เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (3)Chaitawat Marc Seephongsai
การปกครองท้องถิ่นฯ (พิมพ์ครั้งที่ 2) By ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์
  • รีวิวเว้ย (1550) พัฒนาการการปกครองท้องถิ่นของไทยมีมาเนิ่นนาน อาจจะเรียกได้ว่ามีมาตั้งแต่ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลง 2475 ที่ปรีดี พนมยงค์ พยายามทำให้กลไกของเทศบาล (municipality) เกิดขึ้นอย่างเต็มพื้นที่ในประเทศไทย หากแต่อีกกระแสหนึ่งก็มองว่าการปกครองท้องถิ่นของไทยเริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่การตั้ง "สุขาภิบาล" ขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2440 ในขณะเดียวกันก็มีข้อถกเถียงอีกว่าสุขาภิบาลที่ตั้งขึ้นนั้นควรนับที่ใดเป็นจุดตั้งต้นของการปกครองท้องถิ่นระหว่าง "สุขาภิบาลกรุงเทพฯ" (สุขาภิบาลแห่งแรก) หรือ "สุขาภิบาลท่าฉลอม" (สุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรก) เรียกได้ว่าการสร้างข้อถกเถียงว่า "ท้องถิ่นไทย" เริ่มต้นขึ้นเมื่อใดนับเป็นเรื่องสนุกทั้งในทางประวัติศาสตร์และในทางรัฐศาสตร์ หากแต่ถ้านับว่าการปกครองท้องถิ่นต้องอาศัยกลไกสำคัญอย่าง "การกระจายอำนาจ" หากเริ่มที่หมุดหมายนี้ข้อถกเถียงจะโยกมาอยู่ในช่วงเวลาหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ประเทศไทยได้มีการจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นอย่างจริงจังและแยกเอาอำนาจของท้องถิ่นออกจากกลไกของราชการส่วนกลาง เรียกได้ว่าถ้าใครถามว่า "ท้องถิ่นไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด ?" การตอบคำถามดังกล่าวดูจะต้องหาจุดตั้งต้นในเรื่องของช่วงเวลาและการให้เหตุผลประกอบการอธิบายที่ครอบคลุมเพื่อความชัดเจนของการตอบคำถาม
    หนังสือ : การปกครองท้องถิ่น: มุมมองจากประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2)
    โดย : ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์
    จำนวน : 392 หน้า
    .
    "การปกครองท้องถิ่น: มุมมองจากประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไทย" ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ที่มีการปรับปรุงข้อมูลเชิงสถิติและบริบทภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของการปกครองของแต่ละประเทศให้สอดรับกับยุคสมัย ภายหลังจากฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ตีพิมพ์ไปเมื่อ พ.ศ. 2563 สำหรับหนังสือ "การปกครองท้องถิ่น: มุมมองจากประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไทย" มุ่งเน้นในเรื่องการบอกเล่าเรื่องราวของ "การปกครองท้องถิ่น" ในลักษณะของการนำพาผู้อ่านไปเรียนรู้ ทำความเข้าใจเพื่อให้รู้จักว่าอะไรคือการปกครองท้องถิ่น ? การปกครองท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างไร ? และเหตุใดเราควรให้ความสำคัญและใส่ใจกับการปกครองท้องถิ่น โดยเฉพาะท้องถิ่นในพื้นที่บ้านหรือชุมชนของเรา
    .
    "การปกครองท้องถิ่น: มุมมองจากประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไทย" พยายามนำเสนอให้เห็นเรื่องราวต่าง ๆ ของการปกครองท้องถิ่นดังที่ได้กล่าวไป และหนังสือยังพาเราเดินทางไปทำคงามรู้จักกับการปกครองท้องถิ่นของต่างประเทศอีก 4 ประเทศ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นประเทศต้นแบบในการหยิบยืมเอากลไกของการปกครองท้องถิ่นด้านต่าง ๆ มาปรับใช้กับประเทศไทย ทั้งเรื่องการจัดโครงสร้าง อำนาจหน้าที่และการเงินการคลัง เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึงพัฒนาการและการเชื่อมโยงของการปกครองท้องถิ่นในแต่ละประเทศ
    .
    สำหรับเนื้อหาของ "การปกครองท้องถิ่น: มุมมองจากประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไทย" แบ่งออกเป็นทั้งสิ้น 8 บท ที่ในส่วนของบทนำ บทที่ 1 และบทที่ 2 จะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของ "การปกครองท้องถิ่น" ว่ามีความสำคัญอย่างไร มีแนวคิดอะไรที่ต้องให้ความสำคัญ และร่วมไปถึงเรื่องของการจัดองค์กร โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของการปกครองท้องถิ่น และในบทที่ 3-7 ของหนังสือจะมีเค้าโครงของการบอกเล่าเรื่องราวของการปกครองท้องถิ่นของแต่ละประเทศผ่าน สภาพทั่วไปของประเทศ โครงสร้างและรูปแบบการบริหารราชการของประเทศนั้น ๆ พัฒนาการของการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ อำนาจหน้าที่และภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและปิดท้ายด้วยเรื่องของการคลังและงบประมาณในการจัดการปกครองท้องถิ่นของแต่ละประเทศ เพื่อเป็นการฉายให้เห็นภาพรวมและลักษณะร่วมหรือความแตกต่างของการปกครองท้องถิ่นในแต่ละประเทศผ่านเค้าโครงของการนำเสนอในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจและนำมาเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่าง ๆ และในบทสุดท้ายของหนังสือ (บทที่ 8) จะเป็นการขมวดให้เห็นถึงภาพรวมของการปกครองท้องถิ่นของต่างประเทศและไทยอย่างเป็นระบบ แลดแถมท้ายด้วยตัวบทกฏหมายและความท้าทายใหม่ ๆ ที่การปกครองท้องถิ่นต้องเผชิญ ซึ่งเนื้อหาในแต่ละบทของ "การปกครองท้องถิ่น: มุมมองจากประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไทย" แบ่งเป็นดังนี้
    .
    บทนำ: โครงสร้างของหนังสือ
    .
    บทที่ 1 การปกครองท้องถิ่น การกระจายอำนาจ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    .
    บทที่ 2 ลักษณะพื้นฐานเชิงโครงสร้างและการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    .
    บทที่ 3 การปกครองท้องถิ่นของสาธารณรัฐฝรั่งเศส
    .
    บทที่ 4 การปกครองท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่น
    .
    บทที่ 5 การปกครองท้องถิ่นของสหราชอาณาจักร
    .
    บทที่ 6 การปกครองท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา
    .
    บทที่ 7 การปกครองท้องถิ่นของประเทศไทย
    .
    บทที่ 8 ภาพรวมของการศึกษาการปกครองท้องถิ่นในต่างประเทศและไทย
    .
    หากถามว่า "การปกครองท้องถิ่น: มุมมองจากประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไทย" เหมาะกับใคร ? แน่นอนว่าด้วยขนาดและความหนาของหนังสือรวมถึงหัวข้ออย่าง "การปกครองท้องถิ่น" ดูจะไม่ใช่หนังสือที่เป็นมิตรกับทุกคนอย่างเสมอหน้า หากแต่ในมุมมองของคนอ่าน เรากลับมองว่า "การปกครองท้องถิ่น: มุมมองจากประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไทย" เหมาะกับทุกคน เพราะเราจะได้เห็นถึงความสำคัญและจำเป็นของการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะการนำเอาความรู้ที่ได้ไปใช้ในการมองและทำความเข้าใจท้องถิ่นของตนเอง บ้านของเราเราควรรู้ว่าอะไรคืออะไร และเราเองควรบอกได้ว่าเราอยากอยู่บ้านในลักษณะไหน "การปกครองท้องถิ่น: มุมมองจากประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไทย" ก็คล้ายกับแนวทางของการทำความเข้าใจบ้าน (ชุมชน) ที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in