แต่เอาเข้าจริงความรุนแรงใน Tom and Jerry ก็คล้ายกับเป็นการสอนเด็กทางอ้อม เราอาจเปรียบทอมและเจอร์รี่เป็นเหมือนเด็กตัวโตที่ชอบข่มเหงรังแกชาวบ้านกับเด็กน้อยตัวเล็กจอมขี้แยได้ ซึ่ง Tom and Jerry ก็เสนอเรื่องราวทำนองว่า ถึงเด็กตัวโตดูจะได้เปรียบทางร่างกาย ดูเป็นผู้ล่าโดยธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถข่มเหงรังแกคนอื่นได้เสมอไป บางครั้งคนที่ด้อยกว่าทางกายภาพก็อาจตอบโต้ได้ด้วยปัญญาหรือด้วยจังหวะที่เหมาะสมจนผู้ล่าก็อาจพ่ายแพ้ให้กับเหยื่อได้
ไม่ใช่แค่นั้น ตัวเรื่องยังมี ‘ความยุติธรรม’ สำรองให้กับผู้อ่อนแออีก
ในกรณีฉุกเฉิน ยามที่ ‘ตนไม่อาจเป็นที่พึ่งแห่งตนได้’ ความยุติธรรมที่ว่านี้จะปรากฏตัวออกมาในรูปแบบของสไปค์และป้าแมมมี่
การโผล่มาฟาดฟันทอมของทั้งคู่คล้ายกับเป็นการรับประกันว่าถึงทอม (ที่นิสัยเสีย) จะแข็งแรงแค่ไหนก็ยังมีพลังอำนาจที่เหนือกว่าพร้อมจะลงมาช่วยผดุงความยุติธรรมให้เจอร์รี่เสมอ
หากเปรียบกับโลกแห่งความจริง เราอาจนึกถึงพี่ชายหรือคุณครูที่โผล่มาช่วยเวลาถูกรังแก แต่ถ้ามองไปไกลกว่านั้นอาจชวนให้นึกถึงสถาบันที่คอยมอบความยุติธรรมหรือรักษาระเบียบให้กับสังคม เช่น ตำรวจศาล หรือซีเอสไอ
ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครรู้หรอกว่า เวลาเด็กๆ ดูการ์ตูนพวกเขาจะเรียนรู้ได้มากน้อยแค่ไหน
เด็กตัวโตอาจได้เรียนรู้บ้างว่าตัวเองที่คล้ายทอมก็ไม่สามารถรังแกชาวบ้านได้เสมอไป หรือเด็กขี้แยอาจได้เรียนรู้ว่าหนูตัวเล็กอย่างเจอร์รี่ก็ไม่จำเป็นต้องขี้แพ้ไปตลอด
เปรียบไปแล้ว ภาพการตะลุมบอนกันระหว่างทอม เจอร์รี่ สไปค์ และคุณป้าแมมมี่ก็เป็นภาพของโลกที่มีความยุติธรรม เป็นโลกที่ผู้เข้มแข็งถูกลงโทษ และผู้อ่อนแอได้รับชัยชนะให้ได้เห็นกันบ้าง
การ์ตูนเรื่องนี้จึงเป็นเสมือนพื้นที่เล็กๆ ที่มอบห้วงเวลาสั้นๆ ให้เด็กน้อย (หรือแม้แต่ผู้ใหญ่) ได้เพลิดเพลินไปกับโลกที่มีความเป็นอุดมคติ มีระเบียบ และมีความยุติธรรม
ก่อนจะกลับไปสู่โลกแห่งความจริง—โลกใบใหญ่ที่ไร้ระเบียบและความยุติธรรม
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in