เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Movie(s)Red Suanmali
The Godfather (1972) สองพ่อลูกผู้ขึ้นหลังเสือ
  • The Godfather


    ในปี 2018 หอภาพยนตร์ได้นำ The Godfather ทั้ง 2 ภาค กลับมาฉายอีกครั้งยังโรงภาพยนตร์สกาล่า (ที่ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว) ซึ่งเป็นความน่าเสียดายอย่างใหญ่หลวงในชีวิตจากความไม่รู้ ส่งผลให้โอกาสที่อาจหาไม่ได้อีกหลุดลอยไป ทว่าเมื่อลองมองย้อนกลับไป หากมีโอกาสได้ดูในโรงสกาล่าจริง ๆ เราก็คงเข้าใจถึงความยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลาที่หนังสั่งสมบารมีมากว่าหลายทศวรรษเพียงอย่างเดียว เพราะด้วยความไม่ประสีประสากับภาพยนตร์ในตอนนั้น พูดได้ว่าเราคงไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการนำเสนออันหลักแหลม คมคาย และชาญฉลาด ต่างจากตอนนี้ที่แม้จะยังไม่ถ่องแท้ แต่ก็เข้าใจได้อย่างลึกซึ้งถึงเรื่องราวของครอบครัว “คอร์ลิโอเน่” ที่สองสมาชิกภายในบ้านต้องโอบอุ้มคนอื่นจากบนหลังเสือที่มีชื่อตำแหน่งว่า “ดอน”


    เพียงแค่ต้นเรื่องกับฉากงานแต่งงานของลูกสาวคนเดียวในบ้าน ผู้กำกับนาม ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ก็โชว์เก๋าให้คนดูได้เห็นถึงงานกำกับชั้นยอดที่ไม่เพียงแค่นำเสนอถึงความครื้นเครงในงานรื่นเริง แต่พร้อม ๆ กันยังปูพื้นเพอันดำมืดของครอบครัวคอร์ลิโอเน่ให้คนดูได้รับทราบอย่างหมดจด โดยเฉพาะกับฐานะบารมีทางการงานของคนผู้พ่อ (ดอนวีโต้ คอร์ลิโอเน่) รวมไปถึงสถานะคนนอกของลูกคนสุดท้อง (ไมเคิล คอร์ลิโอเน่) ผู้แตกต่างอย่างสมยอม ฉากที่ไมเคิลเล่าวิธีการทำงานของครอบครัวเขาให้กับแฟนสาว (เคย์ อาดัมส์) ฟัง จึงไม่เพียงแต่เป็นกลวิธีการเล่าเรื่องอันแสนชาญฉลาดในการให้คนดูได้เข้าใจถึงประโยค “ข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้” แต่ยังเป็นการตอกย้ำผ่านการแสดงของ อัล ปาซิโน ควบคู่กับประโยค “นั่นคือครอบครัว แต่ไม่ใช่ตัวผม” ว่าเขาคือคนนอกที่จะไม่ยอมเข้าไปเป็นคนใน


    ไม่เพียงเท่านั้น การแนะนำตัวละครหลักและรองภายในงานแต่ง ทั้งในรูปแบบของตัวเป็น ๆ หรือเอ่ยถึงนั้นเปรียบเสมือนการเปิดลู่ทางการเล่าเรื่องให้กว้างมากพอที่จะแสดงให้คนดูได้เห็นในช่วงเวลาต่อไปถึงความชาญฉลาดของบทซึ่งเต็มไปด้วยชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง และคงไม่ต้องสาธยายอะไรมากมายถึงความหนักแน่นทางการบอกเล่าที่เนื้อหาหลังงานแต่งนั้นบอกกับคนดูให้รู้แจ้งใน “ข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้” ว่ามันไม่ใช่แค่ประโยคพูดเอาเท่ แต่มันคือคำเตือนของ “ดอน” ต่อผู้รับข้อเสนอที่ยังรักในชีวิตและทรัพย์สินของตน


    เนื้อหาหลักของหนังจึงไม่จำเป็นต้องมากความอะไรให้ยืดเยื้อ พาคนดูไปรับรู้ถึงปมปัญหาระหว่างแก๊งค์ที่พร้อม ๆ กันนั้นก็แสดงให้เห็นถึงบุคลิกนิสัยของอีก 2 สมาชิกภายในบ้าน ได้แก่ พี่คนโต ซันนี่/ซานติโน่ ผู้ใช้อารมณ์นำพา และ เฟรโด้ พี่คนกลางผู้ไร้ประโยชน์ต่อครอบครัว ซึ่งเมื่อถึงคราวที่ครอบครัวคอร์ลิโอเน่สั่นคลอน แม้แต่คนดูต่างก็รู้ดีว่า ไม่มีลูกคนไหนที่มีเขี้ยวเล็บพอจะสามารถก้าวขึ้นมาแบกสู้อุ้มชูให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ในทางกลับกัน ไมเคิล แลดูจะกลายเป็นคนที่มีคุณสมบัติและภูมิฐานเหมาะสมที่สุดยิ่งกว่าเหล่าพี่ ๆ ซึ่งเป็นคนใน โดยท่าทีการพูด น้ำเสียง กระทั่งเวทย์มนต์จากการตัดต่อที่แสดงให้เห็นว่า เขาไม่ได้สั่นกลัวเลยสักนิด ก็พอจะทำให้คนดูรู้สึกได้ถึงความคล้ายคลึงต่อผู้เป็นพ่อแบบจับวาง แม้สุดท้ายเขาจะถูกหยอกล้อจากพี่ ๆ ด้วยสถานะคนนอก แต่เมื่อถึงคราวปฏิบัติจริง หนังก็แสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าใครคือคนที่เหมาะสมจะขึ้นหลังเสือคนต่อไป


    ด้วยเหตุนี้เอง หนังจึงพาคนดูไปรู้จักกับ ไมเคิล อย่างค่อยเป็นค่อยไปผ่านช่วงเวลาที่ซิซิลี ให้คนดูได้เห็นถึงความสามารถอันมากพอในการควบคุมสถานการณ์และบุคคลให้อยู่ภายใต้อาณัติของเขา การค่อย ๆ สร้างสมบารมีในซิซิลีเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ผู้สร้างใช้สำหรับลบข้อกังขาที่คนดูมีต่อ ไมเคิล ชายผู้ครั้งหนึ่งเคยเป็นคนนอกอย่างเต็มตัว จนถึงคราวที่ก้าวเท้าเข้ามา เขาก็กลายเป็นคนในยิ่งกว่าใคร ๆ เพราะหลังจากนั้นการแสดงชั้นครูของ อัล ปาซิโน จะแสดงให้เราเห็นถึงพัฒนาการของตัวละครที่นุ่มลึกผ่าน ท่าทาง น้ำเสียง วิธีการพูด สีหน้า และแววตา ไม่แพ้ไปกว่ารุ่นใหญ่อย่าง มาร์ลอน แบรนโด (ดอนวีโต้) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนังจะสามารถลบข้อกังขาที่คนดูมีต่อ ไมเคิล ได้แล้ว แต่ไม่ใช่กับคนในครอบครัวคอร์ลิโอเน ที่เขานั้นต้องพิสูจน์ตนเพื่อให้ทุกคนอยู่ภายใต้อาณัติด้วยแรงของเขาเอง ไม่ใช่จากคำพูดของผู้เป็นพ่อที่กล่าวต่อคนอื่นว่า “จงเป็นเพื่อนกับไมเคิล แล้วทำตามเขาบอก”


    กล่าวได้ว่า หนึ่งในตัวละครที่มากด้วยลูกเล่นที่สุดคือ ดอนวีโต้ หลายครั้งหลายคราวเราได้เห็นถึงความแข็งกร้าวอย่างน่ากลัว ขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นถึงความอ่อนโยนของชายผู้ที่ให้ครอบครัวเป็นสำคัญ นอกจากนี้เมื่อเรื่องราวดำเนินมาเรื่อย ๆ หนังยังแสดงให้เราเห็นถึงสภาพอันอ่อนแอของ ดอนวีโต้ จนแทบจะพูดได้ว่า เขานั้นไม่ต่างอะไรจากตาแก่ไร้พิษภัยที่เขี้ยวเล็บนั้นทื่อเกินกว่าจะไปข่วนใครเขาได้ ซึ่งนับว่าเป็นบท การกำกับ และการแสดงที่นำเสนอออกมาได้อย่างแยบยลผ่านความเป็นมนุษย์อย่างที่สุด เพราะทุกอย่างก็กลับตาลปัตรในฉากประชุม 5 ก๊ก ที่ท่าทีอันยิ่งใหญ่ของ ดอนวีโต้ นั้นยังแจ้งให้ทราบถึงความน่ากลัวของชายผู้อยู่บนหลังเสือแบบเงียบ ๆ ไม่โผงผาง ไม่สะดุดตา แต่เมื่อใดก็ตามที่เขาเอ่ยปากพูด นั่นคือข้อพิสูจน์ว่า ชายคนนี้ไม่เคยสิ้นเขี้ยวเล็บไปแม้สักนิดเดียว


    ทว่าทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนผ่าน ฉากการพูดคุยระหว่าง ไมเคิล และดอนวีโต้ จึงไม่ใช่แค่การขอคำปรึกษาของผู้มาใหม่ต่อรุ่นใหญ่ที่เจนสนาม แต่ขณะเดียวกันนั้นเองก็เป็นบทสนทนาระหว่างพ่อกับลูกผู้มีหน้าที่ในการแบกรับภาระให้ครอบครัวของพวกเขาทั้งสองไม่ดิ่งลงเหว ซึ่งไมเคิลต่างคอยย้ำเตือนอยู่ตลอดว่า เขาเอาอยู่ แต่ในมุมมองและสายตาของผู้เป็นพ่อนั้นกลับเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ไม่ใช่ความกลัวในเรื่องของการเอาอยู่หรือเอาไม่อยู่ แต่เป็นความกลัวเกรงที่วีโต้นั้นรู้ดีกว่าใครว่า ไมเคิลนั้นเหมือนกับเขามากจนเกินไป ความสุขุมเยือกเย็นที่นำไปสู่ความกล้าตัดสินใจอันน่ากลัว การใช้ชื่อว่า “ดอน” อาจทำให้ลูกชายคนสุดท้องของเขาอายุสั้น แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้อายุของครอบครัวยืนยาว


    หนึ่งในตัวละครที่เปรียบเสมือนสื่อกลางภายในเรื่องคือ ทอม ผู้มีหน้าที่คอยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนดูและเรื่องราว หลายครั้งที่หนังเปลี่ยนไปเล่าอยู่ในมุมมองของเขาซึ่งมีสถานะเป็น “ที่ปรึกษา” ของดอนวีโต้ (และเป็นลูกบุญธรรม) เราจะเห็นได้ว่า ดอนวีโต้ นั้นจะถามความเห็นของ ทอม เป็นอันดับแรกเพื่อนำมาสนับสนุนความคิดของเขาก่อนลงมือทำ นอกเหนือจากนี้ ทอม ยังเป็นตัวละครที่แสดงให้เราเห็นถึงความไม่เหมาะสมในการขึ้นหลังเสือของ ซันนี่ จากการมีปากมีเสียงจนเกือบจะบาดหมางกันหลายต่อหลายครั้งเมื่อบทสนทนานั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องงาน ทว่าเมื่ออยู่กับ ไมเคิล เขาก็ยิ่งเป็นเครื่องตอกย้ำถึงความคล้ายเหมือนระหว่าง ไมเคิล กับ ดอนวีโต้ และถึงแม้ว่าเขาจะถูกลดบทบาทลง แต่ในที่นี้ก็เพื่อเป็นการส่องสปอตไลท์ไปยังไมเคิลได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยที่เขานั้นยินดีจะถอยฉากออกมา


    เมื่อถึงฉากรับศีลจุ่ม การที่ ไมเคิล รับตำแหน่งเป็นพ่อทูนหัว (Godfather) ให้หลาน คือข้อสรุปให้เห็นถึงความสามารถในการเล่าเรื่องที่มากด้วยชั้นเชิงอย่างน่าตกตะลึงของหนังเรื่องนี้ การกำกับของ คอปโปลา ในฉากนี้เพียงฉากเดียวแสดงให้คนดูเห็นถึงการเข้ารับตำแหน่งพ่อทูนหัว และตำแหน่งก็อดฟาเธอร์ภายในเวลาเดียวกันได้อย่างแนบเนียนแต่โจ่งแแจ้ง ตั้งแต่การเล่าเรื่องที่ใช้ความนิ่งเป็นจังหวะ แล้วจึงค่อย ๆ เร่งประสานกับบทเพลงภายในโบสถ์คาทอลิก การลำดับภาพที่ต่อให้นำมาเทียบกับหนังสมัยนี้ก็ยังคงเหนือชั้นเป็นไหน ๆ อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความหลักแหลมของ ไมเคิล ชนิดที่ว่า คนดูหรือแม้แต่ครอบครัวคอร์ลิโอเนก็ไม่กล้าที่จะตั้งคำถามต่อการอยู่ภายใต้คำพูดของเขาอีกต่อไป


    เขียนโดย: พัทธนันท์ สวนมะลิ

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in