เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Movie(s)Red Suanmali
Memoria (2021) ควาทรงจำไร้รูปร่างอันกึกก้อง
  • Memoria (2021, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล)


    เช่นเดียวกันกับที่เคยเขียนถึงเอาไว้ในบทความของหนังเรื่อง พญาโศกพิโยคค่ำ การมีอยู่ของภาพยนตร์ประเภทนี้เห็นจะเป็นการดีที่ทำให้เราได้ใช้สถานที่ซึ่งถูกเรียกว่า โรงภาพยนตร์/หนัง ในอีกแง่มุมหนึ่งนอกเหนือจากการปล่อยกายปล่อยใจรับความบันเทิง เป็นแง่มุมของการชื่นชมและรับรู้ถึงศิลปะที่เชิญชวนให้เราตีความไปต่าง ๆ นานาตามแต่ใจต้องการจากความไม่รู้เกินเข้าใจ มีเพียงเรื่องราวของมันเท่านั้นที่ช่วยห้อมล้อมกรอบเอาไว้ไม่ให้ความคิดความอ่านของคนดูนั้นกระเจิงจนกู่ไม่กลับ


    ย่อหน้าเอาฮาแต่ก็ชวนคิดจริงจัง หากตัวผู้เขียนลองคิดแบบติดตลกไม่ยึดถือความเป็นจริงผ่านกระบวนการตีความอันทื่อ ๆ ซื่อ ๆ ตามที่ตาเห็นจากการได้เห็นถึงสิ่งที่ตัวเจสสิก้า (ทิลด้า สวินตัน) สามารถทำได้ในตอนขมวดจบทุกอย่าง คงกล่าวได้ว่า เราได้ไตรภาคหนัง X-men ตามใจตัวเองแล้ว (Doctor Sleep, Last Night Soho และ Memoria)


    จากท่าทีอันค่อยเป็นค่อยไปของเรื่องราว การที่เหล่าคนดูผู้พยายามคลายการขมวดคิ้วของตนด้วยการค้นหาต้นตอของเสียงที่เจสสิก้าได้ยินนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เอาเข้าจริงแล้วแทบจะเป็นหลักใหญ่สำคัญที่ทำให้คนดูเกาะเกี่ยวไปกับตัวหนังได้ตั้งแต่ต้นจนจบเลยก็ว่าได้ ทว่าในทางกลับกัน หากลองเปลี่ยนจากการพยายามหาที่มาของทุกสิ่งอย่าง แล้วหันมาตั้งใจฟังเสียงรอบข้างให้ดี มันอาจทำให้เราได้ยินเสียงที่มาในรูปแบบของความทรงจำอันไร้รูปร่าง ซึ่งถูกบันถึงอยู่ในบางสิ่งบางอย่างที่มีรูปร่างให้เราได้จดจำมัน แม้มันจะมีขนาดเล็กเพียงก้อนกินก็ตามที เพราะเสียงของคนตัวเล็กอาจดังกึกก้องกังวานกว่าเสียงของอนุสาวรีย์อันใหญ่โตที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงความทรงจำที่ถูกตัดสินว่ามีความสำคัญ


    อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คนดูอย่างเรา ๆ ไม่อาจมองข้ามได้คือการที่ คุณเจ้ย ผู้กำกับสามารถถ่ายทำจากโคลอมเบียให้เหมือนอยู่ที่ประเทศไทยได้อย่างชวนให้ไขว้เขวทางสายตาในบางเวลา ซึ่งสิ่งนี้ถูกอธิบายในบทความของ รศ.ดร.แพร จิตติพลังศรี ที่กล่าวว่า “อยู่ไกลจากเราที่สุด แต่ก็เหมือนเรามากที่สุด” หรือการที่โคลอมเบียนั้นคือ Antipode (ฝั่งตรงข้ามของโลก) ของประเทศไทย ความใกล้เคียงกันของภูมิประเทศและภูมิอากาศยังก่อให้เกิดภาพลวงตาทางสถานที่และความทรงจำต่อคนดู เพราะไม่มากก็น้อย อาจมีชั่วครู่หนึ่งที่ต้องแวบไปนึกถึงแม่สอดแทนที่จะเป็นโคลอมเบีย


    ซึ่งการสร้างภาพลวงตานี้เองก็ยิ่งช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับท่าทีของเจสสิก้าที่อาจเป็นโรค exploding head syndrome ซึ่งได้ยินเสียงลวงหู รวมไปถึงความเป็นไปของอาการประสาทหลอนจากการบอกเล่าของตัวเธอเอง ที่ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นได้ทั้งคำพูดประชดประชัน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าอะไรจริงไม่จริง


    วกกลับมาที่เรื่องของ Antipode สิ่งหนึ่งที่หลุดขำแบบให้กลั้นคงต้องมีจิกเท้าทะลุพรมโรงหนังคือ ช่วงเวลาที่เจสสิก้าไปปรึกษาหมอ การที่หมอเลือกจะไม่จ่ายยาให้เพียงเพราะเธอดูเหมือนคนที่ใช้แล้วติด แทนที่จะอธิบายถึงข้อพึงระวังและความพอดีในการกินยานั้น ๆ ทว่าสิ่งที่หมอเลือกแนะนำเธอกลับเป็นใบปลิวพระเยซู นอกจากนี้หากพินิจพิเคราะห์จากอายุอานามของตัวหมอ มันก็ไม่ต่างอะไรจากคนเถ้าคนแก่ของประเทศไทยผู้เลือกที่จะพึ่งพาศาสนามากกว่าการแพทย์เป็นอันดับแรก


    การทำให้เสียงจับต้องได้และมองเห็นราวกับวัตถุ ทั้งจากเทคโนโลยีการสร้างเสียงผ่านหน้าจอ เสียงที่ถูกบันทึกเอาไว้ผ่านความทรงจำในวัตถุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน หรือโครงกระดูกจากการขุดซากโบราณคดี ความนิ่งเงียบของภาพเคลื่อนไหวอันนิ่งสงัด ไปจนถึงการยังคงอยู่ของเสียงในช่วงเวลาที่ทุกอย่างมืดดับ ทุกอย่างเปรียบเสมือนเครื่องตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของโรงภาพยนตร์ที่ต่อให้จะผ่านไปกี่ยุคสมัย สถานที่แห่งนี้ก็ไม่อาจถูกละทิ้งไปได้ด้วยหน้าที่ของมัน เพราะคงเป็นไปไม่ได้เลยที่ Memoria จะสามารถปลดปล่อยศักยภาพสูงสุดออกมา หากสถานที่ฉายนั้นไม่ใช่ “โรงภาพยนตร์”


    เขียนโดย: พัทธนันท์​สวนมะลิ

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in