รีวิวเว้ย (1746) โลกเราแบ่งคนที่มีปฏิกิริยาเมื่อได้ยินเรื่องของวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมออกเป็น 2 แบบ (แบบหยาบ ๆ) คือ แบบที่เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวมีอยู่จริงและจำเป็นต้องได้รับการลงมือแก้ไขโดยด่วน ตัวแทนของคนกลุ่มนี้ที่เห็นได้ชัดเจนกระทั่งขอยกมาเป็นภาพแทนของคนกลุ่มนี้ คงได้แก่ อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ และ เกรตา ธันเบิร์ก นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนคนอีกแบบ คือ คนที่เชื่อว่าปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องตลกแหกตาและไม่มีอยู่จริง ภาพแทนที่ชัดเจนที่สุดของคนกลุ่มนี้ ณ เวลานี้ (2025) คงหนีไม่พ้น โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าใครอยากเชื่อแบบไหนก็เป็นสิทธิของพวกเขาโดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย หากแต่ถ้าเราเป็นคนกลุ่มที่เชื่อในเรื่องของวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมมีอยู่จริง เราจะรับมือหรือช่วยกันจัดการกับวิกฤติดังกล่าวอย่างไร ? แล้วเราจะเลือกส่งมอบโลกแบบไหนให้กับลูกหลานของเราในอนาคต ?

หนังสือ : The Lost Human: หนทางรอดก่อนยุคสูญพันธุ์
โดย : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
จำนวน : 448 หน้า
.
"The Lost Human: หนทางรอดก่อนยุคสูญพันธุ์" หนังสือเล่มหนาที่ครั้งนี้ไม่ได้ว่าแค่เรื่องของปัญหาโลกร้อน ปัญหาโลกรวนหรือปัญหาวิกฤติสภาพอากาศแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ "The Lost Human: หนทางรอดก่อนยุคสูญพันธุ์" กำลังบอกเล่าเรื่องราวของ "ปัญหาวิกฤติโลก 3 ด้าน (Triple Planetary Crisis)" อันประกอบไปด้วย วิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis), วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Crisis), และวิกฤตของเสียและมลพิษ (Waste & Pollution Crisis) ที่วิกฤติทั้ง 3 ด้านกำลังพามนุษย์มุ่งไปสู่การสูญพันธุ์ที่ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ของพืชและสัตว์ หากแต่อาจเป็นของสิ่งมีชีวิตทั้งโลก
.
"The Lost Human: หนทางรอดก่อนยุคสูญพันธุ์" เล่าเรื่องราวของวิกฤติ 3 ด้าน เรื่องราวของความหวัง และเรื่องราวของทางรอดหรือทางร่วมในการออกจากวิกฤติของมนุษยชาติ ผ่านบทความ 27 ชิ้น ที่แบ่งการเล่าเรื่องออกเป็น 4 ส่วน โดยเริ่มตั้งแต่เรื่องของการที่มนุษย์ทำร้าย (และทำลาย) ตัวเองผ่านการสร้างปัญหาทั้งจากการใช้ชีวิต การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และจากอีกหลายกิจกรรมภายใต้นิยามของคำว่า "การพัฒนา" ต่อด้วยเรื่องของผลกระทบที่มนุษยชาติ (อาจจะ) ยากคาดคิดว่าผลจากการกระทำที่ผ่านมานำพาเรามาสู่จุดที่ไม่อาจหวนกลับทางด้านสิ่งแวดล้อม หากแต่ "The Lost Human: หนทางรอดก่อนยุคสูญพันธุ์" มิได้ตัดขาดความหวังของมนุษย์ไว้ที่การล่มสลายของเผ่าพันธุ์ หากแต่ใน 2 ส่วนท้ายของหนังสือ บอกเล่าเรื่องราวของความหวังและการลุกขึ้นมาต่อสู้ของบุคคล กลุ่มคน และผู้คน ที่อยากให้โลกดีขึ้นจากวิกฤติ 3 ด้าน (Triple Planetary Crisis) ที่โลกกำลังเผชิญ โดยเนื้อหาของ "The Lost Human: หนทางรอดก่อนยุคสูญพันธุ์" แบ่งเป็นดังนี้
.
บทนำ
.
[ I เมื่อมนุษย์ทำร้ายตัวเอง ] ประกอบด้วยบทความ 5 ชิ้น ที่พูดถึงเรื่องของปัญหาวิกฤติโลก 3 ด้านที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ ทั้งจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และความเปลี่ยนแปลงเพื่อความสะดวกสบายของมนุษย์ ที่นำพามาสู่วิกฤติทางด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับโลกทั้งใบ
.
[ II ผลกระทบที่คาดไม่ถึง ] ประกอบด้วยบทความ 9 ชิ้น ที่บอกเล่าเรื่องราวของผลกระทบจากวิกฤติ 3 ด้านที่เป็นผลงานโดยตรงของมนุษย์ ที่ในปัจจุบันผลงานเหล่านั้นได้เผยให้เห็นผลจากการกระทำของมนุษย์ในครั้งอดีต อีกทั้งในส่วนนี้ผู้เขียนยังชวนให้มองไปในอนาคตว่าหากปล่อยเช่นนี้ต่อไปผลที่ตามมาอาจจะใหญ่เกินไปและสายเกินกว่าจะแก้ รวมถึงผู้เขียนยังเผยให้เห็นถึงปัญหาบางประการที่ไม่สามารถผลักดันการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลงได้ อันเป็นผลมาจากเรื่องของปากท้อง อำนาจ เงินตราและรวมไปถึงความเชื่อของคนบางกลุ่ม
.
[ III แสวงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ] ประกอบด้วยบทความ 7 ชิ้น ที่สะท้อนภาพอีกด้านหนึ่งหลังจากชี้ชวนให้ดูผลกระทบและวิกฤติจากการกระทำของมนุษย์ที่ผ่านมา โดยในส่วนนี้ผู้เขียนได้ให้ภาพตัวอย่างของความหวังและทางรอดที่หลายคน หลายเมืองและหลายประเทศได้ลองเริ่มต้นลงมือทำ และการกระทำเหล่านั้นก็ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงบางประการในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างกรณีของ การแก้ปัญหาหมอกควัน การมอบสถานะบุคคลให้กับแม่น้ำ หรือกระทั่งการรวมตัวกันซื้อที่ดินให้กับนกอพยพ ซึ่งเรื่องราวในส่วนนี้คือภาพสะท้อนของความหวังในการแก้ไขวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกที่ใครก็ช่วยกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
.
[ IV เมื่อมนุษย์ไม่ยอมจำนน ] ประกอบด้วย 6 บทความ ที่บอกเล่าเรื่องราวของบุคคลและกลุ่มคน ที่ไม่ยอมจำนนต่อวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ และวิกฤตของเสียและมลพิษ ที่ในส่วนนี้จะหยิบยกเอาเรื่องราวของกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาร่วมมือกันในการแก้ไขวิกฤติของชุมชน (และโลก) ด้วยตัวของพวกเขาเองกระทั่งนำไปสู่ความสำเร็จในระดับของพื้นที่อันเป็นผลโดยตรงจากการร่วมมือร่วมใจกันลงมือและลงแรงในการเปลี่ยนแปลงโลกโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือและความเห็นใจจากใครอื่น
.
บทส่งท้าย
.
"The Lost Human: หนทางรอดก่อนยุคสูญพันธุ์" ย้ำเตือนกับเราว่า เราในฐานะของมนุษย์นับเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและวิกฤติที่เกิดขึ้น โลกเดินมาถึงจุดนี้ได้เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา มากบ้างน้อยบ้างแต่ยากจะปฏิเสธว่าปัญหาและวิกฤติต่าง ๆ เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หากแต่ "The Lost Human: หนทางรอดก่อนยุคสูญพันธุ์" ไม่ได้บอกให้เราโทษตัวเองและนั่งนิ่ง ๆ มองวาระสุดท้ายที่ขยับใกล้เข้ามา แต่ "The Lost Human: หนทางรอดก่อนยุคสูญพันธุ์" บอกกับเราว่า ในเมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาเกิดขึ้น เราเองก็สามารถลงมือทำให้ปัญหาและวิกฤติเหล่านั้นดีขึ้นได้เช่นกัน ดังเรื่องราวของผู้คนที่ปรากฏอยู่ในเรื่องของแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์และในเรื่องราวที่เมื่อมนุษย์ไม่ยอมจำนน การลุกขึ้นมาแก้ปัญหาจึงเป็นสิ่งล้ำค่าที่มนุษย์ทุกคนสามารถลงมือทำได้ ดังคำแนะนำที่ปรากฏในบทส่งท้ายของ "The Lost Human: หนทางรอดก่อนยุคสูญพันธุ์"
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in