เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ดูแล้วมาคุยjph
[Review] FLAT Girls เมื่อความต่างของชนชั้นและฐานะคือรอยร้าวในความสัมพันธ์
  • “น้องเจนจะเข้าใจอะไร? ก็บ้านน้องเจนมีทุกอย่าง”


    แค่ประโยคเดียวของ แอน หนึ่งในตัวละครหลักที่อยากจะย้ายออกจากวงจรแห่งความจนในแฟลตตำรวจพูดกับ เจน หญิงสาวที่เกิดและเติบโตมาด้วยกัน แต่กลับคิดว่าโลกในแฟลตตำรวจคือโลกที่ดีที่สุดของเธอ ก็บอกได้ถึงภาพรวมของหนัง Flat Girls ชั้นห่างระหว่าง เ ร า ที่นอกจากจะเล่าถึงความสัมพันธ์อันแสนสับสนของเด็กสาวทั้งสองคน ยังบอกเล่าเรื่องราวความเหลื่อมล้ำ ชนชั้น และความจนที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่ถูกย่อขนาดลงให้มองเห็นได้ง่าย โดยครอบไว้ในโลกที่ชื่อว่า แฟลตตำรวจ



    Flat Girls ชั้นห่างระหว่าง เ ร า เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของเจนและแอน เด็กหญิงสองคนที่เกิดและเติบโตขึ้นมาด้วยกันที่แฟลตตำรวจ การเติบโตขึ้นทำให้ทั้งสองคนเริ่มเห็นว่าฐานะและความฝันของทั้งคู่ต่างกันเหลือเกิน เมื่อคนหนึ่งอยู่สุขสบายในครอบครัวที่เหลือกินเหลือใช้ แต่อีกคนกลับต้องดิ้นรนต่อสู้กับทุกปัญหาโดยเฉพาะปัญหาเรื่องเงินที่มากเสียจนไม่กล้าที่จะฝัน บวกกับการมาถึงของ ตอง ตำรวจหนุ่มหน้าใหม่เป็นตัวแปรสำคัญที่จะสั่นคลอนความสัมพันธ์ที่ทั้งสองคนมีให้กันไปตลอดกาล


    หนังเล่าถึงความต่างของชนชั้นทั้งในแง่ฐานะและยศศักดิ์แบบเรียบง่าย ผ่านการใช้ชีวิตธรรมดาของเด็กสองคนที่ดูเหมือนจะไม่ได้มองเห็นถึงความต่างตรงนี้ในตอนแรก แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเรื่อย ๆ การใช้ชีวิตแม้แต่วิธีการมองโลกก็ตอกย้ำให้ทั้งคู่รู้ว่าที่จริงแล้วทั้งสองคนไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลย แม้จะเกิดและเติบโตในกรงขังที่ชื่อว่าแฟลตตำรวจเหมือนกัน แต่เมื่อกรงหนึ่งอยู่สุขสบาย มีแอร์ มีเงินพร้อมใช้ไม่ขาดมือ แต่อีกกรงไม่รู้แม้กระทั่งว่าจะถูกไล่ออกไปเมื่อไหร่ จุดหนึ่งทั้งสองคนก็ต้องพบความจริงที่ว่าโลกที่ทั้งสองคนอยู่แท้จริงแล้วมันต่างกันเหลือเกิน



    ทุก ๆ เหตุการณ์ย่อมมีตัวเร่งปฏิกิริยา โดยในเรื่องนี้คือ ตอง ตัวละครดาบหนุ่มจากต่างจังหวัดที่พึ่งย้ายเข้ามาที่แฟลตตำรวจ เป็นตัวละครที่ยิ่งตอกย้ำความต่างทางความคิดระหว่างเจนและแอนให้ชัดเจนขึ้น แถมหนังยังมอบการตัดสินใจที่สุ่มเสี่ยงในแง่ศีลธรรมให้กับตัวละครทั้งตองและแอน ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่คนแบบเจนไม่มีวันเข้าใจ



    ถึงแม้ว่าหน้าหนังจะทำให้เราเข้าใจไปเองว่าหนังจะเน้นไปที่ความสัมพันธ์แบบ Girl’s Love ที่เกิดขึ้นระหว่างแอนและเจน โดยใช้ฉากหลังของแฟลตตำรวจเป็นตัวช่วยในการเล่าเรื่อง แต่ที่จริงแล้วกลับไม่ใช่แบบนั้น หนังเลือกทางเป็น Coming of Age ที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดจนอาจจะเรียกได้ว่าโหดร้าย แต่ก็สวยงามในแง่ของการเติบโต พร้อมกับการเล่าเรื่องปัญหาครอบครัว สังคม และความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากความจนที่มีอยู่จริงในสังคมแต่ถูกย่อขนาดลงให้เกิดในแฟลต ดังนั้นหากใครจะเลือกไปดูหนังเรื่องนี้เพราะคาดหวังความน่ารักกุ๊กกิ๊กของสองสาว อาจจะต้องปรับมุมมองก่อนเข้าไปดู

    การเลือกใช้วิธีเล่าเรื่องแบบเนิบช้าแบบ Slow Burn ไม่หวือหวา ไม่มีไคลแมกซ์ ราบเรียบเหมือนอ่านบันทึกประจำวัน ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นวิธีที่ดีและถูกต้องสำหรับหนังประเภทนี้ แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากใครสักคนหรือหลายคนจะไม่ถูกใจวิธีแบบนี้ ต้องยอมรับว่ามันชวนง่วงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อหนังพาเราไปสำรวจชีวิตประจำวันอันแสนธรรมดาของชุมชนแฟลตตำรวจยาวเกือบครึ่งเรื่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนจะมองว่ามันน่าเบื่อและยืดเยื้อจนเกินไป แต่ถ้าหากใครถูกใจวิธีการเล่าเรื่องแนวนี้อยู่แล้วก็แนะนำให้ไปรับชมก่อนจะอ่านต่อไป




    Spoiler Alert เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์




    ครอบครัว…จุดเริ่มต้นของทุกปัญหา



    ถ้าจะให้บอกถึงธีมที่น่าจะเข้ากับเรื่อง Flat Girl มากที่สุดอาจจะเป็นคำว่า “ปัญหาครอบครัว” ก็เป็นได้ เพราะหากมองดูจริง ๆ แล้ว เรื่องราวที่ตัวละครหลักทั้งสามอย่างแอน เจน และตอง ต้องเจอล้วนมีที่มาจากภายในครอบครัวทั้งสิ้น แม้แอนจะเป็นตัวละครที่เรามองเห็นความทุกข์มากที่สุดในเรื่อง เพราะความจนและไร้โอกาสทำให้แอนต้องตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรสักอย่างซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ถูกใจตัวละครนัก แถมหนังยังมอบบทบาทพี่คนโตให้กับตัวละครแอนเพื่อเสริมความกดดันในแง่การถูกคาดหวังให้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์มากกว่าตัวละครอื่นในเรื่องอีกด้วย


    สิ่งที่แอนต้องเจอเป็นผลมาจากการกระทำของคนในรุ่นก่อนหน้าอย่างพ่อและแม่ของเธอ หนังไม่ได้บอกโดยตรงว่าเหตุผลที่บ้านของแอนเป็นหนี้นั้นคืออะไร แม้แม่ของแอนจะพูดว่าเกิดจากพ่อของเธอไปยืมเงินเพื่อมาเลี้ยงดูครอบครัว ผลจึงมาตกอยู่ที่แอนซึ่งเป็นลูกโดยที่เธอไม่ได้รู้เรื่องด้วย อาจจะจริงหากคิดตามที่แม่พูดว่าเพราะเงินก็เอามาเลี้ยงครอบครัว แต่มองในมุมของเด็กที่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรจึงไม่แปลกที่ตัวละครแอนจะเกิดคำถามว่าแม่ให้เธอเกิดมาทำไม


    ด้านตัวละครเจนที่แม้หนังจะวางให้เป็นลูกสาวของนายตำรวจยศสูงและเจ้าแม่เงินกู้ประจำแฟลต ไม่ต้องพบเจอปัญหาแบบเดียวกับที่แอนเจอ แต่เรื่องราวในครอบครัวของเจนที่ถูกใส่มาในหนังก็เข้มข้นไม่แพ้กัน แม่ของเจนมักจะพูดถึงความไม่สมบูรณ์แบบของลูกตัวเองโดยเฉพาะเรื่องรูปร่าง สร้างแผลในใจให้เจนโดยที่ตัวเธอเองก็ไม่รู้ตัว ลามไปถึงการไม่ชอบรูปร่างของตัวเองจนต้องใส่ที่รัดอกไว้ตลอดเวลา

    ตัวละครตองที่แม้จะมีบทบาทน้อยที่สุด แต่เรื่องครอบครัวกับส่งผลกับการตัดสินใจของตัวละครไม่ต่างกัน การที่ต้องแยกกันอยู่กับลูกสาวเพราะฐานะของตำรวจนั้นไม่ดีพอจะช่วยให้เขากับลูกใกล้ชิดกันได้ จึงต้องยอมทนมองลูกมีความสุขอยู่กับสิ่งของที่มาจากเงินของคนอื่น


    เมื่อความรักและความฝันอยู่ตรงข้ามกับความจน



    แน่นอนว่าวัยรุ่นกับความฝันเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครล้วนต้องเคยมีความฝันอะไรสักอย่างทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่แอน ที่ถึงแม้จะถูกจำกัดให้วัน ๆ ทำได้แค่รีดผ้า แต่ก็มีความฝันอย่างการเป็นแอร์โฮสเตส แต่แน่นอนว่าความฝันนั้นต้องถูกโยนทิ้งไปเพราะเพียงคำเดียวคือคำว่า เงิน แอนถูกบีบให้เหลือทางเลือกแค่แต่งงานหรือเป็นตำรวจเพื่อให้ครอบครัวได้มีเงินใช้และอยู่ในแฟลตตำรวจต่อไปได้ เช่นกันกับความรัก เมื่อทางเลือกของคนที่ไร้โอกาสไม่ได้มีมากนัก ความรู้สึกที่แอนมีต่อเจนจึงต้องถูกโยนทิ้งไปพร้อมความฝันเช่นเดียวกัน

    นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายหากใครหลาย ๆ คนจะต้องทิ้งความฝันเพียงเพราะไม่มีเงิน แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในโลกนี้เมื่อความฝันหลายครั้งต้องใช้เงิน และความฝันมักจะไม่มาพร้อมเงิน และแน่นอนว่าในภาวะที่จนตรอกจนไม่มีแม้แต่เวลาพักผ่อนหรือไปเที่ยวเล่นแบบเด็กวัยรุ่นคนอื่น ๆ เพราะต้องช่วยแม่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แอนจึงกลายเป็นคนนั้นที่ต้องทิ้งชีวิตที่เป็นของตัวเองไป


    ความสัมพันธ์อันหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมที่สังคมไม่มีวันยอมรับ



    เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่คนดูสำหรับความสัมพันธ์ของตองกับแอนในช่วงองก์ที่สองของหนังว่าสิ่งนี้เข้าข่ายการ Romanticize Pedophilia หรือไม่ หากมองแยกทีละประเด็น แน่นอนว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองคนเป็นเรื่องที่ผิดอย่างแน่นอน เพราะแอนเป็นแค่เด็กมัธยมปลายเท่านั้น ไม่ว่าจะมีความคิดความอ่านที่โตแค่ไหน หรือสังคมบีบบังคับให้ต้องเป็นผู้ใหญ่ขนาดไหน แต่แอนก็ยังเป็นแค่เด็ก ดังนั้นแล้วการคบกันของทั้งสองคนจึงเป็นเรื่องที่ผิดอย่างไม่ต้องถกเถียงแม้แต่น้อย แม้เหตุผลในความสัมพันธ์ครั้งนี้จะเป็นไปเพื่อการช่วยเหลือแอนก็ตาม

    แต่ถ้าพูดถึงเมสเสจที่หนังสื่อออกมาบนจอ ความฉลาดของผู้กำกับคือเลือกที่จะไม่มีฉากแสดงความสัมพันธ์ที่เกินเลยใด ๆ ของทั้งคู่ และมีการพูดบอกในหนังว่าสิ่งที่ตัวละครเลือกทำนั้นถูกหรือไม่ แต่เลือกใช้วิธีเปิดพื้นที่ให้คนดูได้คิดเอาเองว่าความสัมพันธ์ตรงหน้าเป็นอย่างไร และให้คนดูเป็นผู้ตัดสินว่าสิ่งที่เกิดตรงหน้าถูกต้องหรือไม่ (และหากคุณไม่เห็นปัญหาในความสัมพันธ์นี้ นั่นแสดงว่าคุณมีปัญหาแล้ว) 

    เพราะฉะนั้นแล้ว หากจะบอกว่าหนัง Romanticize Pedophilia คงต้องบอกว่าไม่ถูกต้อง เพราะหนังไม่มีฉากไหนที่บอกว่าความสัมพันธ์นี้ดีหรือน่ายกย่องเลย ซ้ำยังใส่ฉากที่แม่ของแอนถามหาความรับผิดชอบจากตองซึ่งเป็นผู้ใหญ่กว่า นั่นหมายถึงว่าสิ่งนี้คือเรื่องที่สังคมไม่ยอมรับ แม้จะไม่ได้ชี้หน้าบอกว่าสิ่งนี้ผิด แต่ก็มีนัยยะที่บอกว่ามันไม่ถูกต้องอยู่มากมายไปหมด

    แล้วทำไมต้องมีความสัมพันธ์นี้? เหตุผลที่ต้องให้ตองเป็นคนที่โตกว่าและมีอำนาจมากกว่าเป็นเพราะความจนตรอกของแอนที่แม้จะเกลียดตำรวจที่จนแต่ก็ยังต้องยอมเข้าไปในความสัมพันธ์นี้เพราะต้องการเงิน และเป็นการค่อย ๆ เผยมุมสีเทาของตัวละครที่สร้างความเป็นมนุษย์ได้อย่างดี และเป็นการบอกกล่าวด้วยน้ำเสียงปกติว่ามีเหตุการณ์แบบนี้อยู่จริงบนโลก

    ซึ่งหากจะถามถึงมุมมองของเรา การกระทำทุกอย่างของตอง ทั้งการสร้างความไว้วางใจรอบตัวเด็ก ๆ ให้เด็ก ๆ พึ่งพาเขา การให้ของขวัญหรือให้เงิน พร้อมทั้งสร้างความรู้สึกให้แอนรู้สึกสบายใจที่มีตองอยู่ข้าง ๆ ก็เป็นคุณสมบัติที่ควรระวังของผู้ใหญ่ที่จะเข้าหาเด็กด้วยวัตถุประสงค์ที่ไม่ดีตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้นสำหรับเราตัวละครตองเป็นตัวละครที่เทามาตั้งแต่แรก ไม่ได้บริสุทธิ์ใจ แม้หนังจะไม่ได้เล่าความเลวร้ายของเขา เลือกที่จะนำเสนอมุมอบอุ่นหรือน่าสงสาร แต่ผลลัพธ์ที่เขาได้ก็คงบอกได้ไม่ยากว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่สมควรทำแต่แรก


    การสำรวจความรู้สึกตัวเองของ Queer Youth ที่แสนสับสนและโดดเดี่ยว



    ในยุคสมัยที่มีหนังหรือซีรี่ส์ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ LGBTQ มากมาย Flat Girls เลือกทางที่ไม่ได้เล่าออกมาอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่ตัวละครเป็น ไม่ได้พูดถึงความสัมพันธ์ในแง่ของความรักโรแมนติก แต่พูดถึงช่วงเวลาแห่งการสำรวจความรู้สึกของวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงเวลาอันแสนสับสน เจนที่ไม่มั่นใจว่าความรู้สึกที่มีให้แอนคืออะไร ไม่รู้ว่าความชอบที่มีให้เป็นความชอบแบบไหน รู้แต่ไม่ชอบเห็นเวลาแอนกับตองอยู่ด้วยกัน ความโดดเดี่ยวที่ต้องเผชิญเมื่อไม่มีคำตอบให้กับความรู้สึกนี้ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองคนห่างเหินกว่าเดิม

    ด้านของแอนแม้หนังจะไม่ได้พูดออกมาโดยไดอาล็อกว่าความรู้สึกของเธอที่มีต่อเจนคืออะไร แต่การแสดงของ เอินเอิน ก็ทำให้เราสามารถเข้าใจได้ไม่ยากนัก ทั้งสายตาที่แสดงออกมาทุกครั้งที่มองเจน อาจจะเกินคำว่ารัก แต่เป็นคำว่าเทิดทูนไปแล้ว


     

    แม้จะไม่ได้มีฉากที่โรแมนติก แต่การพาเราไปสำรวจความรู้สึกของทั้งเจนและแอนก็ทำออกมาได้อย่างสวยงามและเข้าอกเข้าใจ ความสับสนหรือการไม่ชอบในร่างกายตัวเองของเด็กวัยรุ่นล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่าครั้งหนึ่งเราเองก็เคยเป็นเด็กคนนั้นเหมือนกัน


    ส่วนตัวคิดว่าหนังยังไม่ได้ลงลึกในส่วนของอารมณ์ใด ๆ ของตัวละครมากขนาดนั้น และยังมีบางประเด็นที่หนังทำแค่แตะแบบผิวเผิน ยังสามารถลงรายละเอียดได้อีก แต่เมื่อหนังเลือกทางเล่าแบบ Slow Burn เน้นอารมณ์ของหนังมากกว่าอารมณ์ของตัวละคร จึงทำให้บางส่วนดูเหมือนย้วยไป เล่านานเกินไป ขณะที่ช่วงท้ายเรื่องกลับดูเร่งรีบ บางอย่างถูกเล่าข้ามไปจนทำให้รู้สึกขัดอารมณ์บ้าง แต่ภาพรวมทำได้ดีมากทีเดียว โดยเฉพาะสองสามฉากสุดท้ายหลังการตัดสินใจของแอนที่หนังอาจจะเลือกเล่าแบบไม่ถูกใจบางคน แต่สำหรับเรานี่คือทางลงที่สวยงามที่สุดของหนังเรื่องนี้ เพราะในความเป็นจริงทุกคนล้วนมีใครบางคนที่ทำหล่นหายไปจากชีวิตโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นตายร้ายดีอย่างไร ได้แต่หวังว่าเขาจะยังอยู่อย่างสบายดีเพียงเท่านั้น


    ส่วนที่เราชอบที่สุดคือกำกับการแสดงของผู้กำกับ และการแสดงของนักแสดงหลักทั้งสามคนที่ถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครออกมาได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเอินเอินที่แสดงเป็นแอน ตัวละครที่แบกรับทุกปัญหาเอาไว้กับตัวเองโดยที่ไม่สามารถพูดอะไรออกมาได้ การแสดงออกทางสายตาของน้องทำได้มั่นคงและชัดเจนมาก หรือแม้แต่ฉากที่ระเบิดอารมณ์ที่เก็บเอาไว้ในใจมาตลอดยังทำอยู่ในคาแรกเตอร์ของแอนได้อย่างสมบูรณ์ รู้สึกอยากจะรอชมการแสดงอื่น ๆ ของน้องอีกเรื่อย ๆ 


    สำหรับใครที่สนใจ Flat Girls ระยะห่างระหว่าง เ ร า ก็เชียร์ให้ไปชมในโรงภาพยนตร์ดู เป็นประสบการณ์การดูหนังที่ดีและได้อะไรจากหนังเรื่องนี้มากเลยทีเดียว


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in