สวัสดีค่ะ
เนื่องด้วยวันพุธที่ผ่านมา ได้ทราบข่าวว่า คุณอาวัฒน์ นักเขียนการ์ตูนแห่งหนังสือขายหัวเราะ เครือสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ได้ลาจากโลกนี้ไปด้วยอายุ 95 ปี จึงอยากจะลงเรื่องนี้เพื่อรำลึกถึงการตูนของบรรลือสาส์น
ขอบคุณนะคะ คุณอาวัฒน์ สำหรับภาพหน้าปกขายหัวเราะและการ์ตูนสนุกๆตลอดมา ขอให้คุณอาวัฒน์ไปสู่สุคติ และไปสู่ภพภูมิที่ดีนะคะ
เมื่อพูดถึงหนังสือการ์ตูน หลายคนอาจจะนึกถึงการ์ตูนสัญชาติญี่ปุ่น เช่น โคนัน อินุยาฉะ ฯลฯ หรือไม่ก็การ์ตูนสัญชาติอเมริกัน เช่น การ์ตูนฮีโร่ทั้งหลายของมาร์เวล
จริงๆแล้ว การ์ตูนสัญชาติไทยก็มีเช่นกัน
การ์ตูนไทยอาจไม่ใช่การ์ตูนเรื่องยาวที่ขึ้นเล่มที่ร้อยก็ไม่จบสักที แต่มันเป็นการ์ตูนเล่มเล็กๆ บางๆ ที่วางแผงทุกวันอังคารในแต่ละสัปดาห์
...เรากำลังพูดถึง การ์ตูนในเครือสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น เช่น ขายหัวเราะและมหาสนุก
เราคุ้นเคยกับขายหัวเราะมาตั้งแต่จำความได้ เพราะพ่อเราอ่าน ในแต่ละสัปดาห์พ่อจะซื้อมาอ่านที่บ้าน เราจึงได้อ่านไปด้วย
พูดกันตามตรงนะ เราอ่านขายหัวเราะตั้งแต่เราอ่านหนังสือไม่ออก แม่เล่าให้ฟังว่าตอนสองสามขวบ เราจับหนังสือขายหัวเราะมาเปิดทีละหน้าๆ ดูรูปภาพ โดยที่เรายังอ่านอะไรไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
อ่อ อ่านแบบกลับหัวกลับหางด้วย
พอโตขึ้นมา เราก็ยังอ่านขายหัวเราะอยู่ และจำได้เลยว่า ขายหัวเราะนั้นจะมีเนื้อเรื่องแยกเป็นสามส่วนด้วยกัน
ส่วนแรกและส่วนใหญ่ของเล่ม คือ การ์ตูนช่อง บางเรื่องก็มีแค่ช่องเดียวจบ บางเรื่องก็มีสองช่อง สามช่อง และบางเรื่อง ก็ยาวหลายหน้า ขึ้นอยู่กับคนเขียนเป็นหลัก
ส่วนที่สอง คือ ส่วนที่เรียกว่า ขำขัน จะเป็นเรื่องราวสั้นๆที่เปิดโอกาสให้คนทางบ้านส่งมุกตลกมาลง เรื่องของใครได้รับเลือกก็จะได้รับเงินเท่านั้นเท่านี้บาท
เราเคยคิดจะส่งด้วยนะ แต่ไม่ได้ส่ง
ส่วนที่สาม คือ เรื่องสั้น นี่ก็เป็นเรื่องจากทางบ้านเหมือนกัน จะเป็นอารมณ์นิยายฉบับสั้น(ประมาณไม่เกินสิบหน้า) โดยทั่วไปในหนังสือขายหัวเราะ 1 เล่ม จะมีเรื่องสั้นสองเรื่อง
นอกจากสามส่วนนี้แล้วก็จะมีพวก โฆษณา เกมชิงรางวัล หรือเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ ตามแต่จะนำมาลง
และนี่ก็คือเนื้อหาในขายหัวเราะหนึ่งเล่มที่เราได้อ่านในแต่ละสัปดาห์
มหาสนุก ก็มีแนวเรื่องที่ลงคล้ายๆกัน แตกต่างตรงที่ว่า มหาสนุกจะมีเรื่องสั้นแค่เรื่องเดียว และมีสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาสองอย่าง คือ การ์ตูนแซวละคร(ส่วนใหญ่คนเขียนชื่อ คุณเฟน ถ้าจำไม่ผิด) และคอลัมภ์ตอบคำถามที่เปิดโอกาสให้แฟนการ์ตูนเขียนจดหมายมาพูดคุยกับนักเขียน
นอกจากขายหัวเราะและมหาสนุก เราก็อ่านหนังสือของบรรลือสาส์นอีกหลายเล่ม เช่น สาวดอกไม้นายกล้วยไข่ ซึ่งเป็นการรวมเล่มการ์ตูนแซวละครของคุณเฟน, หนูหิ่นอินเตอร์ เป็นการ์ตูนของคุณเอ๊าะที่เขียนถึงสาวใช้ชื่อหนูหิ่น และเจ้านายแสนสวยชื่อ คุณมิลค์, ปังปอนด์นินจา เป็นผลงานของ คุณต่าย เขียนถึงลูกสองคนของตัวเองคือปังปอนด์และนินจา(ตามชื่อเรื่อง) เป็นต้น
ส่วน หนูจ๋าเบบี้ นั้น เราไม่ค่อยได้อ่าน เท่าที่จำได้คือเป็นผลงานของคุณอาวัฒน์ แต่เราก็อ่านงานคุณอาวัฒน์ทุกอาทิตย์แหละ เพราะเธอวาดหน้าปกขายหัวเราะทุกฉบับตั้งแต่จำความได้
และหากใครจะบอกว่า การอ่านการ์ตูนนั้น ไม่มีประโยชน์ เราคนหนึ่งแหละที่จะเถียงว่า ไม่จริง เพราะนี่คือสิ่งที่เราได้จากการอ่านขายหัวเราะมากว่าทศวรรษ
1. เกร็ดความรู้ : อย่างที่เกริ่นไปว่า บางครั้งในหนังสือจะมีเกร็ดความรู้บางอย่างแทรกอยู่ในเล่ม มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราคึกถึงขนาดไปหาสมุดมาจดข้อมูลเหล่านั้นไว้
จริงๆก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนนี้สมุดเล่มนั้นอยู่ที่ไหน เอาเป็นว่ามันเปิดโลกเราในหลายเรื่องก็แล้วกัน
2. ข้อคิดบางอย่าง : มีเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งในขายหัวเราะที่อยู่ในความทรงจำของเรา ชื่อเรื่องคือ "ค่าของ อลิสา" ในเรื่องกล่าวถึงสาวชื่ออลิสา ที่พยายามทอดสะพานให้พี่ชายของเพื่อนอย่างเต็มที่ แต่ยังไงๆพี่ชายเพื่อนก็ไม่สนใจเสียที แกล้งแต่เพื่อนอีกคนที่อลิสามองว่าสวยเท่าหล่อนไม่ได้ จนกระทั่งหล่อนไปแอบได้ยินพี่ชายเพื่อนคุยกับเพื่อนของเขาว่า สาเหตุที่เขาไม่ชอบหล่อนนั้นไม่ใช่เพราะหล่อนไม่สวย แต่เพราะว่า
"..
เป็นเอ็ง เอ็งเอาหรือวะ ผู้หญิงที่แต่งตัวยั่วผู้ชายขนาดนั้น/ เหล้าเบียร์ก็กิน แล้วยังทำเป็นเท่ห์ ข้าว่าทุเรศ/ กินข้าวเสร็จก็สะบัดก้นไปเลย จานชามก็ไม่ช่วยล้าง..."
สรุปก็คือ สิ่งที่จะทำให้ผู้หญิงสวยหมดค่านั้น ก็คือพฤติกรรมที่ไม่สวยเท่าหน้าตาของหล่อนนั่นเอง
เห็นไหม ข้อคิดดีจะตาย จำแม่นกว่าเรียกลูกสาวมาสอนแบบตรงๆอีกนะ
3. ฝึกผวนคำ : มันจะมีบางแก๊ก ที่เขียนแบบอิงคำผวนเป็นหลัก ซึ่งอ่านๆไปแล้วเราก็จะหัวไวขึ้น และอันที่เราจำได้ก็คือ พุธเป็นเตื้อน-เพื่อนเป็นตุ๊ด
เนี่ย ตัวช่วยเชาน์ปัญญา เห็นเรียบร้อยๆเนี่ย หัวไวนะ จะบอกให้
4. ฝึกเตรียมใจรับเรื่องหักมุม : เนื้อส่วนหนึ่งของหนังสือ ไม่ว่าจะในการ์ตูน ขำขัน หรือเรื่องสั้น มักจะเล่นกับอารมณ์คนอ่านด้วยการหักมุม เช่นให้คนเล่าเรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นคนเรียบร้อยในตอนแรก อ่านไปอ่านมา เฉลยตอนท้ายว่า ไอ้เนี่ยแหละอยู่เบื้องหลังทั้งหมด อ่านตอนแรกก็ เฮ้ย อะไรอ่ะ พออ่านไปนานๆเข้า เมื่อเจออะไรในช่วงแรกก็จะเอ๊ะไว้ก่อนว่า มันต้องมีอะไร มันจะหักมุมยังไง
สร้างเสริมทักษะในการช่างคิดช่างสงสัยได้เป็นอย่างดี
5. ฝึกมองเรื่องเดิมๆด้วยมุมมองแปลกใหม่ : ในการ์ตูนหรือขำขันบางเรื่องจะเขียนโดยการอิงจากข่าวในทีวี โฆษณา หรือละครขณะนั้น จับบางมุมมาแล้วเขียนแซวในอีกแง่มุมหนึ่ง อ่านไปแล้วนอกจากจะทันโลกว่า ช่วงนี้มันมีเหตุการณ์ใดบ้างแล้ว ยังทำให้เราเห็นในอีกแง่มุมหนึ่งว่า เออว่ะ เอามาแซะแบบนี้ก็ได้ว่ะ
6. สร้างเสริมนิสัยรักการอ่าน : อย่างที่บอกว่าเราอ่านขายหัวเราะตั้งแต่เรายังอ่านหนังสือไม่ออก และไม่ว่าหนังสือจะเป็นหนังสือประเภทไหน มันก็คือหนังสือ การเติบโตมากับหนังสือต่างๆในบ้านทำให้เราซึมซับและคุ้นเคยกับการหยิบหนังสือมาอ่านในเวลาว่างๆ เมื่อโตขึ้นเราก็เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองว่า เราชอบอ่านหนังสือประเภทไหน แต่พื้นฐานที่ทำให้เราคุ้นกับการมีหนังสืออยู่ข้างกาย
...ยังไงก็ต้องให้เครดิตขายหัวเราะเขานะ
นี่คือสิ่งที่เราได้รับมาตลอดจนหล่อหลอมให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ เท่าที่นึกออก เนี่ยเหรอที่ว่า การ์ตูนเป็นสิ่งไร้สาระ ไหน บทเรียนของสถานศึกษาไหนสอนแบบนี้ได้บ้าง ว่ามาซิ
ทุกวันนี้เราไม่ได้อ่านขายหัวเราะเล่มใหม่ๆแล้ว เพราะพ่อเรางอนที่ขายหัวเราะขึ้นราคาเป็นเล่มละ 20 บาท เลยไม่ยอมซื้ออีกแล้ว (ซึ่งแม่ก็บ่นว่า แหม ก็ของมันขึ้นราคา จะให้ราคาเท่าเดิมได้ไง) แต่ขายหัวเราะเล่มเก่าๆก็ยังคงอยู่ในบ้าน สามารถหยิบมาอ่านได้บ้างในบางวาระและโอกาส
แต่ถามว่า ชอบขายหัวเราะ ไหม ก็ตอบว่าชอบ และถ้าถามว่า มีโอกาสจะซื้ออ่านหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า ไม่ขัดข้องแต่อย่างใด เพียงแต่ว่า ทุกวันนี้ไม่มีเวลาไปตามหาตามแผงหนังสือแล้ว(สมัยนี้แผงหนังสือก็ไม่ค่อยมีแล้วด้วยเถอะ) ก็แค่นั้น
แต่ถึงอย่างไร ขายหัวเราะ ก็ยังเป็นหนังสือในความทรงจำของเราอยู่ไม่เสื่อมคลาย ในฐานะ ประตูบานแรก สู่การเป็นนักอ่าน
และเราก็ดีใจนะ ที่ประตูบานนี้ยังคงเปิดอยู่ แม้ว่าทุกวันนี้ คนเราจะอ่านหนังสือเล่มๆน้อยลงแล้วก็ตาม...
ก่อนจบ ขออนุญาตประชาสัมพันธ์ เนื่องจากตั้งแต่ประมาณ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา ทาง minimore เปลี่ยนรูปแบบเว็บใหม่ ผลที่เกิดขึ้นคือ งานเขียนเรา...ไม่มีคนอ่านเลย (คาดว่าหาเจอยาก)ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป เราจึงตัดสินใจกลับไปเขียนเรื่องราวในบล็อกเดิมของเราแทน คุณผู้อ่านที่ถูกจริตในงานเขียนของเรา สามารถติดตามไปอ่านได้ที่
https://alwaysfay.blogspot.com/2023/02/blog-post.html ขอบพระคุณสำหรับการติดตาม และขอบคุณทาง minimore ที่ให้พื้นที่เราได้ขีดๆเขียนๆเรื่องราวตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้
จนกว่าจะพบกันใหม่
สวัสดีค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in