เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
อ่านแล้วเล่าFayathi Sorap
อ่านแล้วเล่า : เจ็ดคำวิเศษ หยิบมาใช้เมื่อไหร่คนทำตามเมื่อนั้น

  • ผู้เขียน : ทิม เดวิด
    สำนักพิมพ์ : we learn
    จำนวนหน้า : 243 หน้า (ไม่รวมหน้า note เพิ่มเติม)
    ราคา : 185 บาท


           โลกนี้มีคนอยู่ประเภทหนึ่ง ประเภทที่ ไม่ว่าเขาจะเจรจาอะไร ก็ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะเป็นไปดังใจ ทุกคนทำตามที่เขาพูดทุกอย่าง

         ...คนประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องใส่ใจหนังสือเล่มนี้ 

         ส่วนคนอื่นที่เหลือ...ก็คือคนที่มองคนพวกนั้นแล้วตั้งคำถามว่า "หมอนั่นลงนะหน้าทองหรือพกสาริกาลิ้นทองหรือไง" หรือไม่ก็ "มันมีเวทมนต์จากไหนพูดอะไรคนถึงเชื่อไปหมด" หรืออะไรๆที่มีใจความไม่ต่างกัน
         หนึ่งในคนที่ตั้งคำถามนั้นก็คือคนที่สนใจศึกษาเนื้อหาของ "เจ็ดคำวิเศษ หยิบมาใช้เมื่อไหร่คนทำตามเมื่อนั้น" อยู่นั่นเอง

      
         "เจ็ดคำวิเศษ หยิบมาใช้เมื่อไหร่คนทำตามเมื่อนั้น" ได้ชี้ให้เห็นว่า การพูดจาแล้วได้ดั่งใจนั้นไม่ต้องใช้เวทมนต์ หากแต่เป็นหลักทางจิตวิทยา เป็นเทคนิค เป็นศาสตร์และศิลป์ที่สามารถฝึกฝนได้ โดยใช้คำพูดที่ตรงใจกับผู้ฟัง แค่เพียงเท่านั้นการเจรจาอาจพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้อย่างไม่น่าเชื่อ และทั้งเจ็ดคำเหล่านั้นก็ได้แก่ "ใช่" "แต่" "เพราะ" "ชื่อ"(ผู้ฟัง) "ถ้า" "ช่วย" และ "ขอบคุณ" นี่คือเจ็ดคำที่หากฉลาดในการใช้ให้ถูกที่ ถูกเวลา และถูกบริบท แล้ว ประโยคของผู้พูดจะไม่ต่างอะไรกับถ้อยคำเคลือบคาถาขุนแผนที่ชักจูงผู้ฟังไปในทิศทางตามที่ต้องการได้
      
         ขอแค่ รู้จักใช้และฝึกฝน


         นอกจาก "คำ" แล้ว ในเล่มยังสอดแทรกไปด้วยกลเม็ดเคล็ดลับต่างๆทางจิตวิทยาเพื่อให้มุมมองต่างๆแก่ผู้อ่านเกี่ยวกับการเจรจา เพื่อบอกว่าคุณควรหรือไม่ควร จะใช้คำหรือหลักนี้ในเรื่องใด เพราะอะไร เป็นหนังสือที่เหมาะจะอ่านไว้เป็นแนวทางในการเจรจาต่อรอง ตลอดจนเพิ่มมุมมองในการสังเกตสังกาคนรอบข้างว่าในแต่ละสถานการณ์นั้น จะพูดจาอย่างไรดีให้ได้ผลสัมฤทธิ์ที่ตรงใจสูงสุด

         ถ้าถามความเห็นเรา เราว่า มันก็มีอะไรอยู่เบื้องหลังถ้อยคำเหล่านี้อยู่ เช่น คำว่า "ขอบคุณ" นั้นจัดเป็นคำที่ทรงพลัง เพราะมันแสดงให้เห็นว่าอีกฝ่ายได้ทำอะไรให้เรา มันทำให้เขาดูมีคุณค่า ซึ่งการมีคุณค่าน่าจะเป็นสิ่งที่ลึกๆแล้วจิตใจใครหลายๆคนโหยหาอยู่
         การเรียกชื่อก็คือการให้ค่าเช่นกัน ในแง่ที่ว่า เธอสำคัญพอฉันเลยจำชื่อเธอได้ พอเราเรียกชื่อใครสักคน จึงมีโอกาสที่เขาจะมีปฏิกิริยาตอบกลับในเชิงบวกแก่เรา แต่อย่าใช้น้ำเสียงชวนโมโหก็แล้วกัน 

      
         อ่านแล้วให้นึกถึงที่คุยกับเพื่อนตอนมัธยม ที่ต้องฝึกซ้อมการรำประกอบเพลงเป็นกลุ่ม วันนั้นสะกิดเพื่อนแล้วบอกไปว่า "เราอยู่กลุ่มเดียวกัน แต่เรายังไม่รู้ท่าเต้นเลย" เพื่อนได้ฟังดังนั้นก็สอนให้ด้วยความยินดี
         ยังสงสัยไม่หายว่าถ้าไม่ใช้คำว่า "เรา" แต่ใช้คำว่า "ฉันอยู่กลุ่มเดียวกับเธอ" เพื่อนจะยิ้มให้กว้างเหมือนที่เจอตอนนั้นมั้ย...
         ไม่เกี่ยวกับคำทั้งเจ็ดเลย แต่...ได้ผลแฮะ (นี่ใช้หลักความเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งมีหลักจิตวิทยาอยู่ว่า เมื่อเราเห็นใครเป็นพวกเดียวกับเรา เราก็มีแนวโน้มจะให้ความช่วยเหลือแก่เขา หุหุ)

      
         แต่ไม่ว่าจะอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเจรจาสักกี่เล่ม ก็เป็นได้เพียงตำราอ้างอิงที่อ่านแล้วหวังผลไปก่อนว่า ถ้าปฏิบัติตามแล้วจะเจรจาได้ความอย่างใจจง ในชีวิตจริงถ้ามีโอกาสใช้คงต้องไปหวังกันอีกทีว่า พูดแล้วเขาจะฟังดังที่ในหนังสือบอกหรือเปล่า เพราะจิตใจมนุษย์นั้นไซร้ยากแท้หยั่งถึง

         แต่อย่างน้อย แค่ได้อ่านไว้อ้างอิง ก็ยังดี...


          ก่อนจบ ขออนุญาตประชาสัมพันธ์ เนื่องจากตั้งแต่ประมาณ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา ทาง minimore เปลี่ยนรูปแบบเว็บใหม่ ผลที่เกิดขึ้นคือ งานเขียนเรา...ไม่มีคนอ่านเลย (คาดว่าหาเจอยาก)ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป เราจึงตัดสินใจกลับไปเขียนเรื่องราวในบล็อกเดิมของเราแทน คุณผู้อ่านที่ถูกจริตในงานเขียนของเรา สามารถติดตามไปอ่านได้ที่

         https://alwaysfay.blogspot.com/2023/02/blog-post.html
         ขอบพระคุณสำหรับการติดตาม และขอบคุณทาง minimore ที่ให้พื้นที่เราได้ขีดๆเขียนๆเรื่องราวตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้
         จนกว่าจะพบกันใหม่
         สวัสดีค่ะ

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in