เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
การวิจารณ์เป็นมิตรกับคนทั่วไปอ่าน-คิด-เขียน
สาวปากฉีก ยิ้มสยองอันนองน้ำตา
  • บทวิจารณ์เรื่องสั้น "Killing Me Softly เหยื่อฆาตกรรมของสาวปากฉีก"


    รวมเรื่องสั้นชุด The Monster Piece ไม่มีใครครบ ผลงานจากปลายปากกาของฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบด้วยเรื่องสั้นแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ ๑๒ เรื่องซึ่งเกิดในจักรวาลเดียวกัน เรื่องสั้นแต่ละเรื่องกล่าวถึงสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติทั้งหลาย เช่น ผี ปีศาจ ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์ โดยที่ผีหรือปีศาจทั้งหลายเหล่านั้น แม้จะมีพลังเหนือมนุษย์ จนดูเหมือนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ “สมบูรณ์แบบ” กว่า แต่เรื่องสั้นในชุดนี้กลับชี้ให้เห็นว่า พวกเขาต่างก็ทำบางสิ่งหล่นหาย หรือต่างก็ใฝ่หาสิ่งเติมเต็มให้ตัวเอง “สมบูรณ์” ไม่ว่าจะเป็นความรัก ชื่อเสียง การแก้แค้น หรือตำแหน่งแห่งที่ของตนกันทั้งนั้น สอดคล้องกับชื่อหนังสือว่า ไม่มีใคร “ครบ”


    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    ภาพปกหนังสือรวมเรื่องสั้น The Monster Piece ไม่มีใครครบ
    (ที่มา https://www.fathombookspace.co/product/33635-27329/the-monster-piece)

    Killing Me Softly เหยื่อฆาตกรรมของสาวปากฉีก” เล่าเรื่องราวของ “เรนะ” หญิงสาวผู้ถูกฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณโดย “ผีสาวปากฉีก” ระหว่างทางกลับบ้านในวันแย่ๆ วันหนึ่ง ศพของเรนะอยู่ในสภาพสยดสยอง ทั้งการถูกจ้วงแทงนับครั้งไม่ถ้วน และกรีดปากให้ฉีกถึงใบหู จนกลายเป็น “สาวปากฉีก” เช่นเดียวกับฆาตกรของเธอ หลังจากถูกฆ่า เรนะกลับไม่สามารถเดินทางไปยังโลกหลังความตายได้ วิญญาณของเธอผูกติดอยู่กับผีสาวปากฉีกซึ่งเป็นฆาตกร เรื่องสั้นค่อยๆ ชักนำผู้อ่านไปพบกับภูมิหลังอันแสนเจ็บปวดของผีสาวปากฉีกและเรนะ โชคชะตาน่าเศร้าอันซ้อนทับกันในบางแง่มุมของทั้งคู่ ต่างเพียงแต่ผีสาวปากฉีกไม่เหลือเรี่ยวแรงที่จะ “แก้แค้น” คนที่ทำร้ายเธอ ในขณะที่ตอนจบของเรื่องสั้น เรนะได้ลงมือ “ฆาตกรรม” พี่ชายร่วมสายเลือดที่ข่มขืนตนมาโดยตลอด และยังปิดเรื่องด้วยประโยค “ขอให้เขาทุกข์ทรมาน” (หน้า ๑๘๐) ซึ่งแสดงความไม่ต้องการประนีประนอมอย่างชัดเจน


    Killing Me Softly เหยื่อฆาตกรรมของสาวปากฉีก” มีการหยิบยกเรื่องเล่าสยองขวัญอย่างเรื่องของ “ผีสาวปากฉีก” มาใช้ ต้นกำเนิดของผีสาวปากฉีกนั้นมาจากประเทศญี่ปุ่น รู้จักกันในชื่อของ “คุจิซาเกะอนนะ” (Kuchisake Onna; 口裂け女) ตามตำนาน ผีสาวปากฉีกเมื่อยังเป็นคนนั้นเป็นหญิงสาวที่สวยมาก ความงามของเธอเป็นเหตุให้สามีหึงหวง จนวันหนึ่ง เขาก็เชื่อว่าเธอจะต้องนอกใจ และตัดสินใจฆาตกรรมเธอพร้อมทั้งกรีดปากให้ฉีกถึงใบหู และกล่าวว่า “ดูสิคราวนี้จะมีใครชื่นชมว่าเธอสวยอีกไหม”  ตามลักษณะของตำนานในซีกโลกตะวันออก ผีผู้หญิงที่ตายอย่างไม่สงบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นมักจะต้องวนเวียนอยู่บนโลก หลอกหลอนทั้งผู้ที่กระทำเธอและคนทั่วไปเพื่อสำแดงความโกรธแค้นให้โลกรู้ ผีสาวปากฉีกก็หนีไม่พ้นกฎเกณฑ์นี้ เธอจึงกลายเป็นตำนานเมืองที่โด่งดัง ว่ากันว่าผีสาวปากฉีกมักจะปรากฏตัวตามทางสัญจรที่มืดสลัวและเปล่าเปลี่ยว เธอจะปิดใบหน้าส่วนล่างไว้และถามผู้ที่ผ่านทางมาว่า “ฉันสวยไหม” หากผู้ผ่านทางตอบว่าสวย เธอจะปลดหน้ากากลงและถามซ้ำว่า “แล้วแบบนี้ล่ะ สวยไหม” หากผู้ผ่านทางกรีดร้องด้วยความสยดสยอง หรือตอบว่าไม่สวย เธอก็จะฆ่าเขาและกรีดปากศพให้เป็นแบบเธอ แต่หากผู้ผ่านทางกลั้นใจตอบว่าสวย เธอก็จะปล่อยเขาไป แล้วย่องตามไปฆ่าเขาที่บ้านอยู่ดี


    สาวปากฉีกมักจะปรากฏตัวตามทางสัญจรที่มืดสลัวและเปล่าเปลี่ยว (ผู้วิจารณ์)
    (ที่มา https://www.pexels.com/photo/person-standing-on-road-2083456/)

    หากเทียบกับเรื่องสั้นอื่นในชุดเดียวกัน “ผีสาวปากฉีก” ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ถือว่าเป็นตัวละคร “ปีศาจ” ที่มีประวัติความเป็นมาสยองขวัญกว่าปีศาจในเรื่องสั้นอื่น อย่างเช่น ปีศาจผมชมพู ปีศาจสามตา แวมไพร์ หญิงสาวมีหาง ชายหนุ่มมีปีก ชายผู้ได้รับการต่ออายุขัยนับครั้งไม่ถ้วน ฯลฯ อย่างมาก และยังมีองค์ประกอบน่าสยดสยองอื่นเช่น การตายของเรนะ ซึ่งได้รับการบรรยายอย่างละเอียดว่า 


    ฉันรู้สึกได้ถึงใบมีดอันคมกริบเย็นเฉียบแหวกเฉือนผิวเนื้อลงไปถึงไส้ จากนั้นค่อยรู้สึกถึงความเจ็บปวดแสนสาหัสถาโถมเข้ามา มันกระหน่ำแทงฉันอย่างหนักแน่น หนึ่งครั้ง สองครั้ง สามครั้ง เป็นจังหวะจะโคนราวกับจะให้ฉันซึมซับรับรู้ความตายอย่างช้าๆ ฉันทรุดตัวล้มลงบนพื้นที่มีเลือดของตัวเองกองท่วมท้นรออยู่ ฉันรู้สึกได้ถึงหน้าท้อง ลำไส้ ตับ กระเพาะ และอวัยวะภายในฉีกขาดเละเทะ(หน้า ๑๗๐) 


    ความสยองขวัญของเรื่องสั้นเรื่องนี้ ทั้งตัวของผีสาวปากฉีกเอง รวมไปถึงการถูกฆาตกรรมของเรนะ ต่างก็ถูกใช้อย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือการ “เสริมภาพ” ความรุนแรงของบาดแผลบนใบหน้าของหญิงสาวทั้งสอง ชวนให้ผู้พบเห็นอยากเบือนหน้าหนี ซึ่งเป็นการ “ละเลย” สาเหตุที่แท้จริงของบาดแผลเหล่านั้น


    เบื้องหลังบาดแผลอันน่าสยดสยองของผีสาวปากฉีกและเรนะ ต่างก็มีภูมิหลังอันน่าเศร้าของทั้งคู่และการถูกกดขี่ข่มเหงอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งผีสาวปากฉีกที่ สวยขนาดที่ทำให้สามีหึงหวงไม่ได้ว่างเว้น สุดท้ายเขาเลยใช้มีดกรีดปากเธอให้ฉีกกว้าง ทำลายความสวยบนใบหน้าเธอให้หมดไป จะได้ไม่มีใครมาหลงรักเธออีก(หน้า ๑๗๕) ซึ่งตรงกับเรื่องราวตามตำนานของผีสาวปากฉีกที่เล่าขานต่อกันมา หรือเรนะที่ถูกพี่ชายกระทำย่ำยี คอยแต่จะกระซิบชมว่าฉันสวยซะเหลือเกินทุกครั้งที่จะทำอะไรต่อมิอะไร (หน้า ๑๗๙) ทั้งหมดนี้คือความเจ็บปวดก่อนตายของหญิงสาวทั้งสองที่ไม่มีใครมองเห็น ในทางหนึ่ง บาดแผลที่ปรากฏบนใบหน้าก็อาจถึอเป็นการ “เปิดเผย” ความเจ็บปวดของพวกเธอให้สาธารณชนได้รับรู้ ทว่าธรรมชาติของผู้คนนั้นชื่นชมเพียงสิ่งสวยงาม เมื่อ “บาดแผล” ที่น่าสยดสยองเกินกว่าที่คนทั่วไปจะทำความเข้าใจได้ปรากฏบนใบหน้าซึ่งเคยสวยงามของพวกเธอ จึงชวนให้ผู้คนเลือกเบือนหน้าหนีด้วยความหวาดกลัว มากกว่าแสดงความเห็นอกเห็นใจหรืออย่างน้อยก็เศร้าโศกกับชะตากรรมที่หญิงสาวทั้งสองต้องเผชิญ ทิ้งให้พวกเธอต้องทุกข์ทรมานอย่างเดียวดาย นอกจากนั้นยังนำเรื่องราวของเธอไปพูดอย่างสนุกปาก ช่วงชิงสิทธิที่จะบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองตามความเป็นจริงไปจากพวกเธอ อย่างที่เรนะได้กล่าวว่า อตายแล้วจะไปอธิบายอะไรกับใครได้ พวกนั้นคงบอกเล่าเรื่องราวของฉันแบบที่คิดเองเออเองกันปากต่อปาก โดยเฉพาะเรื่องฉาวโฉ่...ไม่มีอะไรจะสนุกปากไปมากกว่านี้หรอก(หน้า ๑๗๕) 



    พวกเธอต้องทุกข์ทรมานอย่างเดียวดาย ถูกนำเรื่องราวไปพูดอย่างสนุกปาก 
    ช่วงชิงสิทธิที่จะบอกเล่าเรื่องราวของตัวตามความเป็นจริงไป (ผู้วิจารณ์)
    (ที่มา https://www.pexels.com/photo/monochrome-photo-of-woman-3225796/)

    ดังนั้น แม้ธรรมชาติของผู้คนจะชอบสิ่งสวยงาม แต่อีกทางหนึ่งก็ชอบเรื่องราวที่อยู่ใน “มุมมืด” เช่นกัน ทั้งที่ “เรื่องฉาวโฉ่” เองก็อาจถูกนิยามเป็น “เรื่องไม่งาม” ได้ ในแง่นี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามของ “ความงาม” ในทรรศนะของผู้คนนั้นไม่ใช่ “ความไม่งาม” แต่เป็น “ความเจ็บปวด” ต่างหาก ดังที่เรนะก็ได้ชี้ให้เห็นด้วยข้อความ เมื่อได้เห็นใบหน้าของผีสาวโดยไร้ผ้าปิดปาก ยิ่งประจักษ์ว่าเครื่องหน้าทุกอย่างของเธอล้วนมีเสน่ห์ เมื่อมาอยู่รวมกันแล้วยิ่งดูเข้าที ถ้าไม่นับรอยแผลพาดยาวบนใบหน้านั้น(หน้า ๑๗๓) ทั้งที่ตามความเป็นจริงแล้ว หากผีสาวปากฉีกมีใบหน้าที่สวยงามถึงเพียงนั้น บาดแผลที่พาดจากหูถึงหูจะเพียงพอแก่การลบล้างความงามของเธอเชียวหรือ อีกทั้งจากข้อความข้างต้น ก็ยังเห็นได้ชัดว่าความสวยของสาวปากฉีกนั้นยังเป็นที่ประจักษ์แก่สายตา แล้วเหตุใดเรื่องราวของสาวปากฉีกถึงถูกเล่าขานในแง่มุมของความสยองขวัญและน่าหวาดกลัวมากกว่า นั่นก็อาจเป็นเพราะผู้คน “ปฏิเสธ” ความเจ็บปวดของบาดแผล โดยผลักให้กลายเป็นสิ่งไม่สวยงาม บาดแผลบนใบหน้าของสาวปากฉีก รวมถึงใบหน้าของเรนะ ไม่ได้อัปลักษณ์ด้วยตัวของมันเอง แต่เพราะผู้พบเห็นนิยามให้มันเป็นเช่นนั้น เมื่อความเจ็บปวดกลายเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความงาม และด้วยเหตุนั้นผู้คนจึงเลือกที่จะรับรู้เรื่องราวโดยกรองเอา “ความเจ็บปวด” ออกไปก่อนจนหมดสิ้น เมื่อเห็น “บาดแผล” หรือ “ความเจ็บปวด” อยู่ตรงหน้า จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเบือนหน้าหนีหรือแสดงออกด้วยความหวาดกลัว


    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรื่องสั้นเรื่องนี้เล่าจากมุมมองของเรนะผู้กลายเป็นผีและแก้แค้นสำเร็จในท้ายที่สุด ปฏิกิริยาต่างๆ ของบุคคลอื่นๆ จึงได้รับการนำเสนออย่างจำกัด ปฏิกิริยาต่อบาดแผลของหญิงสาวปากฉีกและเรนะที่กล่าวถึงในย่อหน้าข้างต้นนั้น เป็นเพียงการอนุมานเพิ่มเติมโดยอ้างอิงตำนานเรื่องผีสาวปากฉีก หรือคุจิซาเกะอนนะ รวมถึงข้อความบางส่วนในเรื่องสั้น เช่นการที่เรื่องของสาวปากฉีกเป็น “ตำนานประจำเมือง” (หน้า ๑๖๙) ที่เรนะอาศัยอยู่ ความหวาดกลัวของเรนะเมื่อได้พบสาวปากฉีก รวมถึงข้อความที่ได้ยกเป็นตัวอย่างแล้ว จากหลักฐานทั้งหมด ปฏิกิริยาที่ผู้คนทั่วไปจะมีต่อบาดแผลของหญิงสาวทั้งสองจึงคาดเดาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก และในทางกลับกัน การที่เรนะเลือกจะตอบสาวปากฉีกว่า อัปลักษณ์ (หน้า ๑๖๙) ด้วยความโกรธขึ้งตั้งแต่แรกนั้น ไม่ได้หมายความว่าบุคคลอื่นจะเป็นเหมือนกัน แต่แสดงให้เห็นความเป็นข้อยกเว้นในฐานะ “เพื่อนร่วมชะตากรรม” ต่างหาก การที่เรนะแสดงออกอย่างเกรี้ยวกราดไม่อาจถูกนับเป็นการ “ปฏิเสธ” ความเจ็บปวดของสาวปากฉีกอย่างที่คนอื่นๆ ทำได้ เพราะจากคำบรรยาย นี่คือคนจิตประหลาด ทำพฤติกรรมเลียนแบบตำนานประจำเมืองหรือ? แต่บรรยากาศโดยรอบก็พานบีบคั้นจิตใจให้เชื่อไปโดยอัตโนมัติว่านี่คือตำนานประจำเมืองของจริง(หน้า ๑๖๙) แสดงให้เห็นว่าเรนะก็คุ้นเคยกับตำนานเมืองเรื่องสาวปากฉีกเป็นอย่างดี ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าหญิงสาวในเรื่องเล่านั้นมีชีวิตอันน่าเศร้าไม่ต่างจากตน ทว่าความโกรธเกรี้ยวก็อาจเกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ เมื่อเธอรู้ตัวว่าตัวเองได้กลายเป็น “เป้าหมาย” หรือ “เหยื่อ” ของสาวปากฉีกเสียแล้ว การตอบคำถามด้วยความโกรธเกรี้ยว อันเป็นทางลัดไปสู่ความตาย (ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เรนะถวิลหา เพียงแต่ไม่ได้มาในรูปแบบที่เธอวางแผนไว้) นั้นจึงอาจเกิดขึ้นจากความรู้สึกผิดหวังและน้อยใจ รวมถึงความรู้สึกที่ว่าตนถูกเพื่อนร่วมชะตากรรมทอดทิ้ง ก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้ ในตอนที่เรนะแก้แค้นโดยการฆ่าพี่ชาย เธอจึง ไม่ได้ทิ้งรอยแผลอะไรไว้บนแก้มของเขาหรอก แค่แทงครั้งเดียวเข้าตรงที่หัวใจ (หน้า ๑๘๐) เพราะพี่ชายของเธอซึ่งมีฐานะเป็น “ผู้กดขี่” ไม่ได้มีชะตากรรมแบบเดียวกันกับเธอและสาวปากฉีกแต่อย่างใด



    (ภาพโดย Niek Verlaan จาก Pixabay)

    บาดแผลของผีสาวปากฉีกและเรนะยังมีนัยสำคัญอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือเป็นการ “บังคับยิ้ม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งสยองขวัญและแสนเศร้าไปในเวลาเดียวกัน ดังที่เรนะได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ฉันถูกบังคับให้ฉีกยิ้มในวินาทีสุดท้าย(หน้า ๑๗๐) แต่หากยึดถือว่า “บาดแผล” ที่เรนะได้รับ เป็นสิ่งที่แสดงออกถึง “ความเจ็บปวด” ตลอดชีวิตของเธอมากกว่าความเจ็บปวดจากการถูกฆาตกรรม การ “บังคับยิ้ม” นั้นย่อมไม่ได้เกิดขึ้นใน “วินาทีสุดท้าย” แต่เกิดขึ้นมา “ตลอดชีวิต” ของเธอ บาดแผลก็เป็นเพียงสิ่งที่แสดงความเจ็บปวดนั้นให้โลกเห็นเท่านั้นเอง กว่าเรนะจะดำเนินชีวิตมาจนถึงจุดที่ตัดสินใจจะตาย เธอประสบความทุกข์ทรมานทางใจจาก พวกที่คอยแต่จะป้องปากนินทา” “แม่ที่เพิกเฉย ทุกครั้งที่รู้ว่าเขากำลังจะเข้ามาในห้องฉัน” และ “คนที่คอยแต่จะกระซิบชมว่าฉันสวยซะเหลือเกินทุกครั้งที่จะทำอะไรต่อมิอะไร(หน้า ๑๗๙) แต่เพียงผู้เดียว การต้องยืนหยัดใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น ไม่ต่างอะไรจากการ “บังคับยิ้ม” เลยแม้แต่น้อย



    ในขณะที่การ “บังคับยิ้ม” ที่เรนะเผชิญตลอดชีวิตเป็นเรื่องที่น่าเศร้า การ “บังคับยิ้ม” ที่สาวปากฉีกเคยเผชิญมาก่อนกลับชี้ให้เห็นอีกแง่มุมของการ “บังคับยิ้ม” ชนิดนี้ นั่นคือมิติทางจิตใจที่บิดเบี้ยวและ “คลุ้มคลั่ง” จนไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ตลอดกาล เพราะรอยแผลที่ลากยาวจากหูข้างหนึ่งไปจนถึงหูอีกข้าง ก็ทำให้มองได้ว่าเป็นเหมือน “รอยยิ้ม” แม้ว่าริมฝีปากแท้จริงที่ซ่อนอยู่ใต้รอยแผลนั้นจะไม่ได้ยิ้มอยู่เลยแม้แต่นิด การต้องยิ้มทั้งที่สภาวะจิตใจตรงข้ามกับความเป็นสุขนั้นเพียงพอที่จะทำให้จิตใจบิดเบี้ยวเอาได้ง่ายๆ หากให้ยกตัวอย่างโดยใช้ตัวอย่างร่วมสมัย ก็อาจกล่าวได้ว่าการบังคับยิ้มของสาวปากฉีกนั้นมีลักษณะเหมือนฉากหนึ่งจากภาพยนตร์เรื่องดังอย่าง Joker (2019) อย่างไม่มีผิดเพี้ยน ตัวเอกของภาพยนตร์ หรือก็คือ “โจ๊กเกอร์” นั้นมีภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้ (Pseudobulbar Affect; PBA) ทำให้เสียงหัวเราะของเขาไม่ได้สะท้อนความรู้สึกขำออกมาจริงๆ โจ๊กเกอร์สามารถหัวเราะออกมาได้แม้แต่ตอนที่ตัวเองเศร้าโศกหรือโกรธแค้นอย่างที่สุดด้วยซ้ำ ดังนั้นฉากที่ถ่ายทอดสภาวะนั้นออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ก็คือฉากที่โจ๊กเกอร์ออกจากลิฟต์พร้อมใบหน้าที่ทาสีเป็นตัวตลกแล้ว ปากของตัวตลกถูกขีดด้วยเส้นหนาสีแดงเป็นรอยยิ้มกว้าง แต่ริมฝีปากของโจ๊กเกอร์นั้นที่จริงแล้วกลับโค้งลง แฝงรอยบึ้งตึงอยู่ด้วยซ้ำ การถ่ายทอด “รอยยิ้ม” ออกมาในเวลาเดียวกับที่จิตใจทุกข์ระทมหรือถูกบีบคั้นนั้นส่งเสริมภาพความเป็น “ตัวตลกบ้าคลั่ง” ของโจ๊กเกอร์ออกมาได้เป็นอย่างดี 


    สาวปากฉีกก็เช่นเดียวกัน ตลอดเรื่องผู้อ่านจึงได้เห็นความแปรปรวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ชั่วขณะหนึ่งก็ไม่ต่างจากคนปกติคนหนึ่ง แต่ไม่กี่ฉากถัดมากลับวิปลาสจนเกินเข้าใจ สาวปากฉีก ยอมอยู่เฉยๆ ให้ด่า”  (หน้า ๑๗๔) และยังเชื้อเชิญเรนะด้วยคำพูดว่า ถ้าคิดอะไรไม่ออกก็นั่งลงเถอะ (หน้า ๑๗๔) อย่างมีไมตรีจิต  แต่แล้วก็แสดงความเกรี้ยวกราดออกมาเมื่อพูดถึงคนรัก หล่อนจะไปรู้อะไร ถึงจะอยากฆ่าให้ตายแค่ไหน แต่ฉันเกลียด เกลียด เกลียดจนไม่อยากอยู่กับมันอีกแล้ว(หน้า ๑๗๖) และ ฉันเกลียดที่มันทำลายฉันจนเป็นแบบนี้(หน้า ๑๗๗) ต่อมาเมื่อถึงบทเฉลยเหตุผลที่เธอตัดสินใจฆ่าเรนะ สาวปากฉีกก็พูดทั้งเสียงหัวเราะ แม่คนสวย คนสวยของพี่ชาย ฮึฮึและ ฉันเห็นหมดแหละ ฉันน่ะนะอยากจะกรีดปากหล่อนทันทีที่รู้ว่าหล่อนเจออะไรมาบ้าง ฉันล่ะชอบฆ่านัก คนที่ชีวิตบัดซบแบบนี้(หน้า ๑๗๘) และพูดด้วยเสียง “ออดอ้อน” ว่า ไม่เอาน่า ไม่โกรธกันสิ ฉันก็แค่อยากให้หล่อนได้ยิ้มบ้าง ก็หล่อนไม่ได้ยิ้มมานานแล้วไม่ใช่รึไง ฮิฮิ(หน้า ๑๗๙) ทั้งหมดนี้ก็คือความ “คลุ้มคลั่ง” ของเธอ ที่สอดคล้องเป็นอย่างดีกับภาพการ “บังคับยิ้ม” นั่นเอง 



    อีกแง่มุมหนึ่งของการ "บังคับยิ้ม" นั่นคือมิติทางจิตใจที่บิดเบี้ยวและ "คลุ้มคลั่ง"
    (ภาพจากภาพยนตร์ Joker (2019) Joker. Dir. Todd Phillips. Warner Bros, 2019. Film
    https://bloximages.newyork1.vip.townnews.com/stltoday.com/content/tncms/assets/v3/editorial/3/77/37765b71-0195-538f-881b-c96896fd7ac1/5d97653ecfd52.image.jpg)

    อย่างไรก็ตาม ในขณะที่บาดแผลหรือความเจ็บปวดของสาวปากฉีกและเรนะถูกบรรยายและแสดงภาพในเชิงสยดสยองจนใครต่อใครต่างก็อยากเมินหน้าหนี อันแสดงนัยสำคัญเรื่องของการปฏิเสธความเจ็บปวดและการถูกบังคับยิ้มออกมาได้อย่างดีนั้น “สาเหตุที่แท้จริง” ของบาดแผลเหล่านั้น กลับบรรยายโดยใช้ถ้อยคำที่สวยงาม หรือรุนแรงน้อยกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง (Euphemism) แทน ทั้งสาวปากฉีกที่ใช้คำว่า “ทำลาย” มาแทน “ฆ่าและกรีดใบหน้าอย่างโหดร้ายทารุณเพียงเพราะความหึงหวง” และเรนะที่เลือกจะใช้คำว่า “ทำอะไรต่อมิอะไร” แทนคำว่า “ข่มขืน” การเลือกใช้ถ้อยคำในลักษณะนี้ อาจตีความได้ว่าแม้แต่สำหรับเจ้าของบาดแผลเอง สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็รุนแรงและหนักหนาสาหัสจนเกินกว่าที่จะพูดถึงได้อย่างตรงไปตรงมา แต่ในฐานะที่เป็นเจ้าของบาดแผล พวกเธอจึงไม่อาจปฏิเสธหรือหันหน้าหนี เมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่กับบาดแผลนั้นตลอดไป (แม้จะอยู่ในฐานะผีที่อาจจะเรียกว่ามีชีวิตได้ไม่เต็มปากนัก) หญิงสาวทั้งสองจึงต้องเลือกหาวิธีที่จะยอมรับมันให้ได้ในรูปแบบของตัวเอง ทั้งนี้ สำหรับเจ้าของบาดแผลเองนั้น แม้จะเลือกใช้คำที่รุนแรงน้อยกว่า แต่ทั้งคู่ย่อมรู้แน่แก่ใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นหนักหนาสาหัสเพียงใด


    การผนวกตำนานเมืองเรื่องสาวปากฉีกมาเป็นส่วนสำคัญของเรื่องสั้นเรื่องนี้ จึงถือเป็นความชาญฉลาดอย่างหนึ่ง ซึ่งใช้ชี้ให้เห็นแง่มุมความเจ็บปวดของผู้ถูกกระทำได้อย่างครบถ้วน นอกจากผู้ถูกกระทำจะต้องทุกข์ทนกับชะตากรรมอันเลวร้ายของตนแล้ว ยังต้องเผชิญหน้ากับการถูกปฏิเสธโดยบุคคลอื่น ทั้งที่อย่างน้อยควรจะได้รับความสงสารหรือความเห็นอกเห็นใจ รวมถึงการถูกกระทำซ้ำอีกจากบุคคลที่จะนำเรื่องราวไปเสริมแต่งและพูดต่ออย่างไร้ซึ่งการให้เกียรติ และการถูกบังคับให้ยิ้มและใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองไปตลอดชีวิต จนต้องหาทางอยู่ร่วมกับบาดแผลให้ได้ด้วยตนเอง ทั้งหมดนี้เกินเพียงพอแล้วที่จะนิยามพวกเธอเป็น “เหยื่อที่แท้จริง” และทำให้มองเห็นว่าแท้ที่จริงแล้ว รอยยิ้มอันสยดสยองนั้นเจิ่งนองไปด้วยน้ำตา



    อ้างอิง

    ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์. The Monster Piece ไม่มีใครครบ. กรุงเทพฯ, บันบุ๊คส์, 2558.

    Scary For Kids. “Kuchisake Onna.” Scary For Kids, 18 Feb. 2018, www.scaryforkids.com/kuchisake-onna/. 

    “Kuchisake-Onna.” Mythology Wiki, mythology.wikia.org/wiki/Kuchisake-onna. 



     © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558


    ผู้เขียน: ฟ้าใส หล้ามณี นิสิตเอกภาษาอังกฤษ โทบรรณาธิการศึกษา

    คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


    บทวิจารณ์นี้เป็นผลงานจากรายวิชา “วรรมกรรมวิจารณ์” ปีการศึกษา 2563 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น  ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in