**Spoiler Alert**
แต่ละคนอาจจะเลือกซื้อตั๋วเข้าไปดู Replicas ด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป แต่เชื่อว่าหนึ่งในเหตุผลเหล่านั้นคือ คีอานู รีฟส์ ซึ่งเป็นนักแสดงคนโปรดของใครหลาย ๆ คน และก่อนที่แฟน ๆ จะได้ดู John Wick: Chapter 3 – Parabellum ก็สามารถดูเรื่องนี้คั่นเวลากันไปก่อนได้ ใน End credit มีชื่อคีอานูเป็น Producer อีกคนหนึ่งด้วย แฟน ๆ ก็อาจจะได้เห็นตัวตนของเขาในผลงานเรื่องนี้กัน
ในฐานะคนที่แอบหวังว่าจะได้เห็นฉากแอคชั่นหรือศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าจากคีอานูเหมือนในภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ที่สร้างชื่อให้เขาก็คงจะต้องบอกว่าผิดหวังไปเต็ม ๆ ด้วยความที่ชอบไปดูหนังโดยไม่ได้ดูตัวอย่างมาก่อนทำให้ไม่รู้ว่าเรื่องนี้คีอานูรับบทเป็นนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งมันแตกต่างจากบทบาทในหนังบู๊ที่เขาเคยรับบทเป็นนักฆ่าหรืออาชีพอื่น ๆ ที่มีทักษะการต่อสู้ อีกทั้งหนังเรื่องนี้จัดอยู่ในประเภท sci-fi ที่มีองค์ประกอบของ thriller ผสมเข้าไปด้วย ทำให้เราอาจจะไม่ได้เห็นคีอานูต่อสู้แบบดุเดือด เรียกว่าไม่ได้จับปืนเลยตลอดทั้งเรื่อง แต่จะมีฉากที่แสดงอารมณ์ ใช้ความคิด และทำงานเสียส่วนใหญ่ และเมื่อนึกถึงฉากที่บีบคั้นอารมณ์แบบนี้คนส่วนใหญ่ก็คงจะไม่นึกถึงคีอานูกันนัก ถึงแม้ว่าชีวิตเขาก็ผ่านเรื่องราวหนัก ๆ ในชีวิตมาพอสมควร แนวการแสดงแบบนี้เขาไม่ใช่เบอร์หนึ่งหรืออันดับต้น ๆ ของวงการอย่างแน่นอน ส่วนตัวมองว่าการสื่อสารทางอารมณ์ของคีอานูนั้นออกแนวเฉย ๆ ค่อนไปทางแย่เสียด้วยซ้ำถ้าเทียบกับนักแสดงรุ่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้พูดในเชิงตำหนิ เพราะนักแสดงแต่ละคนมีแนวทางไม่เหมือนกัน และถึงแม้ไม่ได้เป็นนักแสดงดีเด่นแต่ชื่อ คีอานู รีฟส์ นั้นเป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งโลกและถือเป็นนักแสดงดัง (big name) คนหนึ่งในฮอลลีวูด เขาอยู่ในวงการมาอย่างยาวนานและมีผลงานการอยู่เรื่อย ๆ ย่อมแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติที่ดีอย่างใดอย่างหนึ่งของคนทำงาน ผู้เขียนเชื่อว่าคีอานูเป็นคนที่เป็นคนที่ทำงานหนักและมีความเป็นมืออาชีพอยู่มากทีเดียว
สำหรับชื่อ Replicas ก่อนเข้าไปดูก็สงสัยว่าทำไมถึงใช้ชื่อนี้ แต่พอดูไปสักครึ่งเรื่องหนังก็จะเฉลยจากบทพูดของตัวละครหลักว่าเขาใช้วิทยาศาสตร์คืนชีพให้กับภรรยาและลูก ๆ โดยการทำตัวโคลนนิ่ง (replica) และถ่ายความทรงจำของทุกคนลงไป ตอนแรกที่ดูเข้าใจว่าหนังจะมาในธีมเกี่ยวกับศีลธรรมจรรยาในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เช่น ตั้งคำถามกับคนดูว่า หากในอนาคตที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปไกลการทำให้หุ่นยนต์มีความคิดเหมือนมนุษย์นั้นถูกหรือผิด หรือว่าการทดลองที่ทำกับร่างกายมนุษย์โดยตรงแม้จะใกล้เสียชีวิตแล้วนั้นถูกหรือผิด เข้าใจว่าอาจจะเป็นธีมใหญ่ ๆ แบบนั้น ตลอดทั้งเรื่องก็มีการปูประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นระยะ แต่พอดูไปถึงท้าย ๆ เรื่องก็เริ่มสับสนว่าคงไม่ได้ชูประเด็นนี้เป็นหลักกระมัง เพราะสุดท้ายแล้วตัวเอกใช้ประโยชน์จากความรู้นี้เพื่อช่วยให้ครอบครัวกลับมาอยู่ด้วยกันได้ แถมตัวร้ายก็ได้ความรู้นี้มาอยู่ในมือเพื่อใช้แสวงหาประโยชน์อีกต่างหาก เลยคิดอีกว่าน่าจะชูประเด็นครอบครัวมากกว่าหรือเปล่า เพราะมีคำพูดหนึ่งที่ตัวเอกพูดกับภรรยาแล้วทำให้เราต้องฉุกคิดเหมือนกันคือ "ตอนที่ผมกอดร่างไร้วิญญาณของคุณ ผมคิดแค่ว่าผมเอาคุณกลับมาได้" ซึ่งถ้าเป็นตัวเราเองที่ทำได้แบบนั้นในสถานการณ์ที่เห็นคนในครอบครัวตายไปต่อหน้าต่อตาแบบไม่ทันตั้งตัวก็คงจะทำเหมือนกัน ไม่มีใครอยากจะเสียคนที่ตัวเองรักไปตลอดชีวิต
แต่ถ้ากลับมาที่คำถามที่ว่า วิทยาศาสตร์ที่ทำให้หุ่นยนต์คิดอ่านได้เหมือนมนุษย์ มันมีประโยชน์ต่อเราจริงหรือ Replicas อาจจะไม่ใช่หนังที่ให้คำตอบที่ถูกต้องตามหลักทฤษฎีหรือศีลธรรมที่ควรจะเป็น แต่หนังได้เสนอความเป็นไปได้แบบหนึ่งให้เราได้เห็นว่าเทคโนโลยีแบบนี้สามารถนำไปใช้ได้อย่างไรบ้าง ตัวอย่างจากหนังก็คือการโคลนร่างมนุษย์ขึ้นมาแล้วเอาความทรงจำของเราใส่เข้าไป เท่ากับว่าทำให้มนุษย์มีชีวิตอมตะได้ และแน่นอนว่ากลุ่มคนที่เข้าถึงเทคโนโลยีนี้มีแต่คนรวยบนยอดพีระมิดเท่านั้น อีกทางหนึ่งก็คือสามารถเอาความรู้ ความเชี่ยวชาญในสมองของคนไปใส่ในเครื่องจักรหรือแม้แต่อาวุธที่ใช้ในสงคราม ซึ่งเม็ดเงินที่หมุนเวียนในธุรกิจพวกนี้ก็อยู่ที่ประเทศมหาอำนาจ กลุ่มก่อการร้ายที่มีทุนทรัพย์ และนักธุรกิจที่ค้าขายเทคโนโลยีนี้ซึ่งก็มีเงินมากมายเช่นเดิม ผู้เขียนจะไม่สรุปแบบกำปั้นทุบดินว่า เทคโนโลยีจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับวิธีที่เราเอามาใช้ เพราะเชื่อว่าทุกสิ่งในโลกนี้มีสองด้านหรืออาจจะมากกว่านั้น มันไม่ได้มีแค่สองสีคือสีขาวกับสีดำ ยังมีสีเทาและสีอื่น ๆ แม้แต่สีเทาเองก็ยังมีหลายเฉด สิ่งเหล่านี้คือความน่าจะเป็นซึ่งมันไม่ได้ออกมาแค่หัวหรือก้อย แต่มันอาจจะเป็นอะไรก็ได้อีกร้อยล้านรูปแบบ ในวินาทีที่มนุษย์สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีแบบนี้และเริ่มใช้งานมัน เชื่อว่าในการใช้งานหนึ่งอย่างสามารถส่งผลกระทบต่อโลกนี้ได้แบบไม่จบไม่สิ้น และอาจก่อให้เกิดทั้งคุณและโทษในเวลาเดียวกัน
บทความที่เขียนนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะต่อต้านเทคโนโลยี AI ตัวผู้เขียนเองก็มีความรู้สึกที่ทั้งตื่นเต้นทั้งหวาดกลัวกับความก้าวหน้าวิทยาศาสตร์ในทุกวันนี้อย่างที่บรรพบุรุษในอดีตก็คงจะเคยรู้สึกเหมือนกัน แต่เช่นเดียวกับหนังเรื่อง Replica ก็อยากจะนำเสนอว่าเรื่องราวหรือเทคโนโลยีแบบในหนังคงจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกไม่กี่สิบปีพร้อมกับความน่าจะเป็นมากมายที่เป็นผลลัพธ์ของมัน ความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะหวาดกลัวเพียงแค่เรายังไม่รู้จักมัน และต่อให้เราตั้งรับมันขนาดไหนก็ไม่แน่ว่าจะรับไหว ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาและวันหนึ่งเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in