เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
WHY ร้ายSALMON X VANAT
02: BLACK ORGANIZATION องค์กรชั่วเจ้าของยายืดอายุ
  • PROFILE
    NAME: องค์กรชุดดำ
    FIRST APPEARANCE: Detective Conan ตอน ‘The Heisei Holmes’ (1994)
    GOAL: ทำการทดลองยาสูตรลับของตัวเองโดยใช้เงินทุนจากการแบล็คเมลคนมีชื่อเสียง

    แม้จะยังไม่มีใครรู้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของ ‘องค์กรชุดดำ’ (Black Organization) คืออะไร แต่การพยายามรวบรวมนักวิทยาศาสตร์หัวก้าวหน้าและนักชีวเคมีระดับหัวกะทิก็พอทำให้เห็นภาพว่าพวกเขากำลังทำการค้นคว้าวิจัยบางอย่าง ซึ่งยา Apoptoxin 4869 (APTX4869) ก็คือหนึ่งในนั้น

    APTX4869 คือยาที่คาดกันว่าจะมอบความเป็นอมตะให้กับมวลมนุษยชาติ! 

    แน่นอนว่าเมื่อมีเป้าหมายยิ่งใหญ่ขนาดนี้ การผลิตยาที่ว่าจึงต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งทางองค์กรก็ไม่คิดจะเปิดเรี่ยไรหาเงินทุนแต่อย่างใด เท่ๆ อย่างพวกเขาต้องหารายได้ด้วยการก่ออาชญากรรม ดักปล้นฆ่า แล้วก็ฮุบเงินทั้งหมดมาใช้ลงทุน!
  • สำหรับคนที่รักตัวกลัวตาย คิดหาทางหนีด้วยการวิ่งแจ้นไปหาตำรวจหรือเรียกร้องความเป็นธรรมออกสื่อก็คงต้องคิดดูใหม่ เพราะองค์กรชุดดำนั้นกว้างขวาง มีคนของตัวเองแทรกซึมอยู่ในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นดาราชื่อดังหรือผู้ประกาศข่าวสาวสวยก็อาจมีตัวตนอีกด้านหนึ่งเป็นนักฆ่าหรือสายลับขององค์กร!

    นอกจากนี้พวกเขายังมีระบบการไล่ล่าแบบกัดไม่ปล่อย หากรู้ว่าใครคิดหักหลังหรือมีคนนอกล่วงรู้ความลับแล้วละก็ เขาเหล่านั้นตายแน่นอน เว้นแต่ว่าจะมีภูมิต้านทานแข็งแรงแบบ ‘ชินอิจิ คุโด้’ วัยรุ่นยอดนักสืบที่บังเอิญไปเห็นเหตุการณ์ ‘เรี่ยไรเงิน’ ในแบบฉบับขององค์กรชุดดำแล้วดวงซวยถูกจับได้ ชินอิจิเลยถูก ‘ยิน’ หนึ่งในสมาชิกขององค์กรเอายา APTX4869 กรอกปากหวังจะฆ่าให้ตาย แต่ยาที่อยู่ในขั้นตอนทดลองนี้กลับทำให้เขากลายเป็นเด็กประถมตัวจิ๋วผู้ต้องปกปิดตัวตนที่แท้จริงภายใต้ชื่อ ‘โคนัน เอโดงาว่า’ และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชินอิจิในคราบของโคนันคอยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมและขุดคุ้ยตามหาต้นตอขององค์กรนี้อย่างไม่ลดละ

    เพราะแม้องค์กรชุดดำจะก่อวีรกรรมไว้มากมาย แต่ด้วยความเก่งกาจในการตามล้างตามเช็ดผลงาน ตำรวจญี่ปุ่นจึงไม่เคยรับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเขา แถมไม่เอะใจด้วยว่าเหตุร้ายหลายๆ คดีเกิดขึ้นจากฝีมือของคนกลุ่มเดียวกัน
  • BAD LIST

    • แม้ตำรวจญี่ปุ่นจะไม่รู้จักองค์กรชุดดำ แต่ FBI รู้จักองค์กรนี้เป็นอย่างดี เหตุเพราะพ่อแม่ของหนึ่งในทีมงานถูกคนขององค์กรชุดดำฆ่าตาย FBI จึงเดินทางมาญี่ปุ่นเพื่อตามหาตัวฆาตกร ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ทำให้รู้ว่าองค์กรชุดดำมีมาแล้วกว่ายี่สิบปี

    • ไม่ใช่แค่ชินอิจิคนเดียวที่กลายเป็นเด็ก ยังมี ไอ ไฮบาระ (หรือชื่อจริง ชิโฮะ มิยาโนะ) ด้วย แต่เหตุการณ์ของไฮบาระต่างออกไปนิดหน่อยตรงที่เธอเป็นหนึ่งในผู้คิดค้นยาชนิดนี้ให้กับองค์กรชุดดำ แถมยังเป็นคนกินด้วยตัวเอง เพราะไม่พอใจที่ยินเอายาที่อยู่ในขั้นทดลองไปใช้ บวกกับรู้ความจริงที่ว่าองค์กรเป็นคนฆ่า อาเคมิ มิยาโนะ พี่สาวของเธอ

    • หนึ่งในวิธีหาเงินขององค์กรชุดดำคือแบล็คเมลผู้ประกอบอาชีพผิดกฎหมาย หรือล่อลวงให้คนอื่นลงมือก่ออาชญากรรมแทนแล้วฆ่าทิ้ง เห็นได้จากตอน The Heisei Holmes ที่พวกเขาเอาฟิล์มที่มีรูปการค้าอาวุธเถื่อนมาแลกกับเงิน หรือการหลอกมิยาโนะ อาเคมิว่าจะปล่อยเธอกับน้องสาวออกจากองค์กรถ้าขโมยเงินได้สำเร็จ แต่สุดท้ายเธอก็โดนหักหลังและถูกฆ่าตาย
  • IN-DEPTH
    โดย วณัฐย์ พุฒนาค

    องค์กรชุดดำเป็นกลุ่มตัวร้ายที่เราแทบจะลืมไปแล้ว เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่ใน Detective Conan มักจะวนเวียนอยู่กับการตามหา ‘คนร้าย’ หรือการไขคดีโชว์ความเก่งของโคนันในแต่ละตอนเป็นหลัก การมีอยู่ขององค์กรชุดดำเลยไม่ค่อยเด่นชัด ทั้งที่เป็นโครงเรื่องใหญ่ และไปๆ มาๆ ผู้อ่านก็อาจลืมกันไปแล้วว่าไอ้เด็กจิ๋วคนนี้ต้องหายามารักษาตัวเองให้กลับคืนร่างเดิม

    แต่ถ้าลองจำแนกประเภทของงานแนวสืบสวนหรืออาชญนิยาย Detective Conan น่าจะถูกจัดเป็นการ์ตูนสืบสวนสอบสวนแนว ‘ซอฟต์บอยล์’ (Soft-Boiled) คือมีเรื่องราวที่เน้นการใช้สติปัญญาของตัวนักสืบในการแก้ไขปริศนาคดีต่างๆ โดยส่วนใหญ่มักเป็นคดีฆาตกรรมที่ตำรวจหาคำตอบไม่ได้ทำนองเดียวกับ Sherlock Holmes หรืองานของ Agatha Christie นักเขียนผู้ได้รับฉายาราชินีแห่งนวนิยายอาชญากรรม

    เหตุนี้เราจึงเห็น ‘การบูชาครู’ สอดแทรกอยู่ใน Detective Conan พอสมควร ไล่มาตั้งแต่ชื่อของโคนันที่นำมาจากชื่อของ Sir Arthur Conan Doyle ผู้เขียน Sherlock Holmes หรือรหัสยาที่องค์กรชุดดำพัฒนาอยู่ก็ออกเสียงในภาษาญี่ปุ่นว่า ‘ชิฮะรคคุ’ หรือ ‘เชอร์ล็อค’ 

    อีกทั้งความสนุกน่าตื่นเต้นของงานสืบสวนแนวซอฟต์บอยล์ยังอยู่ที่ขั้นตอนการไขคดีแบบเหนือชั้นของนักสืบ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรื่องราวส่วนใหญ่ของ Detective Conan จะอยู่ที่การฆาตกรรมในห้องปิดตายมากกว่าเรื่องขององค์กรชุดดำ ซึ่งตรงจุดนี้ก็ถือว่ามีความคล้ายกับ Sherlock Holmes ที่แม้จะมีคู่ปรับหลักเป็น ‘ศาสตราจารย์มอริอาตี้’ แต่ระหว่างทาง ‘เชอร์ล็อค โฮล์มส์’ ก็ต้องไขคดีอื่นๆ เหมือนกัน
  • ด้วยความโด่งดังของ Sherlock Holmes งานสืบสวนหลังจากนั้นเลยยึดแนวทางแบบซอฟต์บอยล์เป็นหลัก แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเห็นดีเห็นงามกับมันไปหมด

    งานแนวซอฟต์บอยล์ถูกวิจารณ์ว่าเป็นงานสืบสวนที่ไม่มีความสมจริง ลองนึกภาพตามดูนะครับ นักสืบทั้งหลาย วันๆ เอาแต่นั่งสูบไปป์ แถมเหตุฆาตกรรมที่เกิดก็แปลกประหลาด สักแต่ว่าให้มีศพเพื่อที่นักสืบของเราจะได้โชว์เทพไขปริศนา (เหมือนกับที่เราเห็นใน Detective Conan นั่นแหละครับ) ด้วยเหตุนี้เลยมีงานสืบสวนแนว ‘ฮาร์ดบอยล์’ (Hard-Boiled) กำเนิดขึ้นมาจากนักเขียนอีกกลุ่ม

    งานแนวฮาร์ดบอยล์ส่วนใหญ่จะเกิดจากฝั่งสหรัฐฯ (ส่วนซอฟต์บอยล์จะเกิดจากอังกฤษ) แถมนักเขียนแนวนี้มักมีประสบการณ์ตรงกับการสืบสวนหรือเกี่ยวข้องกับงานอาชญากรรมจริงๆ (เช่น เป็นตำรวจหรือทำงานในหน่วยสืบสวนมาก่อน) งานของคนกลุ่มนี้เลยค่อนข้างสมจริง มีการใช้ฉากหลังเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยอาชญากรรมหนักๆ ตัวละครนักสืบก็มักจะเป็นพวกถึก เคร่งขรึม เช่น Sam Spade ของ Dashiell Hammett ที่เปิดเรื่องมาไม่กี่หน้าก็ถูกซัดหน้ายับ เวลาสืบสวนก็ต้องลงไปบู๊กับอันตรายต่างๆ จากองค์กรอาชญากรรมหรือจากสาวสวยสังหารทั้งหลาย ต่างไปจากโฮล์มส์ที่มาในลุคผมเรียบแปล้ ใส่สูท ใส่ผ้าคลุม นั่งบนเก้าอี้นุ่มๆ ไขปริศนาฆาตกรรมอย่างชัดเจน

    ทั้งนี้ ก็ต้องบอกว่าการแยกประเภทงานสืบสวนว่าเรื่องไหนฮาร์ดบอยล์ เรื่องไหนซอฟต์บอยล์เกิดแค่ในช่วงแรกๆ (ปลายศตวรรษที่ 19) ในปัจจุบันงานสืบสวนมีการผสมผสานองค์ประกอบของงานทั้งสองแบบเข้าไว้ด้วยกัน อย่างใน Detective Conan เราก็จะเห็นว่ามีทั้ง ‘คนร้าย’ และ‘ ตัวร้าย’ อยู่ในเรื่องเดียวกัน
  • ‘คนร้าย’ ในที่นี้คือเหล่าคนร้ายในคดีย่อยที่จะถูกนักสืบใช้วิธีสืบสวนแบบซอฟต์บอยล์ พูดง่ายๆ คือมีผู้ต้องสงสัยประมาณหนึ่งฝูง ทุกคนมีโอกาสเป็นฆาตกรได้หมด (ยกเว้นอีนักสืบ) สุดท้ายนักสืบของเราก็จะใช้ความรู้ความสามารถต่างๆ มาจับต้นชนปลายจนคดีคลี่คลายและชี้ตัวฆาตกรได้ในที่สุด (แต่ในงานสืบสวนหรืออาชญนิยายช่วงหลังๆ จะเริ่มมีเรื่องราวทำนองว่า เอ๊ะ คนเล่าเรื่องหรือนักสืบมันฆ่าเองเปล่าวะ เราจะเชื่อมันได้หรือเปล่านะ ทำให้สถานการณ์คลุมเครือไม่รู้จะเชื่อใครได้ด้วย)

    ส่วน ‘ตัวร้าย’ ในที่นี้ก็คือชายชุดดำ ดูไปก็คล้ายตัวร้ายในงานแนวฮาร์ดบอยล์นั่นแหละครับ คือเป็นองค์กรอาชญากรรมดำมืดที่อยู่เบื้องหลังความชั่วทั้งหลายที่นักสืบของเราเข้ามาพัวพัน อย่างใน Detective Conan คุโด้หรือโคนันก็เข้าไปยุ่งวุ่นวาย เผชิญอันตรายเพื่อเปิดโปงองค์กรชุดดำ แล้วไม่ใช่แค่พัวพันธรรมดา ยังต้องปวดหัวกับการหายาแก้พิษเพื่อให้ร่างกายกลับเป็นผู้ใหญ่ แถมยังมี ไอ ไฮบาระ ที่เข้าข่ายสวยสังหารมาเกี่ยวข้อง ซึ่งแม้ว่าไฮบาระจะไม่ได้เป็นแนวสวยเอ็กซ์ออกมายั่วยวนหลอกให้รักก่อนจะหักหลังแบบที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในงานแนวนักสืบสายลับ แต่ไฮบาระก็เป็นหญิงลึกลับที่ดูไม่ออกว่าแท้จริงแล้วมีจุดมุ่งหมายอะไรกันแน่ จะมาดีหรือร้าย แถมยังเคยมีความเกี่ยวข้องกับองค์กรอีก!

    แล้วถ้ากลับไปดูจุดเริ่มต้นของงานแบบซอฟต์บอยล์และฮาร์ดบอยล์ ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวกับสังคมสมัยใหม่ หรือการเกิดขึ้นของเมือง เช่น Sherlock Holmes ก็จะมีภาพของมหานครลอนดอนที่เต็มไปด้วยคนแปลกหน้าจนเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ส่วนงานแนวฮาร์ดบอยล์จะเป็นเมืองแบบที่เรารู้สึกคุ้นเคย มีแสงไฟนีออน มีแหล่งเสื่อมโทรม มียาเสพติด ซึ่งงานพวกนี้สะท้อนให้เห็นภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การที่คนมากระจุกกันอยู่ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าคนที่เดินผ่านไปมาในเมืองโทรมๆ จะมีใครเป็นฆาตกร เป็นอาชญากรบ้างหรือเปล่า

    ตัวละครนักสืบเหล่านี้เลยเหมือนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบอกว่า ‘ทั้งชีวิตเราดูแล’ คือในโลกที่เต็มไปด้วยคนแปลกหน้า คนที่เรารู้หน้าไม่รู้ใจก็มีคนที่ปลิดชีวิตเราได้ด้วย แถมยังฉลาดถึงขั้นสรรหาวิธีอำพรางศพได้อีก 

    แต่กับพวกนักสืบ ถึงอาชญากรเหล่านั้นจะกล้าเก่งหรืออัจฉริยะแค่ไหน นักสืบของเราก็ต้องอยู่เหนือกว่า ไม่ว่าคนร้ายจะมาไม้ไหนพี่แกก็อ่านออกหมด ความจริงจะหายากเพียงใด พี่แกก็สาวออกมาได้สบายๆ

    แต่ชีวิตจริงจะเป็นแบบนั้นเหรอ?

    มันจะมีคนที่เข้าถึงความจริง ไว้ใจได้ ธำรงความเป็นธรรมให้โลกนี้ได้จริงหรือ? พี่แกจะบรรลุในเรื่องที่ซับซ้อนเข้าใจยากได้จริงมั้ย? แล้วหลังๆ พวกงานอาชญากรรมงานสืบสวนยังตั้งข้อสงสัยกับตัวนักสืบทั้งหลายเองอีกว่า คนที่เราไว้ใจได้จะมีจริงเหรอ? ไปจนถึงเริ่มสงสัยในความจริงทั้งหลายที่นักสืบคลี่คลายออกมา จนสุดท้ายก็สับสนไปหมด หาคนผิดคนถูกหรือเชื่อใจใครไม่ได้เลย

    ซึ่งก็ไม่แปลกหรอกครับ เพราะ ‘ความจริง’ ก็ ‘ไม่ได้’ มีเพียงหนึ่งเดียวหรอก

    จริงมั้ยครับ

  • “We can be both God and Devil since we are trying to raise the dead against the stream of time”

    “พวกเราเป็นได้ทั้งพระเจ้าและปีศาจ ในเมื่อสิ่งที่เรากำลังทำคือการฉุดคนตายให้ทวนกระแสแห่งเวลาขึ้นมา”


    —Vodka 

    * หนึ่งในสมาชิกขององค์กรชุดดำ

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in