เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Eyevieweyeyeahz94
Tokyo Story : ความสัมพันธ์ที่ร่วงโรยอย่างงดงามเนิบช้า
  • ถ้าพูดถึงผู้กำกับหนังญี่ปุ่นที่เล่าประเด็นความสัมพันธ์ครอบครัวได้ตราตรึงในความทรงจำของหลาย ๆ คน  ฮิโรคาสุ โคเระเอดะ (Hirokazu Koreeda)  คงเป็น choice แรก ๆ ที่ทุกคนนึกถึง ไม่ว่าจะเป็น Nobody knows (2004) , Like Father,Like Son (2013),After the storm (2016), Shoplifter (2018) และล่าสุด The Truth (2020) ที่กำลังฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์บ้านเรานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการเปิดโปงให้โลกเห็นความสัมพันธ์ครอบครัวที่ท้าทายขนบนิยามของคำว่า "ครอบครัว" ได้อย่างโดดเด่น ก่อนที่วงการทำหนังครอบครัวของญี่ปุ่นจะดำเนินมาถึงจุดพีคที่สุดโดยโคเระเอดะนั้น ยาสึจิโร่ โอสุ (Yasujiro Ozu) คืออีกหนึ่งผู้กำกับที่เล่าเรื่องราวครอบครัวเช่นนั้นผ่าน Tokyo Story ได้อย่างเฉียบคมมาตั้งแต่ปีค.ศ.1953 

    หนังขาวดำเรื่องนี้ทำให้เราหวนนึกถึงภาพครอบครัวเสมือนเป็นภาพในความทรงจำที่ทิ้งไออุ่นเบาบางและสายสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยรอยแยกของสมาชิกครอบครัวแต่ละคน  ความรักความผูกพันของครอบครัวในเชิงอุดมคติที่ถูกเปิดเปลือยอย่างแช่มช้า ผ่านการเล่าเรื่องอย่างละเมียดมะไมนั้นบีบหัวใจของเราทีละเล็กทีละน้อยแต่ก็ทำให้เรารู้สึกร่วมได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน  เพราะแท้จริงแล้วครอบครัวทุกครอบครัวล้วนเป็นเช่นนั้น

    Tokyo Story มีเส้นเรื่องหลักที่เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยรายละเอียดของความสัมพันธ์ในครอบครัวอันสวยงาม  เจ็บแปลบและแสนธรรมดา  ตอนแรกเราเข้าใจเพียงว่าเนื้อเรื่องคือการเดินทางของพ่อแม่ในวัยชราเพื่อไปพบลูก ๆ และครอบครัวที่อาศัยในเมืองหลวง 


    ด้วยการใช้สายตาของคนในยุคศตวรรษที่ 21 ในการดูหนังเรื่องนี้ ทำให้เราตั้งกำแพงในการดูด้วยข้อจำกัดของ "สายตาของคนรุ่นใหม่ที่มาดูหนังชั้นครูยุคเก่า" ทำให้ช่วงแรกเราไม่สามารถเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการดำเนินเรื่องอันแสนเนิบช้าและเงียบสงบนี้ได้  สารภาพตรงนี้ว่าในองก์แรกเราเกือบหลับคาโซฟาและสรุปในใจว่าคงเป็นเพราะความเก่าของหนังและการดำเนินเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกห่างไกลออกมา  แต่ด้วยความเพลิดเพลินไปกับการมององค์ประกอบในการถ่ายทำ  ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของผู้กำกับภาพในการถ่ายทำ  การเลือกซีนเพื่อดำเนินเรื่องให้เราปะติดปะต่อความสัมพันธ์ของครอบครัวใหญ่ที่แตกสาขาออกไปนี้ทำให้เราค่อย ๆ ระลึกขึ้นได้ว่านี่เป็นหนังที่ถูกฉายในปี ค.ศ.1953 ในห้วงเวลานั้นมีหนังที่เจ๋งขนาดนี้อยู่จริง ๆ และเรากำลังนั่งดูอยู่ตอนนี้ในปี 2020 แต่มันยังคงเก็บรักษาความเก๋าของงานภาพที่นิ่งสงบแต่ลุ่มลึกด้วยรายละเอียด  มุมกล้องที่ชวนให้นึกถึงการ์ตูนญี่ปุ่นยุคเก่า  และการเล่าเรื่องอันลึกซึ้ง จึงไม่แปลกใจหากยาสึจิโร่ โอสุจะเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ถูกนับถือจากผู้กำกับยุคหลัง ๆ ทั้งหลายอย่างเป็นเสียงเดียวกัน


    ในสังคมญี่ปุ่น การเติบโตและการแยกไปใช้ชีวิตของตัวเองจนกระทั่งมีครอบครัวเป็นของตัวเองหลังจากลูก ๆ บรรลุนิติภาวะอายุครบ 20 ปีนั้น เป็นวิถีที่เกิดขึ้นในครอบครัวอย่างเป็นธรรมชาติในสังคมญี่ปุ่นมาเนิ่นนาน  การไปมาหาสู่ระหว่างพ่อแม่ลูก โดยเฉพาะพ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัด และลูกที่มาทำมาหากินในเมืองหลวงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปรกติ  เราได้สังเกตการณ์พ่อแม่วัยชราที่รอคอยการมาเมืองหลวงเพื่อมาพบลูก ๆ และครอบครัวของพวกเขาที่ห่างหายไม่ได้เจอหน้ากันเป็นเวลานาน ด้วยความรู้สึกตื่นเต้นระคนวิตกกังวลใจซึ่งแสดงออกให้เห็นตลอดในช่วงเวลาที่ครอบครัวได้พบหน้ากัน 

    หนังค่อย ๆ เผยปมของครอบครัวอย่างเเนบเนียน  ผ่านความความอบอุ่นใจของการพบหน้ากันระหว่างคนในครอบครัว  แต่ก็ค่อย ๆ แทรกความกระอักกระอ่วนของสมาชิกครอบครัวที่ไม่คุ้นเคยกันเช่นเดิมเข้ามาทีละน้อย  สภาพครอบครัวที่แตกต่างกันของลูก ๆ แต่ละคน เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เรื่องราวการเดินทางในโตเกียวของพ่อกับแม่วัยชราเริ่มขึ้น จากบ้านของลูกชายคนโตที่กว้างใหญ่เพียงพอจะรับรองพ่อแม่ ทว่าโคอิจิลูกชายที่เป็นหมอก็มีงานยุ่งแทรกเข้ามาตลอด ชิเงะลูกสาวคนรองซึ่งประกอบอาชีพช่างทำผมและมีสามีอยู่ด้วยก็แสดงออกชัดเจนว่าพ่อแม่เป็นภาระในการมาอยู่ร่วมกันในบ้านหลังไม่ใหญ่ไม่เล็กของเธอ  จึงชักชวนให้พ่อแม่ไปเที่ยวที่เมืองอาตามิที่อยู่ติดทะเลแทน  ในขณะที่ห้องเช่าหลังเล็ก ๆ ของโนริโกะ  ลูกสะใภ้ของพวกเขานั้นให้ความรู้สึกเต็มใจและยินดีต้อนรับพ่อแม่วัยชราของสามีมากกว่าอย่างชัดเจนผ่านรอยยิ้มและการปรนนิบัติต่อแขกผู้มาเยือนอย่างเต็มอกเต็มใจ

    การเดินทางมาโตเกียวครั้งนี้ ชูคิจิและโทมิได้ต่างคนต่างมีจุดหมายและแยกกันออกเดินทางอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อชูคิจิผู้เป็นพ่อได้กลับมาใช้ชีวิตแบบวัยหนุ่มที่เขาทิ้งไปอีกครั้ง หลังจากมีเคียวโกะลูกสาวคนเล็ก  เมื่อเขาได้พบเพื่อนเก่าเพื่อนแก่ที่ไม่คิดว่าจะได้มาเจอกันในเมืองหลวง  ได้ดื่มเหล้าที่เขาเลิกไปนานและสังสรรค์เมามายไม่ได้เรื่องแบบที่เคยเป็นมาก่อนจนเป็นภาพจำของลูก ๆ ในวัยเด็กอีกครั้ง ในฉากที่เพื่อน ๆ ต่างก็ยังรู้สึกอิจฉาชีวิตของเขาที่ลูก ๆ แต่ละคนมีงานการที่ดีและมีครอบครัวเป็นของตัวเอง  เราได้เห็นชูคิจิผู้เป็นพ่อแสดงความรู้สึกว่าตนก็ไม่ได้พึงพอใจในครอบครัวของตัวเองเป็นครั้งแรก  ความอึดอัดใจลึก ๆ นี้ของเขาสามารถพูดออกมาได้แค่ในเวลาที่เมามายกับเพื่อนฝูงเท่านั้นและเช้ามาก็ต้องกลับมาเผชิญหน้ากับมันอีกครั้ง

    ที่มาภาพ : https://www.janusfilms.com/films/1755

    ในขณะที่โทมิผู้เป็นแม่เองก็เป็นกังวลกับชีวิตลูกสะใภ้ที่เป็นหม้ายอย่างโนริโกะ เพราะโชจิลูกชายคนรองหายสาบสูญไปในสงครามแต่โนริโกะยังคงปรนนิบัติดูแลพ่อแม่ของสามีอย่างเต็มอกเต็มใจ  ความรู้สึกผิดของหญิงสาวต่างวัยที่มีให้แก่กันและเฝ้าปลอบประโลมใจกันและกันในค่ำคืนนั้น ชวนให้รู้สึกได้ถึงความหนักอึ้งในใจที่ทั้งสองฝ่ายแบกรับมันไว้อย่างชัดเจนและถือเป็นหนึ่งในฉากที่เราชอบที่สุดจากหนังเรื่องนี้ แม่สามีที่รู้สึกผิดกับลูกสะใภ้ที่ไม่สามารถหันหลังให้กับสามีที่หายสาบสูญไปได้  ส่วนลูกสะใภ้เองก็รู้สึกผิดไปกับความรู้สึกของเธอ ภายใต้รอยยิ้มแสนเศร้า  เธออาจรู้สึกว่าดูแลลูกชายของพวกเขาได้ไม่ดีพอจึงต้องลงเอยเช่นนี้?  จุดหมายปลายทางของทั้งคู่คืออยากให้ต่างฝ่ายต่างมีความสุขกับชีวิตตัวเองเพียงใดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้สึกผิดยังคงเกาะกุมใจ  แต่การได้พูดคุยกันก็ทำให้เต็มไปด้วยความตื้นตันใจต่อความรู้สึกหวังดีที่มีให้กัน  แม้พวกเขาจะไม่ใช่ครอบครัวเดียวกันโดยสายเลือดแต่ช่วงเวลาที่ได้อยู่กับโนริโกะที่โตเกียวเป็นช่วงเวลาที่โทมิบอกกับชูคิจิว่าเป็นช่วงที่เธอมีความสุขที่สุดในขณะที่เธออยู่ในโตเกียว

    ตลอดการเดินทางในโตเกียวเต็มไปด้วยความสุขของการพบกันและความกังวลใจของพ่อแม่วัยชราและครอบครับที่เหมือนคนไม่รู้จักมักคุ้น  บรรยากาศของโตเกียวที่แม้จะทันสมัยแต่ดูจะเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของคนเฒ่าคนแก่แบบพวกเขาพลอยนำไปสู่ความรู้สึกที่ว่า “หรือจะถึงเวลาแล้วที่เราจะกลับบ้านของเราสักที”  ในที่สุด 


    โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อกลับบ้านเกิดไปเพียงไม่นานก็ถึงวาระสุดท้ายของโทมิ...

    กลายเป็นว่าในองก์สุดท้ายของหนังเป็นการเดินทางของลูก ๆ กลับมายังบ้านเกิดเพื่อมาดูใจผู้เป็นแม่เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่เธอจะเสียชีวิต  ความสัมพันธ์ระหว่างลูกและพ่อแม่ที่มาอยู่ร่วมพื้นที่เดียวกัน  ทำให้เราเห็นความห่างเหินอันเกิดจากการแยกย้ายไปมีชีวิตของตัวเองชัดเจนขึ้นกว่าเดิม  เมื่อเปรียบเทียบกับเคียวโกะลูกสาวคนเล็กที่ยังอยู่กับพ่อแม่นั้น  เธอแสดงความผูกพันและความไม่พอใจต่อตัวพี่ ๆ ที่มาร่วมงานศพของแม่เพียงไม่นานแล้วรีบขอตัวกลับ  มิหนำซ้ำยังขอข้าวของซึ่งเคยเป็นของแม่ติดไม้ติดมือกลับไป

    โนริโกะลูกสะใภ้จึงเหมือนเป็นคนที่เติมเต็มครอบครัวนี้ด้วยความเอาใจใส่ของเธอ  แม้เธอจะเป็นคนที่น่าชื่นชมที่สุดในเรื่อง แม้ไม่ใช่ลูกแท้ ๆ แต่ก็เสียสละอยู่เป็นเพื่อนพ่อสามีและเดินทางกลับโตเกียวเป็นคนสุดท้าย ภาพที่เธอยินเคียงข้างชูอิจิผู้เป็นพ่อสามีจึงกลายเป็นใบปิดที่งดงามยามเมื่อนึกถึงหนังเรื่อง Tokyo Story  เธออาจดูแสนดีเหลือเกินในสายตาทุกคน  แต่เหนือสิ่งอื่นใด  ตลอดเรื่องไม่มีใครรู้ใจจริงของเธอเลยว่าเธอรู้สึกอย่างไร  เธออาจเป็นคนที่รู้สึกผิดที่สุดในทุกความสูญเสียที่เกิดขึ้น  ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นคนที่ทำทุกอย่างไปตามหน้าที่ที่ลูกสะใภ้ควรทำเท่านั้น รายละเอียดเล็ก ๆ ที่เป็นตัวแปรของเรื่องราวที่สำคัญนี่เองที่ผู้ชมอาจได้เก็บมาครุ่นคิดภายหลังจากหนังเรื่องนี้จบลง  มองกลับด้านแล้วมองย้อนกลับไปเห็นความสมเหตุสมผลของสิ่งที่ทุกคนปฏิบัติตลอดมาจนกระทั่งถึงวันงานศพของผู้เป็นแม่  อาจเป็นเพราะต่างคนต่างก็มีเรื่องราวและมีชีวิตของตัวเองอย่างหมดจด และในบางครั้งสายสัมพันธ์ไม่อาจเพียงพอที่จะบงการให้เราทำในสิ่งที่ "สมควรทำได้" ทุกครั้ง  วันสุดท้ายของการเป็นครอบครัวเดียวกัน เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเมื่อถึงวันนั้นเราจะรู้สึกสูญเสียเพียงใด หรือเราจะเย็นชาต่อกันแค่ไหน

    ความรักความสัมพันธ์ของครอบครัวที่โบยบินในอากาศระคนควันจากโรงงานอุตสาหกรรมในโตเกียวคงจะจางหายไร้ซึ่งกลิ่นหอมรัญจวนใจ แม้จะอย่างเนิบช้า เป็นชีวิตช่วงหนึ่งที่ถูกยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงกั้นกลางและทำให้ความสัมพันธ์ที่คล้ายจะแน่นแฟ้นคลายตัวจนถึงกับเหินห่าง ชีวิตหนึ่งยังดำเนินไป ชีวิตหนึ่งจบสิ้นลง เสมือนต้นไม้ใหญ่หยั่งราก ผลัดเปลี่ยนใบดอกสวยงามครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นเนื้อหน่อเดียวกัน ทว่าท้ายที่สุดก็ขาดจากกันและแยกย้ายกันร่วงโรยในทางใครทางมัน


      

      


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
pussy888 (@pussy888)
Great post.
I like this post.
Thanks for sharing this useful information.

<a href="https://pussy888vip.com/">pussy888</a>

https://pussy888vip.com/