เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#มะเขืออ่าน Tomato-Readerpoeticalization
สัตว์สัตว์ --- ไอ้สัส, นี่มันเหี้ยอะไรเนี่ยยย
  • เคยสงสัยไหมว่าทำไมเวลาเพื่อนหันหน้ามามองเราแล้วขานเรียกว่า "ไอ้เหี้ย" เราถึงได้โกรธ? ทำไมต้องเป็นตัวเหี้ย, สัตว์เลื้อยคลานกินสัตว์และพืชขนาดกลาง? ทำไมไม่ด่าไอ้ตุ๊กแก ไอ้จิ้งจก ไอ้จิ้งเหลน ไอ้จระเข้ ไอ้มังกรโคโมโด.


    รู้หรือไม่ว่าในบางวัฒนธรรม ตัวเหี้ย (หรือสัตว์เลื้อยคลานในลักษณะเดียวกัน) เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ บางชนเผ่าถือเป็นต้นตระกูล และพยายามลอกเลียนกริยาหลายอย่างของเหี้ย.


    เอาล่ะ, ถ้าคุณเริ่มสงสัยตามที่พูดมาอย่างข้างต้น, คุณก็จะตระหนักแล้วว่ามนุษย์มีจินตนาการเรื่องสัตว์สัตว์หลากหลายเหลือเกิน และ, ในทางกลับกัน, จินตนาการเหล่านั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนกลับถึงตัวมนุษย์เอง.


    ภาพจาก Readery สั่งซื้อได้ ที่นี่


    ก่อนที่คุณจะตัดสินใจหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน ขอเตือนไว้ก่อนว่ามันเป็นอะไรที่โคตรบียอนด์, อย่างที่ผมพาดหัวรีวิวอันนี้แหละ.  เรื่องสั้น 17 เรื่องที่สร้างสรรค์ขึ้นจากอนุภาคการสมพาสผิดธรรมชาติระหว่างคนกับสัตว์ บีบคั้น คนปั่น ปลูกปั้นขึ้นมาให้กลายเป็นเรื่องราวว่าด้วยความรัก ครอบครัว ความสัมพันธ์, ซึ่งแต่ละเรื่องเต็มไปด้วยความบิดเบี้ยวในอาการต่าง ๆ กัน: คนที่ออกลูกเป็นมังกร ต้องกินของร้อนมาก ๆ ถึงขั้นกลืนไฟเป็นอาหาร, ออกลูกเป็นนก ต้องสร้างกรงขนาดใหญ่ไว้ให้อยู่, ออกลูกเป็นปลา ที่ว่ายผุดเข้าผุดออกมดลูกเป็นว่าเล่น ฯลฯ.


    ฟังดูแล้วก็รู้สึกบียอนด์จนเกินกว่าจะเข้าใจหรือเปล่า?  เปล่าเลย .เมื่อคุณค่อย ๆ เดินในหมู่ดงจินตนาการสุดล้ำ คุณกลับไม่รู้สึกแปลกแยกเท่าไร.  เพราะใจกลางของเรื่องสั้นเหล่านี้, สะท้อนปัญหาหรือสภาวะที่เราต้องเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในความสัมพันธ์ของครอบครัว: ความไม่ลงรอยระหว่างสามีภรรยา, ภาระของแม่เลี้ยงเดี่ยว, ความกระหายอยากมีทายาทของคู่แต่งงานเพศเดียวกัน, ความระหองระแหงนิรันดร์ระหว่างแม่กับวัยรุ่น.  คุณอาจจะเคย, หรือกำลัง, หรืออาจะจะเจอสิ่งที่เรื่องสั้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสนอไว้ก็เป็นได้.


    ด้วยความที่ผู้เขียนทั้งสองเป็นนักวิชาการด้านงานเขียนสร้างสรรค์, สถาปัตยกรรมของเรื่องสั้นเหล่านี้จึงดูจะเกินจินตนาการปกติของเราไปอยู่มาก, และทำให้ผมคิดว่ามันจะอ่านยาก.  แต่เอาเข้าจริงวิธีการเล่าเรื่องของผู้เขียนทั้งสองค่อนข้างเรียบง่าย.  เล่าด้วยย่อหน้าสั้น ๆ, บทสนทนาที่กระจ่างชัดว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร, ทำให้เราติดตามเรื่องราวได้ค่อนข้างจะตลอด.  ทั้งยังอาจจะจดจำแนบแน่นด้วยความฉูดฉาดโฉ่งฉ่างที่ผู้เขียนกล้าใส่เข้ามาด้วย (ขอละไว้ไม่สปอยล์).


    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญต้องระวังคือ คุณอาจจะงงว่าสัตว์แต่ละชนิด, แต่ละบทสนทนา, แต่ละเหตุการณ์นั้นหมายถึงอะไร. ทำไมคุณงุนงงและวนว่ายอยู่กับความงุนงงนั้นจนไม่อยากก้าวไปถึงหน้าต่อไป.  เพราะสัตว์ทั้ผู้เขียนเลือกใช้, อาจจะอิงกับวัฒนธรรมตะวันตกอยู่ราง ๆ แต่ถ้าพยายามหาความหมายของมันแล้ว, ผมว่าเขาพยายามจะปั้นความหมายของสัตว์แต่ละชนิดขึ้นมาใหม่มากกว่า.  คำแนะนำของผมคือ, take สิ่งที่ผู้เขียนมอบให้, ลูกก็คือลูก.  แม่ก็คือแม่.  แล้วจงอ่านให้รู้สึก.  รู้สึกถึงความปรารถนา, ความอึดอัน, ความดิ้นรนของตัวละคร.  แล้วหลังจากนั้น, ความเข้าใจจะติดตามมาเอง... หรือคุณอาจจะไม่เข้าใจมันเลยก็ได้.  


    แต่ว่านะ...ใครเขาหลงรักกันด้วยความเข้าใจล่ะ, จริงไหม?


    สุดท้ายนี้, ผมคิดว่าหนังสือรวมเรื่องสั้นนี้ไม่ใช่หนังสือเหมาะสำหรับทุกคน.  มันอาจทำให้คุณหงุดหงิด, เบื่อหน่าย, หรือเกลียดไปเลย.  แต่ก็นั่นแหละ ชีวิตแต่ละคนเจอปัญหาไม่เหมือนกัน, จินตนาการถึงความรัก-ความสัมพันธ์ไม่เหมือนกัน.  ถ้าคุณไม่เจ็บปวด/ตีบตันจนถึงขั้น identify ตัวเองกับเรื่องสั้นเหล่านี้ไม่ได้.  ยินดีด้วยครับ, คุณโชคดีมากแล้ว.



    ยัวร์ส,
    มะเขือ.


    ปล. ผมชอบมังกรมาแต่เดิม และชอบเรื่องมังกรในเล่มนี้มาก.


    สัตว์สัตว์. With Animal]  Carol Guess และ Kelly Magee เขียน.  ณัฐกานต์ อมาตยกุล และณัฐชานันท์ กล้าหาญ, แปล. 2560. สำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์.

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in