษตรทำให้มีความเชื่อเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวอยู่มาก พิธีกรรมเซ่นไหว้เนียะตาจัดขึ้นก่อนฤดูกาลทำนา เวลาเดือน 6 หรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี เพื่อขอความอุดมสมูรณ์ อยู่เย็นเป็นสุข รอดพ้นจากภัยธรรมชาติ ซึ่งตรงกับช่วงบวงสรวงไหว้ศาลปู่ย่า ศาลตายายในไทย และตรงกับช่วงพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอีกด้วย



    เราสนใจสืบค้นเกี่ยวกับเนียะตาเพราะว่า วันที่ 25 ก.พ. 66 เราไปเที่ยวเพชรบุรีกับกลุ่มเพื่อน ได้ไปถ้ำเขาหลวง หนึ่งในที่เที่ยวที่ผู้คนนิยมไปเวลาไปเพชรบุรี (เอารูปมาฝาก) ภายในถ้ำนอกจากหินงอกหินย้อยแล้ว ในนั้นยังมีรูปแทนความเชื่อมากมาย มีพระพุทธรูป มีแม่ชี มีรูปฤาษี องค์พ่อปู่ฤาษีนารายณ์ แต่ที่เราสังเกตคือรูปเคารพตา-ยาย ชาวลาวโซ่ง 


    ปิ่น บุตรี (2561) เล่าถึงที่มาของรูปเคารพตา-ยายในถ้ำเขาหลวงไว้ดังนี้

    ท่านทั้งสองเป็นชาวลาวโซ่ง (ไทยทรงดำ) ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จ้าง 2 ตา-ยาย ชาวลาวโซ่งให้เป็นผู้เฝ้าถ้ำ เมื่อท่านทั้ง 2 เสียชีวิตลง ชาวบ้านที่นี่จึงสร้างรูปเคารพของสองตา-ยายขึ้น เพื่อรำลึกในคุณงามความดีของท่าน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีคนนิยมมากราบไหว้ขอพรท่านกันเป็นจำนวนมาก (" 'ถ้ำเขาหลวง' ถ้ำงามเมืองเพชรบุรี มีดีมากหลาย ที่เที่ยวสบายๆใกล้กรุง" ดูอ้างอิง)


    ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด ภายในถ้ำมีรูปเคารพตายายหลายรูปเลยทีเดียว หมายถึงสร้างรูปเคารพมากกว่าหนึ่ง และเป็นของตายายจากเรื่องเล่านี้เรื่องเดียว แต่เสียดายไม่ได้ถ่ายตรงนั้นมา ตอนนี้เวลาเราเจอสถานที่ที่สักการะบูชาปู่-ย่า-ตา-ยาย เราก็อดคิดถึงเนียะตาและวัฒนธรรมการนับถือผีตายายไม่ได้


    แหล่งอ้างอิง

    กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร. พิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับข้าว ศาลปู่ตา ศาลตายาย, https://www.finearts.go.th/promotion/view/23724-พิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับข้าว--ศาลปู่ตา-ศาลตายาย.

    ชาญชัย คงเพียรธรรม. “ความเชื่อเรื่อง ‘เนียะตา’ ในสังคมเขมร”. วารสารอินทนิลทักษิณสาร มหาวิทยาลัยทักษิณ, ปี 7, ฉบับที่ 2, ธันวาคม 2556, น. 47-62, https://so02.tci-thaijo.org/index.php/HUSOTSU/article/view/43445.

    ปิ่น บุตรี. “ถ้ำเขาหลวง” ถ้ำงามเมืองเพชรบุรี มีดีมากหลาย ที่เที่ยวสบายๆใกล้กรุง. ผู้จัดการออนไลน์, 2561, https://mgronline.com/travel/detail/9610000055013.

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in