ตำราลดน้ำหนักไม่เคยแนะนำการทานอาหารไปด้วยดูอย่างอื่นไปด้วย เพราะจะทำให้ทานมากกว่าปกติอย่างน้อย 1 ใน 3 เท่าโดยไม่รู้ตัว แต่ถึงอย่างนั้น การยกข้าวไปกินหน้าทีวีก็ดูจะดึงดูดใจมากกว่ากินในครัวเป็นไหน ๆ คำถามที่น่าสงสัยจริง ๆ คือ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เราไม่ยอมแตะมาม่าในถ้วยจนกว่าจะได้เปิดแลปท็อปเลือกซีรีส์ในเน็ตฟลิกซ์ก่อน
Virtual Socializing (การเข้าสังคมแบบเสมือนจริง)
ถึงแม้จะยังไม่มีคำตอบแน่ชัด แต่ก็มีข้อสันนิษฐานว่าการเป็น "สัตว์สังคม" มีส่วนในการทำให้เกิดพฤติกรรมนี้ขึ้นมา
สังเกตได้ว่า ความรู้สึกอยากดูซ๊รีย์ไปด้วยทานข้าวไปด้วยคงไม่ได้รุนแรงมากเท่าไหร่ หากนั่งอยู่ในร้านอาหารกับเพื่อน (ถึงแม้ต่างคนอาจจะก้มหน้าก้มตาเล่นโทรศัพท์ก็เถอะ) เพราะมีคนให้คุยด้วยอยู่แล้ว และการคุยนี้ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของความบันเทิงที่เราทำระหว่างจัดการกับอาหารบนจาน หรือถึงแม้จะไม่คุยกับเพื่อนเลย อย่างน้อยก็รู้ว่าฝั่งตรงข้ามมีคนอื่นอยู่
คนอื่นในที่นี้จึงทำหน้าที่เป็นคนที่บอกว่าเรากำลังมีปฎิสัมพันธ์กับใครซักคน ซึ่งทำให้สัตว์สังคมอย่างเรารู้สึกสบายอกสบายใจขึ้นมา
ถ้าพูดถึงวัฒนธรรม ในหลาย ๆ วัฒนธรรมก็ใช้เวลาบนโต๊ะอาหาร ไม่ว่าจะเป็นระหว่างทานข้าว หรือหลังทานข้าว ในการพูดคุยสร้างปฎิสัมพันธ์กันด้วย
*ที่ประเทศสเปนมีวัฒนธรรมที่เรียกว่า Sobremesa (แปลตรงตัว Sobre = บน/เกี่ยวกับ ก็ได้ , Mesa = โต๊ะ) ซึ่งหมายความว่าหลังจากรับประทานอาหารแล้วก็จะยังนั่งต่อเพื่อพูดคุย คนไทยเองก็ชอบไม่ต่างกัน หรือคนจีน (เท่าที่เคยได้ยิน) ถึงจะไม่นิยมพูดเรื่องงานธุรกิจสำคัญ ๆ แต่ก็นิยมพูดคุยถามสารทุกข์สุขดิบเรื่องทั่ว ๆ ไป
ดังนั้นเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียว และต้องทานข้าวคนเดียว เราจึงหันไปหาอะไรซักอย่างมาดู อาจเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความรู้สึกว่าอยู่ตัวคนเดียว หรือเพื่อให้ตัวละครในเรื่องที่เรากำลังดูทำหน้าที่เป็นเหมือนคนหรือกลุ่มคนสมมุติที่เราอยู่ด้วย ซีรีส์จึงเข้ามาแทนที่ความรู้สึกเวลาได้ใช้เวลาร่วมกับใครซักคน เป็นการมีส่วนร่วมในสังคมแบบอ้อม ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของสัตว์สังคมนั่นเอง
ชาร์ล สเปนซ์ (Charles Spence) อาจารย์วิชาจิตวิทยาเชิงทดลอง (Experimental psychology) ที่ออกซ์ฟอร์ด เจ้าของหนังสือ Gastrophysics: The New Science of Eating ออกความเห็นว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เราอยากทานข้าวหน้าโทรทัศน์ โดยในโลกที่การทานอาหารกันพร้อมหน้าเป็นครอบครัวลดน้อยลง และคนใช้ชีวิตอยู่คนเดียวมากขึ้น ทำให้คนต้องพยายามหาอะไรทำระหว่างทานอาหาร และคำตอบไปหยุดอยู่ที่การเปิดทีวีไม่ก็เปิดคอมพิวเตอร์ (oduntan, 2018)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in