เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
WHY ร้ายSALMON X VANAT
10: CROMATIE HIGH SCHOOL กลุ่มนักเรียนที่ 'ไร้เหตุผล' สิ้นดี
  • PROFILE 
    NAME: คณะนักเรียนโรงเรียนมัธยมคุโรมาตี้ นŽำโดย ทากาชิ คามิยามะ, ชินจิโร่ ฮายาชิดะ, อากิระ มาเอดะ, เมก้าซาวะ, ฯลฯ
    FIRST APPEARANCE: Cromartie High School ตอน ‘Bring On The Hoods‘ (2001)
    GOAL:  เป้าหมายของคามิยามะคือเปลี่ยนโรงเรียนมัธยมคุโรมาตี้ให้เป็นโรงเรียนสีขาวที่น่าอยู่ ปลอดภัย สงบสุข ไม่มีนักเลง (เนื่องจากตัวละครมีความหลากหลาย ทŽำให้มีเป้าหมายและพฤติกรรมต่างกันไป ขอยกมาเฉพาะตัวเอก)

    ถ้าพูดถึงหนังสือการ์ตูน (หรือมังงะ) เชื่อว่าเราคงคุ้นเคยกับมังงะญี่ปุ่นจากสารพัดผลงานที่โดดเด่นจนได้รับความนิยมต่อเนื่องยาวนาน และในอัตราการแข่งขันที่สูงนี้เองทำให้การ์ตูนญี่ปุ่นมีเนื้อหาที่แตกต่างหลากหลาย ยิ่งเรื่องเกี่ยวกับนักเรียนนักเลงนี่ยิ่งเยอะจนล้นแผง แต่ถ้าจะบอกว่า Cromatie High School เป็นการ์ตูนที่แตกต่างไปจากเรื่องอื่นๆ ก็คงจะเป็นคำกล่าวที่ไม่เว่อร์เกินไปนัก

    แม้ภายนอกจะดูเป็นแค่การ์ตูนที่เขียนขึ้นมาเพื่อล้อเลียนการ์ตูนแนวแยงกี้ย้อนยุค จำลองสถานที่ให้เป็นโรงเรียนมัธยมที่เต็มไปด้วยนักเรียนไว้ผมทรงรีเจนต์หรือโมฮอว์ก มีหน้าตาโฉดชั่วระดับนักเลงนอกถิ่นยังต้องเกรงใจ แต่หัวหน้าของเจ้านักเรียนนักเลงแห่ง ‘โรงเรียนคุโรมาตี้’ กลับเป็น ‘ทากาชิ คามิยามะ’ นักเรียนใหม่หน้าติ๋มที่ทุกคนลงมติเป็นเสียงเดียวกันว่าหมอนี่โฉดชั่วที่สุดในปฐพี เพราะเคยก่อคดีป่วนการแข่งขันเรียงโดมิโนมาแล้ว!

    นอกจากนี้ ความร้ายกาจของคณะนักเรียนโรงเรียนมัธยมคุโรมาตี้ยังไม่ใช่เรื่องการต่อยตี ซึ่งที่จริงก็เกือบจะเป็นอย่างนั้น แต่ระหว่างเดินทางไปล้างแค้นศัตรู เจ้าพวกนี้ดันเมารถอ้วกแตกไปเสียก่อน หนำซ้ำยังเคยยกพวกไปตีอริผิดวัน… พวกเขาดันขึ้นชื่อมากเรื่องของความติงต๊อง ปัญญาอ่อน และการพาตัวเองเข้าสู่ ‘สถานการณ์ไม่ปกติ’ อันเกินความเข้าใจของมนุษย์ เช่น มีเพื่อนร่วมชั้นที่มีใบหน้าละม้ายคล้ายนักร้องนำวง Queen มีนักเรียนเป็นหุ่นกระป๋อง มีเพื่อนเป็นกอริลลา และมีแนวคิดการตัดสินใจที่ช่างโหดเหี้ยมไร้เหตุผลอย่างการตั้งชื่อกลุ่มว่า ‘จตุรเทพ’ ทั้งที่ในกลุ่มมีห้าคน! แล้วมัน ‘จตุ’ ตรงไหนวะ?! จะโหดเกินไปแล้ว!!!

    และที่สำคัญ มีเรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้นแทบทุกอณูในโรงเรียน!

    ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องยอมรับว่าคณะนักเรียนโรงเรียนคุโรมาตี้ช่างโหดเหี้ยม ไร้เหตุผล และตลกอย่างร้ายกาจสิ้นดี!
  • BAD LIST

    ° วีรกรรมที่ส่งผลให้ ‘ทากาชิ คามิยามะ’ ถูกยกย่องให้เป็นบุรุษที่เลวที่สุดในชั้นปีนั้นมีเหตุผลมาจากตอนที่เขาเข้าแข่งขันเรียงโดมิโนเพื่อสร้างสถิติโลกแล้วอยากเป็นผู้ชนะมาก ถึงขนาดเอากาวไปแปะก้นโดมิโนตัวสุดท้ายเอาไว้เพื่อขัดขวางไม่ให้ทีมคู่แข่งทำสถิติโลกได้....

    ° หลังจากก่อตั้งเมื่อปี 1923 โรงเรียนมัธยมคุโรมาตี้ (ก่อนหน้านั้นใช้ชื่อว่า โรงเรียนผู้นำมัธยมปลายโตเกียว) มีเหตุให้ล่มสลายอยู่หลายครั้ง ทั้งระเบิดจากสงครามโลกบ้าง การตีกันของนักเรียนบ้าง จนในปี 1977 นักเรียนทุกคนลืมวันลงทะเบียนเรียน (เดี๋ยวนะ...) ปีนั้นเลยไม่มีการเรียนการสอน โรงเรียนจึงล่มสลาย และกระทั่งปี 1985 ภารโรงลืมล็อคประตูโรงเลี้ยงสัตว์จนทำให้สัตว์ออกมาอาละวาดซะเละ จนโรงเรียนต้องล่มสลายไปอีกหน
  • IN-DEPTH
    โดย วณัฐย์ พุฒนาค

    สำหรับแฟน คุโรมาตี้ คงไม่แปลกใจที่เห็น ‘โรงเรียนคุโรมาตี้’ โผล่ขึ้นมาเป็นหนึ่งในตัวร้ายของเรา

    เพราะเราทราบกันดีว่ามันเป็นการ์ตูนที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติโดยแท้ ความบวมของคุโรมาตี้คืออาการตลกหน้าตายที่เล่นงานระบบคิดตรรกะ ความน่าจะเป็น หรืออะไรทั้งมวลที่มนุษย์สถาปนาและยึดถือไว้เป็นแก่นสารของชีวิต ว่าสิ่งนั้นต้องเป็นยังงี้ สิ่งนี้ต้องเป็นยังงั้น ในโลกของคนบวม สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นได้ถูกทำลายไปจนหมดสิ้น

    อาจโอเวอร์ไปหน่อยแต่ก็พอจะเรียกลักษณะความร้ายข้างต้นได้ว่าเป็นความร้ายแบบ ‘หลังสมัยใหม่’ (Post-modern) เพราะไอ้ความร้ายที่ว่าก็คือ มุกยียวนกวนประสาท เต็มไปด้วยความแสบๆ คันๆ ของตัวละครนี่แหละที่มันทำให้ระบบความคิดของเราพัง

    แล้วคำว่า ‘หลังสมัยใหม่’ หรือโพสต์โมเดิรน์มันคืออะไรหว่า? หรือเป็นแค่คำฮิปๆ ที่เราหยิบยืมจากนักวิจารณ์ศิลปะมาใช้กันอีกที

    มันคงต้องเริ่มอธิบายจากคำว่ายุค ‘สมัยใหม่’ (modernism) ก่อน ในโลกตะวันตก เวลานึกถึงยุคอะไรที่มันต่อเนื่อง ความเชื่อที่มีมายาวนาน มันมักจะมียุคที่มาแย้งหรือล้มล้างความเชื่อเดิม หรือพูดได้ว่าประวัติศาสตร์มันเดินหน้างอกเงยขึ้นบนความขัดแย้งนั่นแหละครับ (ในขณะที่เรายังจินตนาการเรื่องความกลมเกลียวกันอยู่เลยเนอะ) 

    ‘สมัยใหม่’ จึงเป็นยุคที่มนุษย์เริ่มดึงตัวเองออกจากศาสนจักร จากความเชื่อเดิมไปสู่ความคิดแบบใหม่ และความรู้ที่ส่งเสริมโลกสมัยใหม่ก็คือวิทยาศาสตร์ มนุษย์เชื่อว่าสามารถสร้างความรู้ด้วยวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ เช่น การทดลอง สังเกตการณ์ เก็บข้อมูล การใช้เหตุผล  
  • แต่พอมาถึงจุดหนึ่งนักคิดทั้งหลายก็ลุกขึ้นมาตั้งคำถามและเริ่มเสื่อมศรัทธากับความคิดแบบยุคสมัยใหม่ (เอ้า!)  จนเกิดเป็นยุค ‘หลังสมัยใหม่’ ขึ้นมา นักคิดยุคหลังสมัยใหม่พยายามชี้ให้เห็นว่าความจริงหรือการรับรู้ของเรามันไม่ได้แน่นอนตายตัวหรอกนะ ความจริงที่วิทยาศาสตร์บอกว่าเข้าถึงได้ มันไม่ได้เข้าถึงได้เสมอไป เพราะมันถูกอธิบายผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘ภาษา’ และภาษาก็มีความไม่แน่นอน

    วิชาภาษาศาสตร์ (linguistic) เป็นหนึ่งในวิชาที่เกิดขึ้นได้ด้วยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ คือพยายามจะจัดการสร้างองค์ความรู้จากภาษา เฟอร์ดินองค์ เดอโซซูร์ เป็นบุคคลสำคัญที่พลิกผันความเชื่อเดิมของมนุษย์โซซูร์ได้กล่าวถึงลักษณะสำคัญของภาษาว่ามันไม่แน่นอน (arbitrary) และอ้างอิงกลับไปสู่ตัวเอง (self-referential) 

    อธิบายให้เห็นภาพมากที่สุดคือ การแปลความหมายในพจนานุกรม ถ้าเราค้นหาคำว่า ‘วัว’ หมายถึง ‘สิ่งมีชีวิตสี่ขาที่มนุษย์เลี้ยงไว้เพื่อประโยชน์ มีลักษณะคล้ายควาย’ ซึ่งพอเราค้นหาคำว่า ‘ควาย’ ความหมายจะกลับกันคือ ‘เป็นสิ่งมีชีวิตสี่ขาที่มนุษย์เลี้ยงไว้เพื่อผลประโยชน์ มีลักษณะคล้ายวัว’ (ผู้อ่าน : “มึงจะมาเล่นคำอะไรอยู่ได้ กูงงไปหมดแล้ว)

    เราจะเห็นเลยว่าภาษามันอ้างอิงกลับกันไปมา ที่เรารู้ว่าวัวคือวัวเพราะเรารู้ว่าควายเป็นแบบไหน และคำว่า ‘วัว’ ในภาษาหนึ่งก็เป็นการเรียกตามอำเภอใจ และไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรโดยตรงกับวัวจริงๆ (หรือพูดอีกอย่างคือคำว่า ‘วัว’ ในภาษาไทยไม่มาสารถทำให้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษเข้าใจได้ว่ามันคือ ‘cow’ ตรงนี้ยิ่งตอกย้ำเลยว่าภาษาไม่ได้พาเราไปสู่ความจริงใดๆ เลย)

    ความตลกร้ายก็คือ มนุษย์ต่างหาก ที่ไปกำหนดมันขึ้นมา แล้วก็ดันไปยึดติดกับระบบที่ไม่แน่นอนและไม่ได้นำไปสู่ความจริงนี้เอง 
  • เหมือนกับกรณีของคำว่า ‘จตุรเทพ’ ที่ปรากฏอยู่ในคุโรมาตี้ไง 

    เราอยู่ในโลกของภาษาที่บอกว่า จตุร- แปลว่า สี่ คามิยามะที่เพิ่งย้ายเข้ามาโรงเรียน รวมถึงผู้อ่านที่ชินกับ ‘โลกแบบสมัยใหม่’ ที่อะไรๆก็ตายตัว เลยรู้สึกช็อคและตั้งคำถามว่า “ทำไมกลุ่มจตุรเทพมันถึงมีสมาชิกห้าคนละฟระ?” 

    ความกวนตีนของจตุรเทพ (ที่มี 5 คน) ที่เราอ่านแล้วรู้สึกว่ามันงี่เง่า (และน่าหงุดหงิดจัง) ก็เพราะเราโดน ‘ระบบภาษา’ กำหนด ‘ความจริง’ มาว่า ‘จตุรเทพ’ ควรจะมี ‘สี่’ ไม่ใช่ ‘ห้า’ นั่นหมายความว่าเรากำลังยึดติดอยู่กับชื่อหรือภาษาอันเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น มากกว่าความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งพออ่านมาถึงจุดหนึ่งเราจะเริ่มชินและปล่อยวางจากระบบระเบียบที่เราเคยยึดถือไว้ ในที่สุดเราก็จะรู้สึก โอเคและชินกับมันไปเลย 

    จะบ้าอะไรอีกก็มาเลย เราพร้อมแล้ว! (อ้าแขน)

    นอกจากระบบของภาษาที่ถูกทำลายในโลกคนบวมแล้ว รูปแบบการเขียนที่เต็มไปด้วยมารยาทก็ยังถูกตั้งคำถามอีก ในตอนที่คามิยามะ พระเอกผู้แสนติ๋มของเราไปนัดพบกับเด็กโรงเรียนอื่น แต่เมื่อไปแล้วไม่เจอเลยกะว่าจะฝากข้อความแทนใจไว้ แต่นั่นทำให้พี่แกเครียดมาก เขียนและแก้อยู่หลายรอบ เพราะในโลกของการเขียน โดยเฉพาะญี่ปุ่นดินแดนแห่งแบบแผน ทั้งด้วยข้อกำหนดเรื่องมารยาท การใช้คำ หัวท้ายจดหมาย ความเหมาะสม จากประโยคยาวๆ สุดท้ายก็โดนพี่คามิยามะลบหดจนเหลือเป็นวลีสั้นๆกระชับๆว่า ‘คามิยามะมาเยือน’ จากการตั้งใจจะฝากข้อความธรรมดาๆเลยกลายเป็นการโชว์เก๋า เป็นสาส์นท้ารบไปซะอย่างนั้น
  • คล้ายกันกับกรณีของพี่ใหญ่นักเลงในเรื่อง ซึ่งถูกเนื้อที่ในเว็บบอร์ดจำกัดสิ่งที่ตัวเองอยากจะเขียนลงไป ทั้งที่เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่แทนที่จะรับใช้มนุษย์มันกลับมาบังคับกะเกณฑ์มนุษย์ จนลูกพี่ใหญ่เครียดหนักและสื่อสารอะไรไม่ได้ดั่งใจสักอย่าง

    โลกของคนบวมอาจกำลังชวนให้เราตั้งคำถามว่า มารยาทหรือรูปแบบการเขียนที่ซับซ้อนทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยจัดการความคิดมนุษย์ หรือที่จริงแล้วมันได้กลายเป็นอุปสรรคในการสื่อสารของมนุษย์กันแน่

    ทั้งนี้ คุโรมาตี้คงไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อเสนอความคิดแบบโพสต์โมเดิร์นโดยตรงหรอก (เอ๊ะแต่ก็ไม่แน่) แต่ไอ้ความยียวนที่เล่นกับความคาดหวัง ความไม่น่าจะเป็น การผิดไปจากที่เราเคยชิน หรืออะไรที่ทำให้เราถึงกับต้องกุมขมับว่าทำไมมันเป็นอย่างนี้ละโว้ย แบบแผนที่เราเคยเชื่อ ภาษาที่เคยแน่นอน สิ่งเหล่านี้ถูกเอามาเล่นจนตรรกะเราพังพินาศไปหมด 

    ผมว่าตรงนี้เองที่ทำให้คุโรมาตี้เป็นตลกแบบที่ถ้าไม่รักก็เกลียดไปเลย 

    แต่ในขณะที่เราขำตรรกะบวมๆ ในโรงเรียนมัธยมคุโรมาตี้ ความบวมอาจจะกำลังท้าทายและตั้งคำถามกับสิ่งที่เรายึดถืออยู่ก็ได้ว่า ความงี่เง่าสารพัดที่เรากำลังหัวเราะเยาะนั้นทำให้เราขำเพราะมันไม่เป็นอย่างที่ควรเป็น หรือเป็นเราเองที่งี่เง่าเพราะไปยึดติดว่า ‘มันควรเป็นอย่างไร’ ถ้ามองกลับกันไปมา ทั้งตรรกะที่บิดเบี้ยวในจักรวาลคู่ขนานของคุโรมาตี้และตรรกะที่ดูสมเหตุสมผลในโลกของเราจริงๆ มันอาจงี่เง่าเท่าๆ กันก็ได้ 

    ความตลกและเพี้ยนอย่างวายป่วงจากคุโรมาตี้พาเรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง

    ร้ายไหมล่ะ
  • “WTF!” 
    “นี่มันอะไรกันวะเนี่ย!”


    — คณะนักเรียนโรงเรียนมัธยมคุโรมาตี้

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in