เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
จากพระคุณที่สามถึง คศ. 3 By ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
  • รีวิวเว้ย (1635) ครูคือเทียนส่องทางสร้างคน เป็นคนด้วยผลของการศึกษา ครูจึงเป็นบุคคลล้ำค่านำพาประชาและชาติสดใส ครูอยู่ที่ไหนเจริญรุดไปที่นั่น เพราะครูคือผู้สร้างสรรค์ส่งเสริมภูมิปัญญาดังแสงเทียนจุดท้าต้านพายุแรงลมเป่า มิเคยมอดดับอับเฉา ดับเพียงโง่เขลาของตน (เพลง: เทียนเล่มน้อย) ตอนเด็ก ๆ เราน่าจะเคยได้ร้องเพลงนี้หรือได้ยินเพลงนี้ในวันครูและวันไหว้ครูมาบ้าง หรืออย่างเพลงพระคุณที่สาม ตอนเด็กเราเคยสงสัยว่าทำไมเพลงที่เกี่ยวกับครูถึงต้อง "ทำให้ชีวิตครูดูรันทด" หรือกระทั่งละคร หนังหรือหนังสือที่เกี่ยวกับครูในสมัยก่อนครูที่ปรากฏในฐานะตัวละครก็ทำให้เราอดรันทดท้อใจไปกับชีวิตของครูไม่ได้ กระทั่งเมื่อเติบโตขึ้นและมีเพื่อน พี่ น้อง หลายคนประกอบอาชีพเป็นครู เราจึงเริ่มเข้าใจว่า "ความรันทด" ที่เราคิดตอนเด็กไม่ได้เป็นเรื่องคิดไปเอง เพราะดู ๆ ไปชีวิตของเพื่อน พี่ น้อง เราหลายคนที่เป็นครูก็ดูหดหู่และรันทดอยู่ไม่น้อย กระทั่งได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม PLC กับครูหลาย ๆ วงเข้าเราก็เข้าใจได้ว่าชีวิตครูในระบบการศึกษาไทย เรียกได้ว่า "รัดทดปนบัดซบ" แท้ ๆ เพราะหน้าที่ของครูมีมากกว่าแค่การสอนหนังสือ มากเสียจนครูหลายคนไม่มีเวลาสอนหนังสืออีกเลย
    หนังสือ : จากพระคุณที่สามถึง คศ. 3: พลวัตวิชาชีพครู ว่าด้วยอำนาจและสถานภาพทางสังคมในสังคมไทย
    โดย : ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
    จำนวน : 230 หน้า
    .
    "จากพระคุณที่สามถึง คศ. 3: พลวัตวิชาชีพครู ว่าด้วยอำนาจและสถานภาพทางสังคมในสังคมไทย" ชื่อยาวไปต่อจากนี้จะเรียกสั้น ๆ ว่า "จากพระคุณที่สามถึง คศ. 3" หนังสือชื่อยาวที่ว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์ของครูและระบบการศึกษาไทย ที่มุ่งเน้นการศึกษาไปที่เรื่องของพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของครูในสังคมสยามถึงไทย ผ่านการศึกษาหลักฐานและบริบททางประวัติศาสตร์
    .
    โดยที่ผู้เขียนได้ระบุเอาไว้ว่าหนังสือเล่มนี้มีเป้าหมาย 2 ประการ อันได้แก่ ประการแรก เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลวัตการผลิตครูในสังคมไทยในหน้าประวัติศาสตร์ และประการต่อมา เพื่อนำเสนอบทบาทและสถานภาพของครูภายใต้โครงสร้างทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจุดตั้งต้นของการเล่าเรื่องของ "ครู" ใน "จากพระคุณที่สามถึง คศ. 3" เริ่มต้นตั้งแต่บทบาทของครูในช่วงเวลาก่อนสมบูรณาญาสิทธิราชของสยาม ที่ความเป็นครูผูกติดอยู่กับชุดความเชื่อของศาสนาไทย ที่ประกอบขึ้นจากศาสนาผี ศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ แต่สำหรับการศึกษาของสยาม-ไทย นั้นจำเป็นต้องรวมเอาศาสนาคริสต์เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เพราะรากฐานเหล่านี้ได้กลายมาเป็นการก่อร่างสร้างการศึกษาของสยาม-ไทย ในสมัยแรกก่อนการก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5
    .
    อีกทั้งเนื้อหาของ "จากพระคุณที่สามถึง คศ. 3" มุ่งนำเสนอให้เห็นถึงพลวัต พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของครูในสังคมสยามถึงไทย ภายใต้เหตุการณ์ของสังคมในแต่ละช่วงเวลา ที่ช่วงเวลาต่าง ๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ได้กลายมาเป็นเครื่องมือในการปรับทิศเปลี่ยนทางระบบการศึกษาไทยและครูไทยให้ออกมาเป็นดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ ทั้งเหตุการณ์ทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจและเทคโนโลยี ต่างส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของครูไทยทั้งในมิติเชิงนโยบายและในเชิงปฏิบัติ
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "จากพระคุณที่สามถึง คศ. 3" แบ่งออกเป็น 5 บท ที่ลำดับการเขียนด้วยช่วงเวลาที่ในแต่ละช่วงเวลานั้นจะฉายให้เห็นความเป็นมาของครู ระบบการศึกษา การดำเนินงาน แนวทางในการจัดการเรียนการสอนและรวมไปถึงความท้าทายที่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผ่านพัฒนาการของครูและระบบการศึกษาจากอดีตกระทั่งปัจจุบัน โดยบทต่าง ๆ ของ "จากพระคุณที่สามถึง คศ. 3" แบ่งไว้ดังนี้
    .
    บทที่ 1 พัฒนาการของการผลิตครู อำนาจความรู้ภายใต้อุดมการณ์ และการเมืองไทย
    .
    บทที่ 2 การผลิตครูหลังปฏิวัติสยาม 2475 ความระหกระเหินของอำนาจประชาชน กับครูที่กลายเป็นพระคุณที่สาม
    .
    บทที่ 3 สถานภาพการจ้างงาน หนี้สินและอาชีพเสริมของครูไทย
    .
    บทที่ 4 การรวมกลุ่ม การต่อรองและสิทธิประโยชน์ครูไทย
    .
    บทที่ 5 บทสรุป
    .
    "จากพระคุณที่สามถึง คศ. 3" ทำให้เรามองเห็นประวัติศาสตร์ช่วงยาวของการผลิตครูและการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาจากสยามถึงไทย ที่ผูกโยงอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของบริบททางประวัติศาสตร์ ที่นอกเหนือจากเรื่องของการเมืองแล้ว "จากพระคุณที่สามถึง คศ. 3" ยังช่วยให้เราเห็นภาพของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทต่อความเปลี่ยนแปลงของครูไทยในหลายมิติ น่าสนใจว่าหากเรื่องของครูมีความสลับซับซ้อนและมีตัวแปรมากมายขนาดนี้ เหตุใดระบบการผลิตครูถึงยังคงผูกโยงอยู่กับกลไกบางแบบดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทั้งที่หลายเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาก็น่าจะเป็นบทเรียนให้กับหน่วยงานทางการศึกษาได้เป็นอย่างดี น่าแปลกใจที่อดีตไม่เคยสอนอะไรให้กับคนในสังคมนี้เลยนอกจาก "ท่องแล้วไม่จำ" แถมนำไปใช้ไม่ได้อีกต่างหาก

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in