เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือแบบเครียดๆWanderingBook
-คุณคือนักปรัชญา-
  • คำตอบที่เราเสาะหามาใช่ว่าจะเป็นคำตอบที่ถูกเสมอ และคำตอบที่ถูก (แทบ) ไม่เคยได้จากการตั้งคำถามที่ผิด


    ปรัชญาคืออะไร?

    เสียงส่วนใหญ่ยังไม่มีคำตอบกระจ่าง ขณะที่ตำราภาษาไทยส่วนใหญ่ (ซึ่งมักจะน่าเบื่อ) ชอบแปลปรัชญาตามความหมายของตัวอักษรว่า ‘ความรักในความรู้’ ซึ่งไม่ได้ช่วยให้เรารู้อะไรมากไปกว่าคำแปล แต่ไม่ใช่ความหมาย

    ‘PHILOSOPHY IN A WEEK’ ไม่ได้ให้ความหมาย เพียงบอกว่าปรัชญาเป็นทั้งกิจกรรมและองค์ความรู้ เป็นกิจกรรมทางปัญญาในการคิด ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง พินิจพิจารณา และตรวจสอบความคิด เป็นองค์ความรู้อันเกิดจากความอุตสาหะที่ถูกสั่งสมมารุ่นแล้วรุ่นเล่าของมนุษย์ที่พยายามตอบคำถามพื้นฐานต่างๆ ซึ่งโดยทั่วไปไม่ค่อยได้ถามกัน

    ‘ปรัชญา’ บอกว่าเราหลีกเลี่ยงปรัชญาไม่ได้ มันแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวัน เราเพียงแค่ไม่รู้หรือไม่ได้สังเกต หรือต่อให้เห็นว่า ปรัชญาไม่มีประโยชน์ นั่นก็ยังเป็นการประเมินคุณค่ารูปแบบหนึ่ง เพราะ ‘คุณค่า’ เป็นคำถามหลักในปรัชญา

    ปรัชญาจึงมีความกวนประสาทอยู่ในที

    ‘ปรัชญา’ ปกคลุมหัวข้อหลักๆ ของปรัชญาน้อยกว่า แต่บรรยายไว้ซับซ้อนสวิงสวายกว่า

    ‘PHILOSOPHY IN A WEEK’ สำนวนไม่เหวี่ยงไหวและครอบคลุมหัวข้อหลักของปรัชญามากกว่า

    นี่ไม่ใช่การพยายามนำคุณค่ามาชี้นำว่าควรอ่านเล่มใดมากกว่าอีกเล่มหนึ่ง อันที่จริง อ่านทั้งสองเล่มได้ยิ่งดี แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจตรงกันเสียก่อนเวลาที่หนังสือสักเล่มบอกกับคนอ่านว่าเป็นการแนะนำปรัชญาเบื้องต้น มันหมายความแบบนั้นจริงๆ มันเบื้องต้นมากๆ มันเป็นอณูอันน้อยนิดของจักรวาลปรัชญาที่น่าจะมีเอกภพคู่ขนานอีกหลายเอกภพ

    คุณจะได้รู้จักคำถามหลักๆ ทางปรัชญา คำตอบที่น่าเป็นไปได้หลักๆ ทางปรัชญา เมื่อใดมีคำตอบแน่นอน คำถามนั้นก็หลุดลอยจากปริมณฑลของปรัชญาสู่ศาสตร์สาขาอื่น แต่ก็เป็นคนละเรื่องกันกับการที่ปรัชญายังตามไปหาเรื่องราวตั้งคำถามต่อศาสตร์นั้นๆ อยู่ดี

    ฉันคือใคร?

    ฉันรู้ได้อย่างไร?

    ฉันควรทำอะไร?

    ฉันเป็นจิตหรือเป็นสสาร?

    สังคมที่ดีควรเป็นอย่างไร?

    ความยุติธรรมคืออะไร?

    ตอบกันไปเถอะ ตอบกันมาเป็นพันปีแล้ว ยากเกินกว่าจะได้คำตอบที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน แต่อย่างน้อย (เท่าที่รู้) ไม่เคยมีใครต้องชกต่อยหรือถึงขั้นทำสงครามกันเพราะปรัชญา (ไม่เหมือนศาสนาหรือการเมือง)

    หนังสือทั้งสองเล่มให้บางคำตอบไว้ ชวนคนอ่านเถียงกับคนที่เคยตอบมาก่อน อภิปราย วิพากษ์วิจารณ์คำตอบเหล่านั้น “คุณตอบแบบนี้ มันไม่ใช่หรอก มันต้องตอบแบบนี้” “โลกนี้ไม่มีอะไรนอกจากจิต” “โลกนี้ไม่มีอะไรนอกจากสสารหรือวัตถุ ความรู้สึกของเราก็แค่การทำงานของสมอง” “สิ่งที่เราควรทำต้องดูผลลัพธ์ที่ได้เท่านั้น”

    อ่านไป คิดไป เราอาจนึกสนุกตั้งคำถามยิบย่อยได้อีกมากมาย เช่น “ระหว่างความชั่วร้ายสองอย่างและคุณจำเป็นต้องเลือก คุณจะใช้เกณฑ์อะไรในการเลือก” “ลูกบิลเลียดสีขาวกระทบลูกสีดำ ลูกสีดำก็วิ่งต่อไปที่หลุม ลูกสีดำวิ่งเพราะถูกลูกสีขาวกระทบหรือว่ามันเป็นแค่สองเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันเท่านั้นนะ ฉันแค่มโนไปเองหรือเปล่าว่าเหตุทำให้เกิดผล”

    อย่างเสียดสีและประชดประชัน นักปรัชญาจึงถูกมองเป็นกิจกรรมของผู้มีอันจะกิน มีเวลานั่งบนโซฟานุ่มๆ แล้วคิดตั้งคำถามประหลาดๆ

    แต่ใครจะเถียงล่ะว่าโลกมิได้ขับเคลื่อนด้วยความคิดก่อน แล้วการกระทำจึงตามมา

    ในโลกอันวุ่นวายสับสน น่าเหนื่อยหน่าย ชีวิตต้องวิ่งด้วยความเร็วร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง การได้คำตอบสำเร็จนั้นเย้ายวนเกินหักใจ

    ทว่า คำตอบที่เราเสาะหามาใช่ว่าจะเป็นคำตอบที่ถูกเสมอ และคำตอบที่ถูก (แทบ) ไม่เคยได้จากการตั้งคำถามที่ผิด

    ทำไมต้องวุ่นวาย? ทำไมต้องเหนื่อยหน่าย? ทำไมต้องวิ่งเร็ว? ...ฯลฯ

    ยิ่งถ้าอยู่ในสังคมที่ขาดพร่องเหตุผล ปรัชญายิ่งจำเป็น

    เอาล่ะ คุณไม่จำเป็นต้องชอบปรัชญา แต่คุณเป็นนักปรัชญาได้

    การถามว่าเย็นนี้จะกินอะไรคงไม่ใช่คำถามทางปรัชญาหรอก

    แต่กินเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อเพื่ออะไร...ปรัชญาแน่นอน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in