เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
อ่านแล้วเล่าFayathi Sorap
อ่านแล้วเล่า : กระเทียมเจียว
  • ผู้เขียน : วาณิช จรุงกิจอนันต์
    สำนักพิมพ์ : มติชน
    จำนวนหน้า : 236 หน้า
    ราคา : n/a (คือมันเก่ามาก ไม่แน่ใจว่าตอนนี้มีขายไหม)


         (เข้ามาเพิ่มเติมสิ่งที่อยากเขียนแต่ลืมไป) วันนี้ได้ทราบว่าคุณบุญเกื้อ ปุสสเทโว จากโลกนี้ไปแล้วอย่างสงบ เลยอยากใช้พื้นที่ตัวเองเขียนถึงสักหน่อย หลับให้สบายนะคะคุณบุญเกื้อ หวังว่าจะได้ไปในภพภูมิที่ดีนะคะ 
         โอเค เข้าเรื่อง



         เป็นคนที่ "ยี้" การดูหนัง/ภาพยนตร์ ซ้ำๆ มากค่ะ รู้สึกว่า ดูแล้ว จะดูอีกทำไม เสียเวลา

         ทว่า ในทางกลับกัน ดันเป็นคนที่อ่านหนังสือไม่เคยปล่อยวาง คือหนังสือเล่มเดิม อ่านแล้ว ผ่านไปสักพัก ก็หยิบมาอ่านใหม่ด้วยความคิดถึง(ฮะ??) และรู้สึกว่า ในการอ่านหนังสือเล่มเดิมแต่ละครั้งกลับให้มุมมองใหม่ๆในชีวิต อย่างไม่น่าเชื่อ

         หนังสือที่ชื่อ "กระเทียมเจียว" ก็เป็นหนึ่งในหนังสือที่ หยิบมาอ่านมากกว่าสองครั้งแล้วเช่นกัน


          "กระเทียมเจียว" เป็นผลงานรวมเล่มเรื่องสั้นของคุณ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ที่เคยเขียนลงในนิตยสารผู้หญิงในยุคนั้น(ยุคที่คุณเธอเขียนหนังสือ ปัจจุบันคุณวาณิชเสียชีวิตแล้วค่ะ)
         เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่สรรหาเรื่องผู้หญิงมาเขียนถึงผู้หญิงให้ผู้หญิงอ่าน แบบตั้งใจมาผูกมิตร เป็นจิตวิทยายั่วยิ้มชนิดหนึ่งที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเพศตรงข้ามกับผู้เขียนเป็นหลัก
         แต่จริงๆหากผู้ชายจะอ่านเขาคงไม่ห้ามกระมัง..

      
         ในหนังสือก็จะแบ่งเป็นบทๆ เป็นหัวข้อๆ ตามแต่คุณวาณิชเธอจะนึกรังสรรค์ขึ้นมา เช่นบทที่หนึ่งซึ่งตั้งชื่อเสียยาวว่า "ได้เวลาประกาศอิสรภาพ" เรื่องของเรื่องคือเธอยุคุณผู้หญิงที่มีผู้ชายที่คบแล้วไม่สร้างสรรค์อยู่ในชีวิตว่า ทิ้งเถอะ...ผู้ชายพรรค์นั้น คบไปก็เสียเวลาเปล่า หรือเรื่อง "หุ่นคุณน่ะ" ที่ช่างไปสรรหาความรู้เรื่องรูปร่างทรงต่างๆของผู้หญิง มาถก(แกก็ถกของแกคนเดียวในหนังสือ ครั้นคนอ่านนึกอยากเถียงกลับไป แกคงไม่ได้ยิน)กันว่ารูปร่างอย่างนี้ควรใส่อะไรจึงจะงาม แล้วใส่อะไรอาจดูงามน้อยไปนิดหนึ่ง และก็ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่เอาไว้อ่านคลายเครียดได้

         อย่างที่บอกว่าหนังสือเล่มนี้ อ่านซ้ำแล้วมากกว่าสองรอบ แต่แปลก อ่านแต่ละที ได้เห็นความแตกต่างเสียทุกครั้ง อย่างสมัยเด็กอ่านคำขวัญรัตนโกสินทร์ในบทที่เกี่ยวกับฉลองสองร้อยปีกรุงเทพฯ ที่ขึ้นว่า "รัตนโกสินทร์สองร้อยปี ต่อไปนี้ไม่ดูตำรา" จำได้ว่าหัวเราะลั่นหัวสั่นหัวคลอน สิบกว่าปีผ่านไปกลับมาอ่านอีกทียังสงสัยไม่หายว่า
         มันขำตรงไหน???

         อ่านแล้วอ่านอีกก็ยังรู้สึกชวนหัวอยู่แหละ เพียงแค่ไม่ถึงกับหัวร่อออกมา เช่นในตอน "งอน" ที่บอกสอนคุณผู้หญิงว่า การงอนนั้นควรสงวนไว้สำหรับคู่รักที่ผู้หญิงไม่ข่มผู้ชาย แต่ในคู่ที่ผู้ชายนั้น..ขอโทษนะ กลัวเมีย เคสแบบนี้คุณผู้หญิงไม่ต้องงอนหรอก แฟนคุณไม่กล้ามาง้อแหง อ่านแล้วได้แต่หัวเราะหึหึตามไป วิจารณ์ก็ไม่ใคร่ได้ ไม่มีประสบการณ์
         ไหนใครอยู่ชมรมพ่อบ้านใจกล้ามาแสดงความเห็นหน่อยค่ะ ว่าเป็นไปตามที่คุณวาณิชเขียนหรือเปล่า อิอิ


         ถ้อยคำของคุณวาณิชในหนังสือยังคงตรึงตราในความทรงจำอีกหลายประโยค นอกจากเจ้า "ต่อไปนี้ไม่ดูตำรา" นั่นแล้ว ที่ยังนึกออกคร่าวๆโดยที่ไม่ต้องเปิดหนังสือก็เช่น
         "หมาบ้านคุณน่ะไม่กัดคุณหรอก ไม่ว่าคุณจะแต่งตัวแบบไหน แต่หมาบ้านอื่น..."
         "เป็นเจ้าหญิงนิทรารอเจ้าชายมาจุมพิต หากไม่มาก็คงเน่าเปื่อยไปตามยถากรรม"
         "ถ้าจับนกกระจอกมาโกนขนแล้วทาสีแดง แล้วปล่อยกลับฝูง รับรองได้ว่านกกระจอกตัวนั้นต้องถูกตัวอื่นจิกแน่"

         จะว่าไปงานแต่ละตอนก็ใช่จะมีแต่บันเทิงเท่านั้น แต่กลับแฝงข้อไว้ให้คิดต่างๆ เช่นการให้ข้อคิดการแต่งตัวว่าต้องดูตัวเองและกาลเทศะ ใช่ว่าอยากจะแต่งอะไรก็แต่ง หรือการให้ข้อคิดว่าหากยังอยู่วัยเรียนไม่ควรถลำใจไปกับความรักมากเกินไป อกหักขึ้นมามันเจ็บแท้ๆ เป็นต้น

         สรุปได้ว่าเป็นงานเขียนเอายิ้มเป็นหลักเอาสาระเป็นรอง ไว้อ่านเพลินๆแก้เซ็งได้
      

         เราจะไม่ขอพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นจากการกระทำของคุณวาณิชบางประการต่อสำนักพิมพ์ๆหนึ่ง เมื่อหลายปีก่อน (ใครเกิดทันก็คงทราบ ไม่ทราบก็ไปค้นเอา) ความจริงก็คือความจริง ใครทำอะไรก็ต้องรับผลในสิ่งที่ตัวเองทำ
         แต่ในฐานะนักเขียน เราว่าเขาเขียนสนุกดีนะ ใช้ถ้อยคำเป็นกันเองที่ออกไปในทางเต๊าะสาวๆได้เก่งพอตัว แม้อ่านไปอ่านมาจะรู้สึกเหมือนกับว่า เขาจิกกัดสตรีเพศได้รุนแรงในเชิงกดลงไปบ้าง ก็ตาม แต่ก็อธิบายอะไรได้เข้าใจง่ายดี งานเขียนของเขานี่ล่ะที่เป็นแรงหนึ่งในบันดาลใจให้เราลงมือเขียนโน่นเขียนนี่ ถ้าคุณอ่านงานของคุณวาณิชแล้วรู้สึกว่า ถ้อยคำน้ำเสียงในหนังสือของเขามีความละม้ายคล้ายเรา รู้ไว้เถิด
         ไม่ใช่คล้าย เขาคือต้นแบบแห่งน้ำเสียงกวนประสาทที่เรามีในงานของตัวเองทุกวันนี้


         ลองเปิดใจรับหนังสือของนักเขียนชื่อ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ไว้ในกองดองหน่อยมั้ยล่ะคะ?


    ปล. หนังสือเล่มนี้ออกมาหลายปีดีดัก(อ่านตั้งกะยังไม่เข้ามหาวิทยาลัย) เราเคยเห็นเขาพิมพ์ใหม่แล้ววางขายในศูนย์หนังสือจุฬา สาขาสยามสแควร์นะ แต่นั่นก็เป็นการเห็นตั้งกะตัวเองยังอยู่ในรั้วจุฬา ซึ่งก็นานเนิ่นอยู่เหมือนกัน
    เอาเป็นว่า ถ้าสนใจก็ส่องตามห้องสมุดหรือตามเว็บหนังสือมือสองดูละกันนะคะ หรือลองค้นใน shopee ก็ได้ เผื่อฟลุค 


         ก่อนจบ ขออนุญาตประชาสัมพันธ์ เนื่องจากตั้งแต่ประมาณ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา ทาง minimore เปลี่ยนรูปแบบเว็บใหม่ ผลที่เกิดขึ้นคือ งานเขียนเรา...ไม่มีคนอ่านเลย (คาดว่าหาเจอยาก)ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป เราจึงตัดสินใจกลับไปเขียนเรื่องราวในบล็อกเดิมของเราแทน คุณผู้อ่านที่ถูกจริตในงานเขียนของเรา สามารถติดตามไปอ่านได้ที่

         https://alwaysfay.blogspot.com/2023/02/blog-post.html

         ขอบพระคุณสำหรับการติดตาม และขอบคุณทาง minimore ที่ให้พื้นที่เราได้ขีดๆเขียนๆเรื่องราวตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้
         จนกว่าจะพบกันใหม่
         สวัสดีค่ะ
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in