เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
กลยุทธ์การจัดกระบวนการเกมเพื่อส่งเสริมทักษะความเป็นพลเมืองฯ
  • รีวิวเว้ย (1746) เกมเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในการส่งเสริมทักษะความเป็นพลเมือง และได้รับการนำไปใช้โดยพรรคการเมือง องค์กรภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา การออกแบบและพัฒนาเกมเพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองจำนวนหนึ่งในรอบทศวรรษที่ผ่านมาเกิดขึ้นภายใต้โจทย์ของการเพิ่มคุณภาพของระบอบประชาธิปไตย ในแง่นี้เนื้อหา และกลไกของเกมจะเน้นในเรื่องการเสริมสร้างความเข้าใจในเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน การอภิปรายถึงประสบการณ์ในฐานะพลเมือง และการเสริมพลังให้เป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลง (Proactive agent of change) อย่างไรก็ตาม การออกแบบและพัฒนาเกมเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอที่จะสร้างวงจรความเปลี่ยนแปลงในการเรียนรู้เรื่องทักษะความเป็นพลเมือง ด้วยเหตุนี้การทำความเข้าใจในเรื่องการวางกลยุทธ์การจัดกระบวนการเกมเพื่อส่งเสริมทักษะความเป็นพลเมืองจึงมีความสำคัญ 
    .
    หากพิจารณาในภาพรวมเกมที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความเป็นพลเมืองถูกผลิตออกมาจำนวนมาก แต่มีเพียงจำนวนน้อยที่ได้รับการนำมาใช้อย่างยาวนานโดยกลุ่มผู้ใช้ที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือเกม Sim Democracy ซึ่งเป็นบอร์ดเกมที่มุ่งให้ความรู้ในเรื่องทักษะความเป็นพลเมือง และการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย นอกจากเกมดังกล่าวจะถูกนำไปใช้กับผู้เล่นหลากหลายกลุ่มและช่วงวัย ยังมีการนำไปใช้ในหลายประเทศ การนำเกม Sim Democracy ไปใช้ในบริบทที่หลากหลายเช่นนี้นำมาสู่คำถามในเรื่องพลวัตของการใช้เกมภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน ตลอดจนความแตกต่างของกลยุทธ์ในการนำเกม Sim Democracy ไปใช้
    หนังสือ : กลยุทธ์การจัดกระบวนการเกมเพื่อส่งเสริมทักษะความเป็นพลเมืองในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย : กรณีศึกษาเกม Sim Democracy 
    โดย : วศิน ปั้นทอง และคณะ
    จำนวน : 160 หน้า 
    .
    การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา และเปรียบเทียบกลยุทธ์การจัดกระบวนการเกมเพื่อส่งเสริมทักษะความเป็นพลเมืองในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย โดยตัวแสดงสามกลุ่ม ได้แก่ พรรคการเมือง องค์กรภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา และเพื่อสังเคราะห์ตัวแบบการจัดกระบวนการเกมเพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมือง คณะผู้วิจัยใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก และการเก็บข้อมูลเอกสาร ทั้งนี้คณะผู้วิจัยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลทั้งในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ผลการศึกษาจากการวิจัยครั้งนี้มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ 
    .
    ประการแรก การเปรียบเทียบกลยุทธ์การจัดกระบวนการเกมเพื่อส่งเสริมทักษะความเป็นพลเมืองในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย พบว่าในกรณีของประเทศมาเลเซีย พรรคการเมืองนำเกม Sim Democracy ไปใช้เพื่อเสริมทักษะการเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตยให้กับผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่มีการนำไปใช้เพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองในสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะในเชิงบริบทของประเทศมาเลเซีย ส่วนภาคประชาสังคมนำเกมไปใช้เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำเยาวชน 
    .
    ในกรณีของประเทศฟิลิปปินส์ พรรคการเมืองนำเกม Sim Democracy ไปใช้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดสรรสมาชิกที่เข้าสู่พรรคการเมือง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมทักษะความเป็นพลเมือง โดยมีเป้าหมายหลักคือกลุ่มเยาวชน สำหรับการนำเกมไปใช้ในสถาบันการศึกษาพบว่าสถาบันการศึกษาไม่ได้นำเกมไปใช้โดยตรง หากแต่มีเฉพาะกรณีเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองนำเกมไปใช้ในมหาวิทยาลัยผ่านสมาชิกในเครือข่าย ส่วนองค์กรภาคประชาสังคมนำเกมไปใช้โดยมุ่งหวังเพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำเยาวชน และสร้างความเข้าใจเรื่องสังคมเปิดกว้าง
    .
    ในกรณีของประเทศไทย พรรคการเมืองนำเกมไปใช้เพื่อสร้างเครือข่ายร่วมกับผู้นำเยาวชน ในขณะที่การนำเกมไปใช้ในสถาบันการศึกษาพบอย่างแพร่หลาย และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี กล่าวคือ มีการใชทั้งในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัยโดยบุคลากรภายในเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับหน้าที่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับองค์กรภาคประชาสังคม เกมถูกนำไปใช้เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำเยาวชน และสร้างความเข้าใจเรื่องความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
    .
    ประการที่สอง ในเรื่องการสังเคราะห์ตัวแบบการจัดกระบวนการเกมเพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมือง คณะผู้วิจัยพัฒนากลยุทธ์ 3x3 ในฐานะกลยุทธ์การจัดกระบวนการเกมเพื่อส่งเสริมทักษะความเป็นพลเมืองเพื่อเป็นแนวทางการวางแผนอย่างเป็นระบบ และมีลำดับขั้นตอนในการนำเกมไปใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเรื่องการส่งเสริมทักษะความเป็นพลเมืองซึ่งรวมไปถึงการเสริมพลังพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ตัวแบบดังกล่าวแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของเงื่อนไขในระดับภายในองค์กร ระดับระหว่างองค์กร และระดับสังคมที่ส่งผลต่อการวางกลยุทธ์ การจัดกระบวนการเกมเพื่อส่งเสริมทักษะความเป็นพลเมือง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in