เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ทำไมไทเปBUNBOOKISH
02: Would you like to Dance?
  • เต้นสวิงคืออะไร?

    ประมาณว่าเปิดเพลงของคุณป้าเอลล่า ฟิตซ์เจอรัลด์ (Ella Fitzgerald) กับคุณลุงแฟรงก์ ซินาตรา (Frank Sinatra) แล้วโยกตามจังหวะไปมาหรือเปล่านะ? อะไรนะ!? มีสตูดิโอสอนเต้นสวิงอยู่แถวบ้านเราด้วยเหรอ? อืม... เพลงยุคนั้นก็น่ารักดีจัง ไหนๆ ก็อยู่บ้านทำงานเยอะแล้ว ลองออกไปเต้นกับเพลงน่ารักๆ บ้างอาจจะดีก็ได้ อย่างน้อยไปแอบดูก็ยังดี การพักผ่อนก็คือส่วนหนึ่งของงานนั่นแหละ

    งั้น… ไปกันเลย!!!

  • แล้วการเต้นสวิงก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ รู้แค่ว่าเราชอบฟังเพลงแบบนี้มานานแล้ว แต่เพิ่งจะรู้ว่ามันคือเพลงสวิง ก็เมื่อได้รู้จักกับการเต้นสวิงนี่เอง

    การไปเรียนเต้นและได้เต้นรำกับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า Bangkok Swing ทุกคืนวันอังคารและวันเสาร์จึงเข้ามาแทนที่การไปนั่งฟังเพลงตามบาร์แจ๊ซของเราอย่างง่ายดาย ถึงแม้จะไม่มีวงดนตรีสดมาเล่นให้ฟังเหมือนอย่างที่บาร์แจ๊ซ (นานๆ ทีถึงจะมี) ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะดนตรีที่เปิดเวลาเต้นนั้นเป็นเพลงแจ๊ซแบบที่ฟังง่ายๆ ไม่ซับซ้อน มีจังหวะและเนื้อร้องที่น่ารักถูกใจเรามากกว่า แถมคนที่มาเต้นก็ยัง
    น่ารักมาก เจอกันวันแรกก็ชวนกระโดดโลดเต้นกันจนลืมเขินไปเลย

    จากที่เคยต้องไปยืนหลบอยู่ตามหลืบมุมของบาร์แจ๊ซแล้วแอบคิดในใจว่าถ้าโยกตัวแรงกว่านี้คนอื่นจะหาว่าไม่มีมารยาทหรือเปล่า เพราะทุกคนช่างดูสำรวมกิริยากันเหลือเกิน แต่สำหรับที่นี่ ทุกคนมาเพื่อเต้นรำ การโยกตัวจึงไม่ใช่ปัญหา ของเราอีกต่อไป

    นอกจากนั้นเรายังได้รู้จักคนที่น่าสนใจมากมายจากการเต้นสวิง ได้รู้ว่ามีผู้คนหลายอาชีพ หลากเชื้อชาติที่หลงรักการเต้นสวิงเหมือนกัน บางคนก็แค่เดินทางมาเที่ยว หรือมาทำงานในประเทศไทยเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ และแต่ละคนต่างก็มีจุดเริ่มต้นในการเต้นสวิงที่ไม่เหมือนกัน
  • แรกๆ เราให้ความสนใจกับที่มาอันหลากหลายของทุกคน แต่ช่วงหลังๆ เรามักจะตื่นเต้นกับหลักการคิด วิธีการใช้ชีวิต วิธีการทำงาน รวมถึงทักษะและความสามารถที่แตกต่างกันออกไปมากกว่า สิ่งเหล่านี้มักจะสะท้อนออกมาให้เห็นทั้งในเวลาเรียนหรือซ้อมเต้นด้วยกัน เวลาไปกินข้าวด้วยกัน เวลาคำนวณค่าข้าว เวลานั่งคุยกัน หรือแม้กระทั่งการเลือกเวลาและวิธีเดินทางกลับบ้าน เพราะเราเคยชินแต่กับการเจอคนที่เหมือนๆ กัน ทำงานคล้ายกัน พูดคุยกันในเรื่องเดิมๆ ทุกวัน ทำให้ไม่ค่อยได้เห็นอะไรที่แตกต่างออกไป

    ถ้าไม่ตัดสินใจลองไปเต้นสวิงในวันนั้น เราก็คงไม่ได้รู้สึกว่าความหลากหลายนี่มันช่างแปลกใหม่และสนุกดีจังเลย

    อ้อ! นี่เราแค่พูดถึงผลพลอยได้ที่ได้จากการเต้นสวิงนะ แต่ถ้าถามว่าเรารู้สึกยังไงกับการเต้นสวิงล่ะก็… ตอบได้เต็มปากเลยว่า “หลงรัก!”

    และการเต้นสวิงก็ยังเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้เรา ตัดสินใจไปไทเป

    งงล่ะสิ ว่าสองสิ่งนี้เกี่ยวกันยังไง…

  • หลังจากได้รับโปสต์การ์ดปริศนาราวสองสัปดาห์ เรา ก็ยังมาเต้นสวิงตามปกติ มีนักเต้นต่างบ้านต่างเมืองแวะเวียนมาเต้นกับพวกเราเช่นเคย แต่... คืนนั้นมีชาวไต้หวันด้วยหนึ่งคน

    เรย์—ชายหนุ่มหน้าตี๋ที่อายุอานามไล่เลี่ยกับเรา ถือเป็นเพื่อนชาวไต้หวันอย่างเป็นทางการคนแรกในชีวิตของเราเลยก็ว่าได้

    ที่จริงก็เหมือนกับการเจอเพื่อนเต้นสวิงทั่วไป ที่เรามักจะเดินเข้าไปทักทายเล็กน้อย แนะนำตัวนิดหน่อย แล้วก็ขอเต้นด้วยกันจนจบเพลง ก่อนจะกล่าวขอบคุณและแยกย้ายกันไปเต้นคู่กับคนอื่น เป็นอันเสร็จพิธี (จริงๆ โดยขนบผู้ชายต้องเป็นฝ่ายขอผู้หญิงเต้น แต่โลกมันเปลี่ยนไปแล้วค่าาาา ) แต่เหมือนช่วงนั้น
    เราจะตื่นเต้นกับการได้ยินอะไรที่เกี่ยวกับ ‘ไทเป’ เป็นพิเศษ

    แล้วอีกส่วนก็เพราะ...

    จะพูดว่าไงดีล่ะ… สวิงเป็นการเต้นแบบเข้าคู่ พอจับมือกัน อยู่ในจังหวะเพลงเดียวกัน แล้วเต้นไปพร้อมๆ กัน มันก็มักจะเกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างคู่เต้น คนสองคนจะต้องช่วยกันประคับประคองให้การเต้นดำเนินไปได้จนจบเพลง จะเต้นเก่งหรือไม่เก่งไม่สำคัญ แต่ความเชื่อมโยงที่พูดถึงนั้นจะทำให้เราพอสัมผัสได้ว่า คนที่เต้นอยู่ตรงหน้าเราคนนี้ บุคลิกแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้ กำลังจับมือกับเราอยู่ตอนนี้ จะเป็นคนที่สื่อสารกับเรารู้เรื่องได้หรือไม่

    ซึ่งสำหรับเรย์แล้ว ดูจากภายนอกอาจจะไม่แน่ใจ แต่พอได้ลองเต้นคู่กัน จับจังหวะไปด้วยกัน เราก็รู้สึกว่าเรย์จะต้องเป็นเพื่อนที่ดีของเราได้แน่ๆ

    วันนั้น เรย์ถามเราว่าเคยไปไทเปหรือยัง เราจึงตอบกลับไปทันทีเลยว่า 

    No, but see you soon in Taipei.
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in