**Spoiler Alert**
ก่อนจะได้ดู Arctic ผู้เขียนพอจะทราบมาคร่าว ๆ ว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเอาตัวรอดในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่แนวภาพยนตร์ที่ชอบสักเท่าไหร่ แต่ก็ตัดสินใจซื้อตั๋วเรื่องนี้เพื่อเจาะจงจะไปดูคุณ Mads Mikkelsen โดยเฉพาะ
นักแสดงชาวแดนิชท่านนี้พอจะเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตากันในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ถ้ากล่าวถึงเฉพาะเรื่องที่ได้รัับความนิยมสูง (Blockbuster) ก็ได้แก่ Casino Royale (2006), Rogue One: A Star War Story (2016), Doctor Strange (2016) หรือบางคนก็รู้จักชื่อของ Mads Mikkelsen จากบทคุณหมอฮันนิบาล เล็คเทอร์ในซีรี่ส์ Hanninal (2013 - 2015)
หากใครเคยรับชมผลงานของคุณแมดส์มาบ้างแล้วก็คงจะประทับใจในฝีมือการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา และสำหรับแฟน ๆ ของคุณแมดส์แล้ว ภาพยนตร์เรื่อง Arctic ก็ถือว่าเป็นผลงานอีกเรื่องหนึ่งที่จะพลาดไปไม่ได้ เพราะจากที่ดูแล้วเรื่องนี้แทบจะเป็นภาพยนตร์ที่มีนักแสดงคนเดียวเลย (One-man show) คือในเรื่องจะมีตัวละครน้อยมาก ๆ และเดินเรื่องโดยตัวละครหลักคนเดียว และมีบทพูดน้อยมาก แต่ยังไม่ถึงกับเป็นหนังเงียบเลย มีหลายฉากที่ผู้เขียนดูแล้วรู้สึกว่าคุณแมดส์แสดงอาการหรือท่าทางออกมาได้เหมือนจริงจนทำให้รู้สึกสงสารในความยากลำบากและเอาใจช่วยในความพยายามจะมีชีวิตรอดของตัวละคร
ส่วนตัวภาพยนตร์และการดำเนินเรื่องนั้น จากที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นว่า Arctic ไม่ใช่แนวภาพยนตร์ปรกติที่ผู้เขียนดูจึงอาจจะเก็บรายละเอียดได้ไม่ครบถ้วนนัก ขอสารภาพว่าเป็นคนจิตอ่อนและปิดตาดูถึงประมาณ 30% ของเนื้อเรื่อง เรื่องนี้มีบทพูดอยู่ไม่มาก เนื้อเรื่องก็ดำเนินไปอย่างช้า ๆ ช่วงแรกจะเห็นกิจวัตรของตัวละครที่มีแบบแผน ในแต่ละวันเขาจะทำเรื่องเดิม ๆ ในเวลาเดิม ๆ แต่ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อการมีชีวิตรอดและพยายามหาทางให้คนมาช่วย แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเรื่อย ๆ จะมีเหตุการณ์ที่รบกวนกิจวัตรของตัวละครหลัก ทำให้เขาตัดสินใจทำสิ่งที่ต่างออกไป และในระหว่างที่ดูการเดินทาง (expedition/journey) ของตัวละครทำให้ต้องย้อนกลับมาเทียบกับการเดินทางในชีวิตของคนเรา
สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ถ้าตีความจากมุมมองของผู้เขียน คิดว่าเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตมนุษย์ทั้งสิ้น อย่างเช่น
- ซากเครื่องบิน สื่อถึง Comfort zone
ตัวละครยึดเอาซากเครื่องบินเป็นฐานที่มั่นไว้พักอาศัยเพื่อรอความช่วยเหลือ ทุก ๆ วันเขาจะออกไปทำงานหลายอย่างเพื่อส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากคนภายนอก แต่เมื่อถึงเวลาเขาจะกลับมาที่ซากเครื่องบินลำนี้เสมอด้วยกลัวว่าถ้ามีคนที่รับสัญญาณขอความช่วยเหลือได้อาจจะหาตัวเขาไม่พบ เขาจึงพยายามไม่ไปไกลจากจุดที่เครื่องบินตก
ในชีวิตของแต่ละคนอาจจะมีช่วงเวลาหรือพื้นที่ที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจ ไร้ความกังวล ใน Arctic นำเสนอภาพของ comfort zone ว่าเป็นพื้นที่ที่ทำให้เราไม่อาจจะแสดงตัวตนต่อผู้อื่นได้ในบางสถานการณ์ จะเห็นว่าตัวละครออกมาขุดหิมะแต่เช้าเพื่อทำเป็นตัวอักษร SOS สื่อให้เห็นว่าเขาต้องการแสดงตัวตนของเขาต่อโลกภายนอก แต่หิมะตกลงมาทุกวันจนกลบตัวอักษร และเพื่อให้ตัวอักษรเด่นหรากลางหิมะสีขาวอยู่เสมอ ตัวละครต้องออกมาขุดหิมะอยู่ทุกเช้า ในทำนองเดียวกัน หากเราต้องการจะแสดงตัวตนของเราหรือความสามารถของเราให้โลกได้รับรู้อยู่ภายในพื้นที่เดิม ๆ ที่เรารู้สึกสบายใจก็อาจจะยากอยู่สักหน่อยที่เราจะดูโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางผู้คนอีกมากมาย บางครั้งมันก็จำเป็นที่จะต้องก้าวออกนอกพื้นที่ comfort zone เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง
- สภาพแวดล้อม หมายถึง ความเป็นจริง (reality)
ลักษณะสภาพแวดล้อมที่รวมทั้งภูมิอากาศและภูมิประเทศในเรื่องนี้ดูโหดร้ายอยู่มาก บางครั้งก็มีสัตว์ดุร้ายด้วย ทั้งนี้บางคนอาจจะมองว่าความเป็นจริงของชีวิตไม่ได้โหดร้ายขนาดนี้เสมอไป ซึ่งหากมองดูดี ๆ แล้วสภาพแวดล้อมในเรื่องก็ไม่ได้โหดร้ายไปหมดเสียทีเดียว ท่ามกลางความยากลำบากนั้นก็ยังพอจะมีสิ่งที่เอื้อประโยชน์ (supplies) ให้เราอยู่บ้างถ้าเราจะรู้จักหาประโยชน์จากมัน เช่น ธรรมชาติก็ยังมาปลาให้ตัวละครได้กิน หรือมีถ้ำให้เข้าไปหลบหนาวอยู่เป็นครั้งคราว แต่ถึงอย่างนั้นความเป็นจริงในชีวิตแต่ละคนก็มีทั้งเรื่องที่บั่นทอน (angst) และเรื่องที่ปลอบประโลม (nurture) ผสมปนเปกัน
สภาพแวดล้อมหรือสภาพจริงที่เป็นอยู่ในโลกนี้เป็นสิ่งภายนอกที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อชีวิตเรา ความเป็นจริงในชีวิตบางอย่างไม่ใช่เรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ง่ายหรือบางเรื่องก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยทำให้เราต้องหาวิธีอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เช่นเดียวกับสิ่งที่ภาพยนตร์สื่อออกมาคือสภาพภายนอกและความเป็นจริงในชีวิตอาจจะมีส่วนที่บั่นทอนชีวิตเรา แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีสิ่งที่มีประโยชน์และจำเป็นต่อชีวิตอยู่ หากเรารู้จักหยิบฉวยมาประยุกต์กับตัวเราหรือโอกาสที่เราเจอ
- หมีขาว หมายถึง ความเสี่ยงในชีวิต
จากในเรื่องจะเห็นว่าแม้ว่าตอนที่ตัวละครยังไม่เห็นตัวหมี แต่ต่างฝ่ายต่างรับรู้ตัวตนซึ่งกันและกัน ตัวละครคอยระวังหมีอยู่ตลอดหลังจากที่สังเกตว่าหมีมาขโมยกินปลาที่จับไว้ และวิ่งหนีเข้าไปในซากเครื่องบิน จากนั้นไม่นานจึงหาที่เก็บปลาที่มิดชิดมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้หมีเอาไปกิน และยังมีตอนที่ตัวละครถูกหมีจู่โจมระหว่างที่ออกเดินทางไปหาความช่วยเหลืออีกด้วย
ชีวิตของมนุษย์เองก็ไม่อาจจะหลบเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายและร้ายแรงต่อเราได้พ้น ไม่ว่าจะพยายามใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังแค่ไหนแต่ลึก ๆ ในใจทุกคนก็รู้ว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ เฉกเช่นที่ตัวละครรับรู้ถึงการมีอยู่ของหมีขาวในพื้นที่ของตนแล้ววิ่งไปหลบในซากเครื่องบิน ตัวเราเองก็มีเวลาที่รับรู้ได้ว่าเรื่องไม่ดีกำลังจะเกิดขึ้น เราอาจจะตอบสนองด้วยการหนีไปหรือทำอะไรบางอย่างที่เราคิดว่าจะช่วยให้เราปลอดภัย แต่ไม่ว่าเราจะเลือกทำสิ่งใด เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ก็เกิดขึ้นอยู่ดี ฉากที่ตัวละครถูกหมีขาวจู่โจมในถ้ำนั้นก็มีความคล้ายคลึงกับเวลาที่เราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนและมีความเสี่ยงจะเกิดอันตราย ทางออกสำหรับเหตุการณ์แบบนี้ที่ทำเสนอในเรื่องคือ ตัวละครพยายามรวบรวมสติและความกล้าเพื่อหาทางทำให้หมีตกใจและหนีไปในที่สุด ฉากนี้เป็นฉากที่น่าสนใจมากสำหรับผู้เขียน เพราะนอกเหนือจากความสามารถในการแสดงที่ทำให้เราเชื่อตามตัวละครแล้ว วิธีการที่เป็นทางออกในฉากนี้ก็ทำให้เราย้อนกลับมามองตัวเราเองว่าจัดการกับเหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิตอย่างไร ในเวลาที่เราหวาดกลัวและกังวลแต่ก็ต้องจัดการทุกสิ่งในชีวิตให้ผ่านพ้นไป เราได้รวบรวมสติปัญญาและแก้ไขปัญหาด้วยความกล้าหาญหรือไม่
- แผนที่ หมายถึง ข้อมูล
จะเห็นว่าในเรื่องมีแผนที่อยู่สองแผ่นคือ แผ่นแรกที่ตัวละครเขียนขึ้นเองจากการเดินสำรวจ และแผ่นที่สองที่ได้จากนักบินที่บาดเจ็บ หลายคนอาจจะมองว่าแผนที่นั้นเปรียบเสมอจุดมุ่งหมายในชีวิต ซึ่งก็ไม่ใช่การตีความที่ผิดเลย เพียงแต่ผู้เขียนมองว่าเป้าหมายของตัวละครถูกกำหนดไว้ในแผนที่แล้ว ส่วนแผนที่เป็นสิ่งที่ตัวละครไปหามาน่าจะใกล้เคียงกับลักษณะของข้อมูลมากกว่า ตอนแรกตัวละครใช้แผนที่ที่ได้จากการสำรวจพื้นที่ด้วยตัวเองก็จะมีข้อมูลอยู่ประมาณหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปตัวละครได้แผนที่ใหม่จากเครื่องบินที่ตกซึ่งเป็นข้อมูลใหม่และมีเนื้อหาอีกแบบหนึ่ง
โลกของเราในปัจจุบันก็เป็นโลกที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลข่าวสาร ชีวิตของเราเองก็ดำเนินไปตามข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับ ในตอนแรกเราอาจจะมีข้อมูลแบบหนึ่งทำให้เราเลือกปฏิบัติตนแบบหนึ่ง เหมือนกับตัวละครตอนมีแผนที่ทำมือทำให้เขาเลือกทำในสิ่งเดิม ๆ ที่ไม่ค่อยมีความเสี่ยง เพราะว่าไม่มีข้อมูลให้ประกอบการตัดสินใจมากนัก แต่เมื่อเขาได้แผนที่ทางมหารมาแล้วจึงมีข้อมูลในมือมากขึ้น เขาจึงเลือกเปลี่ยนแผนการขอความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามข้อมูลที่เราได้มาอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป มีตอนที่ตัวละครเจอภูเขาที่ไม่ได้อยู่ในแผนที่ เมื่อลองทำตามแผนเดิมแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เขาก็เปลี่ยนแผนอีกครั้งเพื่อไปในเส้นทางอื่น
หลายต่อหลายครั้งแผนที่เราวางไว้ไม่ได้ให้ผลลัพธ์อย่างที่ใจต้องการ หรือแม้กระทั่งตัวเราเองไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้ได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าชีวิตเราจะจบลงที่ตรงนั้น ใน Arctic เองตัวละครก็ไม่ได้เดินทางไปจนถึงจุดที่ตั้งใจไว้ แต่ระหว่างทางพวกเเขาก็ได้พบเรื่องราวอื่น ๆ ที่มีความหมายและมีโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือ
- เฮลิคอปเตอร์ หมายถึง โอกาส
ในภาพยนตร์มีสองฉากที่ตัวละครหลักได้เห็นเฮลิคอปเตอร์ ครั้งแรกเครื่องบินตก มีนักบินบาดเจ็บรอดชีวิตมา 1 คน และตัวละครหลักได้ข้าวของเครื่องใช้มาเพิ่ม รวมถึงแผนที่ที่ทำให้เขามีข้อมูลเพื่อตัดสินใจออกเดินทางไปหาความช่วยเหลือ ซึ่งทำให้เขามีโอกาสเห็นเฮลิคอปเตอร์อีกครั้งในตอนท้ายของเรื่อง จะเห็นว่าโอกาสที่ตัวละครจะได้รับความช่วยเหลือและกลับบ้านนั้นมาพร้อมกับภาพของเฮลิคอปเตอร์ทั้งสิ้น
ผู้เขียนมองว่าเฮลิคอปเตอร์สื่อถึงโอกาสที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เพราะตัวเฮลิคอปเตอร์นั้นยังไม่ใช่เป้าหมายของตัวละครเสียทีเดียว หากแต่เป็นสิ่งที่สามารถนำพาให้ตัวละครหลุดจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ทั้งสองสิ่งนี้เหมือนกันตรงที่เฮลิคอปเตอร์เป็นความหวังที่จะทำให้ตัวละครได้รับความช่วยเหลือและออกไปจากสถานการณ์เลวร้าย ส่วนโอกาสเป็นสิ่งที่คนเราหวังว่าจะนำพาเราไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในอนาคต ทั้งนี้ Arctic ได้นำเสนอสถานการณ์สองแบบที่เราจะได้พบเจอกับโอกาสที่เฝ้าเราต้องการ อย่างแรกที่เห็นในภาพยนตร์คือตัวละครปักหลักอยู่กับฐานที่มั่นและออกไปส่งสัญญาณอย่างมีแบบแผน เปรียบเสมือนคนที่หมั่นทำงานในหนทางของตัวเองเพื่อรอให้ได้โอกาสที่เหมาะสม อย่างที่สองคือตัวละครออกเดินทางไปหาความช่วยเหลือ เปรียบเสมือนคนที่ยอมเสี่ยงเพื่อออกไปหาโอกาสด้วยตัวเอง และระหว่างทางนั้นก็ไม่แน่ใจว่าจะได้เจอกับเหตุการณ์ใดบ้าง
การตัดสินใจแต่ละแบบในภาพยนตร์นั้นต่างก็มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่ต่างกันไป หากลองคิดดูแล้วการตัดสินใจทั้งสองแบบมีปัจจัยให้เผชิญกับความเสี่ยงหรือพลาดโอกาสด้วยกันทั้งสิ้น กล่าวคือแบบแรกจะไม่ค่อยมีความเสี่ยงที่จะเจออันตรายหรือต้องผจญกับความยากลำบากของสภาพแวดล้อมมากนักแต่อาจจะปิดโอกาสที่จะทำให้ได้รับความช่วยเหลือจากช่องทางอื่น ๆ ส่วนแบบที่สองนั้นจะต้องเสี่ยงภัยจากภายนอกและเป็นไปได้ที่จะคลาดกันกับใครก็ตามที่ออกตามหาตัวละครหลักอยู่
ฉากในภาพยนตร์ที่ผู้เขียนรู้สึกสนใจเป็นพิเศษก็คือ ในตอนที่ตัวละครหลักตัดสินใจทิ้งนักบินที่ได้รับบาดเจ็บเพราะอาการดูย่ำแย่ และเมื่อเดินห่างมาไม่ไกลก็เห็นดอกไม้ที่ขึ้นอยู่ตามน้ำแข็ง แล้วจู่ ๆ ก็ตกลงไปในซอกหิน พอออกมาได้เขาย้อนกลับไปดูนักบินและพบว่าเธอยังมีชีวิตอยู่และพูดทักทายเขาเป็นครั้งแรก ตรงนี้เองที่รู้สึกว่าเป็นเหตุการณ์ที่ตัวละครหลักได้พบความหมายของการเดินทางเพื่อเอาตัวรอดในครั้งนี้ ความจริงแล้วตัวละครก็ไม่อยากทิ้งนักบินเอาไว้ให้ตาย เมื่อเขากลับมาพบเธอ เขาร้องไห้เสียใจอย่างมากและกล่าวขอโทษเธอซ้ำ ๆ
ผู้เขียนมีความเห็นว่าเหตุการณ์ที่ตัวละครตกลงไปในซอกหินนั้นราวกับเป็นบทลงโทษของตัวละครที่ละทิ้งสิ่งที่มีความหมายในการเดินทางไป จริงอยู่ที่การเดินทางแต่ละครั้งย่อมมีเป้าหมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องยอมละทิ้งทุกสิ่งเพื่อให้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ หลายครั้งสิ่งที่เราเก็บได้หรือรักษาไว้ระหว่างทางกลับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเดินทาง ซึ่งสิ่งที่ที่มีความหมายนี้ก็ต่างกันไปสำหรับแต่ละคน ส่วนในภาพยนตร์นั้นสื่อมาในรูปของนักบินบาดเจ็บ เราจะเห็นว่าในตอนแรกตัวละครมีความตั้งใจจะช่วยนักบินอย่างมาก แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มยากลำบากขึ้น กอปรกับอาการของนักบินแย่ลง ทำให้เขาตัดสินใจทิ้งเธอไว้ให้ตาย ฉากนี้เปรียบได้ว่าตัวละครหลักละทิ้งหัวใจที่มุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้คนไป เมื่อเขาเดินออกมาและเห็นดอกไม้ท่ามกลางน้ำแข็ง ผู้เขียนคิดว่าดอกไม้นี้เป็นสัญลักษณ์ของปาฏิหาริย์และสื่อถึงเหตุการณ์ล่วงหน้า (Foreshadow) ว่าจะมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้น อย่างเช่น นักบินฟื้นขึ้นมา หรือตัวละครได้เห็นเฮลิคอปเตอร์อีกลำหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้นมาลอย ๆ ในเรื่องนี้หากตัวละครหลักไม่ออกเดินทางจากฐานที่มั่นก็ไม่แน่ว่าจะได้พบเห็นพืชเช่นนี้หรือไม่
สุดท้ายแล้วไม่ว่าผู้ที่ได้ชม Arctic จะตีความสิ่งที่สื่อสารอยู่ในภาพยนตร์ผ่านแว่นตาที่เรียกว่า "ประสบการณ์ส่วนบุคคล" อย่างไร ในบทความนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นข้อดีที่มีมากกว่าของการออกจากพื้นที่ Comfort zone ของแต่ละคน ถึงแม้ว่าการภาพยนตร์จะสื่อไปในแนวทางนั้น บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อจูงใจว่าคนเราทุกคนควรออกจากพื้นที่หรือสิ่งที่ทำให้ใครรู้สึกสบายใจหรือปลอดภัย เพียงแต่เป็นการตีความสิ่งที่เห็นในภาพยนตร์เท่านั้น และผู้เขียนเคารพความเห็นทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจอยู่ต่อหรือออกมาจาก Comfort zone หรือแม้กระทั่งแนวคิดที่เชื่อว่าเราไม่แม้แต่จะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อถึงเวลาจะมีจังหวะที่ทำให้เราได้เข้าไปหรือออกมาจากจุดที่เคยชินเอง
แต่ประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจที่ผู้เขียนพบจากการพยายามตีความภาพยนตร์เรื่องนี้กลับเป็นประเด็นเกี่ยวกับสิ่งที่เราควรจะเก็บรักษาและไม่ควรจะละทิ้งไประหว่างการเดินทาง แน่นอนว่าการเดินทางไปยังเป้าหมายของเราแต่ละครั้งย่อมเปลี่ยนแปลงตัวตนของเราไปทีละนิดละหน่อย บางครั้งเรารู้ตัวแต่บางครั้งเราก็ไม่รู้ แต่ระหว่างนั้นสิ่งที่เราควรรู้ก็คือตัวตนและความตั้งใจของเราหรือสิ่งใดที่สำคัญต่อเราอย่างแท้จริง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in