แน่นอนว่าการณ์ก็เป็นดังคาด สุดท้ายก็มีการผลิตหุ่นยนต์ที่มีพลังสองล้านแรงม้าชื่อ ‘โบรา’ ขึ้นมา โดยฝีมือของ ‘ดอกเตอร์อาบุร่า’ ลูกน้องของสุลต่านที่ก็ดันเป็นผู้สร้างพลูโตขึ้นมากับมือเองด้วย! นอกจากนี้ ตัวของดอกเตอร์อาบุร่าก็มีความจริงที่น่าอึ้งว่าตัวแกก็เป็นหุ่นยนต์ แถมเป็นหุ่นยนต์ที่โคตรอินดี้และมีจรรยาบรรณ เพราะพี่แกบอกว่าเหตุผลที่สร้างพลูโตขึ้นมานั้นเป็นเพราะหน้าที่ล้วนๆ ก็เจ้านาย (หรือสุลต่านนั่นแหละ) สั่งมา จะให้ขัดก็อย่างไรอยู่ แต่พอเห็นสุลต่านบ้าอำนาจมากเข้า พี่แกก็เลยจัดการสร้างหุ่นอีกตัวมาปราบพลูโต พอทำได้เสร็จ ดอกเตอร์อาบุร่าก็ออกมาชี้นิ้วสั่งสอน (มนุษย์/เจ้านาย) ว่า เห็นมั้ย ไอ้ความทะยานอยากเป็นผู้ ‘แข็งแกร่งที่สุด’ นี่มันบ้าบอไร้สาระแค่ไหน เป็นบทเรียนราคาแพงที่ต้องจ่ายด้วยหุ่นยนต์หลายต่อหลายตัวเลยนะ (แต่พอพูดจบ ดอกเตอร์อาบุร่าก็ทำหน้าที่ลูกน้องด้วยการเข้าไปพยุงสุลต่านออกจากฉากไป...)
ความร้ายของพลูโตมีเท่านี้แหละครับ ซึ่งจะว่าไปพลูโตก็ไม่ได้ร้ายเท่าไหร่หรอก ออกไปทางเป็นฮีโร่ด้วยซ้ำ เพราะมีตอนหนึ่ง พลูโตเลือกที่จะไม่ทำอันตรายต่อ ‘อูรัน’ (น้องสาวของ ‘อะตอม’) แม้จะมีโอกาส แถมยังเป็นหุ่นยนต์ที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกได้ไม่ต่างจากมนุษย์ เห็นได้จากการที่สู้กันอยู่แล้วเกิดภูเขาไฟระเบิด พลูโตก็เลือกที่จะช่วยอะตอมอุดปล่องภูเขาไฟและช่วยชีวิตมนุษย์ไว้ ส่วนเรื่องการทำลายหุ่นตัวอื่นนั้น พลูโตเองก็ไม่ได้อยากทำ แต่ด้วยความเป็นหุ่นยนต์ก็ทำให้เขาขัดคำสั่งผู้สร้างไม่ได้
แม้หุ่นยนต์ในเรื่องจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ แต่หุ่นยนต์อย่างพลูโตและดอกเตอร์อาบุร่าก็มีพฤติกรรมที่ไม่ต่างจากมนุษย์เท่าไหร่ (แถมบางทีอาจมี ‘ความเป็นมนุษย์’ มากกว่าบางคนด้วยซ้ำ) หุ่นยนต์พวกนี้แสดงให้เห็นถึงคุณธรรม ความกล้าหาญ ความเห็นอกเห็นใจ และความจงรักภักดี
…แต่สุดท้าย พวกเขาก็ล้วนถูกสร้างและถูกทำลายลงเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ทั้งนั้น
ไม่เว้นแม้แต่อะตอม—พระเอกของเรา ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแทนที่ ‘โทบิโอะ’ ลูกชายของ ‘ดอกเตอร์เท็นมะ’ ที่ตายไป
น่าคิดว่า เมื่อหุ่นยนต์ที่มนุษย์สร้างขึ้นดูเหมือนว่ามีชีวิต มีความรู้สึก มีสติปัญญารับใช้มนุษย์อย่างซื่อสัตย์ เราควรจะนับพวกมันว่าเป็น ‘สิ่งมีชีวิต’ หรือเป็นแค่ ‘เครื่องจักร’? หรือหุ่นยนต์พวกนี้จะถือเป็นแค่บทเรียนราคาแพงที่ทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้ความงี่เง่าของมนุษย์ด้วยกันเองเท่านั้น?
เมื่อวิทยาการของเราก้าวหน้าขึ้น มันก็เลยมีคำถามยุ่งยากเป็นเงาตามตัวให้เราคอยขบคิดอีก อย่างกรณีของหุ่นยนต์ทั้งหลาย วันหนึ่ง เมื่อหุ่นยนต์ได้รับการพัฒนาให้ซับซ้อนและมีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น…เราจะทำอย่างไรกับสิ่งประดิษฐ์ที่คล้ายมนุษย์นี้…เราต้องใช้ ‘มนุษยธรรม’ กับ ‘เครื่องจักร’ ที่ ‘มีความเป็นมนุษย์’ เหล่านี้หรือไม่?
ดูเหมือนว่า วันที่เราต้องตอบคำถามนี้ อาจจะอยู่ไม่ไกลเท่าไหร่แล้วนะครับ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in