เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#มะเขืออ่าน Tomato-Readerpoeticalization
สิงโตนอกคอก --- เพราะชีวิตคือความสงสัย
  • ตำนานและเรื่องเล่ากำเนิดมนุษย์ของศาสนาและความเชื่อต่าง ๆ แล้ว ดูเผินเหมือนกับเป็นคนละเรื่องคนละความเชื่อ แต่หากคุณอ่านมันมากเข้าซ้ำเข้า คุณจะเริ่มเห็นแกนกลางที่เหมือนกันในตำนานเหล่านั้น---


    โครงเรื่องหนึ่งเดียวที่ครอบงำเผ่าพันธ์มนุษย์ตั้งแต่เมื่อเราเริ่มเงยหน้ามองฟ้าและออกเสียงเรียกดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรก: ตำนานแห่งการดิ้นรนเพื่อที่จะเหมือนและแตกต่าง.

     

     ภาพจาก Readeary (คลิกตามไปสั่งได้)


     


    นี่เป็นรีวิวที่เขียนด้วยใจลังเล ใครที่ตามทวิตผมอยู่อาจจะพอรู้ ผมเหมือนหลาย ๆ คนที่เลือกหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเมื่อมีรายงานข่าวการประกวดรางวัลซีไรต์ปี 2560 เมื่อแรกที่ได้หนังสือมาและเปิดอ่านเรื่องสั้นไป 1 เรื่อง ผมติดข้างจะไฮป์มาก ยิ่งได้รับข้อมูลบิ้วด์จากสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลข 25 ของวัยผู้เขียน, ที่ทางของของเธอในโลก Y ก่อนที่จะมาเขียนนิยายขายเป็นเล่มกับสำนักพิมพ์ใหญ่, คำรีวิวสั้น ๆ เรื่องบรรยากาศแฟนตาซี (ส่วนตัวไม่ค่อยชอบคำนี้) ยิ่งทำให้คาดหวังสูงพอควร แต่พอได้อ่านเข้าจริงแล้ว มันก็มีทั้งเรื่องที่ชอบและไม่ชอบ เลยคิดอยู่นานว่าจะรีวิวดีหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ปลงใจว่า คนที่ได้อ่านแล้วชอบน่าจะมีมากกว่าไม่ชอบ.


    อย่างที่จั่วหัวไปข้างต้น รวมเรื่องสั้นเล่มนี้เต็มไปด้วยคำถาม ทั้งในแง่ที่ตัวละครถาม ผู้เขียนถาม และตัวเราถาม เป็นชุดเรื่องสั้นที่ระดาดไปด้วยความสงสัยว่าเราเกิดมาทำไม เราเป็นใคร เราอยู่ไปเพื่ออะไร อะไรคือความเป็นมนุษย์ ทำไมเราต้องเหมือนกัน ทำไมเราต้องต่างกัน ยิ่งอ่านก็ยิ่งชวนให้ครุ่นคิด ทั้งคิดหาคำตอบ คิดตาม คิดแย้ง ไม่ต่างอะไรจากการนั่งเรียนในคาบวิชาปรัชญา.


    แต่เนื้อหาหนัก ๆ เหล่านี้ถ่ายทอดออกมาด้วยรูปแบบนิทาน ตำนาน พล็อตโลกล่มสลาย ความรักของ AI หรือรถไฟที่มาทุก ๆ เที่ยงคืน งานของจิดานันท์เต็มไปด้วยสัญลักษณ์และ---ขออนุญาตใช้ศัพท์เก๋ๆ หน่อย--สหบท (intertext) เพราะเมื่ออ่านไปจะยิ่งพบความคล้ายคลึงอะไรกับบางอย่าง จากอนิเมะ นิยาย ภาพยนตร์ พระสูตร และต่าง ๆ นานาที่คุณอาจรู้จักไปมากกว่าผม ความสนุกอย่างหนึ่ง (และผมคิดว่าเป็นส่วนสำคัญด้วย) คือการที่เรารู้สึกเหมือนผู้เขียนได้มีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกับเรา, พูดภาษาเดียวกันกับเรา, และสงสัยในสิ่งเดียวกับเรา.


    มาถึงส่วนที่ละเอียดอ่อนสุด---ผมคิดว่าข้อด้อยที่ทำให้ (ผม) อ่านหนังสือเล่มนี้สนุก "ไม่สุด" คือวิธีเล่าเรื่องอย่างค่อนข้างเถรตรง สัญลักษณ์และสหบทที่คุณตีความได้ทันทีว่าคนเขียนกำลังพูดถึงอะไร และคำถามใจกลางของแต่ละเรื่องที่อาจไม่ได้ให้ถามอะไรให้ลึกลงไป / หรือให้คำตอบแปลกใหม่ไปกว่าที่เคยรู้. สำหรับผม ผู้เขียนกำลังพูดสิ่งที่เราพูด ๆ กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในหมู่คนวัย 20-30 ถ้าคุณเคยเสพงานป๊อบอย่างนารูโตะ, ตุลาการทมิฬ, เดธโน้ต, เกม ออฟ โตรน, ไฟนอล แฟนตาซี, อินเตอร์สเตลลาร์, สตาร์ วอร์, เอ็กซ์ มาคิน่า, เนียร์ ออโตมาตา: สิงโตนอกคอก อาจจัดเป็นงานอีกชิ้นหนึ่งที่อยู่ในกระแสนี้, แต่ไม่ได้เด่นโดดโลดลอย.


    สุดท้าย ต้องย้ำอีกครั้งว่าที่พูดมาทั้งหมดนี้เกิดจากความคิดที่ลังเลของผม ซึ่งผิดวิสัยการรีวิว #มะเขืออ่าน อยู่พอควร เพราะถ้าเป็นงานเขียนที่ให้อารมณ์กลาง ๆ ไม่เกลียดหรือชอบไปเลย ผมจะมักจะข้ามไป แต่ที่ตกลงใจเขียนเชิญชวนพวกคุณให้ลองอ่าน เพราะในแง่หนึ่ง หนังสือรวมเรื่องสั้นนี้ให้ความหวังแก่เรา---ความหวังที่เกิดจากการได้เห็นเมล็ดพันธุ์นักเขียนที่พร้อมจะเติบโตไป, เมล็ดพันธุ์ที่เกิดจากดินคล้าย ๆ กับเรา แต่มีโอกาสงอกงามสู่สายตาของคนในวงกว้าง.


    อีกแง่หนึ่ง ผมอยากชวนคุณให้ลองสงสัย ว่าสิ่งที่ผมพูดมาน่ะจริงมั้ย, สงสัยว่าหนังสือรวมเรื่องสั้นนี้เป็นอย่างไร.  เพราะถึงคุณเริ่มสงสัยแล้วละก็ แปลว่าสิงโตนอกคอกมันก็ทำงานของมันได้สำเร็จในขั้นแรกแล้ว คือให้คุณเผ่นผาดออกไปจากคอก ไปเป็นเจ้าฝูงของคุณเอง ยังไงล่ะ



    ยัวร์ส,
    มะเขือ


    ปล. แต่มีเรื่องสั้นที่ผมชอบมากๆ อยู่นะ


    สิงโตนอกคอก.  จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท.  2560.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  แพรวสำนักพิมพ์.

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in