Airbus A-380 เครื่องบินขนาดใหญ่ที่ถ้านับแบบขำๆ ก็จะจุผู้โดยสารได้ 555 ชีวิตพอดี แต่ถ้าเครื่องบินลำนี้เกิดตกขึ้นมาก็คงไม่ใช่เรื่องขำ และเราอาจเรียกมันว่า “โศกนาฏกรรม”
ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ในแต่ละวันจะมีความสูญเสียเกิดขึ้นเท่ากับ Airbus A-380 ตกไป 10 ลำ ด้วยสาเหตุจาก “โรคหัวใจ”
“โรคหัวใจ” เป็นคำย่อที่รอให้เราหาคำมาเติมให้มันอยู่ ซึ่งคำที่จะมาต่อก็มีให้เลือกใช้มากมายทั้ง วาย ,ล้มเหลว ,ล้มเหลวเฉียบพลัน ,รั่ว ,เต้นผิดจังหวะ ฯลฯ
ก่อนที่บทความนี้จะหดหู่เกินไป ผมอยากบอกว่า “เรา” สามารถลดความสูญเสียได้ด้วยมือของเรา-ใช่ครับ มือสองมือของเรานี่แหละ
เทคโนโลยีการแพทย์สมัยนี้ก้าวหน้าไปมาก อาการส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับหัวใจสามารถรักษา หรือเยียวยาได้ เพียงแต่ปัญหาคือ เจ้าของหัวใจมักไปถึงมือแพทย์ไม่ทันเวลา
CPR - วิธีการกู้ชีพเบื้องต้น ที่หลายคนเริ่มให้ความสำคัญ และดันให้เป็นทักษะพื้นฐานที่ทุกคนควรทำได้ หลักจากที่เราได้ความรู้ผิดๆจากละครหลังข่าวมาเป็นเวลานาน
AED - หรือเครื่องกระตุกหัวใจ ถูกนำไปติดตั้งตามสถานที่ต่างๆมากขึ้น เพื่อให้หยิบใช้ได้ง่ายในเวลาฉุกเฉิน แม้ว่าหลายคนจะไม่เคยลองใช้ ลองจับ สัมผัส หรือลูบคลำเลยก็ตาม
BNK 48 - ศิลปินไอดอลที่สร้างปรากฏการณ์ และถูกพูดถึงมากที่สุดในยุคนี้ และไม่ว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญหรือตั้งใจ มันเกิดขึ้นจริงๆ หรือฝันไป เพลงของวงนี้กลายเป็นเพลงที่ติดหู หรือเรียกให้ถูกคือหลอนหูใครหลายๆคนไปแล้ว
มาถึงตรงนี้ผมขอถามว่า “ข้อใดไม่เข้าพวก” โดยผมขอไม่เฉลย และหวังว่าทุกคนจะตอบตรงกัน
การใช้เครื่องกระตุกหัวใจจะต้องใช้ร่วมกับการทำ CPR หรือการปั๊มหัวใจในความถี่ 100-120 ครั้งต่อนาที
และไม่ว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญหรือตั้งใจ มันเกิดขึ้นจริงๆ หรือฝันไป หากลองตบมือตามจังหวะเพลงคุกกี้เสี่ยงทาย จะได้ประมาณ 120 ครั้งต่อนาทีพอดิบพอดี
ในวันที่หัวใจของเราหยุดเต้น เพลงนี้อาจทำให้เราได้มีชีวิตอีกครั้ง และในวันที่หัวใจเราอ่อนแรง เหล่าโอตะอาจเป็นคนที่คุณต้องการเค้ามากที่สุดก็เป็นได้
อันที่จริงก็มีอีกหลายเพลงที่มีจังหวะอยู่ในช่วง 100-120 ครั้งต่อนาที เช่น เพลงฮิตย่านพัทยาที่มีความหมายเข้ากับสถานการณ์ว่า “ฉันต้องรอด” อย่าง “I will survive”
และถ้าใครลองนับดูแล้วพบว่ามีเพลงอะไรอีกก็ลองมาคอมเมนต์แบ่งปันกันได้ ที่ยกเพลงคุกกี้เสี่ยงทายเป็นตัวอย่างเพราะความหลอนหูของเพลงนี้น่าจะทำให้ทุกคนร้อง และจำจังหวะได้เป็นอย่างดี
เรียบเรียง สรุป และต่อเติม จากการบรรยายของ คุณหมอหม่อง นพ.รังสฤษดิ์ กาญนวณิชย์ จากงาน หัวใจพองโต รำลึกครูอั๋น คนหน้าขาว
คำเตือน : ระหว่างปั๊มหัวใจตามจังหวะเพลงคุกกี้เสี่ยงทาย ควรปั๊มอย่างต่อเนื่อง ห้ามยกมือขึ้นมาปั้นโอนิกิริเป็นอันขาด
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in