The Medium | ร่างทรง
ในความเห็นของผู้เขียน เราค่อนข้างชอบช่วงต้นเรื่องที่หนังยังคงเล่าเกี่ยวกับตัวละคร ป้านิ่ม เพียงคนเดียวเป็นพิเศษ มันเป็นช่วงเวลาที่คละคลุ้งไปด้วยความเนิบนาบของการเล่าเรื่อง อีกทั้งยังเป็นการบอกเล่าให้คนดูอย่างเรา ๆ รู้สึกถึงบรรยากาศอันแสนลี้ลับของหมู่บ้านกลางป่าเขาที่มี "ย่าบาหยัน" เป็นศูนย์กลางความเชื่อได้อย่างน่าพิศวงใจ
คงไม่ต้องกล่าวอะไรมากถึงระดับความบ้าคลั่งที่หนังมอบให้ หรือจะเป็นความปั่นประสาทในช่วงต้นที่ตลบไปมาให้พอมีชั้นเชิง ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนสนใจที่สุดคือ ความแตกสลายของผู้เป็นแม่ ที่นำเสนอผ่านตัวละคร น้อย ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ การแสดงผ่านสีหน้า ท่าทาง ของ คุณศิราณี ญาณกิตติกานต์ แสดงให้เราเห็นถึงความจนตรอกทางจิตใจ จากท่าทีฟูมฟายสู่การยิ้มทั้งน้ำตาพร้อมกับประโยคที่ว่า "ใครจะไปก็ไป แต่ชั้นจะอยู่กับลูกเอง" ตัวละครของเธอจึงชัดเจนว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคนหนึ่ง แม้จะไม่ใช่ในทางกายภาพ แต่ในทางจิตใจ ความเชื่อ ความศรัทธาของเธอถูกทำลายล้างอย่างหมดสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายจึงไม่ต่างอะไรจากการละทิ้งความเป็นตัวเอง อุทิศร่างกาย จิตใจ และความเชื่อของตนเพื่อให้ทุกอย่างจบลงด้วยดี
ทว่าก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ร่างทรง เป็นหนังที่เต็มไปด้วยแผลมากมายจากการสะดุดขาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการนำเสนอผ่านรูปแบบ mockumentary ที่ในบางจุด (เช่น การซ่อนกล้อง) ก็ช่วยทวีคูณความไม่น่าอภิรมย์ใจของบรรยากาศรอบตัวตัวละครให้มีความไม่น่าไว้วางใจยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ความห่วงกล้องยิ่งกว่าชีวิต รวมไปถึงความไม่สมเหตุสมผลในการเลือกถ่ายบางฉากบางตอนก็ยิ่งทำให้การถ่ายทำนั้นดูไม่แข็งแรง บางทีตากล้องภายในเรื่องนี้ควรถูกยกย่องว่า "มีจิตวิญญาณความเป็นตากล้องอย่างสูงล้น" ด้วยซ้ำไป
นอกเหนือจากนี้ โต้ง บรรจง ก็ยังคงเป็นผู้กำกับที่แสดงให้เห็นถึงการตัดสินผู้หญิงจากในหนังของตนอยู่เช่นเคย แม้ว่าการถูกผีเข้าของตัวละคร มิ้ง จะเต็มไปด้วยสาเหตุมากมาย ซึ่งมีทั้ง-ที่ฟังขึ้นและชวนให้เลิกคิ้ว เช่น การกระทำของคนรุ่นก่อนที่สุดท้ายแล้วคนรุ่นใหม่กลับต้องเป็นผู้รับเคราะห์ แม้จะดูเชยไปบ้าง แต่ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้หนังยึดโยงเข้ากับการเมืองบ้านเราได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งหนึ่งที่ตะขิดตะขวงใจตั้งแต่ออกจากโรงมาคือ หน้าที่ของฉาก 18+ ในสถานที่แห่งหนึ่ง นอกจากจะเป็นการตัดสินโดยไร้โอกาสแก้ตัวว่า ตัวละครนั้นเป็นคนร่าน แล้วตกลงมันเกี่ยวข้องอย่างไรกับการถูกผีสิงที่กำลังหนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ
ช่วงสุดท้ายที่บ้าคลั่งอย่างน่าอัศจรรย์ใจนั้นก็มีจุดที่เกือบทำให้หนังทั้งเรื่องพังลงจากความเถิดเทิงที่ดูจะผิดวิธีเลือกใช้ไปสักหน่อย แต่จนแล้วจนรอด มหกรรมรุมกินโต๊ะในช่วงท้ายก็เป็นหายนะที่บันเทิงตาอย่างน่ากลัวเกรง นอกจากนี้ การเลือกใช้แบบหลุดกรอบของหนังก็ถูกช่วยเอาไว้ด้วยจังหวะตีหัวลากกลับเข้าบ้านที่หนังเลือกจะสรุปจบทุกอย่างผ่านการตั้งคำถามที่มีพื้นฐานอยู่บนคำว่า "ไม่รู้" ของทั้งตัวละครและคนดู ความไม่รู้ในสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านั้นนำมาซึ่งความไม่รู้ต่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่น พร้อม ๆ ไปกับสั่นคลอนความเชื่อที่หนังนำเสนอมาโดยตลอดได้อย่างราบคาบ ถือเป็นการสรุปจบที่ยอดเยี่ยมมากพอจะกอบโกยเศษแผลของหนังมาปิดบังได้พอมิดชิดอยู่บ้าง
เขียนโดย: พัทธนันท์ สวนมะลิ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in