บทสรุปที่พอบอกได้คือการเรียนรู้เพื่อค้นหาสิ่งสำคัญต่อเราคือ สิ่งสำคัญ
ไม่น่าจะเรียกว่าการรีวิว หากเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของตัวผมหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบเมื่อนานมาแล้ว ซึ่งมันเชื่อมโยงกับโรคซึมเศร้าและความเป็นผม ณ ปัจจุบัน
‘อะไรไม่จำเป็นก็ทิ้งไป’ เป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่งในไทย ฉบับที่ผมอ่านคือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 พิมพ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 คือช่วงเวลาที่อาการซึมเศร้ากำลังรอวันปะทุ ซึ่งในปลายปีเดียวกันนั้นผมตัดสินใจไปพบจิตแพทย์และยังต้องไปพบเรื่อยมาถึงวันนี้
แต่ผมอาจจะอ่านหลังจากที่ถูกวินิจฉัยแล้วก็ได้
ใช่, ผมไปพบจิตแพทย์ แต่ผมปฏิเสธการกินยาเพราะไม่ชอบสภาวะที่เหมือนมีก้อนหินขนาดเท่ากำปั้นซุกอยู่ในหัว ไม่รู้หรอกว่าการดื้อรั้นจะส่งผลเลวร้ายตามมา.สิ่งที่วิ่งวนอยู่ในหัวของผมคือความสับสน ความคิดลบๆ ความยุ่งเหยิง ความไร้ค่า และสารพัดสารเพ รู้สึกว่าโลกรอบตัววุ่นวายเหลือเกิน อึกทึกเกินทน พอกลับมาที่ห้อง ถึงจะไม่ใช่คนชอบช้อปปิ้ง แต่สิ่งของก็ดูจะกินพื้นที่มากมาย มันกินพื้นที่ในสมองของผมเข้าไปด้วย
ผมบอกตัวเองว่า ไม่ได้ละ ต้องทำอะไรสักอย่าง!!!
เหตุการณ์ที่ตามมาหลังจากนั้น ผมซื้อถุงขยะ ทิ้งสิ่งของต่างๆ ไปมากมาย อะไรที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับคนอื่นก็บริจาค รวมถึงหนังสือน่าจะหลักร้อยเล่ม คิดเป็นเงินคงไม่น้อย ซึ่งอาการทิ้งข้าวของของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นสัญญาณไม่ดีนัก เพราะหมายถึงความคิดฆ่าตัวตาย ขนาดว่าพี่คนหนึ่งเห็นสเตตัสบริจาคข้าวของ ถึงกับคอมเม้นต์ให้ผมไปหาหมอ
แต่เวลานั้น ความคิดฆ่าตัวตายยังไม่เกิดขึ้น ผมแค่ต้องการพื้นที่ว่าง โล่งๆ สบายตา ซึ่งผมก็ได้มันมาจริงๆ.พื้นที่ว่างช่วยให้ผมหายใจสะดวก ปมอันยุ่งเหยิงในหัวคลายลงเล็กน้อย ได้ใช้ฝึกซ้อมมวย บอดี้ มูฟเม้นต์ หรือยืดเหยียดตามแต่โอกาส ระหว่างพื้นกับเพดานมีช่องว่างมากพอให้เต้นรำ โบยบิน และร้องไห้ กระทั่งย้ายที่อยู่ใหม่ผมยังคงพยายามมีข้าวของให้น้อยที่สุด (ยกเว้นหนังสือ เป็นสันดานเสียของผมที่แก้ไม่หาย)
ถ้ามีคนถามว่า ผมเป็นมินิมัลลิสต์หรือเปล่า? ผมคงตอบว่า ใช่ ในแบบของตัวเอง
มันมีเรื่องให้ถกเถียงอยู่เหมือนกัน ยามเมื่อคำว่า ‘มินิมัลลิสต์’ ปรากฏ เพราะหากปรัชญามินิมัลคือการยึดกุมความเรียบง่าย ความน้อยเป็นแก่นสาร แต่โลกทุนนิยมดูเหมือนจะทำให้มินิมัลกลายเป็นไลฟ์สไตล์ที่มีราคาค่างวดสูงเอาการ ทำให้ความเข้าใจต่อแนวคิดมินิมัลคลาดเคลื่อน.จะพูดไปทำไมมี มันเป็นรสนิยม การให้ความหมาย หรือการตีความส่วนบุคคล ผิด-ถูกก็เถียงกันไป
แล้วการตีความของผมล่ะเป็นแบบไหน?
นอกจากความน้อยและเรียบง่าย เส้นแบ่งสำคัญที่ผมใช้คือสิ่งนั้นสำคัญต่อชีวิตผมหรือเปล่า?
เราทุกคนรู้ว่าทรัพยากรของเรามีจำกัด-เงิน พลังงานชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...เวลา เรามีเวลาบนโลกนี้จำกัด ซ้ำยังไม่รู้ว่าสั้นหรือยาวเพียงใด หากเป็นไปได้ผมอยากใช้เวลาอันจำกัดกับสิ่งที่สำคัญกับผมจริงๆ
นอกจากข้าวของ ผมยังตัดผู้คนที่เป็นพิษต่อความสัมพันธ์ หลากประเด็นร้อนๆ ในสังคมที่ว่ากันโดยอาชีพแล้วผมควรรู้ ผมก็ตัดทิ้ง เพราะเมื่อใคร่ครวญอย่างจริงจังพบว่าผมไม่จำเป็นต้องรู้ การพยายามรู้ทุกเรื่องเพื่อตามกระแส ทั้งเหนื่อย กินเวลา และดูดกลืนพลังงานชีวิตซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยซึมเศร้ามีน้อยและเอาแน่เอานอนไม่ได้
อีกนั่นแหละ เส้นแบ่งว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญของแต่ละคน ไม่เหมือนกัน มันน่าจะเป็นการเรียนรู้ระยะยาวที่ไม่สิ้นสุด ณ ห้วงเวลาหนึ่งบางสิ่งสำคัญ เมื่อล่วงเลยผ่าน เราอาจยิ้มเยาะตัวเองที่ยึดถือสิ่งนั้นหรือเสียใจที่ทิ้งมันไป ...เป็นไปได้ทั้งนั้น
อย่าเชื่อสิ่งที่หนังสือเล่มนี้หรือเล่มไหนบอก
เรามีหน้าที่เรียนรู้และค้นหาสิ่งสำคัญด้วยตัวเอง
มาถึงตรงนี้ บทสรุปที่พอบอกได้คือการเรียนรู้เพื่อค้นหาสิ่งสำคัญต่อเราคือ สิ่งสำคัญ
แต่ก็อย่าเพิ่งเชื่อ...
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in