การเรียนรู้เรื่อง "เพศ" เป็นหนึ่งในขั้นตอนการเติบโตของมนุษย์ ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเคยผ่านการตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องเพศมาแล้วทั้งสิ้น และผมเชื่อว่า หลายคำถาม ยากที่จะตอบ เราจึงพยายามหาคำตอบ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม ตลอดระยะเวลาของการเติบโต
คำนี้แปลว่าอะไร?
ผมเคยสงสัยว่า ตุ๊ด ต่างกับกะเทยยังไง และเพศที่สามล่ะ ทอมล่ะ เกย์ล่ะ คำเหล่านี้ เป็นคำศัพท์ที่ไม่มีในตำราเรียนวิชาภาษาไทย แต่มีใช้ในชีวิตประจำวัน ยังจำได้ว่า มีการวาดแผนภาพจับคู่เพศต่างๆลงในโลกออนไลน์เพื่อจะอธิบายคำศัพท์ทางเพศต่างๆ ซึ่งแผนภาพนั้นก็มีการปรับเปลี่ยน ก็ทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่ขึ้นมาอีกชุดนึง เดี๋ยวนี้ เราใช้สมาร์ทโฟนที่มีแอพหาคู่ที่หลากหลาย เราก็มีคำศัพท์ขึ้นมาใหม่อีกชุดนึง การนิยามคำศัพท์ใหม่ๆขึ้นมา ก็เพื่อที่จะทำความเข้าใจลักษณะที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปพร้อมๆกับการเติบโตในเรื่องเพศของสังคม
แล้วคนเรามีกี่เพศกันแน่?
วิธีนึงที่อธิบายเรื่องเพศ ก็คล้ายๆกับเรื่องอื่นๆนั่นแหละ เราอธิบายด้วยการแบ่งแยกมันด้วลักษณะต่างๆ ซึ่งเราก็มี Genderbread person แผนภาพที่อธิบายเรื่องเพศอย่างง่ายๆ แต่แค่จากรูป เราก็จะเห็นว่าคนเรามีความเป็นไปได้ทางเพศถึง 32 เพศทีเดียว หูวววว
https://www.genderbread.org/resource/genderbread-person-minimal-3-3
แต่กว่าเราจะมี Genderbread มาอธิบายกัน สังคมเราก็ต้องผ่านการทำความเข้าใจเรื่องเพศกันมาหลากหลายวิธี และคนเราก็ต้องใช้ชีวิตกับความเข้าใจแบบที่เรามีอยู่ รวมถึงความไม่เข้าใจที่สังคมมีอยู่ด้วย
นิทรรศการ ชาย-หญิง สิ่งสมมติ (Gender Illumination)
นิทรรศการ ชาย-หญิง สิ่งสมมติ ว่าด้วยเรื่องความหลากหลายทางเพศ (Gender Illumination)
ที่มิวเซียมสยาม ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ถึง 30 กันยายน 2561 ได้จัดแสดงนิทรรศการ "ชาย-หญิง สิ่งสมมติ" เพื่อแสดงความเป็นไปเป็นมาเรื่อง "ความเป็นชาย" "ความเป็นหญิง" อันเป็น "สิ่งสมมติ" ทางสังคมที่เราทุกคนล้วนต้องเรียนรู้ และนิยามมันขึ้นมาด้วยตัวเอง ซึ่งแต่ละคน ก็จะมี ประสบการณ์ การเติบโต หรือชีวิตทางเพศแตกต่างกันไป
นิทรรศการเปิดขึ้นด้วยการจำลอง ห้องน้ำไร้เพศ ที่ตั้งคำถามถึงความเท่าเทียมและการแบ่งแยกเพศระหว่าง ชาย-หญิง-อื่นๆที่เราไม่สามารถจัดใส่กล่อง ชาย-หญิงได้
นิทรรศการ ยังได้นำประวัติศาสตร์ทางเพศมาเล่าแบบสั้นๆ เช่น การกีดกันกะเทยไม่ให้เป็นพยานศาลในกฎหมายตราสามดวง กิจกรรมการ 'เล่น' หรือที่มาของคำว่า 'ถั่วดำ' รวมไปถึงประวัติศาสตร์ของ สื่อทางเพศ ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่นิตยสาร โปรแกรมแชท กระทั่งแอพหาคู่ ในสมัยนี้
นอกจากนี้ ยังได้เล่าถึงการต่อสู้ทางเพศ ที่มีทั้งรูปแบบการปะทะเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะ และการต่อสู้เพื่อการแสดงออกถึงตัวตนทางเพศในพื้นที่ส่วนตัวด้วยการจัดแสดง บันทึก เสื้อผ้า อุปกรณ์ เครื่องใช้ ที่หลายๆชิ้น ก็รู้สึกได้ถึงน้ำตาที่ซ่อนอยู่ภายในสิ่งของเหล่านี้
สุดท้าย นิทรรศการได้เปิดโอกาสให้เราลองแต่งตัวด้วยวิกผม ขนตา เครื่องสำอาง และส่องกระจกดูตัวเอง ก่อนที่จะจากเราไปด้วยการถามคำถามถึงประเด็นเรื่องเพศต่างๆในสังคม
แล้วสรุป??
เรื่องเพศ คงจะไม่มีบทสรุปตายตัว เพราะเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลง ขึ้นกับการให้นิยามตัวตนของคนในสังคม นิทรรศการนี้เพียงช่วยให้เราเข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น คล้ายๆกับ Intro to "เพศ" รวมถึงให้เรารู้จัก เหตุการณ์ การเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวเรื่องเพศ ซึ่งทำให้เราเข้าใจสังคมที่เราอยู่มากขึ้นด้วย และท้ายที่สุด ความเข้าใจเรื่องเพศของเรา คงไม่มีใครอธิบายให้ฟังได้ดีกว่าตัวเราเองหรอก
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in