ก่อนอื่นต้องบอกว่า แต่ละคนที่มาเรียนอาจจะเจอประสบการณ์ไม่เหมือนกันเพราะเราเจอคนที่ต่างกัน อยู่ในที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ต่างกัน บางคนเรียนในเมืองที่มีชาวตะวันออกกลางมาก บางที่มีแต่คนอังกฤษหรืออื่น ๆ สำหรับสิ่งที่ผมจะเล่าเกี่ยวกับชั้นเรียนของผมนั้นมาจากห้องเรียนในคอร์สปรับพื้นฐานหรือ Pre-sessional Course กับชั้นเรียนตอนที่เข้าหลักสูตรปริญญาโทแล้ว เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน Pre-sessional Course คือหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาการใช้ภาษาของเราให้มีความเป็นวิชาการมากขึ้นทั้งการฟังพูดอ่านเขียน ไม่ใช่การมานั่งสอน Grammar หรือ Vocabulary ใหม่ การเรียนการสอนจะเน้นไปที่การอ่านบทความวิชาการและการเขียนความเรียงทางวิชาการที่มีการอ้างอ้งและบรรณานุกรมที่มีแบบแผน มีการลำดับความคิดและเหตุผลทางวิชาการที่ดี อย่าคิดว่าเป็นการมาเรียนเอาง่ายนะครับ มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น สำหรับที่นี่ Centre of English Language Education ออกแบบบทเรียนมาเพื่อจำลองการเรียนจริง ๆ ก็จะเน้นที่การเขียนทบทวนวรรณกรรม การเขียนบทวิเคราะห์ การอ่านบทความและการเลือกส่วนที่เหมาะสมมาสนับสนุนความคิด และสุดท้ายคือการสอบปากเปล่า...
Pre-sessional Course: ปรับพื้นฐานความคิด...ไม่ใช่แค่ภาษา
ในชั้นเรียน Pre-sessional Course (ต่อจากนี้ขอเรียกว่า พรี) จะประกอบด้วยกลุ่มประชากรที่ไม่ใช่กลุ่มที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่หนึ่ง ในหลักสูตรของผมประกอบไปด้วยชนชาติหลัก ๆ คือ ตะวันออกกลาง จีน บราซิล (ทุนรัฐบาลบราซิลให้มาเรียน Dual Degree ในกลุ่ม Universitas 21) และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ย่อยลงมาถึงชั้นเรียนผมก็จะมีคนที่มาจากประเทศจีน อีรัก ซีเรีย อาร์เซอร์ไบจาน บราซิล และไทยแลนด์ (ผมเอง) วัฒนธรรมการเรียนของที่นี่คือ ควรจะมีการถามคำถามหรือมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ชาวตะวันออกกลางมีแนวโน้มสูงที่จะชอบการมีส่วนร่วม...ซึ่งในบางครั้งมันไม่ใช่ประเด็น ซึ่งเพื่อนเราก็จะพาล่องทะเลออกไปหาโมเสสจนเลยออกไปคาบสมุทรอินเดีย สำหรับชาวจีน...ที่พูดภาษาอังกฤษไฟแลบมาก ผิดๆ ถูกๆ ก็แลบไปก่อนก็ไม่ค่อยกล้าแสดงความเห็นเท่าไหร่ จึงเหลือแต่บราซิลและผมเท่านั้น ผมก็พูดบ้าง ถามบ้าง เอาวันละประโยคพอ และที่เหลือในชั้นก็ให้บราซิลไป 55555+ ประเด็นนี้ผมให้ความสำคัญเพราะมารู้ทีหลังว่ามันเป็นคะแนนด้วย ก็เลยบอกเพื่อนคนจีนไปว่าพูดนะเพราะเขาประเมินยูด้วย ผมเลยกลายเป็นฮีโร่ของพวกนี้ไป ผมได้เพื่อนจากคอร์สพรีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็มีทั้งคนไทยและต่างชาติ จากการเรียนพรีผมก็คิดถึงประโยคนึงว่า "I think therefore I am." (Rene' Descartes, 1644) ซึ่งเป็นฐานคติหลักของปรัชญาตะวันตกว่าด้วยการแสวงหาความรู้ว่าเพราะ (เราสงสัย) เราคิด เราจึงดำรงอยู่ ซึ่งถ้าเราไม่สงสัย ไม่คิด ไม่ถาม เราก็เหมือนไม่มีตัวตนในห้องนั้นจริงๆ
ผมขอเล่าต่อว่าการเรียนปรับพื้นฐานมีสองส่วน ส่วนแรกคือการทบทวนความรู้ทางด้านการเขียน (Writing Skill) ย้ำว่าการเขียนเพราะการเรียนในระดับนี้ไม่มีการพูดเรื่อง Grammatical Knowledge แล้วเพราะทุกคนมาไกลขนาดนี้ต้องได้ไม่มากก็น้อย ส่วนการเขียนกินเนื้อหาเป็นสองในสามส่วนของระยะเวลาสามเดือนที่เรียนปรับพื้นฐาน ส่วนที่สองคือการพูดเชิงวิชาการ (Academic Speaking) ซึ่งจะเป็นการพัฒนาการพูดให้เป็นวิชาการ การนำเสนอผลงาน และการถกเถียงประเด็นในกลุ่ม คลาสของผมมี Yvone Lake เป็นคุณครูสอนหลัก และมี Gladys Quay เป็นคุณครูเสริม การเรียนการสอนหลัก ๆ ของคลาสนี้จะมีเนื้อหาสำคัญ ๆ สามส่วน
ส่วนที่ 1 การอ่านเพื่อการเขียน (Reading for Writing) เป็นส่วนที่อธิบายว่าเราจะเขียนรายงานอย่างไร จะเริ่มค้นคว้าจากตรงไหน และส่วนไหนของบทความหรือหนังสือที่เป็นสาระสำคัญ รวมไปถึงการอ่านจับใจความและอ่านเอาเรื่องด้วย
ส่วนที่ 2 การเขียนเชิงวิชาการ (Academic Writing) เป็นส่วนที่จะสอนเราให้เขียนงานออกมาอย่างมีคุณภาพ การเขียนเชิงวิชาการที่ดีต้องมีการสร้าง Argument ในงานที่เราค้นคว้า มีการเรียบเรียงประเด็น และอื่น ๆ อีกมากมาย
ส่วนที่ 3 การพูดเชิงวิชาการ (Academic Speaking) เป็นส่วนของการพูดเชิงถกเถียง เชิงวิพากษ์ และการนำเสนอหน้าคณะกรรมการอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังมีการจัด Discussion Group ในกลุ่มสาขาเดียวกันด้วย
สำหรับที่มหาลัยผมอาจจะมีความแตกต่างจากที่อื่น เอาเป็นว่ารูปแบบการเรียนการสอนของผมนั้น Yvone จะเป็นคนดูเรื่องตารางการสอนและแบ่งเนื้อหากับ Gladys ซึ่งจะรับผิดชอบในส่วนของ Research Skill ความท้าทายของผมคือการเขียนในหัวข้อหลักว่า "What is populist policy?" ซึ่งมีหนังสือค้นคว้าน้อยมาก แต่ก็ผ่านมาได้นะ การตรวจคะแนนมีคะแนนหลัก ๆ อยู่ที่รายงานหรือ Essay 1 เล่มที่เราเลือก และอีกส่วนคือกการนำเสนองานต่อคณะกรรมการ (ครูจากห้องอื่น 3 คน และห้องเราคนใดคนหนึ่งอีก 1 คน) ผมเป็นคนที่ถามครูตลอดและไม่เคยบ่นเรื่องเรียนยากนะ (นักเรียนจีนแผ่นดินใหญ่จะบ่นมากว่าครูบางคนสอนยาก เขาไม่เข้าใจ มีการ Boycott ครูด้วย) แต่ด้วยความที่ผมคุยกับครูตลอดผมเลยมีแต้มบุญในการนำเสนอที่เขาเข้าใจเรื่องที่เราจะเขียนมาก่อนแล้ว เลยถามเป็นพิธี 5555+ สุดท้ายก็ผ่านมาได้
ในชั้นเรียนของหลักสูตรที่จำนวนคนมากขึ้น สอนความรู้เฉพาะทางมากขึ้น ก็ย่อมมีดราม่าเยอะขึ้นเช่นกัน ประการแรก กลุ่มเพื่อนเราจะมีชาวอังกฤษด้วย บางคนทำงานแล้วมาเรียนเป็น Part-time บางคนเรียนเป็น MRes (Master of Research) การเรียนในชั้นเรียนปริญญาโทต่างกับคอร์สพรีตรงที่อาจารย์เอาจริงๆ ก็แค่มาสอน ตอบคำถาม แล้วกลับบ้าน... ถ้าอยากรู้ก็ต้องถามในชั้นให้เสร็จ บางคนไม่บริการตอบนอกโพเดียม การตอบคำถามแต่ละครั้งจะมีการกล่าวชื่อนักวิชาการออกมา นั้นหมายความว่า...ไปหาอ่านนะครับนักเรียน จะไปหาจากไหน ก็จากรายชื่อหนังสือใน Course Syllabus นั่นแหละ นอกจากนี้ เพื่อนๆ เราก็จะมีการโชว์ภูมิแบบผิดๆ มากขึ้น ผมมาเรียนในช่วงที่เกิดการรัฐประหาร คสช. ทำให้ประเด็นนี้ถูกใช้ทิ่มแทงผมในคลาสมาก ถามว่าต้องตอบมั้ย...ตอบสิ! ถ้าไม่ตอบเราก็ไม่ได้คะแนน Discussion กับการเสนอหน้านะครับเราต้องตอบแบบมีหลักการให้ฝรั่งรู้ว่าเราไม่หลับหูหลับตาเชื่อนะ เพราะท้ายที่สุดการตอบคำถามคือการสอบทานหลักการและทฤษฎีที่เราเข้าใจในชั้นเรียนนั่นเอง ในส่วนว่าเรียนอะไรบ้างจะมาแนะนำต่อไปครับ
สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นจุดสูงสุดกว่าที่ผมเจอคือกรณีเพื่อนคนจีนของผม (หลายคน) ที่ "ไม่รู้ว่าประเทศตัวเองปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์" ถ้าผู้อ่านตลกผมขอให้หยุดนะครับ เพราะถึงแม้คนจีนจะรวยแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะรู้ทุกอย่างว่ารัฐทำอะไรกับเขาได้บ้าง แม้กระทั่งเชื่อว่าประเทศตนเองเป็นประชาธิปไตยเหมือนคนอื่น มันไม่ตลกเลย และที่สำคัญคือผมเปลี่ยนความคิดทางการเมืองเขาไม่ได้ และเราไม่ควรเปลี่ยน พออยู่ ๆ ไปผมก็เห็นลักษณะการอยู่ร่วมกันแบบ Commune ของคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่เขาต้องอยู่รวมกัน ทำงานด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน ก็จะมีคนหนึ่งตั้งตนเป็นผู้ปกครอง (คอยสอดส่อง) ไม่ให้เพื่อนแตกกลุ่มนั่นเอง
ผมขอหยุดแต่เพียงเท่านี้ก่อน บล็อกต่อๆ ไปพยายามที่จะเล่าเรื่องให้หลากหลายมากขึ้น เพราะจริงๆ ผมเองก็ถือว่าประสบการณ์น้อยกว่าหลายๆ คนที่มาเรียนแล้วทำงานด้วย ซึ่ง Comfort Zone ผมไปไม่ถึงจุดนั้น
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in