เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
What I watchedDetached Girl
Green Book/กรีนบุ๊ค
  • "ค่าของคนขึ้นอยู่กับผลงาน แต่ความเป็นคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับอะไรเลย"



    สารภาพว่าไม่ได้รู้จักผกก. คนนี้แต่พอบอกว่ากำกับ There’s Something About Mary นี่อ๋อเลย เพราะเป็นหนึ่งในหนังที่นี่ชอบมากเช่นกัน เป็นคนที่เก่งเรื่องการนำเสนอแก่นหลักของเรื่องแบบเนียนๆ ให้คนดูซึบซับจากภาพยนตร์เอาเอง เรื่องนี้ก็เหมือนกัน โปสเตอร์แบบดราม่า เนื้อเรื่องโร้ดมูฟวี่+หนัง Buddy แต่แก่นสารที่แท้จริงคือประเด็นการเหยียดเพศอย่างรุนแรงในอเมริกาช่วงยุค 60s ถามว่ารุนแรงขนาดไหน ก็ถึงขนาดที่มีหนังสือ Green Book ที่ว่าด้วยเรื่องการเดินทางอย่างปลอดภัยในอเมริกาสำหรับคนผิวสี ขนาดนั้นเลย


    หนังถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครหลักสองคน คือ Tony Lip และ Don Shirley โทนี่นั้นเป็นชาวอเมริกันอิตาเลียน อาศัยอยู่ในนิวยอร์ค ส่วนเชอร์ลีย์คือบุรุษผิวสีผู้เป็นอัจฉริยะด้านเปียโน จบเอกด้านดนตรีจนทำให้คนเรียกเขาว่าดร. (ตลกตอนโทนี่นึกว่าเชอร์ลีย์เป็นหมอ 555) เชอร์ลีย์ต้องการคนขับรถสำหรับทัวร์แสดงดนตรีของเขาในอเมริกา ส่วนโทนี่ต้องการเงิน ทั้งสองคนก็ได้มาร่วมชะตากรรมกันด้วยประการฉะนี้

    Tony Vallelonga

    โทนี่เป็นตัวแทนของคนอเมริกันแบบห่ามๆ ถึงจะอาศัยอยู่ในนิวยอร์คแต่ก็ไม่ใช่ชาวหัวสูงแห่ง fifth avenue แต่อย่างใด เป็นมนุษย์ที่ตัดสินค่าของคนจากเงิน มีบางฉากที่แสดงว่าเขาไม่ได้เห็นความเป็นคนอยู่ในชาวผิวดำ แต่เพียงเพราะเชอร์ลีย์มีเงินจ้างเขา เชอร์ลีย์ถึงได้มีค่าในสายตาเขาขึ้นมา แต่นานๆ เข้า เขาก็ได้เปิดใจยอมรับในความเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกของอีกฝ่าย ลุง Viggo แสดงดีมากๆๆ เท่มากๆๆ ถึงแม้จะลงพุงไปแล้วก็ตาม

    Don Shirley

    ชายผิวสีผู้พยายามต่อสู้ให้กับความเป็นคนของตัวเอง แน่นอนว่าตัวเขามีคุณค่า ความสามารถทางดนตรีทำให้เขามีค่า(ซึ่งหาไม่ได้มากนักในคนผิวสีสมัยนั้น) แม้กระทั่งบางทีที่สีผิวของเขาก็ทำให้เขามีค่า (มีฉากนึงที่เราประทับใจมากที่โทนี่ภูมิใจกับเส้นสายของคนผิวสี แต่เชอร์ลีกับรู้สึกเสียใจที่สีผิวของเขาไม่ได้รวมอยู่ในบรรทัดฐานความเป็นคน) แต่สิ่งที่เชอร์ลีย์ต้องการจริงๆ คือการที่คนได้เห็นว่าไม่ว่าเขาจะมีผิวสีอะไร ชอบกินอะไร ใช้ชีวิตแบบไหน ยังไงเขาก็เป็นคน บรรทัดฐานที่เชอร์ลีย์ได้รับทำให้เรารู้สึกปวดใจมากจริงๆ 


    เป็นหนังที่คู่ควรคุณค่ากับรางวัล Best Picture มากๆๆ หนังมีมุมมองยิบย่อยอะไรมากกว่านั้นให้คนดูสนุกตามไปด้วย เช่น โทนี่กับเมียของเขา เชอร์ลีย์กับความเหงาของเขา วัฒนธรรมคนขาว-คนดำ จริงๆ อยากเขียนมากกว่านี้แต่กลัวสปอยล์ 

    สุดท้าย อยากจะบอกว่าประทับใจเรื่องนี้มากจริงๆ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว การเหยียด หรือสร้างบรรทัดฐานในสังคมนั้นยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน ขนาดดูหนังจบเรามาไถทวิตเล่น ยังเจอเรื่องการสร้างค่าว่าผู้หญิงต้องแต่งหน้า สวมกระโปรง ถึงจะแปลว่าแต่งตัวสุภาพ ดูหนังเรื่องนี้จบแล้วชวนให้เราตั้งคำถากับตัวเองว่าไม้บรรทัดที่คนเราเอาไปกะเกณฑ์สิ่งนี้ๆ ว่าต้องเป็นแบบนี้ จริงๆ แล้วมันจำเป็นหรือไม่

    หรือมันถึงเวลาแล้ว ที่จะโยนไม้บรรทัดเหล่านั้นทิ้งไปเสีย
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in