เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
No Cat Killed แมวตัวไหนที่ความสงสัยฆ่าrainbowflick17☂️
Netflix at midnight คุณไม่ผิดที่ดูซีรีส์โต้รุ่ง! จิตวิทยาของการขออีกหนึ่งตอน
  •          ดูก่อน นอนทีหลัง อาจเป็นความผิดของเน็ตฟลิกซ์ส่วนหนึ่ง ทั้งฟีีเจอร์ที่รันตอนต่อไปต่อจากเครดิตจบตอนที่แล้วแบบที่ไม่ต้องเสียเวลาคลิกปุ่มถัดไปอะไรทั้งนั้น ทั้งการลงซีรีส์ที่ลงทีทั้งชุดจบครบในครั้งเดียว
             ยิ่งถ้าตอนจบมันจบแบบสุดจะค้าง (Cliffhangers) ทำไมจะต้องรอในเมื่อตอนต่อไปมันอยู่ข้าง ๆ แล้วพอคิดในใจว่าเอาน่า ดูอีกตอนเดียว ตอนนั้นมันก็ดันค้างอีก แล้วห่วงโซ่อารมณ์ค้างนี้กว่าจะจบได้ก็ตอนจบซีซั่นนั่นแหละ
             ความสงสัยว่าตอนต่อไปจะเป็นอย่างไรก็เป็นเหตุผลข้อหนึ่ง แต่กระทั่งซีรีส์ซิทคอม หรือซีรีส์รักโรแมนติกที่ไม่ได้เครียดหรือต้องนั่งลุ้นอะไรมาก ก็ทำให้ติดและดูรวดเดียวทีละหลาย ๆ ตอนได้ 
    ก่อนจะพยายามหาคำตอบว่าอะไรทำให้ติดซีรีส์ มาสำรวจกันก่อนดีกว่าว่าการติดซีรีส์มันเป็นนิสัยของเราคนเดียวที่ควบคุมตัวเองไม่ได้หรือมันเป็นปรากฎการณ์ไปแล้ว

    คุณไม่ได้ติดอยู่คนเดียว

            Binge Watching หรือการดูสื่อบันเทิงติดต่อกันแบบดูไม่หยุดฉุดไม่อยู่ คว้าตำแหน่งคำแห่งปีโดย Collins Dictionary ไปครองในปี 2015 ในขณะที่ Oxford online dictionary ได้เพิ่มคำนี้เข้าไปในคลังศัพท์แล้วตั้งแต่ปี 2014
            เน็ตฟลิกซ์เองได้จัดการสำรวจพฤติกรรมคนดูขึ้นมา และพบว่าผู้ใช้บริการจำนวนถึง  361,000 คน ดู Stranger Things ซีซั่น 2 จบหมดเก้าตอนตั้งแต่วันแรกที่ซีรีส์ปล่อยออกมา  (Page, 2017) 
            เนตฟลิกซ์เคยมีผลสำรวจออกมาอีกว่า ในบรรดาสมาชิกของเน็ตฟลิกซ์ทั้งหมด* 8.4 ล้านคนเคยดูซีรีส์แบบมาราธอนอย่างน้อยก็หนึ่งครั้ง (D'Souza ,2018)

    *เปิดเผยปี 2017 แต่ผลสำรวจที่ใช้ช่วงนั้นน่าจะเป็นปี 2016 ซึ่งตอนนั้นเนตฟลิกซ์มีสมาชิกจ่ายเงินดูอยู่ทั้งหมดประมาณร้อยล้านคนนิด ๆ
  • สมองติดซีรีส์เป็นแบบเดียวกับสมองที่ติดสารเสพติด

    ภาพจาก youtube, lyric video thank u, next ของ Ariana Grande 

                       ดร. (Dr. Renee Carr) นักจิตวิทยาคลีนิกให้คำอธิบายส่วนนี้ไว้ว่า ขณะที่ดูซีรีส์ สมองจะผลิตโดปามีนออกมาทำให้รู้สึกมีความสุข พอมีความสุขแล้วสมองก็จะส่งสัญญาณบอกร่างกายว่า งั้นก็ทำต่อไปสิ (จะได้มีความสุขต่อไปอีกเรื่อย ๆ) โดปามีนที่หลั่งออกมาเรื่อย ๆ นี้มีลักษณะคล้ายกับเวลาเสพสารเสพติด ทำให้เกิดอาการ "pseudo-addiction" หรือเสพติดแบบปลอม ๆ เป็นลักษณะเดียวกันกับที่ติดเฮโรอีน และติดเซ็กส์ ร่างกายแยกไม่ออกว่ากำลังรู้สึกดีกับอะไร รู้แค่ว่ารู้สึกดีเท่านั้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นสาร หรือกิจกรรมชนิดไหน ถ้าสามารถสร้างโดปามีนได้อย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถทำให้ ติด ได้ทั้งนั้น (Page,2017 ; Martinez, 2018)

                    ในงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกันแต่เป็นเรื่อง ติดทีวี ของ Robert Kubey และ Mihaly Csikszentmihalyi ชื่อว่า Television Addiction is no mere metaphor ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า แค่เพียงเริ่มนั่งหรือเอนตัวลงเพื่อเตรียมจะดูทีวีก็ทำให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้นได้แล้ว แต่ถ้าหากปิดทีวี ความรู้สึกผ่อนคลายก็จะหายวับไปทันทีไม่ต่างกัน และเพราะรู้ว่าการปิดทีวีจะทำให้ต้องออกห่างจากความรู้สึกผ่อนคลายดี ๆ ที่ว่า ก็เลยรู้สึกอยากจะเลื่อนเวลาปิดทีวีออกไปเรื่อย ๆ ถึงได้บอกตัวเองว่า อีกตอนเดียวแล้วกัน แล้วก็ดููไปเรื่อย ๆ 

    Robert Kubey ปริญญาเอก พฤติกรรมศาสตร์  (Behavioral Science)
    Mihaly Csikszentmihalyi  ปริญญาเอก จิตวิทยาพัฒนาการเชิงบวก (Positive Developmental Psychology)

    ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นลักษณะเดียวกันกับที่เราติดซีรีส์ในอินเทอร์เน็ต


    สาเหตุอื่น ๆ 

    ภาพจาก 9gag.com

         - ความรู้สึกเข้าถึงตัวละคร เพราะมีอะไรคล้าย ๆ กัน สัมพันธ์กัน หรือเคยผ่านประสบการณ์คล้าย ๆ กันมาก่อน (Relatable) ไม่ได้เพียงทำให้คนดูรู้สึกอินเท่านั้น แต่ยังสามารถเพิ่ม ความภูมิใจในตนเอง (Self-esteem) ได้ด้วย บางครั้งจะรู้สึกราวกับตัวละครนั้นเป็นเพื่อนของตัวเอง ทั้งหมดนี้ทำให้รู้สึกอยากจะติดตามต่อไปเรื่อย ๆ  (Page, 2017)

         - ยิ่งดูซีรีส์นานเท่าไหร่ อยู่กับโลกของเรื่องนั้นนานเท่าไหร่ สมองจะยิ่งตีความเหมือนว่าเรากำลังได้รับประสบการณ์และอารมณ์ความรู้สึกจริง ๆ ในชีวิตจริง ซึ่งทำให้เลิกดูยากขึ้นไปอีก (Khosla, 2019)
         
         - ผลการสำรวจใน ปี 2016 โดยนักวิจับจากมหาวิทยาลัยโทเลโด (University of Toledo) ชี้ให้เห็นว่าสื่อก็มีอิทธิพลเหมือนกัน ยิ่งรู้ว่าคนอื่นก็ดูซีรีส์อดหลับอดนอนเหมือนกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกว่าการ binge watch มันก็ไม่ได้แย่อะไรมาก ทำบ้างก็ไม่เป็นไรนี่ 

         - ถ้าเป็นสาวกเกมออฟโทรน แล้วไม่รีบดูตอนที่มันออกมา พอเปิดโซเชียลก็จะเจอสปอยล์แหลกหลาน หรือถ้าไม่ดู Stranger things ภาคสองตอนนี้เลย เดี๋ยวจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง ลึก ๆ แล้วการดูซีรีีย์ทั้งเรื่องจบในคืนเดียวไม่ได้เพียงเติมเต็มอารมณ์เท่านั้น แต่ยังเติมเต็มการเข้าสังคมในด้านหนึ่งด้วย

  • แล้วเป็นอะไรไหม



    เป็นที่น่าสังเกตว่าพอหยุดดูหรือซีรีส์จบ มักจะรู้สึกโหวง ๆ โล่ง ๆ อยู่เสมอ 

    PBWD ย่อมาจาก Post binge-watch depression หรือบางครั้งก็ใช้ Post binge-watching blues หมายถึงอาการเซ็งซึมหลังหยุดดูซีรีส์ไม่หลับไม่นอน ไม่ใช่คำเป็นทางการหรืออาการที่บรรจุเป็นทางการแต่อย่างใด แต่ชาวเน็ตก็ดูจะใช้คำนี้กันแพร่หลาย เพราะหลาย ๆ คนเป็นเหมือนกัน

    ย้อนกลับไปตอนที่บอกว่าร่างกายผลิตโดปามีนเมื่อเราดูซีรีส์ ในบรรดางานวิจัยทั้งหลายก็บอกว่าเมื่อเราหยุดมันก็ลดนั่นเอง เป็นไปได้ว่ามันเป็นคล้ายผลข้างเคียงหลังจากยาเสพติดหมดฤทธิ์ เพราะสารเคมีที่เคยสูง ๆ ลดลงนั่นแหละ

    การบอกลาตัวละครที่เราติดตามและอินด้วยมาเป็นเวลานานก็มีผลเช่นกัน ระหว่างที่เราดูซีรีส์ ถ้าเรารู้สึกมีความผูกพันกับตัวละครมาก ๆ โดยเฉพาะถ้าดูติด ๆ กันอยู่ในโลกของเรื่องนั้น แล้วต้องจากกันกะทันหันก็ทำให้รู้สึกซึมได้

    เหตุผลง่าย ๆ ชัด ๆ กว่านั้นก็มี เช่น การนั่งอยู่ที่เดิม ใช้สายตานาน ๆ ทำให้รู้สึกล้าเป็นธรรมดา

  • เคล็ดลับการติดซีรีส์แบบสุขภาพดี 

     - ฟังแล้วอาจจะไม่ได้แปลกใหม่อะไรมาก แต่คือ'ความพอดี' นี่แหละ เวลาพูดว่าขออีกตอนเดียวก็อย่าโกหกก็จะช่วยได้มากเลย 
    - แทนที่จะดูรวดเดียวจบก็แบ่งเป็นตอน ๆ เว้นช่องว่างบ้าง 
    - ดูกับเพื่อนแทนที่จะดูคนเดียวก็ช่วยได้ เพราะทำให้มีคนคุยเรื่องเดียวกัน หรือไปคุยกับคนที่ดูเรื่องเดียวกันก็ได้ จะได้ไม่เก็บอารมณ์ไว้กับตัวเองมากเกินไป




    Related Topic 
    ความผูกพันกับตัวละคร /  Parasocial interaction (PSI) 
  • References

    3 Ways to Cure the Post Binge Watching Blues. (2016, April 19). Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=M08iRA74XcQ

    Biton, A. (2018, May 29). Why do people love binge-watching shows. Retrieved from http://www.kiwireport.com/people-love-binge-watching-shows/

    Bobley, G. (18, May 5). Science Can Explain Why You're Bummed When Your Favorite TV Series Ends. Retrieved from https://me.popsugar.com/love/Why-Youre-Depressed-After-Binge-Watching-41319257

    DePaulo, B. (2016, January 8). Watching TV: Why We Love to Binge. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/us/blog/living-single/201601/watching-tv-why-we-love-binge

    D'Souza, D. (2017, December 19). Netflix Doesn't Want to Talk About Binge-Watching. Retrieved from https://www.investopedia.com/tech/netflix-obsessed-binge-watching-and-its-problem/

    Karmakar, M. (2016, March 4). Those post-binge-watching blues? They might be real. Retrieved from https://theconversation.com/those-post-binge-watching-blues-they-might-be-real-52478

    Kubey, Csikszentmihalyi. (2013, August 12). (PDF) Television Addiction is no mere metaphor. Retrieved from https://www.researchgate.net/publication/11531116_Television_Addiction_is_no_mere_metaphor

    Martinez, K. (2018, June 14). Netflix and Chill: Why We Binge Watch. Retrieved from http://kcpr.org/2018/06/13/netflix-chill-binge-watch/

    Page, D. (2017, November 4). What happens in your brain when you binge-watch a TV show. Retrieved from https://www.nbcnews.com/better/health/what-happens-your-brain-when-you-binge-watch-tv-series-ncna816991

    Stone, C. (2014, August 1). How Unhealthy Is Binge Watching? Press Pause, and Read On. Retrieved from https://www.rd.com/culture/binge-watching-unhealthy/
    รูปหน้าปก : แคปมาจาก netflix black mirror


    *แปลและเรียบเรียงส่วนไหนผิดขออภัยล่วงหน้า ทักมาบอกได้เลยนะคะ 


     Contact / ช่องทางการบอก 
    Twitter direct message : @rainbowflick17

    E-mail : rainbowflick37@gmail.com


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in