สวัสดีค่า クマグミ กลับมาแล้วว หายไปนานเลยมีใครแอบคิดถึงบ้างไหมคะเนี่ย>< พอดีช่วงที่ผ่านมาตารางค่อนข้างยุ่งเหยิงเล็กน้อย แต่ถึงจะไม่ได้มาบ่อย ๆ ก็อย่าเพิ่งหายไปไหนกันนะคะ เราจะมาอัปเดตเรื่อย ๆ แน่นอนค่า
วันนี้เราก็มีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง ~ている ที่ได้เรียนในคาบ App Jp Ling มาฝากกันค่ะ คนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นมาระยะหนึ่ง น่าจะเคยเจอกับรูป ~ている มากันบ้างแล้ว แต่รู้ไหมคะว่ารูป~ている ไม่ได้แสดง “การณ์” ในทุกกรณีค่ะ
แต่ก่อนจะอธิบายอะไรไปมากกว่านี้ ได้เวลาลับสมองด้วยการทำควิซแล้วค่า มาดูกันว่าทุกคนจะรู้เกี่ยวกับ ~ている มากแค่ไหน?
Q: ประโยคใดผิดไวยากรณ์?
A. 姉は3年間結婚しています。
B. 姉は3年間この会社で仕事をしています。
C. 姉はテレビを見ています。
เฉลย : คำตอบก็คือ A. 姉は3年間結婚しています。นั่นเองง
.
.
.
ถ้าใครกำลังงงอยู่ว่าทำไมต้องตอบข้อนี้ เดี๋ยวเราจะอธิบายอีกทีหลังจากนี้ค่า
ส่วนใครที่ยังไม่เข้าใจว่า “การณ์” ที่เราได้พูดถึงไปคืออะไร เราลองมาดูตัวอย่างด้านล่างกันค่ะ
今からご飯を食べ始める。ช่วงเริ่มต้นการกระทำ
今ご飯を食べている。 ช่วงที่การกระทำกำลังดำเนินอยู่
もうご飯を食べた。 ช่วงที่การกระทำจบลงแล้ว
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า การณ์ หรือ การณ์ลักษณะ หมายถึง หน่วยที่
อธิบายสภาพ/การกระทำว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว เช่น อยู่ในขั้นเริ่มต้นการกระทำ ระหว่างการกระทำ หรือการกระทำจบลงแล้ว ดังนั้นที่เราบอกไปในตอนต้นว่า~ている ไม่ได้แสดง “การณ์” ในทุกกรณี ก็หมายความว่า ~ている ไม่ได้แปลว่า “กำลัง...” เสมอไปค่ะ
ตอนนี้เราก็รู้แล้วเนอะว่าการณ์คืออะไร ถัดไปเราไปดูกันดีกว่าค่ะว่า~ている สามารถใช้ในกรณีใดได้บ้าง
?การใช้รูป ~ている?
รูป ~ている สามารถแบ่งการใช้ได้เป็น 6 ประเภทดังนี้ค่ะ
1. 継続 – ใช้การกระทำกำลังดำเนินอยู่ เช่น テニスをしています。
2. 結果の状態 – ใช้แสดงผลที่ปรากฏอยู่จากการกระทำหนึ่ง สามารถใช้ได้กับกริยา 3 ประเภทคือ
1) กริยาที่แสดงการเคลื่อนที่ – 行く、来る、変える、etc.
2) กริยาที่เกี่ยวกับการสวมใส่ – 着る、はく、かぶる、etc.
3) กริยาที่เกิดขึ้นและจบลงทันที – 結婚する、忘れる、聞く、etc.
เผื่อใครจะงงว่ากริยาที่เกิดขึ้นและจบลงทันทีนี่มันเป็นยังไง ลองนึกภาพง่าย ๆ ก็ได้ค่ะว่าในตอนที่เรา “ลืม” เราไม่สามารถบอกได้ว่ากริยานี้กำลังเริ่มต้นหรือสิ้นสุดลง อย่างเช่นคำว่า “กิน” ที่เราบอกได้ว่ากำลังกินอยู่ หรือกินเสร็จแล้ว เป็นต้นค่า
3. 現在の習慣 – ใช้บอกว่าปัจจุบันอยู่ที่ไหน ทำงาน/เรียนอะไร หรือครอบครองอะไรอยู่ เช่น 日本語の辞書を持っています。
4. 元からの状態 – ใช้แสดงสภาพที่เป็นอยู่ตั้งแต่แรก เช่น 弟は父に似ています。
5. 経験/記録 – ใช้บอกประสบการณ์หรือบันทึกทางประวัติศาสตร์ เช่น モーツアルトはたくさんのオペラを作曲しています。
6. 仮定 – ใช้ในการคาดคะเนหรือสมมุติเหตุการณ์ เช่น もし、もう少し早く出発していれば、電車に乗れていただろう。
แต่ในตำราเรียนชั้นต้นที่เราเรียนกัน มักจะยกรูป ~ているมาในรูปของการแสดงสภาพ การกระทำที่เป็นกิจวัตร โดยจะเน้นให้ผู้เรียนจำเป็นสำนวน และเมื่อเราเรียนต่อไปในระดับที่สูงขึ้น ก็มักจะพบว่าตนเองเกิดความสับสนระหว่างการใช้รูป ~ている และรูป ~た ค่ะ
และถ้าเราไปเห็นประโยค เช่น
あなたが結婚するころには、私はもう死んでいるわよ。
あの人は去年アメリカに3回行っています。
ก็อาจจะรู้สึกไม่คุ้นชิน และไม่ค่อยเข้าใจความหมายค่ะ อย่างเราเองก็เคยคิดว่า ทำไมต้องบอกว่า “กำลัง” ตายไปแล้วด้วยละ ตกลงตายแล้วหรือยังเนี่ย? ส่วนอีกประโยคถ้าเมื่อก่อนเห็นก็คงคิดว่า 行っています คือ error แน่นอนค่ะ5555
และในเมื่อเรารู้แล้วว่า ~ている มีการใช้แบบใดบ้าง ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าทำไม 姉は3年間結婚しています。ที่เป็นคำตอบของควิซในตอนต้นถึงเป็นข้อที่ผิดไวยากรณ์
เหตุผลก็คือ 年間 เป็นคำที่แสดงช่วงเวลา และ 結婚する เป็นคำกริยาที่เกิดขึ้นและจบลงทันทีค่ะ เราไม่สามารถพูดว่า “แต่งงานอยู่ 3 ปี” ได้ ประโยคที่ถูกต้องจึงควรจะเป็น 姉は結婚してから、3年間になりました。/姉は結婚して、3年間になります。นั่นเองค่ะ
จบแล้วค่า สำหรับเรื่อง ~ている ในวันนี้ พอจะได้ความรู้เพิ่มเติมกันไหมคะ ยังไงก็อย่าลืมลองเอา ~ている ความหมายอื่น ๆ นอกจาก “กำลัง...” ไปลองใช้กันบ้างน้า
ขอบคุณทุกคนที่ติดตามมาจนถึงตอนนี้ค่า?
クマグミ
Source:
เอกสารประกอบการเรียนเรื่อง 瞬間動詞と期間
หนังสือแปดประเด็นภาษาศาสตร์ภาษาญี่ปุ่น
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in