ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากประวัติของคฤหาสน์ Winchester ในเมือง San Jose รัฐ California Winchester เล่าเรื่องของ Sarah Winchester (Helen Mirren) ทายาทบริษัท Winchester Repeating Arms ผู้ผลิตอาวุธปืน Winchester เธอสั่งให้ช่างต่อเติมบ้านทั้งวันทั้งคืนเป็นเวลาหลายสิบปี บริษัท Winchester Repeating Arms สงสัยว่าเธออาจป่วยทางจิต จึงว่าจ้าง Dr. Eric Price ให้วินิจฉัยอาการทางจิตของ Mrs. Winchester เพราะหากว่าเธอมีอาการทางจิตจริง ก็คงไม่เหมาะเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ Dr. Price จึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แปลก ๆ ในบ้าน Winchester
ส่วนตัวเราชอบเรื่องที่สร้างโดยอิงจากเหตุการณ์จริง เพราะเหมือนเส้นแบ่งระหว่าง fantasy กับ reality บางลง ถึงแม้ว่าเรื่องจะจบไปแล้ว เราก็ยังจินตนาการต่อได้อีก ยิ่ง setting อยู่ในศตวรรษที่ 19 ด้วยแล้ว เราก็ยิ่งสนใจ แต่หลังดูจบ ยอมรับเลยว่าผิดหวัง Winchester เป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่ไปไม่สุดทางในฐานะภาพยนตร์สยองขวัญ ปกติเราไม่เคยหลับในโรงหนัง แต่ครึ่งแรกทำเอาง่วงจนแอบหาวไปหลายฟอด ฉากตื่นเต้นก็เป็น Jump Scare ที่ไม่น่ากลัวสักเท่าไร มาสนุกเอาจริง ๆ ก็ตอนครึ่งหลังที่แอบลุ้นนั่งไม่ติดอยู่เหมือนกัน
เมื่อเทียบน้ำหนักเรื่องความสยองของวิญญาณกับสตอรี่เบื้องหลังเหตุการณ์ต่าง ๆ ดูแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะต้องการเน้นดราม่ามากกว่าความสยองขวัญ แต่ก็อีกนั่นแหละ Winchester ยังไปไม่สุดทางในเรื่องดราม่าอีกเช่นกัน ถึงจะมีเรื่องน่าสนใจอยู่บ้าง เช่น อดีตของผีแต่ละตัว ทั้งตัวเด่นและตัวที่ออกมาแวบเดียว รูปลักษณ์ของเหล่าวิญญาณบ่งบอกถึงอดีตและความตายของแต่ละตัว ถ้าใครสนใจประวัติศาสตร์การสร้างชาติของอเมริกาก็น่าจะอินกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของผีตัวประกอบที่ล้วนเป็นเหยื่อของปืน Winchester แต่อย่างที่บอกไป ตัวภาพยนตร์ไม่ได้ขยี้ตรงนี้เท่าไร เลือกไปเน้นผีตัวหลักตัวเดียวมากกว่า (แต่อดีตของผีตนนี้ก็เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ช่วง Civil War นะ ไม่อยากสปอยล์ ต้องไปดูเอง)
นอกจากเรื่องผี ๆ มีประเด็นเรื่องการรักษาอาการทางจิตที่ผุดขึ้นมาตอนนั่งดู เราไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว ฝาแฝด Spierigs ผู้เขียนบท ตั้งใจแทรกประเด็นนี้หรือเปล่า แต่ความสัมพันธ์ของตัวละคร Dr. Price กับภรรยาชวนให้เรานึกถึงเรื่องนี้ ในสมัยศตวรรษที่ 19 ช่วงหลังสงครามกลางเมือง Dr. Weir Mitchell ได้คิดค้นวิธีการรักษาอาการทางจิตที่เรียกว่า Rest Cure ขึ้นมา มีนักเขียนหญิงชื่อดังหลายคน เช่น Charlotte Perkins Gilman และ Virginia Woolf ที่รับการรักษาด้วยวิธีนี้ วิธีการรักษาหลัก ๆ คือให้ปลีกตัวจากผู้คน อยู่แต่บ้าน ตัดขาดจากเพื่อนและสังคม แต่วิธีการรักษาเช่นนี้กลับไม่ได้ช่วยให้อาการทุเลา มีแต่จะทำให้อาการแย่ลง จากความเครียดธรรมดาอาจกลายเป็นอาการทางจิตไปได้จริง ๆ
วกกลับมาที่ภาพยนตร์เรื่อง Winchester แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่า Dr. Price ปฎิบัติกับภรรยาตัวเองอย่างไร แต่จากคำใบ้ของภาพยนตร์ เราพอจะเห็นได้ว่าเขาไม่เข้าใจอาการของภรรยา มิหนำซ้ำยังกล่าวหาว่าเธอเป็นโรคจิต ถ้าเขาได้พยายามรักษาภรรยาตัวเองด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งแล้ว วิธีของเขาก็คงไร้ผลพอ ๆ กับการรักษาด้วย Rest Cure ของ Dr. Mitchell และถึงแม้เขาจะไม่ได้ใช้วิธีเดียวกันนั้นรักษาภรรยาหรือ Sarah Winchester แต่สิ่งหนึ่งที่นายแพทย์ทั้งสองมีร่วมกันก็คือความไม่เข้าใจในอาการที่ตัวเองวินิจฉัย
สาเหตุหลักที่ผู้ป่วยของ Dr. Mitchell โดยเฉพาะผู้หญิงโจมตี Rest Cure เพราะมันถูกคิดค้นบนพื้นฐานของความไม่เข้าใจจิตใจผู้หญิง ชีวิตของหญิงสาวชนชั้นกลางและชั้นสูงในสมัยศตวรรษที่ 19 เหมือนถูกจองจำกลาย ๆ ให้อยู่ติดบ้าน เมื่อมีวิธีการรักษาอย่าง Rest Cure เกิดขึ้น บทบาทของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะหรือ public sphere ก็ยิ่งน้อยลง ปัญหาจาก Rest Cure ยังชี้ไปที่เรื่องของการขาดแคลนแพทย์หญิงในศตวรรษที่ 19 ซึ่งหลาย ๆ อาชีพ เช่น แพทย์และนักกฎหมาย เป็นวิชาที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้ศึกษาเล่าเรียนและประกอบอาชีพ ท้ายที่สุด การแบ่งพื้นที่ในบ้านและพื้นที่สาธารณะของหญิงชายที่ชัดเจนเช่นนี้ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องสิทธิสตรีระลอกแรกในปลายศตวรรษที่ 19
ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นนัยของความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในยุคสมัยนั้น และตัวละครผู้หญิงหลายตัวก็ถูกตัดสินโดยผู้ชายผู้ไม่เข้าใจพวกเธอ อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องดำเนินใกล้ถึงบทสรุป พลังของผู้หญิงที่เป็นตัวดำเนินเรื่องอย่าง Sarah Winchester และพลังของความเป็นแม่จากอีกหนึ่งตัวละครก็ช่วยคลี่คลายปัญหาจากอดีตของคฤหาสน์ Winchester ได้ ซึ่งอาจสะท้อนการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ของตนเองของเพศหญิงในปลายศตวรรษที่ 19
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in