อย่างที่เราทราบกันดีว่าในงานพระเมรุจะประกอบด้วยพระราชพิธีต่างๆมากมายและแต่ละพระราชพิธีก็ล้วนแล้วแต่มีที่มาแตกต่างกันออกไปนอกจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในงานพระเมรุแล้ว สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคืองานออกพระเมรุเนื่องจากตามคติความเชื่อของชาวตะวันออกและในภูมิภาคของเรานั้นถือว่าการถวายพระเพลิงพระบรมศพมิได้ถือว่าเป็นงานโศกเศร้า เพราะคำว่า สวรรคต หมายถึงการเสด็จสู่สวรรค์ การถวายพระเพลิงจึงเป็นพิธีการขอขมาศพและการแสดงคามเคารพครั้งสุดท้ายจึงมีมหรสพดุจงานมงคล และเป็นงานกึ่งอาลัยระลึก (การสวมชุดดำในงานพระบรมศพหรือในงานศพและการโศกเศร้าเสียใจในงานศพเป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก)
สาเหตุอีกประการหนึ่งของการมหรสพในงานออกพระเมรุมาศ มีวัตถุประสงค์ คือ เมื่อฝูงชนรวมตัวกันมากๆ เมื่อเดินทางมาไกลและยาวนานย่อมต้องดึงดูดให้เกิดความสนใจ เป็นการพักผ่อนและการหาความสุขทางใจจากการดูมหรสพซึ่งแม้ว่าพระผู้สวรรคตไปแล้ว พระบารมียังคงให้ความสุขแก่ปวงชนได้
คำว่า ระทา คือการแสดงดอกไม้ไฟในสมัยก่อน เรียกว่า อัคนีกรีฑา ซึ่งเป็นร้านดอกไม้ไฟตกแต่งงดงามเป็นจุดเด่นของการแสดงหรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หอคอยดอกไม้ไฟเพราะเป็นหอสูงใช้ได้ท้งงานศพและงานฉลอง นอกจากนี้ยังมีการเล่นกายกรรม เช่น ไต่ลวดคาบค้อน นอนหอก นอนดาบ เป็นต้น ส่วนนาฏศิลป์มีทั้งภายในราชสำนักเช่น โขน ละครเป็นต้น การมหรสพทั้งหลายถูกยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เนื่องจากมีพระราชประสงค์ให้เคารพต่อผู้ล่วงลับโดยแท้
ต่อมาการแสดงมหรสพในงานออกพระเมรุมาศถูกรื้อฟื้นอีกครั้งในปีพุทธศักราช2539 ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชชนนีซึ่งประกอบด้วยมหรสพ 4 ชนิดได้แก่หนังใหญ่ โขน ละคร และหุ่นกระบอก
บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายอาลัยโดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้ง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ 12 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วยศิลปินแห่งชาติ ครูนาฏศิลป์ และนิสิต-นักศึกษา สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ วงสหายพัฒนา โรงเรียนราชินี กรมดุริยางค์ทหารบก กองดุริยางค์ทหารเรือ กองดุริยางค์ทหารอากาศ กองสวัสดิการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นับได้ว่าเป็นการถวายพระเกียรติสูงสุดและการถวายความอาลัยในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระผู้ซึ่งเปรียบได้ดั่งพลังของแผ่นดินและเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่านที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาที่มีต่อประชาชนชาวไทยดังนั้นการดำเนินงานจึงต้องเป็นไปด้วยความสง่างาม สมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
เอกสารอ้างอิง
นนทพรอยู่มั่งมี. ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย.พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มติชน,2559.
ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยารวม 3 เรื่อง.-- กรุงเทพฯ:แสงดาว, 2553.
พลาดิศัยสิทธิธัญกิจ. สืบตำนานงานพระเมรุ.นนทบุรี:บันทึกสยาม,2551.
หมายรับสั่งและพงศาวดาร เรื่องมหรสพงานพระเมรุกรุงรัตนโกสินทร์ โดย ดร. อนุชา ทีรคานนท์ สถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ติดตามผ่าน Facebook Page ตำนานเก่าเจ้านายสยาม
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in