อาจารย์ถามว่ารู้จักเมืองอะไรบ้างในเขมร… กริบ คิดอะไรไม่ออกเลย รู้จักแค่พนมเปญ ชื่ออื่น ๆ ที่เพื่อนในคลาสตอบมาคุ้นนะ แต่ให้นึกเองนึกไม่ออก เสียมเรียบ พระตะบอง ศรีโสภน เคยได้ยินตอนเรียนประวัติศาสตร์เรื่องเสียดินแดนนี่แหละ
จังหวัดพระตะบอง เป็นที่มาของสมุนไพรอภัยภูเบศร! เรากับย่าใช้ยาหม่องยี่ห้อนี้ ชื่อเมืองยังเกี่ยวข้องกับตำนานการสร้างเมือง พระตะบอง แปลว่า ตะบองที่หายไป (คำว่า บำบัด ก็คือทำให้หายไปนั่นเอง เป็นคำเขมร)
บทความของเว็บไซต์นิตยสารสารคดีได้กล่าวถึงตำนานที่มาของชื่อเมืองพระตะบองไว้ดังนี้
ชื่อเมืองมีที่มาจาก “เรื่องเพรง” หรือ “เรื่องเล่าเก่าแก่ของชาวกัมพูชา” กล่าวถึงชายคนหนึ่งที่หุงหาอาหารให้ไพร่พลซึ่งมาจัดงานพระเมรุของอดีตกษัตริย์องค์หนึ่ง ชายคนนี้ใช้ไม้งิ้วคนหม้อข้าว ยางไม้ทำให้ข้าวในหม้อมีสีดำ เขากินข้าวหม้อนี้จนหมดด้วยความหิวแล้วพบว่ามีกำลังมากจนเพื่อนๆ ยกให้เป็นผู้นำ เขาไปตัดไม้พะยูงมาทำตะบองเป็นอาวุธ เวลาผ่านไปเขารวบรวมผู้คนไปตีเมืองพระนครและขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองมีพระนามว่า “ตาดอมบองกระยูง” (บางตำนานเรียกว่า พระยาโคตรบอง) ต่อมามีคนยกทัพมาแย่งชิงราชสมบัติ ระหว่างการรบเขาขว้างตะบองหายไป จากนั้นเขาก็สละราชสมบัติแล้วไปครองเมืองในบริเวณที่ “ตะบองหายไป” ซึ่งก็คือ “บัตดอมบอง” หรือ “พระตะบอง” ในปัจจุบันนั่นเอง (“พระตะบอง เสียมเรียบ ศรีโสภณ ‘รอยสยาม’ และ ‘สามจังหวัด’ กัมพูชา”)
ประเทศกัมพูชาแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 24 จังหวัด และ 1 เขตการปกครองพิเศษ (กรุงพนมเปญ) นอกจากสี่จังหวัดข้างต้นแล้ว จังหวัดที่คนไทยน่าจะรู้จักย่อมเป็น จังหวัดพระวิหาร เพราะพื้นที่นี้มีข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร หรืออาจจะเป็นจังหวัดเกาะกงที่มีคนไทยเยอะ อยู่ติดกับจังหวัดตราดของไทย หรือสีหนุวิลล์ สวรรค์ของทุนจีน หรือจังหวัดไพลิน ที่มาของชื่ออัญมณีไพลิน ก็เป็นได้
ในโครงงานนำเสนอปลายภาค เราได้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการเป็นเมืองหลวงของพนมเปญ แล้วได้พบว่า หลังจากที่ฝรั่งเศสเห็นชอบให้พนมเปญเป็นเมืองหลวงใหม่แล้ว ก็ได้มีความพยายามสร้างบ้านแปงเมือง พัฒนาพนมเปญให้เป็นสิงคโปร์แห่งที่ 2 จนได้ชื่อว่า ไข่มุกแห่งเอเชีย พร้อมกับจังหวัดเสียมเรียบ เมืองหลวงเก่า ที่ตั้งนครวัด เราขอพาไปรู้จักตลาดสำคัญของประเทศกัมพูชาซึ่งตั้งอยู่ในสองจังหวัดนี้ บอกเลยว่านักท่องเที่ยวห้ามพลาด
ที่แรก ตลาดซาจ๊ะ (Psar Chaa) แปลตรงตัวว่า ตลาดเก่า ตั้งอยู่ในจังหวัดเสียมเรียบ เด่นเรื่องการขายผ้า ผ้าไหม เครื่องเงิน อาหารพื้นเมือง ของที่ระลึก ของสด ปลาจากโตนเลสาบ ขนมปังบาแกต
ที่ต่อมา ตลาดกลาง (Central Market; Phsar Thum Thmei) แปลตรงตัวว่า ตลาดใหญ่แห่งใหม่ ตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ เด่นเรื่องการขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องเงินเครื่องทอง เสื้อผ้า ของที่ระลึก ของสด อาหารพื้นเมือง
ตลาดทั้งสองสร้างในยุคฝรั่งเศสปกครองจึงมีสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล อีกอย่างหนึ่งคือ ตลาดเหล่านี้อารมณ์เดียวกับตลาดจตุจักร ผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอยน่าจะรู้ไว้ก่อนว่าที่นี่หาของแท้ยาก และก็ต้องต่อราคา อย่าลืมแลกเงินสดกันมาให้พอด้วยนะ
Tip: ชื่อตลาดเป็นคำทั่วไป ตลาด, เก่า, ใหม่, ใหญ่ ใครจะค้นหาแนะนำใส่ชื่อเมือง เช่น เสียมเรียบ พนมเปญ เข้าไปด้วยนะ
แหล่งอ้างอิง
นิตยสารสารคดี. “พระตะบอง เสียมเรียบ ศรีโสภณ ‘รอยสยาม’ และ ‘สามจังหวัด’ กัมพูชา”, 2553, https://www.sarakadee.com/2010/10/22/pratabong-siamreab-srisopon/2/.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in