เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ก้าวหน้าแล้วถอยกลับ By อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
  • รีวิวเว้ย (1745) เหตุการณ์สภาล่ม นับองค์ประชุมไม่ได้ แตะถ่วงการลงคะแนน และอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรมิใช่เรื่องบังเอิญ และมิใช่การกระทำที่ไม่มีเป้าหมายในการวางกลยุทธ์ทางการเมือง หากแต่การศึกษาสถาบันการเมืองแบบเก่ามิได้ใส่ใจและให้ความสนใจกับประเด็นหรือการกระทำดังกล่าวเท่าใดนัก กระทั่งหนหลังขอบเขตของการศึกษาทางการเมืองและรัฐศาสตร์ขยายตัวไปสู่แนวทางการศึกษา "สถาบันนิยมใหม่" (New Institutionalism) ยังผลให้ปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายรูปแบบกลายเป็นการคลายเงื่อนปมและการตอบโจทย์การกระทำทั้งเหตุการณ์ทางการเมือง ปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายประการ อีกทั้งการขยายขอบเขตของพรมแดนความรู้ยังเป็นการขยายมิติของการศึกษาที่กว้างขวางขึ้นกว่ายุคอดีต
    หนังสือ : ก้าวหน้าแล้วถอยกลับ: บทวิเคราะห์สภาผู้แทนฯ ปี พ.ศ. 2539-2557 แนวสถาบันการเมืองใหม่
    โดย : อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
    จำนวน : 204 หน้า 
    .
    "ก้าวหน้าแล้วถอยกลับ: บทวิเคราะห์สภาผู้แทนฯ ปี พ.ศ. 2539-2557 แนวสถาบันการเมืองใหม่" (ต่อจากนี้จะขอเรียกสั้น ๆ ว่า "ก้าวหน้าแล้วถอยกลับ") สำหรับ "ก้าวหน้าแล้วถอยกลับ" ศึกษาบทของรัฐสภาในช่วง พ.ศ. 2539 - 2557 ผ่าน การประชุมสภาและการลงมติผ่านพระราชบัญญัติ 3 ฉบับ ในช่วงเวลาดังกล่าง อันประกอบไปด้วย พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542, พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. พ.ศ. 2545 และ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. … (นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย) ผ่านการศึกษาบันทึกการประชุม ข้อถกเถียงและพฤติกรรมในการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีต่อพระราชบัญญัติแต่ละฉบับ ว่ามีรูปแบบ พฤติกรรม หรือนัยต่อการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว ตามรูปแบบของการศึกษาสถาบันนิยมใหม่ (New Institutionalism) อย่างไร
    .
    ในส่วนของเนื้อหา "ก้าวหน้าแล้วถอยกลับ" แบ่งการเล่าเรื่องออกเป็น 6 บท ผ่านการบอกเล่าความสำคัญและการสำรวจสถานะของการศึกษารัฐสภาในฐานะของการศึกษาสถาบันการเมืองใหม่และเท้าความสถานะการศึกษาในเรื่องของรัฐสภาไทยในอดีตที่ผ่านมา รวมถึงบอกเล่าบทบาทของรัฐสภาผ่านการพิจารณาพระราชบัญญัติ 3 ฉบับ และปิดท้ายด้วยการตั้งคำถามต่อบทบาทของรัฐสภาในฐานะกลไกส่งเสริมประชาธิปไตยหรือกลไกที่ทำให้ประชาธิปไตยหยุดชะงักลง โดยเนื้อหาทั้ง 6 บท แบ่งเป็นดังนี้
    .
    บทที่ 1 บทนำ: รัฐสภาในฐานะสถาบันการเมือง (ใหม่) 
    .
    บทที่ 2 สถานะการศึกษารัฐสภาไทยในประเทศไทย
    .
    บทที่ 3 สภาผู้แทนราษฎรไทยในฐานะแกนกลางของการปฏิรูปการเมือง การกระจายอำนาจและขั้นตอนการมอบอำนาจให้กับท้องถิ่น
    .
    บทที่ 4 สภาผู้แทนราษฎรไทยในฐานะผู้สร้างสวัสดิการถ้วนหน้า: การเมือง การสาธารณสุข และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
    .
    บทที่ 5 สภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้ทำลายประชาธิปไตย: นิรโทษกรรมเหมาเข่งสู่การรัฐประหาร พ.ศ. 2557 
    .
    บทที่ 6 บทสรุป: สภาผู้แทนราษฎรไทย เสาหลักประชาธิปไตยไทย ?
    .
    "ก้าวหน้าแล้วถอยกลับ" เปิดให้เห็นบทบาทของการศึกษารัฐสภาภายใต้แนวทางการศึกษาแบบการศึกษาสถาบันนิยมใหม่ (New Institutionalism) ที่เข้าไปดูการกระทำ พฤติกรรม และปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นผ่านบทบาทของรัฐสภา ที่ทำให้เห็นว่ารัฐสภามิได้มีเพียงหน้าที่หรือบทบาทดังที่ปรากฏในเรื่องของการผ่านงบประมาณหรือผ่านกฎหมายแต่เพียงเท่านั้น หากแต่บทบาทของรัฐสภายังส่งผลต่อการสถาปนาประชาธิปไตยด้วยในที ไม่ว่าประชาธิปไตยจะตั้งมั่นได้ หรือประชาธิปไตยถูกสั่นคลอน รัฐสภานับเป็นหนึ่งในกลไกที่จำเป็นต้องถูกศึกษาและทำความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของรัฐสภาที่มากไปกว่างานหน้าฉากที่เรา ๆ ท่าน ๆ คุ้นเคย

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in