โลกประกอบขึ้นจากอนุภาคเล็กจิ๋ว เล็กเสียยิ่งกว่าอะตอมที่เราเรียนในตำราวิทย์ฯ
โลกไร้กาลเวลาและพื้นที่
โลกคาดเดาไม่ได้
โลกที่เราไม่ใช่เรา แต่เป็นภาพมายาที่เกิดจากปฏิกริยาของจุดเล็กๆ ที่สั่นสะเทือนเป็นบทเพลงแห่งจักรวาล
มันก็จะงงๆ หน่อยอะนะ...
หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามของผู้เขียนที่เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎี (เจ้าของเดียวกับความงามแห่งฟิสิกส์ที่เคยรีวิวไป) มุ่งฉายให้เห็นการผจญภัยของทฤษฎีที่เรียกว่า "ความโน้มถ่วงควอนตัม" ซึ่งเกิดจากการประสาน 2 ทฤษฎีสำคัญของโลกฟิสิกส์ในตอนนี้คือ "สัมพันธภาพทั่วไป" (General Relativity) ที่อธิบายปรากฎการณ์ในระดับใหญ่โตมโหฬารของจักรวาล กับกลศาสตร์ควอนตัม (Quantum Mechanics) ซึ่งว่าด้วยอนุภาคกระจิ๋วหลิวที่เป็นพื้นฐานของทุกสิ่งในจักรวาล ตั้งแต่ตัวเราไปจนถึงดวงอาทิตย์
ปัญหาสำคัญของทั้ง 2 ทฤษฎีคือ มันถูกทั้งคู่ และมันก็ทำงานได้ดีทั้งคู่ (เช่นพาเราออกไปท่องอวกาศ สร้างคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ และมือถือที่คุณกำลังจ้องอยู่) แต่หลักการหลักของทั้ง 2 ทฤษฎีดันไปขัดกับอีกอัน งงมั้ยล่ะ... แต่นั่นแหละคือจุดประสงค์ของผู้เขียนที่ต้องการแสดงให้เราเห็น ว่าเฮ้ยคุณ ทั้ง 2 ทฤษฎีเนี่ยมันเจ๋งมากเลยนะ แต่มันอยู่ด้วยกันไม่ได้ว่ะ ต้องมีใครสักคนที่ต้องเดินจากไป
หรือเปล่า...? --- เปล่าเลย มันรวมกันได้ต่างหาก เพียงแต่มันก็จะยากหน่อย ๆ
เนื่องจากหนังสือนี้เพิ่งออกมา (2017) จึงยังไม่มีแปลภาษาไทยเหมือนเล่ม ความงามแห่งฟิสิกส์ ผมเองก็อ่านเอาจากฉบับภาษาอังกฤษ แต่ฉบับอังกฤษก็อ่านง่ายนะ ใช้ภาษาเหมือนเขากำลังนั่งเล่าให้เราฟัง วิธีการเล่าก็เริ่มต้นจากประวัติของทฤษฎี เท้าความไปถึงนักปรัชญาสมัยกรีกโบราณ ซึ่งตอนแรกก็จะงงว่ามันเกี่ยวกันได้ยังไง แต่เฮ้ย...มันใช่อะ จนไล่เรียงมาถึงบรรดานักวิทย์ฯ สมัยศตวรรษที่ 15-20 ซึ่งผมก็ไม่เคยรู้จักชื่อบางคนเลย แต่เรื่องราวชีวิตและการค้นพบของพวกเขากลับน่าสนุกไม่แพ้นิยายทีเดียว
แล้วปัญหาคืออะไร: ปัญหาคือเนื้อหาส่วนที่เป็นทฤษฎีควอนตัมนั้นยากจริงจัง ผมใช้เวลาอ่านหนังสือนี้ 2 เดือน คิดว่า 75% นั้นหมดไปกับการหยุดพักเพื่อย่อยความคิด ซึ่งเอาจริงๆ ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี แต่ก็พอเห็นได้เลาๆ ว่าเขากำลังพูดอะไร ดีตรงที่สุดท้ายแล้วผู้เขียนไม่ได้จบแค่สูตรฟิสิกส์ แต่เขา "แปล" ให้เราทราบว่า สูตรนั้นสำคัญยังไง มันกำลังบอกอะไรเรา
ที่สำคัญ ทฤษฎีนี้มันดิ่งลึกไปถึงรากฐานแห่งความเป็นจริง เช่นว่า กาลเวลาและพื้นที่ไม่ได้แยกขาด แต่ยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยและระดับที่คุณจะเลือกมอง เวลาเกิดจากพื้นที่ พื้นที่ก็ไม่ได้ "รองรับ" อนุภาคควอนตัม แต่พื้นที่นั่นแหละที่เป็นตัวอนุภาคเอง...
( ._. ) ---
ผมทำหน้าอย่างนี้ตอนอ่านจริงๆ นะโดยเฉพาะตอนที่พยายามทำความเข้าใจเรื่องการกระโดดของควอนตัม (quantum leap)
ดังนั้น ผมคิดว่าหนังสือนี้จึงไม่เหมาะกับคนที่ไม่มีความรู้ฟิสิกส์พื้นฐาน และที่สำคัญ คุณน่าจะอ่านเล่ม
ความงามแห่งฟิสิกส์ มาก่อน จะช่วยให้เข้าใจได้มากทีเดียว (มั้ง)
สุดท้ายนี้ ขอโทษที่หายไปนานหลายเดือน ชีวิตช่วงนี้พัวพันกับหนังสือเยอะ แต่ชวนให้พวกคุณตามไปอ่านด้วยยาก ถ้าคุณยังอ่านมาถึงตรงนี้ ผมละอยากจะเลี้ยงหมูกรอบเป็นกำนัลจริงๆ.
ยัวร์ส,
มะเขือ.
The Journey to Quantum Gravity. Carlo Rovelli. 2017. Penguin Books.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in