วิเคราะห์ซีรี่ย์ Black Mirror ปี 4 ตอนที่ 4 Hang the DJ
-spoiler alert-
Black Mirror คงเป็นซีรี่ย์เรื่องหนึ่งของ Netflix ที่ถือว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งซีรี่ย์นี้แตกต่างจาก TV Shows อื่น ๆ ที่มักจะมีเนื้อเรื่องเกี่ยวข้องกันไปในทุกตอนที่ฉายไปจนจบ แต่ Black Mirror นั้นจะแตกต่างอยู่ตรงที่แต่ละตอนจะมีเนื้อเรื่องเป็นของตนเอง เหมือนหนังสั้นที่ใช้เวลาในการดูประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้นต่อหนึ่งตอน ซึ่งในแต่ละตอนจะมีเนื้อหา หรือประเด็นในสังคมต่าง ๆ ให้ผู้ชมได้ขบคิด
ซึ่งตอนที่ 4 นี้เป็นตอนที่สะท้อนประเด็นสังคมในเรื่องของความรักได้เป็นอย่างดี
ที่ในปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนในมิติของชีวิตในเรื่องของความรักมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นที่เราใช้หาคู่อย่าง Tinder เพื่อเลือกหาคู่ที่เหมาะสมกับคุณมากที่สุด เหมือนกับคุณมากที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าให้คิดถึงนิยามความรักที่แท้จริงนั้น ผู้อ่านคิดว่ามันเป็นเช่นไร? การพบรักใน Tinder เป็นความรักที่แท้จริงหรือไม่?
สำหรับผุ้เขียนนั้น ความรักมันตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน นั่นก็คือ ความรักจะเกิดขึ้นในตอนไหนเราไม่อาจรู้ได้ คนที่เราจะตกหลุมรักจะเป็นใคร และเราจะต้องผ่านความลำบากไม่ว่าจะแต่งตัว แต่งหน้าเพื่อให้คนมาชอบเรา ให้ตัวเราดูดี
แต่ความรักใน Tinder หรือแอพที่ Amy ตัวละครหลักในเรื่องนี้ ใช้ในชีวิตจริงกลับลบความไม่แน่นอนและความกระวนกระวายใจเมื่อเรามีความรักออกไป
โดย Amy จะรู้ได้เลยว่า ทันทีที่เธอคลิกเข้าไปในแอพ จะเป็นเวลาเดียวกับที่เธอจะตกหลุมรักคนที่มีลักษณะที่ตรงใจเธอ หรือ ลักษณะที่เธอ “ชอบ” ที่แอพได้ทำการประมวลผ่าน Simulations ให้เธอแล้ว
โดยลักษณะที่ชอบหรือตรงใจเธอของ Amy ก็คือชายหนุ่มชื่อ Frank ซึ่งเป็นคนร่าเริง ขี้เล่นเหมือนเธอ มันก็เหมือนเวลาเรา Swipe บน Tinder เพื่อหาคนที่มีลักษณะตรงกับเรา อย่างไรก็ตามความรักมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แต่ความรักมันคือการรักในความแตกต่างของคนคนนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะที่น่ารังเกียจของเขา เช่น การไม่สระผมหนึ่งอาทิตย์แต่เราก็มองว่าเขาเป็นคนมีสไตล์ เป็นต้น แต่บน Tinder กลับมีเพียงแต่ลักษณะที่ ‘ดูดี’เท่านั้น
ดังนั้นความรักในแบบนั้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่คุณรักตัวตนของเขา แต่คุณรักตัวเองมากกว่า (Narcissism)
นอกจากนี้การ Swipe บน Tinder ยังเปรียบได้กับการที่ The System พยายามเลือกคู่ให้ Frank และ Amy ก่อนที่ทั้งคู่จะหนีไปด้วยกัน โดยเฉพาะ Amy นั้น เราจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาที่เครื่องเลือกคู่ให้เธอ และเธอต้องไปออกเดทกับคนหลายคน จนกว่าเครื่องจะหาคู่ให้เธอได้นั้น สีหน้าท่าทางของเธอเริ่มเปลี่ยนไป เริ่มเย็นชาขึ้นและไม่มีความสุข ไม่รู้สึกอะไรกับเดทครั้งต่อ ๆ ไป เพราะมันก็เหมือนกันหมด พวกเขาจะเป็นคนที่ไม่ใช่ และต้องจากกันไป
ซึ่งตรงนี้เปรียบได้กับการหาคู่ออนไลน์ หรือหาคู่ทั่วไป ที่ต้องการหาคนที่มีลักษณะที่ ‘ดี’ ที่จะสามารถมาเติมเต็มเราได้ คนนี้จะต้องใช่ และทำให้เรามีความสุข เช่น ต้องหน้าตาดี ฐานะดี มีความรู้สูง เป็นต้น แต่ถ้าคนนั้นไม่มีลักษณะที่มาเติมเต็มสิ่งเหล่านี้ที่เราต้องการ เราก็จะตัดความสัมพันธ์ คือ มุ่งหน้าหาคนที่เราคิดว่าเป็นคู่แท้ต่อไป ซึ่งก็เหมือนกับการที่ The System พยายามมุ่งหน้าหาคู่ให้กับ Amy
แต่การเลือกคนด้วยลักษณะเช่นนั้นก็เหมือนกับการเลือกสินค้า
ที่เราคิดว่าเมื่อซื้อแล้วมันจะเข้ามาเติมเต็มชีวิตเราได้ตลอดไป แต่ความเป็นจริงการหาคู่แท้มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากความรักที่แท้จริงนั้นมันไม่ใช่เรื่องของการเติมเต็ม แต่เป็นเรื่องของการที่เรารู้สึกพอใจแล้วกับความรู้สึกไม่เติมเต็มนั้น
นั่นก็คือ คนที่เรารักมักมีบางอย่างเกี่ยวกับตัวเขาที่ทำให้เรารู้สึกอิ่มเอมใจและมีความสุข โดยเราและเขาก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าสิ่งนั้นคืออะไร แต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยากอยู่กับคน ๆ นั้นตลอดไป เราไม่มีทางรู้สึกเติมเต็มเพราะเราไม่สามารถเอาสิ่งสิ่งนั้นมาจากคนคนนั้นได้ แต่การที่เราได้อยู่ข้างคนคนหนึ่งแล้วเรามีความสุขนั่นต่างหากที่เพียงพอแล้ว
ดังนั้นการเลือกคู่ของ The System เพื่อหาคู่แท้ให้ Amy จึงไม่ใช่ความรัก และไม่สามารถมาเติมเต็มเธอได้ The System จึงต้องหาคู่ให้กับเธอเรื่อย ๆ จนเธอรู้สึกหดหู่เพราะไม่มีความสุข
ซึ่งก็เหมือนความรักในปัจจุบันที่เลือกลักษณะที่ ‘ดี’ เพื่อมาเติมเต็มเราเพียงอย่างเดียว ทำให้เราต้อง Swipe และ Swipe และ Swipe จนเกิดความไม่เป็นสุขเพราะหาคนมาทำให้เรามีความสุขไม่ได้
นอกจากนี้ Black Mirror ตอนนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงอนาคตของเทคโนโลยีในการเลือกหาคู่ที่จะก้าวข้ามผ่านมากกว่า Tinder ไม่ว่าจะเป็นการหาที่พัก เลือกสถานที่ออกเดท และคำนวณเวลาอยู่ด้วยกันให้ ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดอันตรายต่อความรักที่แท้จริงในอนาคตได้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in