เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
ประวัติศาสตร์การทูตยุโรป By บรรพต กำเนิดศิริ
  • รีวิวเว้ย (1639) สมัยเรียนมหาวิทยาลัย อาจารย์เคยตั้งคำถามในห้องเรียนว่า "นักการทูตคืออะไร ?" คำตอบที่ได้จากหลายคนในห้องมีแตกต่างกันออกไปหลากหลายคำตอบ แต่ที่ชอบที่สุดคือคำตอบหนึ่งที่มีคนพูดขึ้นมาว่า "ทูตคือชายผู้ซื่อสัตย์ที่สุดที่ถูกส่งออกไปโกหกยังต่างแดน เพื่อยังประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ" ซึ่งมาทราบภายหลังว่าคือคำพูดของ "เซอร์ เฮนรี วอตตัน" นักเขียน นักการทูต และนักการเมืองชาวอังกฤษ น่าสนใจว่าทัศนะที่มีต่อนักการทูตและระบบการทูตมีอยู่ด้วยกันหลากหลายมิติทั้งในอดีตและปัจจุบัน การทำความเข้าใจพลวัต พัฒนาการและวิวัฒนาการทางการทูตจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะกับคนที่อยากเป็นนักการทูต หรือกระทั่งกับคนที่สนใจในประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของระบบทางการเมืองที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของโลก ควรที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจกับระบบ ระเบียบและประวัติศาสตร์ของเรื่องดังกล่าวเอาไว้
    หนังสือ : ประวัติศาสตร์การทูตยุโรป : พัฒนาการตั้งแต่สมัยราชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน
    โดย : บรรพต กำเนิดศิริ
    จำนวน : 256 หน้า
    .
    "ประวัติศาสตร์การทูตยุโรป : พัฒนาการตั้งแต่สมัยราชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน" หนังสือที่ต่อเนื่องกับเล่มก่อนหน้าอย่าง "ประวัติศาสตร์การทูตตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ: การถ่ายทอดประเพณีทางการทูต" หากแต่ในเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของวิวัฒนาการด้านการทูตและพัฒนาการทางการทูตจากยุคราชาธิปไตยในช่วงคาบเกี่ยวกับยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 เลื่อยมาจนกระทั่งถึงการทูตในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเกิดขึ้นขององค์การสหประชาชาติ (UN) และการเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ภายหลังการล่มสลายของจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ทั้ง 4 ของโลก
    .
    สำหรับการแบ่งเนื้อหาของ "ประวัติศาสตร์การทูตยุโรป : พัฒนาการตั้งแต่สมัยราชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน" แบ่งออกเป็น 4 บทหลัก 1 บทนำและ 1 บทสรุป ที่เนื้อหาในแต่ละบทจะบอกเล่าเรื่องราว เหตุการณ์ที่ผูกพันอยู่กับเรื่องของพัฒนาการและวิวัฒนาการทางการทูตในยุคอดีต ผ่านเหตุการณ์ ความเปลี่ยนแปลง บทเรียนที่นำพาไปสู่การวางมาตรฐานทางการทูต หรือที่ในปัจจุบันถูกเรียกว่า "ระเบียบพิธีทางการทูต" โดยไล่ตั้งแต่หน้าที่ของนักการทูต บทบาทหน้าที่ การดำเนินงาน การปฏิบัติการ การตั้งสถานทูตและโรงเรียนทูตอย่างเป็นทางการ กระทั่งถึงความเปลี่ยนแปลงของแนวทางทางการทูตภายหลังการเกิดรัฐสมัยใหม่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเนื้อหาในบทต่าง ๆ แบ่งได้ดังนี้
    .
    บทที่ 1 การทูตสมัยราชาธิปไตยและสมบูรณาญาสิทธิราชย์
    .
    บทที่ 2 การทูตแผนเก่า
    .
    บทที่ 3 การทูตแผนใหม่
    .
    บทที่ 4 การทูตในยุคปัจจุบัน หรือการทูตแบบเบ็ดเสร็จ
    .
    บทสรุป
    .
    ไม่ผิดนักหากจะบอกว่า "ประวัติศาสตร์การทูตยุโรป : พัฒนาการตั้งแต่สมัยราชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน" เป็นส่วนผสมของรายการไกลบ้าน และ PYMK (People You May Know) ของช่องคุณแดง ทั้งจังหวะจะโคนในการเล่าเรื่อง เกร็ดประวัติศาสตร์ของเนื้อหาช่างชวนให้คิดถึงรายการทั้ง 2 หากแต่ "ประวัติศาสตร์การทูตยุโรป : พัฒนาการตั้งแต่สมัยราชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน" แตกต่างกันตรงที่วิธีการบอกเล่าในลักษณะของงานวิชาการที่ต้องรักษาขนบธรรมเนียมการอ้างอิงทางวิชาการที่สุดแสนเป็นทางการ (และในหลายครั้งขนบดังกล่าวทำให้งานวิชาการช่างแห้งแล้ง) แต่สำหรับ "ประวัติศาสตร์การทูตยุโรป : พัฒนาการตั้งแต่สมัยราชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน" แล้วนับเป็นหนังสือวิชาการที่สนุกจนชวนให้คิดถึงข้อความอย่าง "ปราสาทนี้ตั้งอยู่บนหมูกรอบ"

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in