คนมากกว่ามากมีต้นทุนชีวิตติดลบ แล้วยังจะเรียกร้องให้คนกลุ่มนี้เจียดเงินมาทำบุญ สละเวลาซึ่งมักไม่ถูกคิดว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าให้มานั่งสวดมนต์ภาวนากระนั้นหรือ?
เคยมีบางคนตั้งคำถามในกลุ่มนักอ่านว่า มีรีวิวหนังสือเล่มไหนบ้างที่รีวิวว่าไม่ชอบ ผมคิดว่าผมมีอย่างน้อย 1 เล่ม ณ เวลานี้
‘พระพุทธเจ้าสอนเศรษฐี’ ของพศิน อินทรวงค์ โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ จากหน้าปกก็พิมพ์ครั้งที่ 7 แล้ว บอกก่อนว่าผมไม่ได้อ่านเนื้อหาทั้งหมดของหนังสือเล่มนี้ เพียงแค่เปิดอ่านบางส่วนแบบผ่านๆ ในร้านหนังสือเท่านั้น เนื่องจากไม่ใช่แนวหนังสือที่ผมคิดจะอ่าน
อาจมีหลายคนเป็นแฟนหนังสือของพศิน มีเพจกลุ่มชมรมรักพศิน อินทรวงค์ด้วย เป็นเรื่องต่างจิตต่างใจ ส่วนตัวผมไม่ได้มีอะไรกับผู้เขียน ประเด็นที่ผมอยากสื่อคือนัยของหนังสือประเภทนี้ที่มีต่อสังคมต่างหาก
ต้องพูดอย่างเจาะจงว่าวิธีคิดของ ‘พุทธเถรวาทแบบไทย’ ซึ่งเป็นพุทธที่อิง (และเป็นเครื่องมือ) กับอุดมการณ์รัฐ ส่งเสริมลำดับชั้นทางสังคมผ่านแนวคิดเรื่องบุญ-กรรม (มีหนังสือและบทความมากมายที่วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้) เป็นพลังอนุรักษ์นิยมรูปแบบหนึ่งที่ส่งผลต่อสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองไทย
อีกความคิดหนึ่งที่ถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานและหยั่งรากลึกคือ พุทธศาสนาดีที่สุด สามารถนำมาใช้ได้ดีเยี่ยมกับทุกเรื่องราวในจักรวาล แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง สิทธิมนุษยชน ไม่รู้ว่ามีใครคิดไกลถึงขั้นว่าสามารถแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์แล้วหรือยัง ซึ่งแม้แต่วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่อาจเทียบเคียง อารมณ์ประมาณชื่อหนังสือว่าไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น นั่นแหละ
เราจึงพบเห็นหนังสือมากมายที่นำแนวคิดหรือหลักคำสอนของพุทธศาสนามาปรับประยุกต์เป็นหนังสือแนวพัฒนาตนเองหรือฮาวทู เช่นหนังสือเล่มนี้
ผมเปิดดูหนังสือเล่มนี้ผ่านๆ บทแรก...อย่างที่บอก พูดถึงความเป็นเลิศของพุทธศาสนาที่สามารถดลบันดาลได้ทุกอย่างแม้กระทั่งความร่ำรวย ดังนั้น เราจึงควรเชื่อพระพุทธเจ้า
เนื้อหาตามสารบัญ ประกอบด้วย 1.ทำไมต้องเชื่อพระพุทธเจ้า 2.สร้างทัศนคติเศรษฐี 3.หยุดซวย: ยุติเคราะห์กรรมในปัจจุบัน 4.เรียกโชค: เร่งสิ่งดีๆ สู่ชีวิต 5.ประสานผลประโยชน์ ผูกมิตร 31 ภพภูมิ 6.สร้างแรงดึงดูดแห่งจิต 7.ลงทุนข้ามชาติ
จากปกหลังเห็นได้ว่ามีเรื่องการทำบุญ ทำทาน เสียสละ อุทิศส่วนกุศล ผมมีคนใกล้ตัวที่บริจาคที่ดินให้วัดทั้งที่ยังไม่มีบ้านซุกหัวนอนเป็นของตัวเอง ทำบุญมากมายเกินกำลังแต่ปัจจุบันก็แค่พอมีพอกิน หยุดความซวยด้วยการหยุดกรรมชั่ว ผมเข้าใจว่าการพนันเป็นบาปในพุทธศาสนา ถ้าเช่นนั้นการซื้อล็อตเตอรี่ย่อมเป็นบาป แต่ถามว่าเราจะห้ามคนหาเช้ากินค่ำไม่ให้เสี่ยงโชคในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำสูงปานยอดเมฆได้หรือ
พวกเขาไม่ได้คิดว่าตนทำบาป แต่พวกเขาคิดว่าตนเองกำลังซื้อความหวังต่างหาก
ผูกมิตร 31 ภพภูมิ คืออะไร? แค่ภพภูมิปัจจุบันชีวิตยังยากเย็น
ประเด็นที่ตอกย้ำซ้ำฝังค่านิยมบุญ-กรรมและลำดับชั้นในสังคมคือตอนสุดท้าย ‘ลงทุนข้ามชาติ’ สุดท้ายแล้ว พุทธเถรวาทแบบไทยก็ไม่สามารถก้าวพ้นแนวคิดนี้ได้ ทำบุญไม่ได้หวังรวยชาตินี้ แต่หวังรวยชาติหน้า ได้เกิดเป็นเจ้าคนนายคน ชาตินี้มีกรรมทำมามากจากชาติที่แล้ว ต้องยอมรับผลกรรม ก้มหน้าก้มตาทำบุญ ปล่อยให้คนรวยเสวยสุขเพราะเขาทำบุญมาดี
อย่าครับ!
อย่าริตั้งคำถามต่อความไม่ยุติธรรมทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม โครงสร้างที่กดทับคนส่วนใหญ่และเอื้อประโยชน์ให้คนส่วนน้อย
อย่าตั้งคำถามกับศาสนาพุทธ
อย่าตั้งคำถามกับคำสอนของพระพุทธเจ้า
ไม่เห็นหรือว่ามีคนทำบุญแล้วร่ำรวย? คำถามที่ต้องใคร่ครวญโดยการกลับมุมคือหรือเขาร่ำรวยอยู่แล้วจึงทำบุญ? แล้วการทำบุญเป็นปัจจัยเดียวของความร่ำรวยหรือ?
ผมคิดว่าหนังสือประเภทนี้ กลุ่มผู้อ่านไม่ใช่คนหาเช้ากินค่ำทำงานสายตัวแทบขาด แต่เป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่มีความรู้และรายได้ประมาณหนึ่ง เพราะมันหยิบยื่นความหวัง มันปลอบประโลมชีวิตที่ต้องเจอกับเรื่องร้ายๆ แบบชนชั้นกลาง มันทำให้อยู่เป็น แยกตนเองออกจากสังคมเหมือนกับหนังสือฮาวทูอันดาษดื่นที่ความสำเร็จเริ่มต้นที่ตัวเราเอง ซึ่งในมิติของหนังสือเล่มนี้คือการทำบุญ ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เมื่อเราเป็นคนดีแล้ว สังคมก็จะดีขึ้นเอง
แล้วมันจริงไหม?
อย่างไรเสีย คนไทยที่ยังเชื่อมั่นศรัทธาในศาสนาพุทธคงอยากทำบุญตามความเชื่อที่ถ่ายทอดต่อกันมา แต่บ่อยครั้งปากท้องและความหิวมันไม่อนุญาต การนำคำสอนของพุทธศาสนามาปรับเป็นหนังสือฮาวทูไม่ได้เปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศไทยมีคนร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ครอบครองทรัพย์สินเกินครึ่งค่อนประเทศและคนมากกว่ามากมีต้นทุนชีวิตติดลบ แล้วยังจะเรียกร้องให้คนกลุ่มนี้เจียดเงินมาทำบุญ สละเวลาซึ่งมักไม่ถูกคิดว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าให้มานั่งสวดมนต์ภาวนากระนั้นหรือ?
หรือจริงๆ แล้ว คนกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของหนังสือตั้งแต่ต้น
พุทธเถรวาทแบบไทยจะเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อรับใช้ผู้คน คนตัวเล็กตัวน้อย คนยากคนจน คนที่ถูกกดทับจากโครงสร้างอย่างไร ในสังคมที่คำถามเรื่องความเป็นธรรม ความเสมอภาค ความเท่าเทียมกึกก้องขึ้นทุกขณะ
นี่คือความท้าทายอย่างยิ่งยวดและไม่ง่ายที่จะหาคำตอบ
https://www.facebook.com/NokPanejorn/posts/392194345546016
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in