เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
อู้ให้ได้เรื่องFayathi Sorap
เข้าห้องสมุด(ออนไลน์)กันเถอะ
  •      สวัสดีค่ะ

         มีใครชอบอ่านหนังสือ และชอบเข้าห้องสมุดบ้างไหมคะ

         ถ้าใครชอบ น่าจะเคยมีโมเมนต์ตอนอยู่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ที่ว่างเป็นไม่ได้ จะต้องแวะเวียนไปป้วนเปี้ยนอยู่ในห้องสมุด ถ้าอ่านพอให้ครื้มใจก็แค่นั่งจุ้มปุ๊กอยู่หน้าหมวดวารสารหรือนิตยสาร แต่ถ้าต้องการอ่านอะไรจริงจังหรือยืมอะไรกลับไปอ่านที่บ้าน ก็เข้าไปตามหมวดหนังสือต่างๆที่สนใจ เช่น นิยาย ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา ฯลฯ
         อย่างน้อย ไม่ได้หยิบอะไรติดมือมา ขอโฉบไปมุมหนังสือใหม่หน่อยก็ยังดี ไหนดูซิ มีอะไรน่ายืมบ้าง

         ช่วงเวลาแห่งการศึกษาเล่าเรียนก็ผ่านพ้นไป พร้อมๆกับช่วงเวลาในห้องสมุดที่หายไปด้วย


         วันนี้ จะมาแนะนำเว็บไซต์ที่เรียกตัวเองว่า ห้องสมุด (library) เพื่อให้ผู้รักการอ่านทั้งหลาย ได้เข้าไปเยี่ยมชมกันค่ะ เว็บไซต์นี้มีชื่อว่า
         https://openlibrary.org/

         เว็บไซต์นี้นางเรียกตัวเองว่า ห้องสมุดเปิด (open + library) หลักการใช้งานก็ไม่ยากค่ะ แค่สมัครสมาชิก เสร็จแล้วก็เข้าไปสำรวจว่า มีหนังสืออะไรบ้างที่น่าสนใจ จะค้นจากหนังสือที่ทางเว็บหยิบยกมาให้ หรือจะนำชื่อไปหาในช่องค้นหาเองก็ได้
      
         เมื่อเราพบหนังสือที่ต้องการแล้ว หากทางเว็บไซต์มีหนังสือนั้น(น่าจะเป็นพวกไฟล์pdf)ในสต็อก เราจะสามารถยืมอ่านได้ ยืมอ่านในที่นี้ เมื่อกดยืม(borrow)เข้าไปแล้ว เขาจะลิงค์ไปอีกหน้าหนึ่งซึ่งเป็นตัวเล่มในรูปแบบ(น่าจะ) pdf เราสามารถเปิดอ่านออนไลน์ได้
         อย่างไรก็ตาม สำหรับหนังสือที่ยืมได้ นอกจากข้อจำกัดว่าต้องอ่านผ่านหน้าจอแล้วเนี่ย ถ้าบางเล่มที่มีจำนวนไฟล์(หรือเล่ม) เพียงไฟล์(เล่ม) เดียว เราจะสามารถยืมได้เพียงแค่ ครั้งละ 1 ชั่วโมง เท่านั้น หมดชั่วโมงก็ต้องกดยืมต่อ แต่ถามว่าหลังหมดชั่วโมงแล้วถ้าไม่กดยืมต่อจะเป็นยังไง
         ตอนที่เรายืมอ่าน เราว่ามันก็ยังเปิดๆได้อยู่นะ

         ข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เว็บไซต์ไม่ได้มีหนังสือทุกเล่มที่เราต้องการ หากเล่มใดไม่มี เขาจะแจ้งว่าไม่สามารถยืมได้ แต่จะมีฟังก์ชั่นให้เราบันทึกไว้ว่า เราอยากอ่านเล่มนี้นะ ว่าแต่ ถ้าเราบอกว่าอยากอ่านแล้วเธอจะหามาให้เรามั้ยอะ???

         แต่...ว่า สำหรับใครที่ชอบวรรณกรรมหรือนิยาย ที่นี่เหมาะกับคุณมากค่ะ มีหนังสือพรรค์นี้เยอะทีเดียว เยอะไปมั้ย??


         ส่วนประสบการณ์ในการใช้งาน

         เราสมัครสมาชิกและได้เข้าไปยืมหนังสืออ่านบ้างแล้ว หนังสือเล่มแรกที่อ่านคือ predictably irrational หรือชื่อตามฉบับภาษาไทยคือ พฤติกรรมพยากรณ์ อ่านวันละ 1-2 ชั่วโมง (ยืมได้ครั้งละ 1 ชั่วโมง) เป็นเวลาราวสองสัปดาห์ก็อ่านจบ(ไว้จะเล่าให้อ่านโอกาสต่อๆไป) ตอนนี้กำลังอ่าน be your own psychic หรือฉบับภาษาไทยคือ คนมีญาณ ยืมได้ครั้งละชั่วโมงเช่นกัน ตอนนี้อ่านถึงหน้า 109
    เท่าที่ลองอ่านผ่านการเข้าเว็บไซต์จากคอมพิวเตอร์ พบว่า พอยืมครบชั่วโมงแล้ว กดปิดไป วันต่อมากดยืมเพื่ออ่านต่อ ทางเว็บจะปรากฏหน้าหนังสือที่เราอ่านค้างไว้เลย ไม่ต้องไปเปิดหา พอไปลองเข้าเว็บผ่านแทบเล็ตก็เช่นกัน
      
         แต่ ถ้าเปลี่ยนอุปกรณ์ เช่น อ่านในคอมก่อนแล้วไปอ่านในแทบเล็ตต่อ แม้จะเป็นบัญชีเดียวกัน แต่เว็บไม่บันทึกหน้าที่อ่านไว้ให้ค่ะ ต้องจำหน้าไปหาเอาเอง ถ้าจะเปลี่ยนอุปกรณ์น่ะนะ

         ถ้าอ่านผ่านคอมพิวเตอร์ คุณผู้อ่านคงต้องปรับขนาดหน้ากระดาษสักหน่อย เพราะตัวมันค่อนข้างเล็ก แต่พออ่านผ่านแท็บเลต ดูเหมือนว่าหนังสือ 1 หน้า จะขนาดรับกับหน้าจอแท็บเลตพอดิบพอดี ก็เหมือนเรานั่งอ่านอีบุ๊คหรือหนังสือจริงๆเลยค่ะ ติดแค่ว่าน้ำหนักแท็บเลตมันมากกว่าหนังสือรูปเล่มเท่านั้นเอง 
         อยากให้ได้ฟีลเหมือนอ่านหนังสือจริงยิ่งขึ้น ก็กดเลือกโหมด "การอ่านหนังสือ" ในแท็บเลต คราวนี้แหละ เหลืองแบบกระดาษทั้งจอ  

         นอกจากบริการให้ยืมอ่าน หลังจากที่เราค้นหาหนังสือที่สนใจ เราสามารถทำการปักหมุดหนังสือที่สนใจไว้ได้ มีหัวข้อให้เลือกสามประเภทด้วยกัน อยากอ่าน กำลังอ่าน และ อ่านแล้ว ซึ่งถ้าเรากำลังอ่านเล่มไหนอยู่ เราก็ปักหมุดเล่มนั้นในหัวข้อ “กำลังอ่าน” เอาไว้ได้เลย พอจะกลับไปยืมต่อก็แค่คลิกในลิสต์แล้วเลือก “กำลังอ่าน” เพื่อยืมต่อได้ทันที
         ตอนนี้...เรากำลังอ่านเล่มที่ 2 และมีเล่มนึงอยู่ในหมวด อ่านแล้ว แล้วก็มีหนังสืออยู่ในหมวด อยากอ่าน อีก 60 กว่าเล่ม เอิ้กกก อ่านกันให้ตาแฉะไปข้างนึง
         ไม่ฉลาดขึ้นให้มันรู้ไป!! (ก็ไม่แน่ ยิ่งกะโหลกหนาๆอยู่ด้วย 555)


         อ่อ เขามีให้เราอาสาทำงานให้กับเว็บไซต์ด้วยนะคะ เช่น อาสาที่จะอัพโหลดไฟล์หนังสือที่เรามี หรืออาสาเป็นบรรณารักษ์ช่วยจัดระบบหนังสือให้ทางเว็บไซต์

         อยากช่วยเหมือนกัน แต่ไม่แน่ใจว่าทำเป็นหรือเปล่า..


         น่าสนใจไหมคะ อ่อ เกือบลืมไป เว็บนี้เป็นของต่างชาติ เพราะฉะนั้น แน่นอนค่ะ หนังสือที่เราจะเข้าไปอ่านได้ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือฉบับภาษาอังกฤษนะคะ 
      
         ข้อเท็จจริงนี้เป็นได้ทั้งข้อจำกัดและความท้าทาย ขึ้นอยู่กับว่าใครจะนิยามการใช้ภาษาต่างประเทศแบบไหน
      
         จริงๆแล้วเนี่ย เขาบอกว่า มันมีภาษาอื่นด้วยนะคะ(เคยเห็นหนังสือที่เป็นภาษาฝรั่งเศส หรือ สเปน อยู่บ้าง) แต่เท่าที่เราค้นดู พอคลิก “ภาษาไทย” ไม่ยักกะเห็นอะไรขึ้นมาเลยค่ะ คงต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักจริงๆน่ะแหละ

         การอ่านหนังสือภาษาต่างด้าวอาจดูเหมือนยาก แต่ถ้าได้ลองเริ่มอ่านไปเรื่อยๆแล้ว เราจะพบว่าตัวเองสามารถอ่านได้คล่องขึ้น และสามารถเข้าใจความหมายโดยรวมได้โดยไม่ต้องแปลออกทุกคำ(แต่อยากเตรียมพจนานุกรมไว้ข้างตัวก็ไม่เสียหายนะ เผลอๆได้ศัพท์เพิ่มด้วย) 
         ยิ่งถ้าใครอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน เราว่าเว็บนี้มีประโยชน์ล่ะ เพราะนอกจากมีหนังสือทั่วไปยังมีหนังสือในหมวด ตำราเรียน ด้วย และที่สำคัญ พออ่านหนังสือภาษาอังกฤษไปเรื่อยๆ วันนึงพอน้องต้องไปสอบแข่งภาษา น้องอาจสามารถทำคะแนนได้ดีหรือผ่านได้พอดีด้วยรูปประโยคซึ้งๆหรือศัพท์         ประหลาดๆที่เผอิญจำได้จากหนังสือที่อ่าน ก็ได้นะคะ 
         อย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาจนถึงช่วงที่ ฝึกภาษาไปก็ไม่ได้ใช้อะไร แบบพี่ เลยนะ เชื่อเถอะ  

         และคำแนะนำสองข้อสุดท้ายสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรกๆในชีวิต หนึ่งคือ เลือกเรื่องที่คุณสนใจจริงๆ แล้วใช้ความสนใจที่มีนั้นน่ะเป็นแรงผลักดันให้อ่านให้จบ สองคือ เลือกหนังสือที่คิดว่ามีศัพท์ไม่ยากเกินไป(เปิดจากพรีวิวดูก่อนได้) แล้วก็อย่าทะเล่อทะล่าไปเลือกนวนิยายศัพท์สวยมาอ่านเข้าล่ะ หนังสือศัพท์สวยมักอุดมไปด้วยศัพท์ที่เราไม่รู้จัก ประเดี๋ยวอ่านไปสองประโยคแปลไม่ได้สักตัวแล้วจะท้อหมดกำลังใจไปซะก่อน (มีเรื่องนึงที่ซื้อมาแล้วนอนแห้งอยู่ในชั้น ก็เพราะศัพท์มันสวยมากจนอ่านยากเนี่ยแหละ) 
         หรือเลือกหนังสือเด็กพวกวรรณกรรมเยาวชนมาอ่านก็ได้ พวกนี้น่าจะเข้าใจได้ง่ายสุด
         หรือ อีกที ใครฮาร์ดคอร์ จะเลือกสุ่มๆมาเล่มนึง แล้วตั้งหน้าตั้งตาจดศัพท์ทุกคำที่ไม่รู้เพื่อท่อง ก็ได้อีกเหมือนกัน เอาที่สะดวกใจ วันดีคืนดีพูดศัพท์ไปคำนึง เพื่อนทึ่งทั้งบาง อันนั้นก็เท่ไปอีกแบบ 55


         และนี่ก็คือเรื่องราวคร่าวๆของเว็บไซต์ https://openlibrary.org/ เท่าที่เราได้สัมผัสมา

         เรารู้สึกว่า เว็บนี้มีประโยชน์เพราะทำให้เราสามารถเข้าถึงหนังสือหลายๆเล่มที่เราอยากอ่านแต่ยังไม่สามารถครอบครองเป็นรูปเล่มได้ หนังสือหลายๆเล่มที่เราปักหมุดไว้ เช่น the black swan เท่าที่หาดูเราไม่เจอฉบับภาษาไทย ส่วนอีกสองเล่มที่อ่านจบแล้วและกำลังอ่านอยู่นั้น ตอนนี้เจอแต่ฉบับมือสองที่ราคาสูงกว่าราคาหลังปกค่อนข้างมาก
         ว่าแล้วก็สะบัดบ๊อบใส่ อ่านฉบับภาษาอังกฤษก็ได้ (โว้ย)

         หวังว่าเว็บนี้จะเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ชอบอ่านหนังสือแล้วพบข้อจำกัดว่าหนังสือที่ตัวเองชอบนั้นหาซื้อไม่ได้, กำลังเรียนอยู่และมองหาตำราเรียนบางเล่ม, อยากจะฝึกตัวเองให้เก่งภาษาอังกฤษด้วยการลองอ่านหนังสือภาษาอังกฤษจริงๆจังๆ หรือแม้แต่อยากหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตอนนี้หนังสือภาษาอื่นๆมีสาระความรู้อะไรให้เราเก็บใส่สมองบ้าง ก็ลองเข้าไปด้อมๆมองๆในเว็บไซต์ดูนะคะ
         สมัยนี้โลกหมุนเร็วมาก คนเราต้องไม่หยุดเรียนรู้ค่ะ


         ขอให้สนุกกับการอ่านหนังสือค่ะ อ่านมากไประวังปวดตาด้วยนะคะ

         สวัสดีค่ะ


         ทิ้งท้ายก่อนจบ ขอรายงานสถานการณ์ของทาง openlibrary สักนิดหนึ่ง เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว เว็บไซต์นี้ถูกบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์และ/หรือนักเขียนของประเทศสหรัฐอเมริกาสี่รายยื่นฟ้องศาลข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ แล้วตอนนี้ทางเว็บกำลังขอบริจาคเงินเพื่อใช้ต่อสู้คดีจากผู้ใช้บริการอยู่ ซึ่งหากโจทก์ชนะขึ้นมา ก็มีความเสี่ยงที่เว็บนี้จะถูกปิดถาวร ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

         อย่างไรก็ดี เท่าที่เข้าไปดูในทวิตเตอร์ของ openlibrary มีนักเขียนหลายท่านเข้ามาแสดงความเห็นทำนองว่า ไม่เห็นด้วยกับการฟ้องคดีนี้ แล้วมีบางความเห็น(ไม่รู้ใคร)บอกว่า เว็บนี้บรรจุหนังสือประวัติศาสตร์สมัยสงครามไว้ด้วย ขืนถูกปิดก็น่าเสียดายมากๆเลย!!! 

         ส่วน...ถ้าถามความเห็นเรา เราว่าไม่ผิดอะ คือ หนังสือแต่ละเล่มที่เราอ่านเนี่ย มันไม่ใช่ไฟล์ดิจิตอลแท้แบบที่เจอใน kindle amazon หรือตามอีบุ๊คต่างๆ แต่มันคือภาพถ่ายหนังสือจริงๆที่ถูกสแกนเข้ามาโดยใครสักคนหนึ่ง แปลได้ว่าคนสแกนก็ต้องซื้อหนังสือนั้นมาแล้วถูกไหม เมื่อซื้อมาแล้วมาสแกนมันก็ไม่ผิดดิ!! (เพราะคนซื้อจ่ายเงินให้คนเขียนไปแล้ว ไม่ได้ขโมยมา) อีกอย่างคือ มันน่าจะเป็น fair use คือ เขาให้คนเข้ามายืมอ่านน่ะ เขาไม่ได้เก็บสตางค์อะไรเลย และตามกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เราจำได้ การทำซ้ำและเผยแพร่โดยที่ไม่แสวงหากำไร(คือไม่ได้เงิน)ถือว่าเป็นข้อยกเว้นสามารถกระทำได้โดยกฎหมายยกเว้นความผิดให้ แต่พูดตามตรงนะ เราก็ไม่แน่ใจระบบกฎหมายและศาลของอเมริกาเหมือนกัน ว่าจะบ้าจี้ตามโจทก์ทั้งสี่รึเปล่า
         แต่ไม่ต้องเชื่อเราก็ได้แหละ มันเป็นการแสดงความเห็นทางกฎหมายโดยเอียงไปฝั่งจำเลย แหม เรามีส่วนได้เสียนี่นา openlibrary ทำให้เรามีหนังสืออ่านมากขึ้นตั้งหกสิบกว่าเล่ม ไม่เข้าข้างได้อย่างไร แต่ ถ้าคุณคิดว่ามีข้อกฎหมายเข้าข้างฝ่ายที่ฟ้องได้ ลองคอมเม้นท์มาบอกเราหน่อย เราอยากทราบเหมือนกัน 

         ขอใช้บทความนี้ให้กำลังใจเว็บ openlibrary ละกันนะว่า I’m on your side นะ openlibrary
      
         แล้วก็จะหมายหัวไว้ ถ้าสื่อสิ่งพิมพ์ใดทำให้เว็บนี้ถูกปิด ฉันจะเลิกอ่านหนังสือของแก!!! (แอบเสียดายสำนักพิมพ์เพนกวินแฮะ)


         ก่อนจบ ขออนุญาตประชาสัมพันธ์ เนื่องจากตั้งแต่ประมาณ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา ทาง minimore เปลี่ยนรูปแบบเว็บใหม่ ผลที่เกิดขึ้นคือ งานเขียนเรา...ไม่มีคนอ่านเลย (คาดว่าหาเจอยาก)ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป เราจึงตัดสินใจกลับไปเขียนเรื่องราวในบล็อกเดิมของเราแทน คุณผู้อ่านที่ถูกจริตในงานเขียนของเรา สามารถติดตามไปอ่านได้ที่            https://alwaysfay.blogspot.com/2023/02/blog-post.html
         ขอบพระคุณสำหรับการติดตาม และขอบคุณทาง minimore ที่ให้พื้นที่เราได้ขีดๆเขียนๆเรื่องราวตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้
         จนกว่าจะพบกันใหม่
          สวัสดีค่ะ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in