เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
2475 ราสดรส้างชาติ By นริศ จรัสจรรยาวงศ์
  • รีวิวเว้ย (1319) ในช่วงเวลาหนึ่งของสังคมไทยปรีดี, จอมพล ป. และคณะราษฎรกลายเป็นหนึ่งในความทรงจำบาดแผลและเป็นปีศาจของสังคมไทย ที่ไม่มีการกล่าวถึง สมาชิกคณะราษฎร เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองคล้ายเป็นกล่องแห่งคำสาปที่ถูกปิดผนึกลงในช่วงเวลาหนึ่งของสังคมแห่งนี้ ที่ไม่มีการพูดถึง ไม่มีการรับรู้ กระทั่งในช่วงเวลานั้นผู้ที่ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังไม่รู้จักชื่อของ "ปรีดี พนมยงค์" ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง กระทั่งเมื่อหนหลัง (หลัง พ.ศ. 2526) ที่ชื่อของปรีดี กลับมาปรากฎในสังคมอีกครั้งผ่านการแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาธรรมศาสตร์ และกลับมาอย่างจริงจังเมื่อหนหลัง พ.ศ. 2543 ที่ เมื่อยูเนสโกยกย่องท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลกในโอกาส 100 ปีชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส และในช่วงหลังมานี้งานศึกษาที่ว่าด้วยเรื่องของ "คณะราษฎร" และช่วงเวลาก่อน ระหว่าง หลัง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทวีจำนวนมากขึ้นในสังคมไทย หลังจากที่งานศึกษาชิ้นหลักเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 ของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นงานวิชาการรุ่นแรกที่บุกเบิกการศึกษาเรื่องของคณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และในหนหลังนี้งานศึกษาเกี่ยวกับ พ.ศ. 2475 ได้แผ่ขยายวงขอบของการศึกษาออกไปในหลากประเด็น หลายมิติและหลากตัวแสดง อย่างหนึ่งที่ปรากฏในงานศึกษาในหนหลังคือการย้ำเตือนและบอกกับสังคมว่า เหตุการณ์ในการเปงี่ยนแปลงครั้งนั้น (พ.ศ. 2475) มิใช่การเปลี่ยนแปลงที่ "ชิงสุกก่อนห่าม" และคณะราษฎรมิได้ตัดหน้าหรือแย่งชิงการส่งมอบประชาธิปไตยในสยาม-ไทย มาจากใครทั้งนั้น
    หนังสือ : 2475 ราสดรส้างชาติ
    โดย : นริศ จรัสจรรยาวงศ์
    จำนวน : 480 หน้า
    .
    "2475 ราสดรส้างชาติ" หนังสือที่ถ่ายทอดอีกมุมหนึ่งของเรื่องราวของเหตุการณ์ก่อน ระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยที่ "2475 ราสดรส้างชาติ" ได้ทำหน้าที่ในการคัดสรรและรวบรวมเรื่องราวที่แสดง "ชีวิตของราษฎรสามัญ" ผ่านมิติทางวัฒนธรรม สังคมและการเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าง โดยที่บทความแต่ละชิ้นที่ปรากฏอยู่ใน "2475 ราสดรส้างชาติ" คือความพยายามของผู้เขียนในการถ่ายทอดมุมมองและบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ "ราสดร" ที่ร่วมเหตุและกาลในครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
    .
    โดยเนื้อหาของ "2475 ราสดรส้างชาติ" แบ่งออกเป็นบัพพ์ต่าง ๆ จำนวน 6 บัพพ์ ที่ประกอบสร้างเรื่องราวของชีวิตผู้คนที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งในแต่ละบัพพ์ของ "2475 ราสดรส้างชาติ" จะประกอบไปด้วยบทความที่มีความสอดรับกับบัพพ์ต่าง ๆ ดังนี้
    .
    [บัพพ์ที่ 1 พวกพี่ ๆ ผู้มาก่อนกาล คณะ ร.ศ. 130]
    (1) ปฏิวัตวาร-วันชาติ
    (2) รัฐธรรมนูญของคณะปฏิวัติ ร.ศ. 130 กับกวีแก้วแห่ง 2 ระบอบ "ชิต บุรทัต"
    (3) ปริทัศน์วรรณกรรมปฏิวัติพากษ์ไทย ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
    .
    [บัพพ์ที่ 2 ผู้อาสา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร]
    (1) เผยแพร่รัฐธรรมนูญ
    (2) ชีวิตอุทิศแด่ พระเจ้าตาก ประชาธิปไตยและพระนิพพาน ส.ส. พรหมจรรย์ ทองอยู่ พุฒพัฒน์
    (3) ครูฉ่ำ จำรัสเนตร ปรมาจารย์การเลือกตั้งเบื้องแรกแห่งประชาธิปไตย ส.ส. เมืองคอน 5 สมัย
    .
    [บัพพ์ที่ 3 ดนตรีกับอาหารระบอบใหม่]
    (1) เพลงก๋วยเตี๋ยว
    (2) คีติ คีตากร บิลลี่ ฟลอเรส (Billy Flores) นักกีตาร์ต่างด้วย ผู้ร่วมก่อตั้งวงสุนทราภรณ์
    (3) เปิด 8 ตำรับก๋วยเตี๋ยวจอมพล ป. มรดกจานด่วนคณะราษฎร
    .
    [บัพพ์ที่ 4 วันชาติ วันแม่ และการปฏิวัติภาษา]
    (1) เพลงวันชาติ
    (2) เฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรก 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482
    (3) วันแม่ ยุคผู้นำคณะราษฎร
    (4) หนังสือจอมพล (ป. พิบูลสงคราม) ปติวัติภาสา พ.ศ. 2485-2487
    .
    [บัพพ์ที่ 5 ทาสพระพุธเจ้า เทอดรัฐธรรมนูญ]
    (1) รัฐธรรมนูญของเรา
    (2) พุทธทาสกับคณะราษฎร
    .
    [บัพพ์ที่ 6 โหราจารย์ยุค 2475]
    (1) รำลึกรัฐธรรมนูญ
    (2) โหราจารย์กับการเมืองสมัยปฏิวัติ 2475
    .
    "2475 ราสดรส้างชาติ" ช่วยให้เราเห็นถึงชีวิตของผู้คนสามัญธรรมดา หรือที่ปรากฎในหลายคำเรียนทั้งราษฎร ผู้คน ประชาชน ที่อยู่ร่วมเวลาในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่ง "2475 ราสดรส้างชาติ" ได้แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของผู้คน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการใช้ชีวิตของผู้คนในช่วงเวลานั้น อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความเห็นและความต้องการของผู้คนในช่วงเวลานั้น เพื่อเป็นการบอกเล่าให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวมิได้เป็นเพียงการกระทำของคนบางกลุ่มที่โดดเดียว และมิใช่การชิงสุกก่อนห่าม เพราะ "2475 ราสดรส้างชาติ" ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าในการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นมิใช่มีแต่ "คณะราษฎร" เท่านั้นที่สร้างชาติ หากแต่ "ราสดร" ในช่วงเวลานั้นก็พร้อมที่จะส้างชาติไปกับคณะราษฎรด้วยเช่นเดียวกัน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in