เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
การวิจารณ์เป็นมิตรกับคนทั่วไปอ่าน-คิด-เขียน
บาดแผลล่องหนของคนเกิดเป็นหญิง: บทวิจารณ์ภาพยนตร์สั้น Fat Girl (2550)
  • ภาพยนตร์สั้นแบบ Dance Contemporary เรื่อง Fat Girl (2550) กำกับโดยสองพี่น้อง Chanchana Akjiratikarl และ Chayanuch Akjiratikarl เปิดฉากด้วยตัวละครหลักซึ่งเป็นภาพแทน “ผู้หญิงอ้วน” กำลังแต่งหน้าแต่งตัว ทาบชุดกระโปรงสีขาวกับตัวเองก่อนจะเลิกชุดขึ้นมากรีดท้องของตัวเองเป็นรอยยิ้มสีเลือด จากนั้นมีกลุ่ม “ผู้หญิงผอม” นำกล่องกระดาษมาครอบหัวเธอเธอพยายามยัดตัวเองเข้าไปในกล่องนั้น ก่อนจะจบด้วยการวิ่งหนีและวิ่งถอยหลัง

    ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้มุ่งนำเสนอบาดแผลและความเจ็บปวดของ “ผู้หญิงอ้วน” ที่ถูกสังคมเหยียดหยามและผลักไสสู่ความเป็นชายขอบเห็นได้จากการนำเสนอเรื่องราวผ่านตัวละครหลักซึ่งเป็นผู้หญิงอ้วนกลายเป็น “ผู้หญิงน่าเกลียด” ในสายตาสังคม ผู้ชมจะเห็นความทุกข์ทรมานแบบรูปธรรมชัดเจนจากการกรีดท้องตัวเองเป็นแผลเหวอะหวะในตอนต้นเรื่อง ฉากเต้นในความมืดที่เธอจับส่วนของร่างกายตนเองที่เต็มไปด้วยรอยปากกา การล้มลงพื้นหลายครั้ง การพยายามยัดตัวเองเข้ากล่องกระดาษแต่ไม่ประสบความสำเร็จ รวมถึงเสียงหอบหายใจถี่กระชั้นเพราะเหนื่อยจากการวิ่งหนีค่านิยมของสังคมตลอดเวลา ทว่าสุดท้ายก็วิ่งหนีไม่พ้นและย้อนกลับมาที่เดิม

    อย่างไรก็ตาม Fat Girl ไม่ได้แสดงให้เห็นเพียงแค่การถูกกดทับของผู้หญิงอ้วนเท่านั้น เพราะกลุ่มผู้หญิงผอมไม่ใช่ตัวร้ายของเรื่อง แม้จะดูคล้ายว่าเป็นเช่นนั้นก็ตาม พวกเธอต่างก็เป็นเหยื่อของค่านิยมความสวย ต่างเจ็บปวดด้วยกันทั้งสิ้นแม้อาจจะไม่รู้ตัว


    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT



    ภาพประกอบจากเรื่อง FAT GIRL


    ฉากแรกที่ชี้ให้เห็นประเด็นนี้ก็คือสีชมพูจะเห็นได้ว่าสิ่งของบนโต๊ะของตัวละครหลักเป็นสีชมพูทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาขวดน้ำหอม โคมไฟ หรืออื่น ๆ รวมไปถึงชุดที่เธอใส่อยู่ซึ่งเป็นชุดกระโปรงแขนตุ๊กตาสีชมพู สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเธอไม่ได้แค่ต้องมีรูปร่างดีอย่างที่สังคมบอกเท่านั้นแต่ยังต้องเป็น “ผู้หญิงที่ดี” ตามค่านิยมของสังคม (ความเป็นหญิงตามแบบพิมพ์นิยม) ด้วย กล่าวคือต้องสวมชุดเรียบร้อยและดูเป็นผู้หญิง เธอทำสิ่งนี้เป็นพื้นฐานเพราะเธออยากได้รับการยอมรับจากผู้คนจากการเป็นผู้หญิงที่ดี เพียงแค่ตอนนี้เธออยากได้รับการยอมรับในฐานะผู้หญิงสวยด้วย


    ฉากที่สองคือฉากที่กลุ่มผู้หญิงผอมซึ่งอนุมานได้ว่าเป็น “ผู้หญิงสวย” ตามมาตรฐานของสังคม เต้นด้วยความมั่นใจก่อนผลักผู้หญิงอ้วนลงพื้นแล้วครอบหน้าเธอด้วยลังกระดาษก่อนที่ผู้หญิงอ้วนจะพยายามมุดเข้าไปในลังหลายต่อหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ แสดงให้เห็นว่าผู้คนบังคับให้ผู้หญิงอ้วนทำตามกรอบความสวยงามตามแบบของสังคมโดยผู้ใช้อำนาจนั้นคือผู้หญิงสวยที่เป็นฝ่ายอยู่ในกรอบดังกล่าวอยู่แล้ว นั่นแปลว่าผู้หญิงอ้วนพยายามนำพาตัวเองให้เข้าไปอยู่ในกรอบ ส่วนผู้หญิงผอมเองก็ไม่ได้คิดจะพยายามทลายกรอบนั้น ตรงกันข้าม กลับถูกบังคับให้อยู่แต่ในกรอบต่อไปเช่นเดิม เมื่อพิจารณาประกอบกับอีกฉากหนึ่งซึ่งกลุ่มผู้หญิงผอมวิ่งอยู่กับที่ ในขณะที่ผู้หญิงอ้วนกำลังวิ่งหนีอะไรบางอย่างแล้ว จะพบว่า การวิ่งอยู่กับที่ของผู้หญิงผอมก็คือการธำรงตนให้ตรงตามมาตรฐานความงามของสังคม โดยยอมทำทุกอย่างเพื่อที่จะอยู่ ณ ที่นั้นต่อไป พวกเธอเองก็ถูกกะเกณฑ์ด้วยกรอบนี้ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว และอาจยังส่งต่อกรอบคิดนี้ให้แก่ผู้หญิงคนอื่นต่อไป ดังจะเห็นว่าได้ในฉากที่มีการสวมหัวผู้หญิงอ้วนด้วยกล่องกระดาษ


              ภาพประกอบจากเรื่อง FAT GIRL

    นอกจากนี้ กล่องกระดาษที่ใช้ครอบนั้นยังมีเทปกาวแปะอยู่ทั่ว ลักษณะคล้ายของเก่าที่ใช้มานานและต้องซ่อมแซม แต่ก็ยังไม่ยอมทิ้งไปเสียที กล่องกระดาษนี้อาจหมายถึงค่านิยมความสวยที่มีมานานแล้วแต่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนและเปิดกว้าง ยังคงส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จากผู้ชายสู่ผู้หญิง จากผู้หญิงสู่ผู้หญิง จากสื่อบันเทิงสู่ผู้คน โดยที่อาจจะยังไม่ได้มีการหวนกลับมาทบทวนต้นกำเนิดและความจำเป็นของค่านิยมนี้มากพอ


                                                                              ภาพประกอบจากเรื่อง FAT GIRL

    ฉากถัดมาคือหลังจากหน้าจอซ่าเหมือนหน้าจอโทรทัศน์แล้ว กลุ่มผู้หญิงผอมเต้นบิดเอว ส่ายสะโพกเน้นสัดส่วนทรวดทรง กล้องแพนไปที่กางเกงในสลับกับยกทรงสีขาวใต้ชุดกระโปรงโปร่งบางจนมองทะลุได้ ในฉากนี้มีการเล่นแสงสีมากมาย ทั้งยังเร่งเร้าจังหวะดนตรีขึ้นฟังดูตื่นเต้นเร้าใจกว่าฉากก่อนหน้า หากตีความหน้าจอซ่าเป็นจอโทรทัศน์ และแสงสีเป็นวงการบันเทิง หรือก็คือ "สื่อ" จะเห็นได้ว่าฉากนี้ชี้ให้เห็นสองปัญหาด้วยกัน

    • การผลิตสื่อแบบ male gaze หรือก็คือการผลิตสื่อผ่านมุมมองผู้ชาย โดยนำเสนอผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศทั้ง ตัวอย่างเช่น แม้ว่านางเอกจะเก่งเพียงใด ฉากในภาพยนตร์ที่ถ่ายเห็นเรือนร่างของเธอนั้นมีมากกว่าฉากแสดงความสามารถเสียอีก ทำให้คนจดจำนางเอกในฐานะ “ผู้หญิงเซ็กซี่” ที่ประกอบพระเอกของเรื่อง มากกว่าจะมองที่ความสามารถของเธอจริง ๆ  
    • การผลิตซ้ำของสื่อยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ค่านิยมความสวยที่ว่า “ผอม = สวย” คงอยู่ต่อไป เพราะมีเพียงคนผอมสวยเท่านั้นที่จะได้รับบทแสดงหลักและเฉิดฉายในวงการบันเทิงได้อย่างมั่นใจโดยไร้พื้นที่ให้คนที่รูปร่างหน้าตาไม่ตรงตามค่านิยมโดยสิ้นเชิง

    เมื่อสังคมให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตาของผู้หญิงมากกว่าสิ่งอื่น ผู้หญิงทุกคนจึงต้องดิ้นรนเพื่อไขว่คว้าโอกาสและความสำเร็จมาให้ได้ หาไม่แล้วพวกเธอก็จะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ผู้ที่สวยอยู่แล้วก็ต้องคงความสวยนั้นไว้ หรือไม่ก็ต้องจ่ายเงินเพื่อให้สวยยิ่ง ๆ ขึ้นไป เป็นไปตามบรรทัดฐานความงามแบบเดิมที่ยังไม่เปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลาย

    การที่สองผู้กำกับหญิง ใช้การเต้นประกอบดนตรีในการดำเนินเรื่อง ก็เป็นวิธีการนำเสนอข้อเชิงวิพากษ์ได้อย่างน่าสนใน เพราะช่วยตอกย้ำว่ากรอบความผอมสวยที่ครอบงำผู้หญิงในหลายวงการ และแม้ตัวพวกเธอเองจะร่วมแสดงอยู่กลุ่มผู้หญิงผอมใน Fat Girl แต่ในชีวิตจริง เธอกลับถูกถากถางว่า "อ้วนเกินไป" ที่จะเต้นบัลเล่ต์ ซึ่งข้อคิดเห็นนี้ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เธอสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้น

    ดังนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องราวบาดแผลของ “ผู้หญิงอ้วน” แต่สื่อสารวงกว้างถึง     “ผู้หญิงทุกคน” ที่ถูกกดทับด้วยค่านิยมความงามของสังคมที่เห็นรูปร่างหน้าตาเป็นสำคัญ บอกให้ผู้หญิงต้องดี ต้องสวยตามแบบฉบับเก่าแก่ เพื่อช่วงชิงที่ยืนของตนเอง ผู้หญิงหลายคนรับกล่องกระดาษเยิน ๆ ใบนั้นมาสวมครอบหัวตัวเองอย่างเต็มใจ โดยที่อาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังสวมอยู่ หรืออาจกำลังส่งต่อ(แกมบังคับ) ให้ผู้อื่นรอบตัวสวมตามด้วย  ทุกคนต่างต้องดิ้นรนปฏิบัติตัวให้ตรงตามมาตรฐาน ความทรมานร่วมกันของผู้หญิงทุกคนล้วนมาจากกล่องกระดาษใบนี้  และ Fat Girl กำลังถามเราว่าควรแก่เวลาแล้วหรือยังที่พวกเราจะทิ้งกล่องนี้ไป และไม่ปล่อยให้ใครนำกรอบแคบ ๆ มาครอบหัวอีก


    ขอบคุณรูป cover จาก  Darwin Laganzon from Pixabay

    _____________________________________________________________________________________________

    อ้างอิง

    คันฉัตร รังสีกาญจน์ส่อง. (2563). การหาประเด็นการวิจารณ์ภาพยนตร์. สืบค้น 6 พฤศจิกายน 2563 (วิทยากรการบรรยายในรายวิชา "วรรณกรรมวิจารณ์" )

    Chanchana Akjiratikarl and Chayanuch Akjiratikarl. (2550). Fat Girl.

    Leonard, Kim. (2020). What is the Male Gaze? Definition and Examples in Film. Retrieved 14 November 2020 from https://www.studiobinder.com/blog/what-is-the-male-gaze-definition/


    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 

    ผู้เขียน:  ชลภัส  พรสวรรค์วงศ์ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


    บทวิจารณ์นี้เป็นผลงานจากรายวิชา “วรรรกรรมวิจารณ์” ปีการศึกษา 2563 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น  ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in