2244151 ปริทัศน์วัฒนธรรมเขมร? เออคณะอักษรฯ นี่มันมีแต่วิชาน่าเรียนเนอะ เพื่อนในคลาสมาจากหลายคณะเลย สำหรับเราแล้ว วิชาเลือกเอกไทยเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เราเลือกลงวิชานี้ เพราะเทอมนี้เราลงเรียนวิชาบังคับเอกไทยที่เกี่ยวข้องกับเขมรอีกตัวหนึ่ง นั่นคือวิชา 2201326 ภาษาเขมรที่สัมพันธ์กับภาษาไทย เราคิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์ต่อกันเลยเลือกลงวิชานี้
ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมเขมรของเราน้อยมากเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมร่วมกับประเทศไทยแท้ ๆ เราอยากรู้จักประเทศในอาเซียนมากขึ้นนอกจากประเทศลาว เพราะเราเรียนภาษาลาวและรู้จักวัฒนธรรมดีในฐานะคนอีสาน (สกลนคร) คนบ้านเดียวกันแค่มองตากันก็เข้าใจอยู่
วันนี้เป็นคาบแรก อาจารย์ถามว่าพอพูดถึงกัมพูชาหรือเขมรแล้วนึกถึงอะไร
เขมรแดง นครวัด-นครธม?
สุรินทร์ สาวกันตรึม-ไผ่ พงศธร?
ปราสาทหินพิมาย-โคราช? ประสาทพนมรุ้ง-บุรีรัมย์?
ปราสาทเขาพระวิหาร?
สะพานขอม พระธาตุนารายน์เจงเวง-สกลนคร? บ้านเราเอง
กุนขแมร์? โขน?
เราเห็นว่ามีวัฒนธรรมเขมรทั้งในประเทศกัมพูชาและนอกประเทศ ในประเทศไทยปรากฏปราสาทเขมรอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในอีสานใต้ที่อาจจะเรียกว่าเขมรถิ่นไทย
วัฒนธรรมเขมรที่เคยยิ่งใหญ่มาก มีอาณาจักรพระนคร มีนครวัด มีคำภาษาเขมรเต็มไปหมดในภาษาไทย ถึงจุดที่เปลี่ยนไปได้อย่างไร และมันขึ้นไปสุดจนถึงระบอบเขมรแดงได้อย่างไร
ในภาษาไทยมีคำยืมภาษาเขมรเยอะมาก อย่างที่หลายคนไม่รู้ว่าเป็นภาษาเขมรด้วยซ้ำ เช่น หอม(แดง) หอม แปลว่า สีแดง หน้าตามันเหมือนคำไทยมาก พ้องรูปพ้องเสียงกับคำว่า หอม ที่แปลว่า กลิ่นหอม ด้วย หรือคำภาษาถิ่นอื่น เหนือ อีสาน ใต้ คำว่า ละหุ่ง บักหุ่ง หุ่ง เป็นภาษาเขมร แปลว่า มะละกอ มีแค่ภาษาไทยกลางที่ใช้ว่ามะละกอ
ในอีกวิชาที่เราเรียน ภาษาเขมรที่สัมพันธ์กับภาษาไทย เน้นเกี่ยวกับแง่มุมของภาษาเขมร ทว่า ย่อมเรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมก่อน เพราะภาษาเป็นหนึ่งในวัฒนธรรม เราได้เรียนเกี่ยวกับการสัมผัสภาษาและยืมภาษา ภูมิหลังทางการเมืองความสัมพันธ์กัมพูชา-ไทย ลักษณะเขมรที่เป็นภาษาออสโตรเอเชียติก คนละตระกูลกับขร้าไทหรือไทกะได วัฒนธรรมเขมรรุ่งเรืองในดินแดนนี้มาก่อน เจริญมาก่อน ภาษาที่มีศักดิ์ศรีน้อยกว่าจะยืมภาษาที่มีศักดิ์ศรีสูงกว่ามาใช้ ดังนั้น คนไทยจึงยืมเข้ามาโดยมีศักดิ์สูงกว่าดังเช่นภาษาสันสฤต-บาลีนั่นเอง สิ่งที่มากับภาษาคือแนวคิด วัฒนธรรม ความเชื่อ ระบบการปกครองเทวราชา ฯลฯ สังเกตว่าชื่อจังหวัด อำเภอ ตำบลเป็นคำเขมรทั้งสิ้น แม้แต่คำราชาศัพท์ วิธีการใช้หรือสร้างคำราชาศัพท์ก็ตาม คำว่า สมเด็จ เสด็จ บรรทม เสวย เป็นต้น ปรากฏอยู่ทั่วไปจนทำให้คนไทยคิดว่าคำราชาศัพท์เป็นคำเขมรส่วนใหญ่ แต่ที่จริงแล้วคำราชาศัพท์เป็นคำบาลี-สันสกฤตมากกว่าเขมรนะ!
วัฒนธรรมเขมรมีลักษณะ “ใกล้แต่ก็ไกล” (อีกไกลแค่ไหนจนกว่าฉันจะใกล้ - Getsunova) เราเคยไปปราสาทหินพิมาย จ.โคราช นั่นเป็นความยิ่งใหญ่แรกของวัฒนธรรมเขมรที่เราสัมผัสในชีวิต คำเขมรในภาษาไทยเราก็เคยท่องจำและแยกออก เพื่อนสนิทก็เป็นคนสุรินทร์ แม้แต่แรงงานกัมพูชาที่มาทำงานในประเทศไทยก็มีมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่เราไม่เคยได้เรียนรู้วัฒนธรรมเขมรอย่างจริงจัง ถ้าไม่ได้ศึกษาก็คงนึกไม่ถึงว่าประเทศเพื่อนบ้านนี้ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด
กัมพูชาอยู่ใกล้กว่าที่คิด บันทึกนี้เราจะพาไปเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมในอาเซียนใกล้ตัว โดยเฉพาะไทย ลาว และเวียดนาม เพราะเป็นความถนัดและความสนใจของเราเอง เราเรียนเอกไทย เป็นคนอีสาน (สกลนคร) เรียนภาษาและวรรณกรรมลาว ที่บ้านเกิดก็มีชุมชนคนเวียดนามด้วย เรียกว่าได้เป็นอินโดจีนเลยทีเดียว ถ้าพร้อมแล้วเปิดบันทึกหน้าต่อไปเลย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in